Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน ลั่น ขึ้นค่าแรงเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ไม่ยืนยันจะได้ 400 บาทต่อวัน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จะขึ้นค่าแรงให้เป็นของขวัญปีใหม่แน่นอน แต่ไม่ยืนยันว่าจะได้ 400 บาทต่อวันหรือไม่

สาเหตุที่ยังไม่ยืนยันว่าจะได้ 400 บาทต่อวันหรือไม่นั้น เพราะต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างก่อน เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปรับได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งไม่เท่ากัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศมาเป็นฐานตั้งต้น โดยคาดจะได้ข้อสรุปสิ้นเดือน พ.ย. 2566

ทั้งนี้ การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ฝ่ายนายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถือครองแรงงานก้อนใหญ่สุดของทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ ไม่สามารถแยกใช้เฉพาะแรงงานไทยได้ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังบอกอีกว่า เชื่อว่าเมื่อปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีแรงงานข้ามชาติมาทำงานในไทยเพิ่ม จากปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 5 ล้านคน และคาดว่าในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า ไทยจะมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยทางประชากรศาสตร์ อัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้มีแรงงานไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการจ้างงาน

ที่มา: PPTV, 29/9/2566

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานฯหนุนรัฐเพิ่มค่าจ้างตามทักษะฝีมือ

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานฯหนุนกระทรวงแรงงานโฟกัสอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงานเพื่อความยั่งยืนแนะเพิ่มหลักสูตรอบรมนายจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัว ชี้รัฐควรตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ไม่ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค.67 แต่ควรผ่านกลไกไตรภาคีเป็นสำคัญ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 20 เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้นำทีมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ เข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งและได้หารืออนาคตตลาดแรงงานไทยซึ่งเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานควบคู่ไปกับการขยายตัวของค่าจ้างที่มุ่งเน้นอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงานเพื่อความยั่งยืนของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจไทยอย่างแท้จริง

“ที่ประชุมได้เสนอให้กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จากเดิมที่มีแต่ลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างต้องการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะลูกจ้างให้ดีขึ้น(Upskill)และการสร้างทักษะใหม่(Reskill) ซึ่งหากนายจ้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ไม่มีทักษะที่จะเปลี่ยนแปลงจะไปพัฒนาลูกจ้างก็คงไม่เกิดประโยชน์”นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานจำเป็นต้องนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประกอบการดำเนินธุรกิจ และการบริการให้มากขึ้นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นระบบอัตโนมัติ(AI) เสมอไปหากยังมีในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมงานต่างๆ ให้เร็วและลดต้นทุนเช่น แอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อการขาย การบริการ อย่างไรก็ตามการผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีการปรับตัวโดยเฉพาะเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องอาศัยทุนซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้นดังนั้นภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน

สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังที่มีเป้าหมายจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 67 นั้น จากการหารือกับรมว.แรงงานนั้นได้เห็นตรงกันว่า ควรปรับขึ้นแต่ควรผ่านความเห็นของกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง(ไตรภาคี) ที่จะมีขั้นตอนตั้งแต่การเสนอค่าแรงจากไตรภาคีจังหวัด โดยยึดหลักการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความเป็นอยู่ของลูกจ้างและความสามารถการจ่ายของนายจ้างเป็นสำคัญ

ส่วนประเด็นของแรงงานต่างด้าวนั้นทางรมว.แรงงานได้ยืนยันจะดูแลและจะมีมาตรการต่ออายุซึ่งทางสภาฯจึงได้เสนอให้มีการแยกแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิตออกจากกันเนื่องจากแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคเกษตรที่ผ่านมาจะไม่มีความชัดเจนเพราะฤดูเก็บเกี่ยวของภาคเกษตรมีระยะเวลาสั้นๆ ก็จะจบลงแต่เมื่อใช้กฏหมายเดียวกันทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันจึงควรจะแยกเพื่อให้อัตราค่าจ้างต่างกันตามความเหมาะสม

“ อุตสาหกรรมไทยเราติดกับดักหยุดใช้แรงงานเข้มข้น เราต้องเปลี่ยนไปสู่การใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นแทนซึ่งต้องพัฒนาด้วยตนเองด้วยจะเล็กน้อยก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะการเติบโตจากรายเล็ก ไปสู่ กลางและใหญ่ ต้องแข่งขันกับรายใหญ่และต่างชาติเสมอและแน่นอนว่าวันนี้การค้าโลกมุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต มากขึ้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวในทุกด้าน”นายธนิตกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/9/2566

กรมการจัดหางาน รุกหนักกวาดล้างต่างชาติแย่งงานคนไทย ตรวจสอบทั่วประเทศแล้วกว่า 5 แสนคน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อมวลชนตีแผ่ความทุกข์ใจของแม่ค้าชาวไทย ที่พบคนต่างชาติเปิดแผงค้าขายในตลาด เข็นรถขายน้ำผลไม้ ขับขี่จักรยานยนต์พ่วงข้างขายอาหาร

หรือเข้ามาค้าขายเปิดกิจการย่านการค้าสำคัญในประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนคล้ายแย่งอาชีพคนไทย นั้น กรมการจัดหางาน ขอยืนยันว่าตลอดปีที่ผ่านมากรมฯไม่เคยนิ่งนอนใจ สั่งการเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่กวาดล้างแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย และแรงงานต่างชาติที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจในพื้นที่ และกรมการปกครอง โดยมีทั้งการสุ่มตรวจในพื้นที่ย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ย่านเยาวราช ห้วยขวาง แยกราชประสงค์ ตลาดหทัยมิตร ถนนจันทร์ และจังหวัดที่พบคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ จังหวัดนนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี นครปฐม และระนอง รวมทั้งในพื้นที่ที่มีการแจ้งเบาะแสร้องทุกข์โดยประชาชน หรือสื่อมวลชน ทำให้ปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 25 กันยายน 2566) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการทั่วประเทศที่จ้างแรงงานต่างชาติแล้ว จำนวน 53,732 แห่ง ดำเนินคดี 1,587 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติแล้ว จำนวน 528,683 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 3,464 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 1,850 คน กัมพูชา 636 คน ลาว 562 คน เวียดนาม 145 คน และสัญชาติอื่น ๆ 271 คน ซึ่งพบเป็นความผิดแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 1,634 คน โดยจังหวัดที่พบนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างชาติกระทำผิดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. สมุทรสาคร 3. นครปฐม 4. ชลบุรี และ  5.นนทบุรี และอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพคนไทยมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ งานนวด และมัคคุเทศก์ตามลำดับ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและเพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้างในประเทศไทย พร้อมกับควบคุมให้มีจำนวนแรงงานต่างชาติเท่าที่จำเป็น และอนุญาตให้ทำเฉพาะงานที่คนไทยไม่ทำ เพื่อมิให้กระทบต่อโอกาสในการมีงานทำหรือรายได้ของคนไทย โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) ซึ่งหากคนต่างด้าวฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

“การลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์แนวทางขออนุญาตทำงานตามกฎหมายประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดลดลง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแรงงานภายในประเทศ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สอดรับนโยบายสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงานของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: ข่าวทำเนียบรัฐบาล, 27/9/2566

ขึ้นค่าจ้างตามทักษะแรงงาน เอกชนย้ำค่าแรงขั้นต่ำตามมติไตรภาคี

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 20 เปิดเผยหลังนำคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่า ได้หารือถึงอนาคตตลาดแรงงานไทย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลจะต้องมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ควบคู่ไปกับการขยายตัวของค่าจ้าง ที่มุ่งเน้นอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อความยั่งยืนของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจไทยอย่างแท้จริง

“ผมได้เสนอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทำหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จากเดิมที่มีแต่ลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างต้องการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะลูกจ้างให้ดีขึ้น (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) หากนายจ้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)ไม่มีทักษะที่จะเปลี่ยนแปลง จะไปพัฒนาลูกจ้างก็คงไม่เกิดประโยชน์”

นอกจากนี้ ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ก็จะต้องนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาประกอบการดำเนินธุรกิจ และการ บริการให้มากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นระบบอัตโนมัติ (AI) เสมอไป หากยังมีในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมงานต่างๆให้เร็วและลดต้นทุน เช่น แอปพลิเคชันต่างๆเพื่อการขายการบริการ อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีการปรับตัว โดยเฉพาะเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องอาศัยทุน ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้น รัฐบาลจึงควรจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยี เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน

สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 นั้น จากการหารือกับ รมว.แรงงาน ได้เห็นตรงกันว่า ควรปรับขึ้น แต่ควรผ่านความเห็นของกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่จะมีขั้นตอนตั้งแต่การเสนอค่าแรงจากไตรภาคีจังหวัด โดยยึดหลักการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความเป็นอยู่ของลูกจ้าง และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน ในประเด็นของแรงงานต่างด้าว นายพิพัฒน์ได้ยืนยันจะดูแลให้ทั้งฝั่งแรงงานและนายจ้าง โดยจะมีมาตรการต่ออายุ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอให้มีการแยกแรงงานต่างด้าว สำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิตออกจากกัน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคเกษตรที่ผ่านมาจะไม่มีความชัดเจน เพราะฤดูเก็บเกี่ยวของภาคเกษตรมีระยะเวลาสั้นๆก็จะจบลง แต่เมื่อใช้กฎหมายเดียวกัน ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน จึงควรจะแยกเพื่อให้อัตราค่าจ้างแตกต่างกันตามความเหมาะสมของประเภทงาน

“ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยติดกับดัก หยุดใช้แรงงานเข้มข้น เราจึงต้องเปลี่ยนไปสู่การใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นแทน ซึ่งต้องพัฒนาด้วยตนเองด้วย จะเล็กน้อยก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะการเติบโตจากรายเล็ก ไปสู่กลางและใหญ่ ต้องแข่งขันกับรายใหญ่และต่างชาติตลอดเวลา และปัจจุบันการค้าโลกก็มุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ผู้ประกอบการก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น”

ที่มา: ไทยรัฐมันนี, 27/6/2566

สส.ตั้งคำถาม กอช. มีแนวทางดึงแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระ กว่า 20 ล้านคนเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่

นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวชื่นชมรัฐบาลที่ผ่านมาที่เห็นความสำคัญของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่มีวัตถุประสงค์หลักคือให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระมีเงินออมใช้เมื่อถึงวัยเกษียณ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2564 และในปี 2574 ประเทศไทยมีประชากรที่สูงวัยมากถึง 28% จึงมีคำถามที่อยากถามกับ กอช. ว่าจะมีแนวทางในการหาสมาชิกเพิ่มอย่างไร จากการที่ดูตัวเลขในรายงานฉบับนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีสมาชิกเพียง 2.5 ล้านคน ซึ่งจำนวนสมาชิกตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2565 เพิ่มขึ้นเพียงปีละไม่ถึง 3% และถ้าดูต่อไปจะเห็นว่าปัจจุบันนี้จำนวนแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20 กว่าล้านคน แปลว่าปัจจุบันสมาชิกของ กอช. นั้นคิดได้เพียงแค่ 12% ของผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระเท่านั้น

สส.พิชชารัตน์ กล่าวว่าในรายงานของ กอช.ที่รายงานต่อสภาได้ระบุถึงยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของการเพิ่มจำนวนสมาชิกอย่างทั่วถึง และการส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง มีตัวอย่างให้เห็นในเล่มรายงานว่า กอช. มีการปรับปรุงกลยุทธ์และจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ร่วมกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และยังมีการจัดกิจกรรมมากมาย แต่เมื่อดูในรายละเอียดหน้างบการเงิน พบว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าส่งเสริมการตลาดในปี 2565 เพิ่มขึ้นมาจากปี 2564 ถึง 152% ซึ่งตนเห็นว่า ประชาชนก็คงสงสัยเช่นเดียวกันว่า กอช. เคยทำดัชนีชี้วัดผลงานหรือ KPI บ้างหรือไม่ เพราะการออมเป็นสิ่งสำคัญแต่การลงทุนในการประชาสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์น้อยเช่นนี้ จึงอยากถามว่าคุ้มค่าหรือไม่

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 26/9/2566

โซเชียลเผยแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ถูกนายจ้างต่างชาติ ชี้หน้าด่า-ทำร้ายร่างกาย

เพจเฟซบุ๊ก อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6 ได้แชร์คลิปจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่ออกมาเผยภาพหญิงสาว "แรงงานไทย" ถูกนายจ้างชาวเกาหลีตะโกนด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง ก่อนเข้ามาทำร้ายร่างกาย มี "แรงงานไทย" ที่อยู่รอบข้างมาห้าม แต่นายจ้างคนดังกล่าวก็ไม่หยุด และเดินเข้ามากระชากหัวจนล้มลง หญิงไทยต้องรีบวิ่งหนีเอาชีวิตรอด

เจ้าของโพสต์เขียนข้อความระบุว่า "แรงงานไทยทำงานอาราไบต์(รับจ้างรายวัน) แถวเขตนาจู กวางจูใต้ โดนเถ้าแก่ทำร้าย และทำร้ายบ่อยมาก เคยมีบางคนโดนกระทืบติดดินมาแล้ว ฝากบอกคนเกาหลีด้วยนะ ถึงพวกเราจะจนเราก็ไม่ได้มาขอเงินพวกคุณฟรีๆ นะ

เราทำงานแลกเงินด้วยหยาดเหงื่อ เลือดตาแทบกระเด็นจึงจะได้เงินพวกคุณมา คนไทยก็มีหัวใจนะ คนไทยเราก็เป็นคนเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับคนเกาหลี พวกเราไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ขี้ข้าไม่ใช่หมานะ โปรดเข้าใจให้เกียรติความเป็นคนแก่พวกเราด้วย"

หลังคลิป "แรงงานไทย" โดนทำร้ายถูกแชร์ออกไป ผู้คนให้ความสนใจมาก จนมียอดเข้าชมไปกว่า 2.5 ล้านวิว และมีคนแชร์ไปกว่า 9 พันครั้ง มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์มากมาย ทั้งให้กำลังใจและบอกให้ไปแจ้งตำรวจ ซึ่งมีชาวเน็ตรายหนึ่งเข้ามาแนะนำว่า "ไม่ว่าจะอยู่ถูกหรือผิดกฎหมายก็แจ้งความได้ ไม่ต้องกลัวตำรวจส่งกลับไทย ตำรวจเกาหลีกับตม.คนล่ะส่วน"

ที่มา: คมชัดลึก, 25/9/2566

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net