Skip to main content
sharethis

กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ 'ศปปส.' รุดยื่นหนังสือถึงสภาฯ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล หวั่นเอื้อคนผิดกฎหมาย ม.112 

 

12 ต.ค. 2566 เว็บไซต์สำนักงานรัฐสภา ระบุว่า วานนี้ (11 ต.ค.) เวลา 11.30 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ  ชั้น 1 อาคารรัฐสภา เจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์  เพื่อนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมฉบับก้าวไกล 

การยื่นหนังสือสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 66 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับ 

โดยทางศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ ได้ฟังคำแถลงจาก ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้วรู้สึกคลางแคลงใจสงสัยในรายละเอียดบางประการ อาทิ การนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง (มาตรา 112) ด้วยหรือไม่ เพราะในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุแต่เพียงว่า "ไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113" นั่นย่อมให้เข้าใจได้ว่าบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในมาตราอื่นๆ อาทิ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษชกรรมตามร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมฉบับนี้ด้วยใช่หรือไม่ และนิยายของคำว่า "ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง" ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้คืออะไร อีกทั้ง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังคลุมเครือระหว่าง "ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง" กับ "ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง (มาตรา 112)" ซึ่งต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ดังนั้น จึงมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนในเรื่องของ "ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง" ที่พรรคก้าวไกล บรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมฉบับดังกล่าว อาจเหมารวมถึง "ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับความมั่นคง (มาตรา 112)" ด้วย อีกทั้งปัจจุบันมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการจัดการชุมนุมในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มักจะอ้างว่าเป็นการออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ทุกครั้งที่ขึ้นปราศรัยส่วนใหญ่จะปราศรัยหมิ่น จาบจ้วง ก้าวล่วง โจมตี ใส่ร้าย สถาบันต่างๆ นานา จึงเป็นที่มาของบรรดาผู้ชุมนุมที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็น แกนนำและหรือผู้ชุมนุมที่ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มต่างๆ รวมไปถึง สส.หลายคนของพรรคก้าวไกล จึงเป็นข้อสงสัยและข้อสันนิษฐานว่า นี้คือที่มาของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว เพื่อให้ถูกบรรจุเป็นญัตติในสภา 

ดังนั้น ศปปส. และกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ จึงยื่นหนังสือฉบับนี้เพื่อนำเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เป็นวาระสำคัญ วาระแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและหรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง และเพื่อดำรงคงอยู่ไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ อันประกอบไปด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะที่เจษ อนุกูลโภคารัตน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ได้รับมอบหมายจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้มารับหนังสือเนื่องจากประธานฯ ติดภารกิจปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการขั้นตอนของทางสภาแล้ว จะนำกราบเรียนประธานฯ เพื่อทราบโดยด่วนต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net