Skip to main content
sharethis

“กรีนพีซ” เผยผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมปี 2564-2566 อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ‘รุกผืนป่า’ เพิ่มเป็น 11.8 ล้านไร่ แปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีจุดความร้อนเพิ่มเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566 กรีนพีซเรียกร้องรัฐบาล “เศรษฐา” เอาจริงกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ส่งมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

 

11 ก.ย. 2566 กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ภาพดาวเทียมปี 2564-2566[1] ระบุอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำลายผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในขณะที่จุดความร้อน (Hot Spot) [2] ในพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลที่ผ่านมาล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายลดจุดความร้อนภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai Plan of Action) [3] และมีส่วนสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ละเลยภาระรับผิดต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ข้อค้นพบหลักจากผลการวิเคราะห์ภาพดาวเทียมมีดังนี้

-ระหว่างปี 2558-2566 ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11.8 ล้านไร่ (ตอนบนของ สปป.ลาว มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 5.7 ล้านไร่ ตามมาด้วยรัฐฉาน(เมียนมา) 3.1 ล้านไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย 2.9 ล้านไร่)

-ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัดส่วน 41 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2558-2563 ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 31 เปอร์เซ็นต์

-พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี 2558 มีพื้นที่รวมกัน 13,015,940 ไร่  และในปี 2566 เพิ่มเป็น 18,095,317 ไร่

กรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่า รัฐบาลไทยที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดำเนินตามแผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai Plan of Action) ตามข้อเสนอของฝ่ายไทย [4] ในการตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนในปี 2566 ลงร้อยละ 30 และมีแนวโน้มสูงว่ารัฐบาลใหม่ไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2567 และ 2568 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญแบบเข้มข้นเต็มร้อย

การที่ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นและในแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนของจุดความร้อนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) [5] ของกลุ่มบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมนั้นมีความโปร่งใสตรวจสอบได้และเปิดให้สาธารณะชนเข้าถึงข้อมูลมากน้อยเพียงใด

ในวาระที่รัฐบาลใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย. นี้ กรีนพีซประเทศไทยเสนอข้อเรียกร้องดังนี้

-ทบทวนความล้มเหลว ล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2562 และปรับแผนดังกล่าวบนพื้นฐานของเจตจำนงทางการเมืองอันแน่วแน่ที่จะไปให้พ้นจากการครอบงำของกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย (Thai Oligrarch) ทั้งนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ปกป้องชีวิตและความเจ็บป่วยคนนับล้านจากมลพิษทางอากาศและเพื่อรับรองว่าการใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

-มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ออกกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ [6] ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(corn traceability) ของกลุ่มบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม

 

 

อ้างอิง 

[1] การศึกษาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านรีโมทเซนซิงด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/AQUA ระบบ MODIS ข้อมูล vegetation indices(MOD13Q1) ความละเอียดเชิงพื้นที่ 250 เมตร ดาวโหลดรายงาน “ผลวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2564-2566 : ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ได้ที่นี่

[2] สัดส่วนของจุดความร้อน(Hotspot) แยกตามสิ่งปกคลุมดิน(Land Cover) และการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบต่างๆ จากดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIR ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ 375 เมตร

[3] https://asean.org/wp-content/uploads/2022/12/Media-Release_11th-MSC-Mekong-Adopted30Nov22.pdf

[4] ในการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 11 (11th Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region หรือ 11th MSC Mekong) ที่ประชุมได้ยอมรับข้อเสนอของประเทศไทยในการตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai Plan of Action) ในปี 2566 2567 และ 2568 ลงร้อยละ 30 35 และ 40 ตามลำดับ โดยใช้จำนวนจุดความร้อนปี 2563 เป็นฐาน https://www.thansettakij.com/sustainable/549028 จากฐานข้อมูลของ ASEAN Specialised Meteorological Centre(ASMC) มีจุดความร้อนในไทย สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชาและเวียดนามรวมกัน 161,728 จุดในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 162,218 จุดในปี 2566

[5] https://www.sdthailand.com/2023/03/cp-and-cpf-expand-corn-traceability-system/

[6] แบบ 56-1 One Report หรือ One Report กําหนดหัวข้อที่บริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลการดําเนินงานด้านต่างๆ เช่น “การบริหารจัดการความเสี่ยง” “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” “การจัดการด้านความยั่งยืน ในมิติสิ่งแวดล้อม” “ผลการดําเนินงานด้านสังคม” เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net