Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานวอนรัฐบาลเศรษฐา ‘เลิกจ้างงานไม่เป็นธรรม-รับรองอนุสัญญา ILO 87,98 – หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

7 ต.ค. 2566 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาไอแอลโอ 87, 98 นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย นำเครือข่ายแรงงาน จัดกิจกรรม เนื่องในวัน “วันงานที่มีคุณค่าสากล : World Day for Decent Work โดยมีการเดินขบวนแรงงานจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังสำนักงาน UN เพื่ออ่านแถลงการณ์ เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว จึงหวังว่ารัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรมว.การคลัง รวมถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน คนใหม่ จะเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน มีการรับฟังข้อเสนอของเรา โดยเฉพาะการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับ ที่ 87 และ 98 สนับสนุนให้มีเสรีภาพรวมตัว เจรจต่อรอง ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญแก่คนทำงาน

สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อรัฐบาล มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1.การยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งการจ้างงานในปัจจุบันเป็นการจ้างงานแบบการจ้างระยะสั้น เช่น เหมาค่าแรง เหมางาน จ้างงานบางช่วงเวลา การจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน ตามชิ้นงาน หรือ จ่ายรายวัน ซึ่งการจ้างงานดังที่กล่าวมาได้แพร่ระบาดไปทั่ว ทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานราชการ บางแห่งจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ลูกจ้างในภาครัฐในทุกกระทรวง

2.ขอให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ค.ศ.1948 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98  ค.ศ.1949 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งขบวนการแรงงานเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานทั่วโลกที่บัญญัติไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ(UN) ที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากล ILO  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่มีมา แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นเหตุให้คนงานต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ทำให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดแซงหน้าทุกประเทศในโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง และระบอบประชาธิปไตย

3.ให้รัฐบาลหยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ เช่น เรื่องพลังงานน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง การธนาคาร การสื่อสารโทรคมนาคม รัฐควรดำเนินการเองเพื่อกำหนดราคาไม่ให้ราคาแพง เพราะจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่ายประชาชน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เกิดการผลิต การจำหน่าย เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีกำลังซื้อ ลดหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องเกือบเท่าจำนวนผลิภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP) โดยขอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ…..ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแทนการแปรรูป

ที่มา: เดลินิวส์, 7/10/2566

รมว.แรงงาน เชิญนายจ้าง ผู้ประกันตน ใช้สิทธิเลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม

6 ต.ค. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งกำหนดจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. 66 เวลา 08.00-16.00 น. โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ

ผู้ประกันตน ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มี.ค.-ส.ค. 66) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง)  

นายจ้าง มีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มี.ค.-ส.ค.66) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจ/กรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว

รมว.แรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมจะเปิดให้นายจ้าง และผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ตั้งแต่วันที่ 12-31 ต.ค. 66 และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 10 พ.ย. 66 ผมจึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค. 66

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม และวางระเบียบการรับจ่ายเงินและจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ ดังนั้น วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์อันสูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตน และความมั่นคงของระบบประกันสังคมไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการประกันสังคมว่า

"จะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบกิจการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญาหรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะเปิดรับสมัครให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 25-31 ต.ค. 66 ณ ที่ตั้งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 21 พ.ย. 66" 

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่คำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดกลับคืนไปสู่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 6/10/2566

รมว.แรงงาน ถก 8 แกนนำสหภาพแรงงาน หารือ ฟื้นฟู เพิ่มรายได้ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

วันที่ 4 ต.ค. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือ กับ 8 แกนนำสหภาพแรงงาน ตัวแทนภาคประชาชน นายสถิรยุทธ แสงสุวรรณ รองประธานบริษัทฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะ จำนวน 24 คน ประกอบด้วย บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดและมาสด้า นิคมอุตสาหกรรมิสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกระจกแก้วและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย ภายใต้บริษัทเอจีซี แฟลทกลาส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตกระจกรายแรกของประเทศไทย มีสาขาตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ภายใต้บริษัทไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตเส้นใยเรยอนแห่งแรกของประเทศไทย จ.อ่างทอง ชมรมผู้บริหารแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก และสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานตามโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในโอกาสเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสเดียวกันนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานดังกล่าวยังได้หารือเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ด้านแรงงานเพื่อประสานความร่วมมือและการทํางานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มุ่งเน้นให้แรงงานมีทักษะดี มีงานทํา หลักประกันทางสังคมเด่น เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยนายพิพัฒน์ ยังได้รับฟังข้อเสนอแนะด้านแรงงานของสหภาพแรงงานแต่ละแห่ง เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมให้กลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตได้มีความเข้มแข็งได้รับการพัฒนาศักยภาพแรงงานในสถานประกอบการให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดการสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการเงิน รวมถึงพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพ เพื่อมีรายได้เพิ่มและนำไปสู่การบรรเทาหนี้ครัวเรือนให้ลดลง สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4/10/2566

เหตุบุกยิงที่พารากอน แรงงานเมียนมาเสียชีวิต กระทรวงแรงงานจ่ายชดเชย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเหตุบุกยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 2566 (เมื่อวาน) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวว่าผู้เสียชีวิตจากการบุกยิง 2 ราย เป็นชาวเมียนมาและชาวจีน ได้สั่งการให้กรมต่าง ๆ ในกระทรวงแรงงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบทันที

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานประกันสังคม พบว่าชาวเมียนมาที่เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในส่วนของผู้บาดเจ็บ อีก 5 ราย พบว่าเป็นผู้ประกันตน 4 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างชาวไทย จำนวน 2 ราย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างแรงงานสัญชาติลาว จำนวน 1 ราย และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่เป็นลูกจ้างชาวไทย จำนวน 1 ราย

โดยชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม หากเสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตเป็นค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์ ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นับเป็นการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

“ขณะที่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ สำนักงานประกันสังคมจะดูแลสิทธิในการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาทุกราย และขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้เข้าไปดูแลเรียบร้อยแล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว

“ในนามของกระทรวงแรงงาน ซึ่งดูแลชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียในครั้งนี้ เรามีความห่วงใยต่อชาวต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย และขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะดูแลและคุ้มครองแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคน

ให้เท่าเทียมกับแรงงานไทยทุกประการ ให้ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เพราะแรงงานต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/10/2566

มติ ครม.ขยายระยะเวลาแรงงานข้ามชาติพำนักในไทย ถึง 15 ก.พ. 2568 พร้อมข้อเสนอพิเศษลดค่าธรรมเนียมเหลือ 500 บาทหวัง อำนวยความสะดวกกลุ่มธุรกิจที่จำเป็น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า มติการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากแรงงานต่างด้าว จากประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีแรงงานทำงานในไทยกว่าล้านคน และสัญญาเข้ามาในการทำงานในประเทศจบลงแล้วแต่มีการผ่อนผัน ถึงวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่านายจ้างจำนวนไม่น้อย ยังทำเรื่องผ่อนผันไม่ทัน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ให้นายจ้างรีบดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้างในที่ประเทศได้รับสิทธิพิเศษจำนวนที่ 30 ก.ย.และงานทำเรื่องไม่ดังเสร็จขอให้รีบสรุปโดยด่วน โดยจะให้ระยะเวลาพิเศษให้อยู่ต่อได้ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2567 โดยระหว่างนี้ยังจะได้รับสิทธิพิเศษ ทำงานอยู่ในไทยถึง 13 ก.พ. 2568

นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติ ค่าดำเนินการวีซ่าสำหรับแรงงานต่างด้าวทั้ง 4 ประเทศนี้ ให้ลดค่าธรรมเนียมลงเหลือ 500 บาท เพื่ออำนวยให้ธุรกิจที่จำเป็นการใช้แรงงานต่างด้าว

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/10/2566

รมว.แรงงานลั่นปัญหาแรงงานเถื่อนต้องเร่งแก้ให้จบ ชี้ "ประมง" เป็นแพะรับบาปเรื่องค้ามนุษย์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัญหาแรงงาน ที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้อง หรือแรงงานเถื่อน ซึ่งมีถึง 1 ล้านคนนั้นเป็นเรื่องแรกๆ ของกระทรวงแรงงานที่ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะนอกจากเป็นปัญหาของประเทศแล้ว ยังเป็นตราบาปของประเทศไทย ที่ต้องเร่งแก้ให้ถูกต้องโดยเร็ว เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ เราต้องกล้าพูดถึงข้อเท็จจริง ที่เกิดมานานแล้ว แต่การแก้ปัญหาก็ต้องให้ระยะเวลา ไม่ใช่ว่าทำได้วันนี้ พรุ่งนี้ ต้องมีเงื่อนของเวลา

"หลังจากนี้ จะมีการหารือกับเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ที่เป็นกลุ่มฝ่ายนายจ้างเพื่อขอความร่วมมือ เช่น ถ้าคุณมีแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ถูกต้องเสีย ในลักษณะของการทำเอ็มโอยูก็ได้ เพื่อที่เราจะได้มีการผ่อนผัน ให้เป็นไปตามเงื่อนเวลา"

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เมื่อเราปลดล็อกจนไม่มีแรงงานเถื่อนในประเทศไทย เราก็จะหลุดจากเทียร์ 2 เป็นเทียร์ 1 ซึ่งในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำให้ลดจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 มาแล้ว และรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องปลดล็อกเรื่องของแรงงานให้เป็นเทียร์ 1 ให้ได้ ตนจะพยายามให้ถึงที่สุด ที่จะทำให้ ปัญหาแรงงานเถื่อน ที่เป็นเงื่อนไขของต่างประเทศทำให้เป็นเทียร์ 1 ให้ได้ ถ้ารัฐบาลอยู่ครบเทอม

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในเรื่องของการค้ามนุษย์ กระทรวงแรงงาน ได้มีการร่วมมือกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่แล้ว โดยข้อเท็จจริง เรื่องการค้ามนุษย์ไม่ได้มีปัญหาแค่เรือประมงเท่านั้น ในกิจการอื่นๆ ก็มีทุกจังหวัด แต่เรือประมงเป็นแพะรับบาป วันนี้เรามีการทำงานร่วมกันทั้ง 3 คือกระทรวงแรงงาน กรมประมง เรือประมง เราจะทำให้แรงงานในเรือประมงถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องทำได้ไม่ยาก สำหรับแรงงานในเรือประมง เพราะเขาต้องทำงานอยู่ในเรือ

ในเรื่องของการนำแรงงานต่างชาติเข้ามา เราจะดำเนินการแบบวันสต็อปเซอร์วิส เพื่อให้จบในที่เดียวกัน ระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้ง 4 หน่วยงาน ต้องมีการร่วมมือกัน หมายความว่า ศูนย์ซีไอ เมื่อแรงงานเข้ามาแล้วจะต้องจบในที่เดียวกัน โดยจะมีการประสานงานกับแรงงานงานต้นทาง ที่มาจากประเทศต่างๆ เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว เพื่อที่นายจ้างจะไม่ต้องเสียเวลา พาแรงงานไปติดต่อที่นั่น ที่นี้ ที่โน่น ที่เป็นการเสียเวลาและไม่สะดวกในการติดต่อประสานงาน

กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงสำคัญ ในด้านของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาคน เพื่อให้เป็น แรงงานฝีมือ ที่เป็นที่ยอมรับของผู้เป็น นายจ้าง เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับ เศรษฐกิจของประเทศ และ คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เราไม่ได้มุ่งหวังในการ พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อทำงานในประเทศของเราเพียงอย่างเดียว แต่เรามีแผนในการส่งออกแรงงานไทยไปทำงานยังต่างประเทศ 100,000 ตำแหน่ง เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศของเราด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/10/2566

เบรกนำเข้าแรงงานท่องเที่ยว “พิพัฒน์” จ่อขึ้นค่าแรงปีใหม่

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวออกจากอุตสาหกรรมจำนวนมาก เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงงานบางส่วนไม่กลับเข้ามา ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และคาดว่าจะรุนแรงต่อเนื่องในฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงนี้

ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมอาจต้องปรับตัวโดยการจ้างแรงงานรายวัน จ้างพนักงานพาร์ตไทม์ รวมถึงแรงงานต่างด้าว พร้อมเสนอให้รัฐบาลเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยอาจขยายกรอบความร่วมมือจากการรับแรงงานเพียงแค่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นเปิดรับแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาไทย ให้มีความมั่นใจในเส้นทางของวิชาชีพธุรกิจโรงแรม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้เปิดรับแรงงานต่างชาติจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เนื่องจากมองว่าปัจจุบันยังมีแรงงานในประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการท่องเที่ยวและบริการ จึงอยากให้พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้แรงงานกลุ่มนี้ให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อน

ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีการร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อวางแผนพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงาน และขณะนี้ได้หารือกันเรียบร้อยแล้ว และเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันเร็ว ๆ นี้

“ผมเสนอแนวคิดว่าจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการค้นหาตัวตนของนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกสายการเรียนหลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ว่า สนใจเรียนต่อในสายการเรียนอาชีวะ หรือสามัญต่อไป แม้บางส่วนอาจเลือกเรียนสามัญและก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ภาคบริการยังสามารถดึงดูดแรงงานในกลุ่มนี้ได้อยู่ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงสามารถชักชวนให้นิสิตนักศึกษาเข้ารับการอบรมตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมให้ความร่วมมือการจัดอบรมอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ผมอยู่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พบว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานภาคท่องเที่ยวประมาณ 4 ล้านคน แต่ปัจจุบันพบว่ายังขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 25% หรือราว 1 ล้านคน ซึ่งตอนที่อยู่กระทรวงท่องเที่ยวฯก็เห็นด้วยกับการนำเข้าแรงงาน แต่ตอนนี้ผมมาดูกระทรวงแรงงาน และไม่เห็นด้วย กระทรวงแรงงานพร้อมทำหน้าที่ในการสนับสนุนเพื่อฝึกฝน เพิ่มพูน ทบทวนทักษะของแรงงาน โดยให้หน่วยงานที่มีความประสงค์แจ้งความต้องการมายังกระทรวงได้”

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันหลายประเทศต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ทุกประเทศต่างก็มีปัญหาคล้ายกันคือ ขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของกระทรวงแรงงานจึงต้องโฟกัสผลิตแรงงานป้อนในประเทศไทยให้ได้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีประเทศในแถบตะวันออกกลางประสานงานเพื่อให้ช่วยอบรมวิชาชีพให้กับแรงงานเขาเช่นกัน แต่จำเป็นต้องตอบปฏิเสธไปก่อน

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน เบื้องต้นต้องมีการหารือร่วมคณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าแรงที่ปรับขึ้นนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยภาวะเงินเฟ้อของประเทศและค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

และท้ายที่สุดคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจำเป็นต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายเพื่อหาจุดร่วม และพิจารณาว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มีการจ้างงานแรงงานเป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายน 2566 จากนั้นประกาศเดือนธันวาคม และปรับขึ้นค่าแรงเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในเดือนมกราคม 2567

“ส่วนอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเป็นอัตรา 400 บาทต่อวันหรือไม่ เนื่องจากหากประกาศขั้นต่ำแล้วหมายความว่าทุกคนต้องได้ค่าแรงเท่าเทียมกันทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าว ดังนั้นกระทรวงแรงงานจะหาแนวทางเพิ่มพูนทักษะ (Upskill) ให้แก่แรงงานคนไทย เพื่อให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานต่างชาติ เนื่องจากบางตำแหน่งงานคนไทยไม่ทำ แรงงานต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายพิพัฒน์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/10/2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net