Skip to main content
sharethis

มติ สว. 174:7 ไม่ส่งตัว ‘สว.อุปกิต’ ให้ ตร.สอบสวนในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดในระหว่างสมัยประชุมสภาฯ อาศัยอำนาจตาม รธน. ม.25

9 ต.ค. 2566 เมื่อเวลา 14.30 น. มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมี ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 และสมาชิกวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม พิจารณาวาระเรื่องด่วน การขอออกหมายเรียก ส.ว. สอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 

โดยศุภชัยกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหนังสือมายังวุฒิสภา ขออนุญาตออกหมายเรียกตัว อุปกิต ปาจรียางกูร ส.ว. ไปสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 11/7 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณายาเสพติด พ.ศ.2550 ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 127 แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ระบุว่า ระหว่างสมัยประชุมห้ามจับคุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส.หรือ ส.ว.ไปสอบสวน ในฐานะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับขณะกระทำความผิด การที่ สตช. มีหนังสือมายังวุฒิสภา เพื่อออกหมายเรียกตัวอุปกิตไปสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม จำเป็นต้องเป็นมติที่ประชุมวุฒิสภา ตามมาตรา 125 ก่อน

สว.อุปกิต ชี้แจงระบุว่า ขอบคุณที่ประชุมวุฒิสภาให้ชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมได้รับความทุกข์ทรมานมากว่า 1 ปี ขอยืนยันความบริสุทธิ์ ก่อนเป็น ส.ว.ในปี 2562 ได้ออกจากกรรมการหุ้นส่วน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป ที่ผ่านมาเกือบ 15 ปี ตนเป็นตัวแทนซื้อขายไฟระหว่างไทยกับเมียนมา ที่ด่านท่าขี้เหล็ก ไม่เคยมีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากขออนุมัตินำเงินสดออกไปทำแคชเชียร์เช็กที่ธนาคาร และนำไปจ่ายที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่ปัญหาเกิดขึ้นปี 2563–2565 ที่ด่านปิดจากสถานการณ์โควิด “ตุน มิน ลัต” นักธุรกิจเมียนมา เข้ามาทำธุรกิจไฟฟ้าต่อจากตน ช่วงที่ชายแดนไทย-เมียนมาปิด มีความจำเป็นต้องชำระเงินผ่าน Money changer (MC) ที่เป็นวิธีเดียวที่สามารถโอนเงินตามปกติของการค้าชายแดน การโอนเงินผ่าน MC ตุน มิน ลัต เอาเงินไปให้ MC ฝั่งเมียนมา โดยที่เงินไม่ได้รับการโอนมาจริงๆ MC คนดังกล่าวได้หาบัญชีต่างๆ ของบุคคลที่ต้องการรับเงินในฝั่งเมียนมา และสั่งให้โอนเงินต่อไปยังจุดมุ่งหมายของผู้ที่จะโอน กรณีนี้คือโอนไปที่ กฟภ. เมื่อพนักงานสืบสวนนครบาลเห็นเส้นทางการชำระค่าไฟฟ้า ก็กล่าวหาเป็นบัญชียาเสพติด ด่วนสรุปการกระทำความผิดเป็นเพียงเรื่องโอนเงินชำระค่าไฟตามบิลของ กฟภ. มูลค่าที่มาจากบัญชีที่ไม่ดีเป็นเพียง 2-3% ของมูลค่าการซื้อขายไฟ

อุปกิต กล่าวต่อว่า ทราบว่าก่อนหน้านี้พนักงานสืบสวนได้เรียกบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันคือ การนำน้ำมันไปขายฝั่งเมียนมามาถามว่าได้รับเงินค่าอะไร เขาตอบว่าได้รับเงินค่าน้ำมัน โดยเอาใบเสร็จที่ไม่ได้มาตรฐาน บอกพนักงานสืบสวนว่า รับเงินมาจากลุงคำ ไม่ทราบนามสกุล ทำให้พนักงานสืบสวนเลือกดำเนินคดีกับบริษัทที่เคยเกี่ยวข้องกับตน จากเอกสารโจทก์ในคดีตุน มิน ลัต มีมากกว่า 112 บริษัท และบุคคลอีกจำนวนมากที่รับเงินจากบัญชีที่ตำรวจกล่าวหาว่าเป็นบัญชียาเสพติด ไม่มีใครที่จะเอาค่าไฟฟ้าที่ถูกกฎหมายไปฟอกผ่าน MC ให้เป็นเงินผิดกฎหมาย หลังจากที่บุคคลในเครือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตนถูกจับกุมตัว ผู้ว่าฯทั้งสองประเทศได้คุย และตัดสินใจว่าจะดำเนินธุรกิจไฟต่อ ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงให้ฝั่งเมียนมาเป็นผู้รับผิดชอบโอนเงิน การไฟฟ้าของเมียนมาได้โอนเงินผ่าน MC คนเดิม วิธีเดิม ทุกอย่างในช่วงที่ด่านปิด ทำให้เห็นได้ชัดว่าการโอนเงินแบบนี้คือเรื่องปกติ แต่ที่ผิดปกติคือบริษัทในเครือที่เคยเกี่ยวข้องกับตน ถูกดำเนินคดีเพียงบริษัทเดียว ต้องการชี้ให้เห็นว่า การโอนเงินผ่าน MC เป็นปกติวิสัยของการทำธุรกิจค้าขายชายแดน

อุปกิตกล่าวอีกว่า ส่วนกรณี รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เคยอภิปรายตนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ กล่าวหาตนเป็น ส.ว.ทรงเอ ปรักปรำพัวพันขบวนการค้ายาเสพติด เอาหลักฐานเท็จจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนส่งมาให้มาอภิปรายตน อาทิ แชตบทสนทนาการพูดคุยระหว่างตนกับ ตุน มิน ลัต ที่มีการบิดเบือนบทสนทนาเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าเป็นเท็จ กล่าวหาบริษัทของตนรับโอนเงินจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งที่มีอีก 112 บริษัท ที่มีการรับโอนเงินจากบริษัทที่ถูกกล่าวหาเรื่องยาเสพติด แต่ 112 บริษัทเหล่านี้ไม่ถูกดำเนินคดี ยืนยันไม่เคยเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ไม่มีอะไรมาเชื่อมโยงถึงตน ส่วนการออกหมายจับตนต่อศาลก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการบอกว่า ขอออกหมายจับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การปล่อยให้ตำรวจออกหมายจับตามอำเภอใจอาจกลั่นแกล้งกันได้ ในที่สุดศาลจึงยกเลิกหมายจับ

อุปกิตกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนฟ้องรังสิมันต์ โรม ข้อหาหมิ่นประมาท 2 คดี โดยคดีแรกศาลประทับรับฟ้องแล้ว เรื่องนี้เป็นทฤษฎีสมคบคิดของตำรวจบางคนที่มีภริยาเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่งในขณะนั้น และปัจจุบันเป็น ส.ส.กทม. พรรคการเมืองหนึ่ง ทำงานเป็นกระบวนการ ให้รังสิมันต์อภิปรายโจมตีตน เพื่อหวังผลประโยชน์การเมือง ให้ ส.ว.แปดเปื้อน โยงไปถึงอดีตนายกฯ ที่มีส่วนสรรหา ส.ว. เล่นการเมืองสกปรก อ้างเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ยังใช้วิธีสกปรกมาก เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น

อุปกิตกล่าวว่า อยากชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ทั้งกระบวนการออกหมายจับ ขั้นตอนในชั้นอัยการ ผิดจากธรรมเนียมปฏิบัติ ตนมาจากตระกูลที่รับใช้แผ่นดินมา 3 ชั่วอายุคน บิดาตนเป็นอดีตทูต 6 ประเทศ ตนและครอบครัวตระหนักถึงบุญคุณแผ่นดิน ไม่มีวันทำอะไรเลวร้ายตามที่ถูกกล่าวหา และถึงแม้ตนจะประกาศสละสิทธิไม่ขอรับเอกสิทธิ์คุ้มครอง เรื่องการขออนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ส่งตัวไปดำเนินคดี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องได้รับการอนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภา ตนแสดงเจตนาพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องรอปิดสมัยประชุมวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เพราะไม่ประสงค์ให้ใครเอาไปเป็นประเด็นวิจารณ์วุฒิสภา

“ขอกราบเรียนประธานและสมาชิกทุกคนว่า ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ผมยังมีความเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องขอความคุ้มครองใดๆ” อุปกิต กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้น

จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้ ส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นจะส่งตัวนายอุปกิตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 หรือไม่ มี ส.ว.ร่วมอภิปราย อาทิ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม จัตุรงค์ เสริมสุข วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ที่ไม่เห็นชอบให้นำตัวอุปกิตไปดำเนินคดีตามที่ ผบ.ตร. ทำหนังสือขออนุญาตต่อที่ประชุมวุฒิสภา เนื่องจากหลักการมาตรา 125 มุ่งให้ความคุ้มครองสมาชิกฐานะตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่เป็นประเด็นเอกสิทธิ แม้นายอุปกิตจะขอสละสิทธิความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญก็ตาม

วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร

วิวรรธน์กล่าวว่า การออกหมายจับอุปกิต มีข้อเท็จจริงว่าตำรวจบิดเบือนการออกหมายจับ โดยกรณีที่มีการออกหมายจับไปก่อนหน้านั้น แต่ภายหลังรองอธิบดีศาลอาญาตรวจสำนวนแล้วพบว่าเป็นการออกหมายจับ ส.ว. ไม่เป็นไปตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้รองอธิบดีศาลอาญาจึงถอนหมายจับ

“เมื่อนายอุปกิตชี้แจงไปแล้ว แต่ไม่ลงรายละเอียด หากพบว่าเป็นการกลั่นแกล้ง บิดเบือนออกหมายจับ ปิดบังศาล และทำให้ครอบครัวหรือตัวเองเสียหาย ส.ว. จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ดังนั้นหากจะขออนุญาตต่อวุฒิสภา ผมขอให้ตำรวจมาแสดงเหตุผลต่อในที่ประชุม และชี้แจงว่ามีพยานหลักฐานอะไร ผมจะยกมือเป็นคนแรกให้ออกหมายจับ แต่หากเป็นเอกสารเพียงแผ่นเดียว ระบุว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติด หรือพิสูจน์ได้ว่านายอุปกิตออกหมายจับหรือไม่ อย่าชี้เป็นชี้ตาย แบบนี้ไม่ถูกต้อง หากไม่มีพยานหลักฐาน พูดลอยๆ การลงคะแนนของ ส.ว. ผมขอให้อ่านมาตรา 125 ให้ดี” วิวรรธน์ อภิปราย

อนุสิษฐ คุณากร ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายว่า ขณะที่มี ส.ว.บางส่วนอภิปรายสนับสนุนให้ ส.ว.ลงมติเห็นชอบ เพื่อเคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ พร้อมยกตัวอย่างที่ผ่านมาในช่วงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พบว่ามี 2 ส.ว. ถูกขอหมายไปดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุม ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมภรรยาตนเอง และเรื่องโอนเงินสหกรณ์ ซึ่งวุฒิสภาในช่วงเวลานั้นเห็นชอบ

โดย อนุสิษฐ คุณากร ส.ว. เห็นด้วยกับการอนุญาตตามที่ ผบ.ตร.ทำหนังสือเพื่อขออนุญาต เพราะหาก ส.ว.ปฏิเสธจะทำให้เกิดการวางหลักการว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 นั้น ส.ว.ต้องถูกปฏิเสธทุกครั้ง อย่างไรก็ดี กรณีที่อุปกิตแสดงเหตุผลว่าต้องรักษาสิทธิ เกียรติยศของตนและครอบครัว แม้วาระประชุมเหลือไม่กี่วัน เชื่อว่าเป็นประเด็นที่ประชาชนเห็นร่วมกันว่ากระบวนการยุติธรรมต้องตอบสนอง ทั้งฝ่ายที่กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง

หลังจากแล้วเสร็จการอภิปราย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ฐานะประธานในที่ประชุม ประกาศให้ลงคะแนน พร้อมแจ้งว่าจะเป็นการออกเสียงโดยเปิดเผยผ่านเครื่องออกเสียงลงคะแนน สำหรับเกณฑ์การออกเสียง จะยึดเสียงข้างมากเป็นประมาณ และผลการลงมติพบว่า เสียงข้างมาก 174 เสียงไม่เห็นด้วยกับการออกหมายเรียกตัวอุปกิตไปสอบสวนฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ต่อ 7 เสียง และมี ส.ว.ที่งดออกเสียง 10 เสียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net