Skip to main content
sharethis

‘พิพัฒน์’ เดินหน้าดันค่าแรง 400 บาท เล็งถก ครม. 25 ก.ย. ฝั่ง สอท.ห่วงธุรกิจเจ๊ง

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเด็นการผลักดันกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุลประธาน ส.อ.ท. และคณะ ให้การต้อนรับ

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงแรงงานมีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้มั่นคง ภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ และมีหลักประกันทางสังคม การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้เรามีประเด็นต้องหารือทั้งหมด 8 ประเด็น

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ประเด็นแรกเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง ประเด็นที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน ประเด็นที่ 3 การจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ทันสมัย ถูกต้อง แม่นยำและครบถ้วน เพื่อบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ด้านแรงงาน ประเด็นที่ 4 ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (STEM) ประเด็นที่ 5 การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวทำงานที่คนไทยไม่ทำ (3D) ประเด็นที่ 6 การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยภายในประเทศ ประเด็นที่ 7 แนวทางเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน และประเด็นสุดท้าย ปรับเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นธรรมระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผลจากการหารือในครั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการดำเนินการร่วมกันในทางนโยบายจากหลายภาคส่วน กระทรวงแรงงานจะทำตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ แต่เป้าหมายสำคัญที่กระทรวงวางเป้าหมายไว้คือการสร้างให้พี่น้องแรงงานมีอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 400 บาท โดยการพัฒนาฝีมือแรงงาน Up Skill Re Skill ให้มีทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงและมีมาตรฐานฝีมือ จะได้รับการจ้างงานที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นไปตามกลไกการจ่ายค่าจ้างตามความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน รวมถึงแนวคิดให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง ในตอนนี้ยังไม่สามารถประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ทันที แต่จะเร่งหารือทุกฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนโดยคำนึงถึงค่าเงินเฟ้อด้วย “ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่มีน้อยลง เราจะขยายอายุงานบางภาคส่วนได้หรือไม่เป็นเรื่องต้องทำการบ้าน หลังหารือทุกภาคส่วนและได้ข้อสรุปแล้ว กระทรวงแรงงานจะประกาศมอบเป็นนโยบายของขวัญปีใหม่ 2567 ต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนนี้ อยากให้ยึดมติคณะกรรมการไตรภาคี โดยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้นอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน การขึ้นราคาเดียว 400 บาทต่อวัน หรือขึ้น 19-20% อาจทำให้หลายอุตสาหกรรมกระทบหนักจากต้นทุนที่กระชากแรง เพราะปัจจุบันจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีประมาณ 20 อุตสาหกรรมจ่ายไม่สูงเพราะใช้แรงงานเข้มข้น และยังมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน ที่เหลือจ่ายเกิน 400 บาทต่อวัน บางอุตสาหกรรมถึง 800 บาทต่อวันแต่ยังหาแรงงานยาก ดังนั้นการปรับค่าจ้างต้องสอดรับศักยภาพแรงงาน และความสามารถของผู้ประกอบการ

“วิธีปรับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมคือ การขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี หรือจะขึ้นตามต้นทุนเงินเฟ้อบวกเอ็กซ์ และปัจจุบันประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ยังไม่เทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซีย เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่ ดังนั้นไทยควรรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย ให้แข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ เพราะต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋ อุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน” นายเกรียงไกรกล่าว

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท.และประธานสายงานแรงงาน กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีที่แต่ละจังหวัดร่วมพิจารณาสอดคล้องกับปัจจัยเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ จีดีพี ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถการจ่ายของนายจ้าง และผลิตภาพแรงงาน ควรปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานภายนอก และปัจจุบันนายจ้างไม่ได้จ่ายแบบเหมารวม แต่จ่ายตามทักษะ เพื่อความเป็นธรรมกับแรงงานที่มีประสบการณ์

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากการหารือ กระทรวงแรงงานย้ำว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนภายในปี 2567 โดยจะหารือในรายละเอียดทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 25 กันยายนนี้ ขณะที่ ส.อ.ท.ประเมินว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตลอดจนเงินเฟ้อแล้วการปรับค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะอยู่ระดับ 3-4% เท่านั้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/9/2566

‘พิพัฒน์ ’ให้นโยบาย 8 ข้อ ยกระดับกระทรวงแรงงานเร่งปรับค่าจ้าง 400 บาทสนองข้อสั่งการนายก

14 ก.ย. 2566 ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เป็นประธานประชุมมอบนโยบายปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงแรงงาน มีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูงร่วมประชุม โดยมีนโยบายสำคัญที่จะผลักดันในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” 8 ข้อ คือ 1.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารารถ 2.เร่ง Up-Skill ทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการมีงานทำ รองรับเศรษฐกิจใหม่ 3.ใช้ระบบ One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบจบที่จุดเดียว 4. เพิ่มจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 5.ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (Micro Finance) 6.กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน 7.ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ (Best E-Service) และ 8.สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านแรงงานที่นายกฯ แถลงต่อสภาเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. โดยจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท นายกฯ ไม่ได้กำหนดในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แต่เป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองว่าค่าจ้างในปี 2570 ต้องไปถึง 600 บาท แต่ในการแถลงของนายกฯ ต้องเอา 400 บาท มาเป็นตัวตั้งต้นในปี 2567 จึงต้องสนองโดยจะต้องหารือกับทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐก่อน อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 จะเป็นการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานไปก่อนทุกสาขา จะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 400 บาท สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นไปตามระบบไตรภาคี ถ้าอยู่ครบ 4 ปี 600 บาทถึงแน่นอน

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการยกระดับฝีมือแรงงานนั้น จะทำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานที่จะส่งไปต่างประเทศนั้น ต้องมีการพัฒนาฝีมือให้ตรงความต้องการระเทศต้นทาง เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งตนหวังว่าจะมาช่วยสร้างสมดุลเรื่องรายได้เกี่ยวกับแรงงาน เพราะปัจจุบันเรามีแรงงานต่างด้าว กว่า 4 ล้านคน ทำรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท แต่ใช้จ่ายเงินในประเทศไทยเพียงเล็กน้อย ที่เหลือส่งกลับประเทศต้นทาง ทำให้เรายังขาดดุลตรงนี้ราวๆ 3 แสนล้านบาท จึงตั้งเป้าให้มีการส่งแรงงานไทยมีฝีมือไปทำงานต่างประเทศ ตั้งเป้าให้สร้างรายได้ไม่น้อยไปกว่า 3 แสนล้านบาท หรือมากกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาฝีมือแรงแรงงานผู้ลี้ภัยให้มีงานทำด้วย  

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากยังเตรียมหารือปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการประกันสังคม และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาช่องทางเพิ่มผลกำไรให้กับกองทุนประกันสังคม จากปัจจุบัน 2.4 ล้านล้านบาท ปีที่แล้วมีกำไร 7 หมื่นล้านบาท ปี 2566 คาดว่าจะมีกำไร 6 หมื่นล้านบาท แต่ต้นตั้งเป้าให้ได้มากกว่านี้ ราวๆ ปีละ 5% หรือ 1.2 แสนล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังมีแนวคิดที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนที่เป็นหนี้นอกระบบ ให้มีการนำเงินกองทุนฯ ส่วนหนึ่ง มาให้ผู้ประกันตนยืมไปจ่ายหนี้นอกระบบ รายละ 5 หมื่นบาท แล้วให้นายจ้างหักจากเงินเดือน ส่งคืนประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ยังต้องหารือในข้อกฎหมายก่อน

ในวันเดียวกันนี้ นายพิพัฒน์ ยังได้เปิดเผยถึงสเปกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ แทนนายบุญชอบ ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ว่า ตนยืนยันชัดเจนว่าไม่นิยมแต่งตั้งคนข้ามห้วย ตนต้องการให้คนในกระทรวงได้เติบโต อีกทั้ง คนในกระทรวงเอง ซึ่งเป็นคนที่ทำงานมานาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแรงงาน กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถที่จะเริ่มงานได้เลย ไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ อย่างตนก็เป็นคนมาใหม่ ยังต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า ในส่วนของการฝึกทักษะฝีมือผู้ลี้ภัยนั้น อาจจะเริ่มต้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีการกำหนดพื้นที่ให้สามารถทำงานได้ ไม่ได้อนุญาตให้เดินทางไปทำงานได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ที่มา: เดลินิวส์, 14/9/2566

โฆษกรัฐบาล ระบุรับเงินเดือน 2 งวดต่อเดือน เป็นทางเลือกให้ข้าราชการ

นายชัย วัชรรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ นโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด มาจากแนวคิด ของข้าราชการจำนวนหนึ่ง ที่มองว่าการจ่ายเงินเดือนเต็มในช่วงสิ้นเดือน ทำให้หมุนเงินไม่ทัน ขอให้รัฐบาลจ่ายกลางเดือน  50% เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อรัฐบาลคำนวณแล้วมีข้อเสีย 2 ข้อคือ กรมบัญชีกลางต้องหาวิธีสร้างระเบียบใหม่ และ รัฐบาลต้องนำเงินเดือนครึ่งหนึ่งมาจ่ายเร็วขึ้น 15 วัน แต่หากทำให้ข้าราชการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงออกมาเป็นนโยบาย  แต่ถ้ามีข้าราชการคนใดไม่เห็นด้วยก็จะให้เลือกได้ว่าจะรับเงินเดือนกี่งวด ยืนยันการจ่ายเงินเดือน 2 งวดต่อเดือน ไม่ได้ทำให้ได้เงินน้อยลง และไม่กระทบการจ่ายหนี้

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 14/9/2566

ครู-ตำรวจ ไม่เห็นด้วย แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ลั่นเกาไม่ถูกที่คัน กระทบทั้งระบบ แนะขึ้นเงินเดือน หาแหล่งเงินกู้ให้ครูรวมหนี้ไว้ที่เดียว

วันที่ 13 ก.ย. 2566 นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ คาดว่าจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2567 ว่า ตนไม่เห็นด้วย มองว่า ข้าราชการทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพที่จะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ไม่ใช่เป็นการแบ่งจ่าย 2 รอบ มองว่าเป็นการเอาปัญหาของข้าราชการบางคนมากระทบกับข้าราชการทุกคน ซึ่งจะส่งผลกระทบภาพรวมทั้งระบบ

นายรัชชัยย์ กล่าวต่อว่า หากจ่ายเงินเดือน 2 รอบจริง มองว่าจะเป็นการสร้างภาระ สร้างความปั่นป่วนให้ข้าราชการอย่างมาก เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน เกาจนเป็นแผล สิ่งที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือข้าราชการทั้งระบบ คือเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ สถาบันการเงินต่างๆ ให้ลดดอกเบี้ย หรืออาจจะพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้จะต้องไม่คิดดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมาแม้จะบอกว่าช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้ แต่สถาบันการเงินก็ยังเก็บดอกเบี้ยอยู่ ทำให้เงินต้นก็ไม่ลด แถมดอกเบี้ยยังพุ่งทะยานอีก

นายรัชชัยย์ กล่าวอีกว่า ถ้าแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ จะกระทบทั้งระบบ ที่ผ่านมาครูเป็นหนี้จำนวนมาก รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือโดยออกกฎหมายบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 3-3.5% เป็นต้น หรือ รัฐบาลอาจจะหาแหล่งเงินกู้ ให้ครูสามารถกู้ยืม เพื่อรวมหนี้สินไว้ที่เดียวกันทั้งหมด โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี สามารถกำหนดได้เลยว่าจะต้องหักจากเงินเดือนครู เชื่อว่ารัฐบาลจะหาแหล่งให้ครูกู้เงินเพื่อเคลียร์หนี้สินได้แน่นอน หากรัฐบาลเป็นผู้รับรองกับสถาบันการเงินนั้นๆ

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับชั้นประทวนรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะตามปกติทุกเดือน ตำรวจชั้นผู้น้อยมีหนี้สินที่จะต้องถูกหักจากเงินกู้ของสหกรณ์ฯ อยู่แล้ว เงินเดือนที่ออกมาจะได้รับไม่เต็มจำนวน เมื่อออกเดือนละ 2 ครั้งก็จะทำให้จัดการค่าใช้จ่ายต่อเดือนยากยิ่งขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าแบบเดิมนั้นสะดวกดีอยู่แล้ว หากเป็นไปได้ก็อยากจะให้ปรับขึ้นเงินเดือน เพื่อให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจจะดีกว่า เพราะตอนนี้ข้าวของของสินค้าแพงมาก

ที่มา: ข่าวสด, 13/9/2566

มติ ครม.นัดแรก เคาะปรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567

13 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยได้กล่าวถึงมาตรการต่างๆ ที่อนุมัติในวันนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ทั้งลดค่าไฟฟ้า จาก 4.45 บาท เหลือ 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มในรอบบินเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป ลดราคาน้ำมันดีเซล ลดให้ราคาต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยจะเริ่มได้ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ รวมถึงการพักหนี้เกษตรกร

ทั้งนี้เรื่องกระแสเงินสดในกระเป๋าของทุกคนว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยรัฐบาลได้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดิมเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ส่วนตัวรายละเอียดนั้นจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งเนื่องจากมีการแก้ไขระบบหลายๆ อย่างจึงไม่สามารถดำเนินการได้เลยในทันที

โดยเหตุผลของการปรับเปลี่ยนนั้นเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มากพอสมควร ถ้ามีการจ่ายเงิน 2 รอบ จะได้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องรอคอยสิ้นเดือนก็จะมีเงินแบ่งจ่ายออกมา

สำหรับการจ่ายเงินเดือนข้าราชการในปัจจุบันกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ประกาศปฏิทินการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างประจำ ซึ่งมีการจ่ายเดือนละ 1 รอบ ในปี 2566 นี้  4 เดือนที่เหลือ ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. วันจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างลูกจ้างประจำ เป็นดังนี้

เดือนกันยายน 2566 เงินเข้าบัญชี 26 ก.ย.2566

เดือนตุลาคม 2566 เงินเข้าบัญชี 26 ต.ค.2566

เดือนพฤศจิกายน 2566 เงินเข้าบัญชี 27 พ.ย.2566

เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าบัญชี 26 ธ.ค.2566

ที่มา: Thai PBS, 13/9/2566

ศอ.บต. เร่งหารือแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้ง ประเทศมาเลเซีย จัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลเพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย

คณะผู้บริหาร ศอ.บต.ลงพื้นที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย เร่งหารือการแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้งพร้อมจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลเพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว

ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดย นายวิสันติ์ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กระทรวงแรงงาน) ลงพื้นที่ไปยังรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นประธานเปิดกิจกรรมสานสัมพันธ์ประจำปีเครือข่ายต้มยำกุ้ง และการแข่งขันฟุตซอลไทยมาเลย์คัพ 2023 ณ มะละกาสปอร์ตคอมเพล็กซ์ (kompleks sukan melaka) โดยเครือข่ายต้มยำกุ้งมาเลเซีย ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบการ และแรงงานในต้มยำกุ้งกับหน่วยงานงานราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นางเปรมวดี สันหนู ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กระทรวงพาณิชย์) น.ส.กนกรัตน์ พงษ์ธัญญะวิริยา ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตลอดจน นายโจฮารี บินอาหมัด ประธานชมรม Ukhuwah (เป็นเครือข่ายต้มยำกุ้งเครือข่ายใหญ่) และผู้ประกอบการ รวมถึงแรงงานไทยที่ทำงานในร้านต้มยำกุ้ง แต่ละรัฐ จำนวน 13 รัฐ เข้าร่วมจำนวนมาก

สำหรับบรรยากาศเป็นอย่างคึกคัก มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 23 ทีม จาก 13 รัฐ โดยเริ่มเปิดการแข่งขันด้วยการให้ประธานในพิธี พร้อมด้วย นายกสมาคมต้มยำกุ้งมามาเลเซีย และผู้ประกอบการร้านอาหาร ยิงลูกบอลเข้าสู่ประตู ก่อนจะเริ่มเปิดการแข่งขันด้วยคู่นัดพิเศษ ระหว่างผู้บริหาร ศอ.บต. กับผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งผลการแข่งขันเสมอกัน 2 ประตูต่อ 2

จากนั้น คณะฯ เดินทางไปยังร้านอาหาร Sha BB Home Food & Beverage ซึ่งอยู่ในรัฐมะละกา เพื่อร่วมรับประทานอาหารค่ำ พร้อมร่วมประชุม Focus Group กับตัวแทนร้านอาหารแต่ละรัฐ จำนวน 13 รัฐ ที่มาร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์ประจำปี เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร “ต้มยำกุ้ง” เพื่อการจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลเพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหา โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขให้ร้านค้าให้สามารถประกอบกิจการได้ถูกต้องตามกฎหมายการแก้ไขให้แรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายร้านอาหารเพื่อบริหารจัดการ ร้านอาหารในเครือข่าย แรงงานในเครือข่าย รวมทั้งการจัดตั้งบริษัทหรือสหกรณ์เพื่อดำเนินกิจการของเครือข่ายเป็นต้น

นายวิสันติ์ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การลงมาเยี่ยมในครั้งนี้ สืบเนื่องด้วย นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เร่งให้ผู้บริหารของ ศอ.บต. ประกอบด้วย ผู้เลขาธิการ ศอ.บต. จากกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่สำคัญในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาของผู้ประกอบการและแรงงานไทยที่มาสร้างอาชีพในประเทศมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมาทาง ศอ.บต. ได้ทราบว่าในจำนวนนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหา คือการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน เช่น การออก pasport การออก work permit เพื่อการประกอบธุรกิจในประเทศมาเลเซียและแรงงานที่เดินทางไปทํางานในร้านอาหาร และทางรัฐบาล โดย ศอ.บต. ให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถเข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 13/9/2566

กลุ่มเครือข่ายแรงงานเก็บเบอรรี่ป่ายื่นหนังสือที่รัฐสภาขอความอนุเคราะห์ทบทวนข้อตกลงแรงงานระหว่างประเทศไทย-สวีเดน

12 ก.ย. 2566 กลุ่มเครือข่ายแรงงานเก็บเบอรรี่ป่า “ Network of thai berry pickers” นำโดยนางดอกริ ชานชะลา และนายไพรสันติ จุมอังว เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่รัฐสภา เนื่องด้วยเกษตรกรผู้เก็บเบอร์รี่ป่าได้รับความเดือดร้อนถูกหลอกให้ทำงานอย่างหนักตลอด 70 วัน โดยไม่มีวันหยุดให้แรงงานเหล่านั้น เข้าป่าเพื่อเก็บเบอร์รี่ในประเทศสวีเดิน และฟินแลนด์ โดยโควต้าเกี่ยวข้องเข้าทำงานนั้นเป็นข้อตกลงซึ่งระหว่างกระทรวงแรงงานของประเทศ และประเทศสวีเดน

โดยได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ 1.ให้ทบทวนรายงานปัญหาการถูกค้ามนุษย์กับเจ้าพนักงานสอบสวนของทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ ในปี 2565 เพื่อเร่งกระบวนการสอบสวน คืนความยุติธรรมให้กับแรงงานผู้เก็บเบอร์รี่ 2.ให้จัดการระบบโควต้าภายใต้วิถีการจัดการโดยขบวนการค้ามนุษย์นี้ และให้ใช้ระบบข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ โดยที่ค่าใช้จ่ายการนำพาคนงานไปจากประเทศไทย เป็นภาระของบริษัทที่ได้รับโควต้า ไม่ใช่พลักดันให้เป็นภาระของผู้ใช้แรงงานซึ่งค่าเดินทางปีละ 150,000 บาท 3.ให้รัฐบาลไทย สวีเดน ฟินแลนด์ ตั้งคณะกรรมการทบทวนศึกษาปัญหาและศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย นับตั้งแต่การเริ่มใช้ระบบโควต้าในปี พ.ศ.  2548 โดยมีตัวแทนกลุ่มประกอบคณะกรรมการ เพื่อหามาตรการเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรไทยที่ถูกหลอกไปเก็บเบอร์รี่ และ 4. ให้ทบทวนคดีที่ถูกฟ้องร้องเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ป่าในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากถูกฟ้องร้องให้ใช้หนี้หลังจากกลับมาประเทศไทย รวมถึงขอให้มีการชดเชยช่วยเหลือเหยื่อของการถูกค้ามนุษย์

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น รับเรื่องโดยจะนำเรื่องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ทราบร่วมแก้ไขปัญหาให้กลุ่มแรงงาน

ที่มา: สยามรัฐ, 12/9/2566

'เศรษฐา ทวีสิน' ชี้แจงนโยบายแรงงานของรัฐบาล เร่งเจรจาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

วันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา เป็นวันที่สอง หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยประเด็นสำคัญในช่วงเช้าคือ แนวนโยบายแรงงานที่แถลงต่อรัฐสภา เปรียบเทียบกับนโยบายที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยหาเสียงไว้

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงข้อซักถามต่างๆ เหล่านั้น โดยประเด็นหลักอย่างนโยบายที่หาเสียงไว้ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เศรษฐา ชี้แจงว่า จะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด เป็นต้น

เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามถึงนโยบายในช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ในเวลานั้นมีนโยบายเพื่อแรงงานจำนวนมาก เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จบปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาท เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่งเสริมการรวมก่อตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น

แต่นโยบายที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เหลือเพียงเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค

เซีย กล่าวว่า ในวันนี้ไม่ขออะไรมาก ขอเพียงให้นายกฯ รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับแรงงานทำตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำถือว่าเป็นผลงานของพรรคเพื่อไทย ใครสั่งให้ถอดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 อย่ายอม และการที่นายกฯ ชี้แจงว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเร็วที่สุด แต่เร็วที่สุดกราบระยะเวลาเมื่อไหร่ สรุปนโยบายที่หาเสียงไว้ใช้เวลาทำเท่าไร

เซีย ยังขอนายกฯ ให้ทำตามที่หาเสียงไว้ คือ

1. ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และจบปริญญาตรี 25,000 บาท

2. สร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง

3. ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานเข้าถึงการจ้างงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

4. สิทธิวันลาคลอดและสิทธิแรงงานคู่สมรส

5. เสนอกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย

6. ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน

7. รับรองอนุสัญญา ILO 87และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพ รับรองสิทธิของลูกจ้างในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม

ศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร เขต 2 พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงแรงงาน 2 กลุ่มคือ แรงงานแพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจากคำที่ว่า “ทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสม” และคำว่า “การเปิดรับแรงงานต่างด้าว” แล้ว ศิริโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึงแรงงานอีกเลยในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่มีรายละเอียดบอกว่าระบบสวัสดิการที่เหมาะสมคืออะไร หรือการเปิดรับแรงงานต่างด้าวจะมีอะไรแตกต่างกับรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยทำมาบ้าง

อย่างไรเดอร์ ที่เป็นเป็นอาชีพที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเกิดโควิด-19 แต่ไรเดอร์ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศิริโรจน์ ยกตัวอย่าง ค่ารอบที่ไม่เป็นธรรมที่บริษัทต้นสังกัดสามารถปรับลดได้ตลอดเวลา บังคับรับงานพ่วงต้องทำงานเพิ่มแต่ได้เงินน้อยลง ไรเดอร์ต้องแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงเอง ไรเดอร์ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานทำให้สิทธิสวัสดิการมีเพียงเท่าที่บริษัทจะเมตตาให้

ศิริโรจน์ชี้ว่า ทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้คือ คือการแก้ไขกฎหมาย เพราะปัจจุบันไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้าง และบริษัทไม่ใช่นายจ้างตามกฎหมายแรงงาน จึงต้องเข้าไปแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุม กำหนดเลยว่านิยามของผู้จ้างงานที่มีต่อคนทำงานเป็นอย่างไร สัญญาจ้างที่เป็นธรรมคืออะไร ต้องมีสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ มีสวัสดิการที่เหมาะสมต่อความเสี่ยงการทำงาน 

เรื่องแรงงานข้ามชาติ ที่มีมาประมาณ 2 ล้านคน แต่การแถลงนโยบายของนายกฯ มีเพียงประโยชน์สั้นๆ ว่า จะมีการเปิดรับเเรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เข้ามาทำงานสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งศิริโรจน์กล่าวว่า ไม่เห็นรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการเปิดรับแรงงานต่างด้าว กระบวนการแก้ไขกฎหมาย นโยบายที่ออกมาเป็นอย่างไร แตกต่างกับสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อย่างไร

ศิริโรจน์ ยังฝากคำถามไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องของท้องถิ่น เพราะภาษีที่ได้จากแรงงานต่างด้าวจะเข้าไปสู่ส่วนกลาง แต่เงินที่กระจายมาให้กับท้องถิ่นนั้นคำนวณจากจำนวนของประชากรคนไทยในพื้นที่ ทำให้ท้องถิ่นต้องแบกรับการดูแลแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ปัญหานี้จะมีการแก้ไขอย่างไร

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถามถึงนโยบายหาเสียง เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 25,0000 บาท ที่สัญญาทำได้ ปี 2570 และค่าแรงขั้นตำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ซึ่งจากนโยบายที่แถลงของนายกรัฐมนตรี เขียนไว้ว่าค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำคือ ‘ค่าแรงที่เป็นธรรม’ จึงมีการตั้งคำถามถึงนโยบายที่หาเสียงไว้หายไปไหน และแนวทางของนโยบายค่าแรงเป็นอย่างไร

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามถึงเรื่องแรงงานว่า "ประเทศเราเป็นประเทศที่โชคดีอย่างหนึ่ง เป็นที่ต้องการของแรงงานมาก อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นความโชคดีบนความโชคร้าย ที่ประชากรมีงานทำ แต่ความต้องการของแรงงานมีเยอะมาก เพราะฉะนั้นการพึ่งแรงงานต่างชาติเป็นเรื่องจำเป็น แรงงานต่างชาติมากับเรื่องการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัยและความมั่งคงที่พึงจะได้”

“ปัญหาหลายๆ อย่างที่กล่าวถึง เรื่อง one stop service หลายรัฐบาลก็พยายามทำกันแล้ว เป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลของเราตระหนักดี และได้มีการรับฟังข้อมูลเบื้องต้นมาจากปัญหาการประมงที่เกิดขึ้น เราเองก็จะพยายามทำเรื่อง one stop service ให้ได้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งผู้ประกอบการผู้ใช้แรงงานและแรงงานต่างด้าวด้วย”

เศรษฐา กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เช่น การท่องเที่ยวเพื่อดึงเงินเข้าภาคบริการ ค่าแรงจะถูกปรับขึ้นตามความต้องการของแรงงาน นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายพลังงานของประชาชน และผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ด้วย โดยที่หลังจากที่แถลงนโยบายเสร็จ ได้ให้แนวทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน

ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่หลายพรรคพูดไว้ เพราะหลายท่านเป็นห่วงกังวลประชาชนที่อยู่ชายขอบของสังคมต้องการดูแลมีรายได้ที่เหมาะสมพอกับการใช้จ่ายประจำวัน เรื่องนี้เราจะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด

ปัญหาไรเดอร์ เศรษฐา กล่าวชี้แจงว่า ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง และกล่าวขอบคุณสำหรับคำเตือนจากผู้อภิปราย

“ผมได้ให้แนวทางกระทรวงแรงงานเพื่อเจรจากับภาคเอกชน เพื่อยกระดับสวัสดิการและค่าแรงให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนั้น เศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางจัดระเบียบค่าโดยสายทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไรเดอร์ และแท็กซี่ ให้มีความยุติธรรมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและไรเดอร์

“เรายังมีแนวทางให้กระทรวงคมนาคมทำการศึกษาเรื่องการสร้างแอปพลิเคชันเรียกรถของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ให้บริการเหล่านี้ครบวงจรเข้าถึงและครอบคลุม”

ที่มา: ไทยรัฐพลัส, 12/9/2566

รมว.แรงงาน พบนายจ้าง-ลูกจ้าง ถกค่าจ้างขั้นต่ำ เล็งเอ็มโอยู 4 กระทรวง

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 17 รับตำแหน่งและเข้ากระทรวงเพื่อปฏิบัติงานครั้งแรกในวันที่ 7 กันยายน 2566 ก็ได้วางแผนพบปะพบตัวแทนลูกจ้าง และนายจ้างเพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย

นายพิพัฒน์พบสภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา และประธานสหภาพแรงงาน 8 สหภาพ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566 โดยนายพิพัฒน์กล่าวถึงสิ่งที่สภาองค์การลูกจ้างต้องการให้ผลักดัน มีดังนี้

- การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเดิม

- เรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะต้องลงไปดูให้ครบทุกมิติ

“สิ่งเหล่านี้ผมเอง ผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงแรงงาน จะต้องเดินหน้าร่วมมือไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหากมีนโยบายอะไรออกไปก็จะต้องขอรับฟังความคิดเห็นดีเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ข้าราชการด้วย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน” นายพิพัฒน์กล่าว

ดร.ปิยรัตย์ สมามา ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานสภาสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่โตโยต้า และประธานสภาสหภาพแรงงานโตโยต้า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอาเซียนมี 2 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ให้สิทธิการรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานไทยและแรงงานต่าประเทศในประเทศ ทั้งยังรับรองคนงานมีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน

“เหตุผลที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองอาจเพราะเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หากจะให้อิสระรวมตัวกันของคนทุกชาติในไทยอาจะทำให้ภาครัฐควบคุมยาก ดังนั้น กฎหมายนี้ก็เลยยังค้างอยู่ ซึ่งก็เพราะความห่วงใยของภาครัฐด้วย ผมมองว่าอาจจะลองพิจารณาให้รับรองให้มีสหภาพแรงงานเฉพาะคนไทยก่อน อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบ และจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจส่งผลต่อการแก้กฎหมายบางเรื่อง.

พอถามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม “ดร.ปิยรัตย์” กล่าวว่า ไม่ได้ขาดแคลน อาจเป็นเพราะว่าช่วงนี้มีการะลอตัวของอุตสาหกรรม รวมถึงการที่รถไฟฟ้าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ใช้คนน้อยลง เพราะรถไฟฟ้าใช้คนน้อยเทียบกับรถสันดาบที่ใช้เป็นพัน ๆ ขณะที่รถไฟฟ้าใช้หลักร้อย

ดร.ปิยรัตย์ กล่าวด้วยว่า ได้เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเรื่องความเสมอภาคในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานเหมาช่วง ว่าอยากให้มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ จ้างเป็นพนักงานประจำ ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างออกไป อาจจะได้ค่าจ้างในอัตราไม่สูงมาก แต่ทำให้พวกเขามีงานอย่างยั่งยืน ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลอยแพ

ต่อจากการพบปะกับกลุา่มผู้นำแรงงาน นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน ก็ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชน หอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพิพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการหารือกับสภาหอการค้าฯ ได้สื่อสารกันในเรื่องการพัฒนาแรงงานอย่างไรให้แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญ

และมีนโยบายที่จะผนึกกำลังความร่วมมือใน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทย

“วันนี้เรานำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันเราก็ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและนำรายได้เข้าประเทศ เราจึงต้องนำแรงงานรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่มา Up Skill เพื่อทดแทนแรงงานเดิม และเติมบุคลากรภาคแรงงานที่เป็นคนไทยให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพ และได้ค่าแรงที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายกับสภาแล้วจะได้หารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาแรงงานต่อไป”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอชื่นชมและสบายใจที่เจ้ากระทรวงได้เปิดใจและทำงานในเชิงรุก และที่สำคัญทราบว่าท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์มีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับ 4 กระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน

ซึ่งเป็นนิมิตรที่ดีที่จะเห็นการทำงานร่วมกันในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น และสนับสนุนการทำงานกับภาคเอกชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงานประเทศไทยนั้น วันนี้ภาคเอกชนได้เสนอไป 4 ประเด็น คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทั้งนี้ จะได้ประสานความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/9/2566

รมว.แรงงาน พบนายจ้าง-ลูกจ้าง ถกค่าจ้างขั้นต่ำ เล็งเอ็มโอยู 4 กระทรวง

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 17 รับตำแหน่งและเข้ากระทรวงเพื่อปฏิบัติงานครั้งแรกในวันที่ 7 กันยายน 2566 ก็ได้วางแผนพบปะพบตัวแทนลูกจ้าง และนายจ้างเพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย

นายพิพัฒน์พบสภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา และประธานสหภาพแรงงาน 8 สหภาพ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566 โดยนายพิพัฒน์กล่าวถึงสิ่งที่สภาองค์การลูกจ้างต้องการให้ผลักดัน มีดังนี้

- การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเดิม

- เรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะต้องลงไปดูให้ครบทุกมิติ

“สิ่งเหล่านี้ผมเอง ผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงแรงงาน จะต้องเดินหน้าร่วมมือไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหากมีนโยบายอะไรออกไปก็จะต้องขอรับฟังความคิดเห็นดีเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ข้าราชการด้วย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน” นายพิพัฒน์กล่าว

ดร.ปิยรัตย์ สมามา ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานสภาสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่โตโยต้า และประธานสภาสหภาพแรงงานโตโยต้า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอาเซียนมี 2 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ให้สิทธิการรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานไทยและแรงงานต่าประเทศในประเทศ ทั้งยังรับรองคนงานมีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน

“เหตุผลที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองอาจเพราะเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หากจะให้อิสระรวมตัวกันของคนทุกชาติในไทยอาจะทำให้ภาครัฐควบคุมยาก ดังนั้น กฎหมายนี้ก็เลยยังค้างอยู่ ซึ่งก็เพราะความห่วงใยของภาครัฐด้วย ผมมองว่าอาจจะลองพิจารณาให้รับรองให้มีสหภาพแรงงานเฉพาะคนไทยก่อน อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบ และจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจส่งผลต่อการแก้กฎหมายบางเรื่อง.

พอถามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม “ดร.ปิยรัตย์” กล่าวว่า ไม่ได้ขาดแคลน อาจเป็นเพราะว่าช่วงนี้มีการะลอตัวของอุตสาหกรรม รวมถึงการที่รถไฟฟ้าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ใช้คนน้อยลง เพราะรถไฟฟ้าใช้คนน้อยเทียบกับรถสันดาบที่ใช้เป็นพัน ๆ ขณะที่รถไฟฟ้าใช้หลักร้อย

ดร.ปิยรัตย์ กล่าวด้วยว่า ได้เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเรื่องความเสมอภาคในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานเหมาช่วง ว่าอยากให้มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ จ้างเป็นพนักงานประจำ ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างออกไป อาจจะได้ค่าจ้างในอัตราไม่สูงมาก แต่ทำให้พวกเขามีงานอย่างยั่งยืน ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลอยแพ

ต่อจากการพบปะกับกลุา่มผู้นำแรงงาน นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน ก็ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชน หอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพิพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการหารือกับสภาหอการค้าฯ ได้สื่อสารกันในเรื่องการพัฒนาแรงงานอย่างไรให้แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญ

และมีนโยบายที่จะผนึกกำลังความร่วมมือใน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทย

“วันนี้เรานำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันเราก็ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและนำรายได้เข้าประเทศ เราจึงต้องนำแรงงานรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่มา Up Skill เพื่อทดแทนแรงงานเดิม และเติมบุคลากรภาคแรงงานที่เป็นคนไทยให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพ และได้ค่าแรงที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายกับสภาแล้วจะได้หารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาแรงงานต่อไป”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอชื่นชมและสบายใจที่เจ้ากระทรวงได้เปิดใจและทำงานในเชิงรุก และที่สำคัญทราบว่าท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์มีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับ 4 กระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน

ซึ่งเป็นนิมิตรที่ดีที่จะเห็นการทำงานร่วมกันในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น และสนับสนุนการทำงานกับภาคเอกชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงานประเทศไทยนั้น วันนี้ภาคเอกชนได้เสนอไป 4 ประเด็น คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทั้งนี้ จะได้ประสานความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/9/2566

ปลัดฯแรงงาน เร่งออกระเบียบเลือกตั้งบอร์ด สปส.คาดใช้ 200 ล้าน เข้าคูหา ธ.ค.นี้

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เปิดเผยว่า จากประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา การหารือดังกล่าวเพื่อพิจารณาขั้นตอน และลำดับเวลา (เซ็ตไทม์ไลน์) จัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน กำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน กฎหมายลำดับรองภายใต้ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน หลังจากนี้ จะมีการออกประกาศระเบียบการเลือกตั้ง ส่งให้กับคณะกรรมการจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จังหวัดเป็นเลขนุการ ต่อไป

นายบุญชอบ กล่าวว่า สำหรับวันเลือกตั้งนั้น ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่ยืนยันว่าไม่เกินเดือนธันวาคม 2566 ส่วนรูปแบบการลงคะแนนนั้น เดิมคิดจะนำการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเสริม แต่ที่ประชุมคณะทำงานกังวลว่า จะทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ จึงมีมติให้ลงคะแนนในคูหาเท่านั้น ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ผู้ประกันตนต่างด้าวมีสิทธิในการเลือกตั้งได้ด้วยนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และใช้เวลานาน โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการมาพิจารณาสอบถามข้อมูลทั้งหมด

“ในที่สุด มีมติว่ายังไม่เปิดให้สิทธิแรงงานต่างด้าวในการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ได้ เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย ส่วนผู้ที่มีสิทธิคือ ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งนั้นตั้งไว้สูงสุดที่ 200 กว่าล้านบาท จากตั้งแต่ประมาณการณ์ไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ว่าต้องใช้งบกว่า 700-800 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าจะมีผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะนำไปกำหนดรูปแบบในการลงคะแนนให้เกิดความสะดวก และโปร่งใส ซึ่งเรามีการนำรูปแบบมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย” นายบุญชอบ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/9/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net