Skip to main content
sharethis

แรงงานไทยจากอิสราเอล เหลือรักษาตัว รพ. 1 คน เยียวยาจิตใจแล้วกว่า 5 พันคน

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เปิดเผยว่า จากการติดตามการดูแลสุขภาพ แรงงานไทยที่เดินทางมาจากอิสราเอลทุกราย รวมถึงคนในครอบครัวหรือญาติ ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ พบว่า

ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามภูมิลำเนานั้น สามารถกลับบ้านได้แล้ว คงเหลือรายล่าสุดที่เดินทางกลับมาถึง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม มีอาการปวดสะโพกจากการตกจากที่สูง โรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่ากระดูกสะโพกหัก จึงประสานส่งต่อ โรงพยาบาลเลิดสิน ที่มีความเชี่ยวชาญให้การรักษาต่อ

ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เปิดเผยอีกว่า สำหรับการดูแลสภาพจิตใจนั้น กรมสุขภาพจิตและทีม MCATT ในพื้นที่ ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม รวม 5,254 คน แยกเป็น

กลุ่ม A ผู้บาดเจ็บ ญาติตัวประกัน และญาติผู้เสียชีวิต/สูญหาย/บาดเจ็บ รวม 1,722 คน

กลุ่ม B ผู้ไม่บาดเจ็บที่กลับมาแล้ว คนไทยที่อยู่ในอิสราเอล และญาติของคนไทยในอิสราเอลที่ยังไม่กลับมา รวม 3,279 คน

กลุ่ม C ประชาชนที่รับรู้เหตุการณ์ 253 คน เพื่อลดการเจ็บป่วยทางจิตในอนาคต ลดการเกิดภาวะ PTSD (โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ) และลดผลกระทบทางจิตใจระยะยาว

ที่มา: 77 ข่าวเด็ด, 21/10/2566

8 ศพแรงงานไทย กลับบ้านเกิดแล้ว

ก.ต่างประเทศ และ ก.แรงงาน จัดพิธีรับศพแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุสงครามในอิสราเอล 8 ราย กลับบ้านเกิด ด้วยสายการบินอิสราเอล เที่ยวบิน LY 083 ที่อาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นลอตแรก ก่อนนำไปประกอบพิธีทางศาสนายังภูมิลำเนา นอกจากเงินเยียวยาจาก ก.แรงงาน แล้ว ล่าสุดทางการอิสราเอลแจ้งว่าจะช่วยเงินเยียวยาครอบครัวแรงงานที่เสียชีวิต ให้ภรรยาเดือนละ 40,000 บาท และลูก 8,000-12,000 บาท จนกว่าจะอายุ 18 ปี

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 20/10/2566

สธ.พร้อมพิสูจน์อัตลักษณ์ร่างแรงงานไทยจากอิสราเอลซ้ำ หากญาติร้องขอให้ยืนยัน

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. มีความเป็นห่วงและได้กำชับให้ติดตามการดูแลสุขภาพแรงงานไทยที่เดินทางมาจากประเทศอิสราเอลทุกราย รวมถึงคนในครอบครัวหรือญาติที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งจากการติดตามข้อมูล

พบว่า ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภูมิลำเนานั้น สามารถกลับบ้านได้แล้ว คงเหลือรายล่าสุดที่เดินทางกลับมาถึงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีอาการปวดสะโพกจากการตกจากที่สูง และรักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่า กระดูกสะโพกหัก จึงประสานส่งต่อ รพ.เลิดสิน ที่มีความเชี่ยวชาญให้การรักษาต่อไป

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ส่วนการดูแลสภาพจิตใจ กรมสุขภาพจิตและทีม MCATT ในพื้นที่ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม รวม 5,254 คน แยกเป็น กลุ่ม A ผู้บาดเจ็บ ญาติตัวประกัน และญาติผู้เสียชีวิต/สูญหาย/บาดเจ็บ รวม 1,722 คน กลุ่ม B ผู้ไม่บาดเจ็บที่กลับมาแล้ว คนไทยที่อยู่ในอิสราเอล และญาติของคนไทยในอิสราเอลที่ยังไม่กลับมา รวม 3,279 คน และกลุ่ม C ประชาชนที่รับรู้เหตุการณ์ 253 คน เพื่อลดการเจ็บป่วยทางจิตในอนาคต ลดการเกิดภาวะ PTSD และลดผลกระทบทางจิตใจระยะยาว โดยวิธีการจัดการความเครียด การปฐมพยาบาลทางใจ การให้ความรู้คำแนะนำด้านสุขภาพจิต การติดตามต่อเนื่องด้วยโปรแกรมเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตสำหรับผู้ประสบภาวะวิกฤต/ภัยพิบัติ การประเมินด้วยการตรวจเช็กสุขภาพใจ และบริการสายด่วน 1323

“วันนี้มีแรงงานไทยเดินทางกลับจากอิสราเอลอีก 4 ชุด รวม 650 คน เป็นชาย 637 คน และหญิง 13 คน คัดกรองสุขภาพพบมีอาการเจ็บป่วย 7 ราย รู้สึกไม่สบายใจ 13 ราย สำหรับเที่ยวบินที่นำร่างของผู้เสียชีวิตกลับมาด้วยนั้น สธ.ได้จัดเตรียมแพทย์นิติเวช และกรมสุขภาพจิตร่วมปฏิบัติงาน พร้อมพิจารณาการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ซ้ำหากญาติมีความประสงค์ให้ตรวจยืนยันอีกครั้ง โดยการส่งตรวจกับสถาบันนิติเวชวิทยา ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือหากส่งตรวจกับมหาวิทยาลัย จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน” นพ.สุรโชค กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/10/2566

PIBA ไฟเขียวให้แรงงานไทยทำงานในอิสราเอล แม้สิ้นสัญญา 5 ปี 3 เดือน ยอดกลับถึงไทย 1,424 คน ลงทะเบียนแล้ว 8,389 คน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอลและได้เดินทางกลับประเทศไทย และกังวลว่าจะไม่ได้กลับไปทำงานอีก นั้น

ล่าสุดได้รับรายงานจากนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล ว่า ฝ่ายแรงงานฯ ได้เข้าพบ นายอิยัล ชิโซ อธิบดีสำนักงานประชากรและคนเข้าเมืองอิสราเอล หรือ Population and Immigration Authority (PIBA) และ Ms.Inbal Masshash ผู้อำนวยการกองบริหารแรงงานต่างชาติ เพื่อหารือในประเด็นการกลับมาทำงานในประเทศอิสราเอล

เช็กเงื่อนไข 2 กลุ่ม ไฟเขียวทำงานในอิสราเอลได้อีก

กลุ่มแรก คือ กลุ่มแรงงานไทยที่ทำงานครบ 5 ปี 3 เดือน และเดินทางกลับไทยเนื่องจากสภาวะสงคราม รวมถึงกลุ่มที่กลับไทยไปก่อนหน้าที่จะเกิดสภาวะสงคราม 3 - 4 ปี สามารถกลับเข้าไปทำงานในอิสราเอลได้ ภายใต้เงื่อนไข ซึ่ง PIBA จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงแรงงานของไทย อีกครั้ง

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มแรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอลโดยไม่มีวีซา และยังไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน จะทำการต่อวีซ่าให้จนถึงเดือน พ.ย.2567 รวมถึงกลุ่มที่กำลังจะครบสัญญา 5 ปี 3 เดือน แต่ไม่เกินเดือน เม.ย.2567 และยังอยู่ในอิสราเอล PIBA จะดำเนินการต่อวีซ่าให้อีก 1 ปี

ทั้งนี้ PIBA อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศแจ้งข้อมูลรายละเอียดและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ทราบต่อไป PIBA อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศแจ้งข้อมูลรายละเอียดและข้อกำหนดต่าง ๆ และกระทรวงแรงงานจะแจ้งให้แรงงานไทยรับทราบถึงรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว่า ขอให้แรงงานไทยคลายความกังวลเรื่องการกลับไปทำงานที่อิสราเอล กระทรวงฯจะดำเนินการประสานอย่างใกล้ชิดกับทางการอิสราเอล เพื่อให้แรงงานไทยสามารถกลับเข้าไปทำงานได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง

ขณะเดียวกัน ทางการอิสราเอลก็ให้ความสำคัญกับการทำให้แรงงานต่างชาติเดินทางกลับมาทำงานในอิสราเอลได้อีก โดยเฉพาะแรงงานไทยซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล และมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอีกด้วย

แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอลกลับถึงประเทศไทย 2 เที่ยวบิน เที่ยวแรก LY 083 จำนวน 125 คน และเที่ยวที่สอง LY 081 จำนวน 187 คน รวมทั้งสิ้น 312 คน

โดยวันนี้ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่ได้มาตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ณ บริเวณชั้น 2 ประตู 10 อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณี ที่รัฐบาลมีการปรับแผนการอพยพคนไทยตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.เป็นต้นไป จะลำเลียงคนไทยที่ต้องการกลับประเทศไปพักคอยที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก่อน ซึ่งจะมีเครื่องบินขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลจะจ้างเหมาลำระหว่างเทลอาวีฟมายังดูไบ โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

กระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับแรงงานไทยที่จะอพยพเข้าไป ทั้งนี้ เชื่อมั่นจะสามารถพาแรงงานไทยกลับบ้านได้ตามที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้และเร็วขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ซึ่งจากรายงานของฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ พบว่า ล่าสุดมีแรงงานไทยได้ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยกับทางสถานทูตฯ แล้ว 8,389 คน ไม่ประสงค์กลับ 116 คน ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 คน เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 16 คน ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 คน และขณะนี้เดินทางกลับไทยแล้ว 1,424 คน

ที่มา: ThaiPBS, 19/10/2566

ปลัด ก.แรงงาน สั่งทูตแรงงานคุยนายจ้างอิสราเอลหยุดบังคับแรงงานไทยอยู่ต่อ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ตนมีนัดหมายหารือร่วมกับทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นั้น เบื้องต้นเนื่องจากทางทูตอิสราเอลติดภารกิจ จึงไม่ได้มีการหารือร่วมกัน แต่จะมีการหารือกันใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาแรงงานไทย ถูกนายจ้างอิสราเอลไม่ยอมปล่อยให้กลับประเทศไทยนั้น เบื้องต้นได้มีการแจ้งไปทางทูตแรงงานไทย ประสานกับทางนายจ้างว่า ไม่ให้มีการบังคับแรงงานไทยให้ต้องทำงาน เรื่องนี้ต้องให้เป็นความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขแรงงานไทยถูกนายจ้างบังคับให้ต้องอยู่ที่อิสราเอล

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของแรงงานที่เดินทางกลับไทยมาแล้วนั้น ตนได้ให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ประสานหารือกับทางการอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว และได้รับข่าวดีจากสำนักงานบริหารแรงงานต่างชาติ (Foreign Workers Administration) ของอิสราเอลว่า อนุญาตให้แรงงานต่างชาติในภาคเกษตรที่เดินทางออกจากอิสราเอลโดยไม่ได้ขอวีซ่า re-entry ในช่วงเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้น ได้รับการผ่อนผันให้สามารถเดินทางกลับเข้าไปทำงานที่อิสราเอลได้ ผ่านกระบวนการพิเศษ เบื้องต้นแรงงานที่ประสงค์เดินทางกลับไปทำงาน สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านบริษัทจัดหางาน 12 แห่ง ของอิสราเอล ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดส่งความต้องการดังกล่าว มายังสำนักงานบริหารแรงงานฯ ตามความจำเป็น

ที่มา: เดลินิวส์, 18/10/2566

พบคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต 53 ราย หลังกลับจากอิสราเอล

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลด้านสุขภาพของคนไทยที่อพยพกลับจากประเทศอิสราเอล ว่า จากผลการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น พบปัญหาสุขภาพทางกาย 12 ราย ประกอบด้วย อาการล้มแขนหัก แผลไฟลวก อาการทางเดินหายใจ เป็นต้น ขณะที่สุขภาพจิต พบมีความเครียดระดับสูง 25 ราย ระดับปานกลาง 8 ราย ทีมแพทย์ได้ประสานสถานบริการในพื้นที่ติดตามดูแลต่อเนื่องหลังกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้ ในภาพรวมจากการเดินทางกลับมาทั้งหมด 539 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย อาการทางเดินหายใจ 11 ราย และด้านสุขภาพจิต 53 ราย อาทิ เครียด นอนไม่หลับ ตื่นตัวมากเกินไป

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 17/10/2566

เตรียมงาน 6 หมื่นอัตรา ทั้งในและต่างประเทศ รองรับแรงงานจากอิสราเอล

นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีมาตรการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาถึงประเทศจากเหตุความไม่สงบในอิสราเอล โดยให้กรมการจัดหางานเตรียมตำแหน่งงานในต่างประเทศที่มีรายได้และลักษณะงานใกล้เคียงกับงานในประเทศอิสราเอลให้กับแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ อาทิ งานภาคก่อสร้างที่ไต้หวัน, งานเกษตรที่โปรตุเกส และกรีซ, งานปศุสัตว์ และงานภาคเกษตร (วีซ่า E-8) ที่เกาหลี

นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีมาตรการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาถึงประเทศจากเหตุความไม่สงบในอิสราเอล โดยให้กรมการจัดหางานเตรียมตำแหน่งงานในต่างประเทศที่มีรายได้และลักษณะงานใกล้เคียงกับงานในประเทศอิสราเอลให้กับแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ อาทิ งานภาคก่อสร้างที่ไต้หวัน, งานเกษตรที่โปรตุเกส และกรีซ, งานปศุสัตว์ และงานภาคเกษตร (วีซ่า E-8) ที่เกาหลี

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดยังลงพื้นที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การรับงานไปทำงานที่บ้าน และแนะนำแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมายจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำให้กับแรงงานไทยที่ไม่ต้องการทำงานประจำหรือต้องการเริ่มต้นกิจการของตนเอง

นางสาวบุณยวีร์กล่าวด้วยว่า ทันทีที่ถึงประเทศไทยเจ้าหน้าที่จะชี้แจงการรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เบื้องต้นแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ และอยู่ในความคุ้มครองจะมีสิทธิ์รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท อย่างแน่นอน

โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดซึ่งอยู่ในภูมิลำเนาของแรงงานจะลงพื้นที่ประสานและติดตามให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุน ภายใน 3 วัน ส่วนแรงงานไทยที่ต้องการกลับไปทำงานที่อิสราเอล กรมการจัดหางานได้มีหนังสือถึงสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมืองของอิสราเอล (PIBA) เพื่อขอให้พิจารณารับแรงงานไทยกลับเข้าทำงานในรัฐอิสราเอลอีกครั้งหากสถานการณ์คลี่คลายลงซึ่งจะมีการเจรจาต่อรองต่อไป

ทั้งนี้ แรงงานที่ต้องการหางานทำสามารถสมัครงานผ่านเว็บไซต์ https://thaimengaantam.doe.go.th หรือ แอปพลิเคชันมือถือ “ไทยมีงานทำ” หรือใช้บริการที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือติดตามประกาศรับสมัครงานในต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/10/2566

ก.เกษตรฯ ผุดโครงการส่งเสริมฝีมือแรงงานไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วรวมมากกว่า 3,600 คน ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 30,000 ราย โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ และขณะนี้มีผู้แจ้งความประสงค์ต้องการกลับมายังประเทศไทยแล้วมากกว่า 7,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเกษตร

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในปี 66 ประเทศไทยได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรที่รัฐอิสราเอล จำนวน 6,500 คน ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีการเตรียมความพร้อมทุกด้านในการดูแลคนไทยกลุ่มแรงงานเกษตร ที่อพยพกลับจากประเทศอิสราเอล

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ที่สำคัญกลุ่มแรงงานเกษตรดังกล่าว นับว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในระดับสูง เพราะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมที่ทันสมัย ที่สามารถพลิกฟื้นทะเลทรายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนเป็นประเทศผู้นำด้านเกษตรในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสสำคัญในการนำความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้ เพื่อร่วมยกระดับและขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทย และต่อยอดในการประกอบอาชีพเกษตร

สำหรับการส่งเสริมกลุ่มแรงงานภาคเกษตรจากอิสราเอล กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมโครงการ "ส่งเสริมฝีมือแรงงานเกษตรไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น" โดยวางแนวทางและจะมีการพิจารณาจากทักษะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความต้องการ โดยหลักๆ แบ่งเป็น 3 แนวทางตามความสมัครใจ ได้แก่

1. ปั้นสู่ครูพี่เลี้ยง ซึ่งกลุ่มดังกล่าว จะเป็นกลุ่มที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และทักษะที่สูง สามารถมาร่วมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะต่างๆ เพื่อสร้างกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer/ Smart Farmer สร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตร

2. ป้อนสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร โดยกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมตามความต้องการในด้านต่างๆ

3. ปูทางอาชีพสู่บ้านเกิด โดยจะให้การสนับสนุนกลุ่มแรงงานที่ต้องการกลับบ้านในภูมิลำเนา ต่อยอดในการประกอบอาชีพ เช่น การเข้าถึงทุนในการประกอบอาชีพ สนับสนุนปัจจัยการผลิต การเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะ การหาตลาดรองรับ หรือการเข้าร่วมเป็น Smart Farmer เข้าร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน หรือโครงการต่างๆ ตามความต้องการและความเหมาะสม เป็นต้น

"กระทรวงเกษตรฯ พร้อมในการช่วยเหลือและส่งเสริมกลุ่มแรงงานภาคเกษตรจากอิสราเอลที่กลับมายังประเทศไทย โดยได้เตรียมโครงการฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือรองรับกลุ่มแรงงานเกษตรแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของไทย ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตร ร่วมกันสร้างเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์กลับเข้าสู่ภาคการเกษตรไทยใน เพื่อร่วมกันยกระดับเพิ่มขีดความสามารถ และขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยไปด้วยกัน" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/10/2566

แรงงานไทยอพยพกลับจากอิสราเอลรวม 161 คน ต้องพบจิตแพทย์แค่ 3 ราย

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของแรงงานที่อพยพกลับมาจากอิสราเอล ว่า ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข พบว่าแรงงานที่เพิ่งเดินทางกลับมาวันนี้ 90 คน ตรวจคัดกรองแล้ว ไม่พบปัญหาด้านสุขภาพจิต มีบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด 1 ราย ปวดบวมที่มือ 1 ราย

ขณะที่ยอดสะสมเดินทางกลับมา 161 คน พบผู้ที่มีบาดแผลทั้งหมด 7 ราย บาดแผลต้องรักษาต่อทั้งหมด 3 ราย ขณะนี้กลับบ้านแล้ว 2 ราย จึงเหลือที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตาก เพียง 1 ราย ส่วนปัญหาด้านสุขภาพจิต พบมีความเครียด 5 ราย นอนไม่หลับ 7 นาย และมีความจำเป็นจะต้องส่งพบจิตแพทย์ 3 ราย

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ชลน่าน ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมในการคัดกรอง สุขภาพจิต และสุขภาพกายของผู้ที่้ดินทางกลับมาจากอิสราเอล นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับจิตใจของญาติ โดยการแบ่งทีมลงพื้นที่ไปแล้ว ทั้ง 13 เขต

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 15/10/2566

นายกฯ เล็งสิ้นเดือนขนแรงงานกลับได้หมด ยันไทยไม่ใช่เป้าฮามาส ขอครอบครัวตัวประกันอย่าหมดหวัง

นายเศรษฐา แถลงภายหลังการประชุม ว่า วันนี้เป็นการประชุมสถานการณ์ความไม่สงบที่อิสราเอล หลายท่านทราบอยู่แล้ว มีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย การประชุมเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับการลำเลียงคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศอิสราเอลให้ได้เร็วที่สุด และรายงานเที่ยวบินออกจากอิสราเอล ซึ่งตนมีตารางบินในมือ พร้อมโชว์ให้กับผู้สื่อข่าวดู โดยภายในสิ้นเดือนนี้ จะมีสายการบินรับคนไทยทั้งนกแอร์ แอร์เอเชีย การบินไทย และ สไปซ์เจ็ท ทั้งหมด 32 เที่ยวบิน รวม 5,700 คน ซึ่งยังไม่พอ เพราะตอนนี้มีคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประมาณ 7 พันกว่าคน และตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลเรื่องการลำเลียงคนออกมายังเป็นปัญหาอยู่ เพราะการต่อสู่ยังไม่จบ ขณะนี้อิสราเอลยังเลื่อนการโจมตีทางบกไปอีกวันถึงสองวัน เป็นที่คาดว่าหากมีการโจมตีทางบก การต่อสู้ก็จะรุนแรงขึ้น ตรงนี้ต้องระมัดระวัง เรื่องการลำเลียงคนทางบก หรือทางเรือ เรียกว่าประตูปิดแล้ว เพราะท่าเรือที่อิสราเอลตอนนี้ปิดไปแล้วไม่สามารถออกมาได้ จึงต้องพึ่งทางอากาศอย่างเดียว ตอนนี้ทางสถานทูตไทยประจำอิสราเอลทำงานอย่างเต็มที่ สามารถนำคนมาอยู่ในศูนย์พักพิงได้วันละประมาณ 400 คน ฉะนั้นถือเป็นตัวเลขที่ดี แต่ถึงอย่างไรเรายังมีเครื่องบินไม่พอ เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่ เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้ยังถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่น่าไว้วางใจ เพราะสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เรื่องของเอกสารของแรงงานชาวไทยอาจทำหายหรือมีมาไม่ครบ ทางสถานทูตได้อำนวยความสะดวกให้เข้ามาศูนย์พักพิงและทำเอกสารรับรองให้สามารถบินได้ เป็นการอำนวยความสะดวก ซึ่งทำได้วันละประมาณ 200 ราย ถือว่าเรื่องเอกสารไม่ใช่ปัญหา ส่วนการลำเลียงคนด้วยเครื่องบินขณะนี้มีสองช่องทาง คือ บินตรงจากอิสราเอลมากรุงเทพฯ กับการไปพักที่ดูไบ จอร์แดน ไซปรัส แล้วนำเครื่องบินไปรับอีกช่วงหนึ่งเพื่อเร่งนำคนออกจากอิสราเอลให้ได้โดยเร็ว สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับมาไทยแล้ว ทาง รมว.แรงงาน แจ้งแล้วว่าจะดูแลอย่างดีที่สุด มีเงินเยียวยา และพยายามหาแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด เมื่อถามว่า แรงงานไทยที่อยู่พื้นที่เสี่ยงยังสามารถสื่อสารได้อยู่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า การสื่อสารไม่ได้ถูกตัดขาดแต่อาจขาดบางช่วงบางตอน เพราะมีการใช้เครือข่ายกันเยอะ

นายเศรษฐา กล่าวถึงจำนวนตัวประกัน ว่า เป็นที่ทราบดีว่ามี 17 คน เราใช้ 4 ช่องทางพยายามติดต่อนำตัวประกันกลับมาให้ได้อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด โดยใช้ช่องทางทางการทูต หน่วยข่าวกรอง ซึ่งมีการคุยกันระหว่างข่าวกรองต่างประเทศและการทหาร นอกจากนี้ ยังใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ภาคประชาคมหรือเอ็นจีโอ ที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศต่างๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราพูดคุยมาโดยตลอด โดย กต.พูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งปาเลสไตน์ และอิสราเอล เพื่อขอคนของเราให้กลับมาได้ปลอดภัยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ แต่ทุกคนที่อยู่ที่นี้และกองทัพไทย พยายามหาช่องทางเพิ่มมากขึ้น ในการเพิ่มเที่ยวบิน เอาคนไทยกลับมาให้ทันในสิ้นเดือนนี้ให้หมด

เมื่อถามว่าจนถึงขณะนี้มีปัญหาอะไรน่ากังวลใจที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า มีสองสามปัญหา ปัญหาแรก คือ การนำคนจากจุดเสี่ยงมาสู่ศูนย์พักพิงและเดินทางเข้าสู่สนามบินพร้อมออกเดินทาง และ สอง เรื่องของเที่ยวบินที่จะนำเข้าไปได้ ในที่ประชุมผู้ใหญ่หลายท่านเสนอเข้ามาให้เช่าเครื่องบินเพิ่มเติม และหลายคนที่ไปสุวรรณภูมิอาจเห็นเครื่องบินแอร์บัส 380 ที่จุคนได้ประมาณ 500 กว่าคน หากถามว่าทำไมไม่เอาเครื่องดังกล่าวไปรับ ได้สอบถามการบินไทย ได้รับการชี้แจงว่าเครื่องบินเหล่านั้นจอดมานานต้องซ่อมบำรุงอีกทั้งนักบินไม่ได้บินนานตามกฎแล้วต้องไปฝึกอบรมเพิ่มต้องใช้เวลา จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่าเครื่องบิน 380 มา เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราดูอยู่

เมื่อถามว่า ตัวประกันที่ถูกจับทั้ง 17 คน จากการประสานช่องทางการทูตกับอิสราเอล ทั้งหมดยังปลอดภัยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ วันนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เมื่อถามย้ำว่า ยังไม่ได้รับคำตอบว่าตัวประกันจะได้ปล่อยตัวเมื่อไหร่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ใช่ครับแต่มีการคุยกันโดยตลอด โดยวันนี้ นายปานปรีย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะคุยกับบางประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าตัวประกันจะปลอดภัย เมื่อถามว่า จะให้ความมั่นใจกับครอบครัวตัวประกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เราเห็นใจ แต่เรายังติดต่อไม่ได้จริงๆ เราใช้ทุกช่องทางอยู่แล้ว การที่ยังติดต่อไม่ได้ และยังไม่มีข่าวร้ายออกมาก็ถือว่าเรายังมีความหวัง เราทำเต็มที่ไม่ได้สิ้นหวัง

เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตคนไทยที่สูงขึ้น จะทำให้เรามีการปรับท่าทีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีเราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เราเกิดความสูญเสียอันดับต้นๆ เพราะเรามีแรงงานอยู่ในประเทศนั้นเยอะ เขาคงไม่ได้เจาะจงมาทำร้ายคนไทยหรอกคนคิดเช่นนั้น เราไม่มีส่วนในความขัดแย้ง เราพยายามช่วยเจรจาทั้งสองฝ่าย จุดมุ่งหมายของเรา คือ นำคนไทยที่เป็นตัวประกันออกมาให้ได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนคนที่ไม่ใช่ตัวประกันและต้องการเดินทางกลับก็ต้องให้กลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าเราไม่ใช่ประเทศเป้าหมาย นายเศรษฐา กล่าวย้ำว่า “ไม่ใช่ครับ” เมื่อถามอีกว่า แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรที่ผลิตเสบียงป้อนกองทัพอิสราเอล จะทำให้เป็นเป้าในการโจมตีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า แรงงานไทยไม่ได้เป็นชาติเดียวที่อยู่ตรงนั้น เชื่อว่าทางฮามาสไม่ได้เจาะจงที่แรงงานไทยโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังกล่าวด้วยว่า ในคืนวันเดียวกันนี้ไม่ได้ไปต้อนรับคนไทยที่จะเดินทางกลับและลงที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) ต้องเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและซาอุดีอาระเบียวันนี้ขอทำงานอยู่ข้างหลังดีกว่า และมีรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่จะไปต้อนรับและให้กำลังใจ ก็แบ่งกันทำงาน ยืนยันว่าจะดูแลให้ดีที่สุด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/10/2566

ธ.ก.ส.เล็งมาตรการพักหนี้ ช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าได้หารือกับ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และ สั่งการให้ ธ.ก.ส. หาแนวทางช่วยเหลือคนไทยจากอิสราเอล ซึ่งการประเมินเบื้องต้นมีลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่เข้าข่ายประมาณ 150 ราย วงเงินกว่า 10 ล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. พิจารณาภายในเดือนนี้ โดยกรณีเสียชีวิตจะให้ความช่วยเหลือด้วยการยกหนี้ให้ทั้งหมด ส่วนกลุ่มแรงงานที่เดินกลับประเทศอย่างปลอดภัย ธนาคารจะช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ยเหลือ ร้อยละ 0.01 เป็นเวลา 3 ปี และพักเงินต้นกับดอกเบี้ยให้เป็นเวลา 1 ปี

รายงานข่าวจาก ธ.ก.ส. แจ้งว่า มีผู้กู้สินเชื่อเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ทั้งสิ้น 650 ราย วงเงินต้นคงเหลือ 58 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นการปล่อยกู้เพื่อเป็นเดินทางไปหลายประเทศ ไม่ได้แยกเฉพาะแรงงานในอิสราเอล

ที่มา: Thai PBS, 15/10/2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net