Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์เตือนว่า ปฏิกิริยาของยุโรปต่อกรณีสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนในยุโรปเอง จากที่มีรายงานเกี่ยวกับกรณีการโจมตีในเชิงเหยียดชาวยิวและในเชิงเกลียดกลัวอิสลามมากขึ้นในยุโรป รวมถึงสร้างความเสี่ยงเรื่องนโยบายผู้อพยพและเสรีภาพในการชุมนุมด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงการณ์ระบุว่า ปฏิกิริยาของยุโรปต่อสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในกาซ่า กำลังส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชนในยุโรป เช่น การที่รัฐบาลยุโรปไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ดีพอต่อกรณีการก่อเหตุในเชิงเหยียดชาวยิวหรือในเชิงเกลียดกลัวอิสลามเพิ่มมากขึ้นในยุโรปช่วงที่มีสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงการใช้นโยบายผู้อพยพที่เสี่ยงต่อการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อผู้คนที่ถูกมองว่าเป็นอาหรับ, ปาเลสไตน์ หรือมุสลิม รวมถึงมีเรื่องของการแบนและจำกัดการประท้วงอย่างสันติเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนปาเลสไตน์

"เหล่าผู้นำรัฐบาลในประเทศยุโรปมีความรับผิดชอบในการที่จะทำให้ทุกคนปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงและการกีดกันเลือกปฏิบัติ" เบนจามิน วอร์ด รองประธานยุโรปและเอเชียกลางของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว "แล้วมันเป็นก็เรื่องสำคัญอีกเช่นกัน ที่เหล่าผู้นำรัฐบาลจะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการชุมนุมประท้วงและแสดงออกอย่างสันติ รวมถึงทำให้แน่ใจว่าการโต้ตอบต่อความรุนแรงจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลนั้นไม่กลายเป็นการละเมิดสิทธิใดๆ"

มีหลายประเทศในยุโรปที่เกิดเหตุการณ์โจมตีบนฐานของการเหยียดชาวยิวเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่ออิสราเอลจากกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เป็นต้นมา ตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่ามีเหตุการณ์โจมตีในเชิงเหยียดชาวยิวเกิดขึ้น 218 กรณี ในช่วง 18 วันแรกของเดือน ต.ค. ปีนี้ (2566) เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (2565) ที่มีเกิดขึ้น 15 กรณี กลุ่มเฝ้าระวังชุมชนในอังกฤษได้รับรายงานกรณีแบบนี้ 600 กรณีในช่วงระหว่างวันที่ 7-23 ต.ค. 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ได้รับรายงานกรณีแบบนี้ 81 กรณี

ในฝรั่งเศส รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแถลงเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. เป็นต้นมา มีกรณีการก่อเหตุต่อต้านชาวยิวเกิดขึ้น 588 กรณี และมีการจับกุมผู้ก่อเหตุเหล่านี้ได้ 336 ราย ในเยอรมนี มีหน่วยงานวิจัยเรื่องกลุ่มเหยียดชาวยิวซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล หน่วยงานดังกล่าวนี้ระบุว่า มีกรณีการก่อเหตุต่อต้านชาวยิวเกิดขึ้น 202 กรณี ระหว่างวันที่ 7 ต.ค. ถึง 15 ต.ค. 2566 เทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่มีอยู่ 59 กรณี

สถิติเหล่านี้ไม่ได้แยกระหว่างกรณีการทำร้ายร่างกาย, การข่มขู่คุกคาม หรือการใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อบุคคล และเหตุโจมตีโดยมีเป้าหมายเป็นสถาบันของชาวยิวหรือที่อยู่อาศัยของชาวยิว เช่น การเผาสุเหร่า หรือการป้ายโคลนใส่ดาวดาวิดที่พักอาศัยของชาวยิว อย่างไรก็ตามกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้เน้นย้ำให้เห็นว่ามีกรณีการก่อเหตุจากความคิดเหยียดชาวยิวเกิดเพิ่มขึ้นมากหลังจากเหตุการณ์ 7 ต.ค. ที่อิสราเอล โดยเริ่มจากการโจมตีโดยกลุ่มฮามาส ตามมาด้วยการโต้ตอบจากรัฐบาลอิสราเอล

ในขณะเดียวกัน ช่วงที่มีสงครามอิสราเอล-ฮามาส ก็มีการก่อเหตุจากความเกลียดกลัวอิสลามเกิดเพิ่มมากขึ้นเช่นกันในพื้นที่เดียวกับที่มีเหตุโจมตีจากการเหยียดชาวยิว ตำรวจนครบาลลอนดอนระบุว่ามีการก่อเหตุจากความเกลียดกลัวอิสลามเกิดขึ้น 101 กรณีในลอนดอนในช่วง 18 วันแรกของเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 42 กรณี และองค์กรเฝ้าระวังชุมชนก็ระบุว่ามีเหตุการณ์โจมตีจากความเกลียดกลัวอิสลามเกิดขึ้น 291 กรณีในอังกฤษระหว่างวันที่ 7-19 ต.ค. นับว่าเพิ่มขึ้น 6 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2565

การปิดกั้นการประท้วง

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลหลายแห่งในยุโรปได้เพิ่มความเข้มงวดมากเกินไปในการจำกัดการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์และการกล่าวสนับสนุนปาเลสไตน์ หลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

เช่น ในฝรั่งเศส ทางการได้สั่งแบนแบบปูพรมต่อการประท้วงที่แสดงออกสนับสนุนปาเลสไตน์ทั้งหมด แต่ "สภาแห่งรัฐ" ของฝรั่งเศส ซึ่งหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับฝ่ายบริหารและเป็นศาลสูงสุดของฝรั่งเศสได้ตัดสินให้มีการยกเลิกคำสั่งแบนดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจเช่นนี้ก็มีการประท้วงถูกแบนไปแล้ว 64 กรณี

ทางการเยอรมนี ได้ทำการแบนการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างน้อย 7 กรณี ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์อีกหลายกรณีที่ได้รับอนุญาต การแบนการประท้วงดังกล่าวนี้ส่งผลให้ กรรมาธิการของรัฐบาลฝรั่งเศสในประเด็นปัญหาการเหยียดชาวยิว แสดงความกังวลในแง่ที่ว่าการประท้วงเหล่านี้เป็น "การแสดงออกถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน" ของพวกเขาเท่านั้น

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการศึกษาของทางการเยอรมนีได้ให้อนุญาตโรงเรียนในการสั่งห้ามนักเรียนสวมผ้าโพกหัวคัฟฟิเยห์สีขาวดำที่มีสติกเกอร์ระบุคำว่า "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลถึงเสรีภาพในการแสดงออกและเป็นไปได้ที่จะเข้าข่ายการกีดกันเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมีรายงานเรื่องที่มีการแบนการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย, ประเทศฮังการี และบางส่วนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย

ตำรวจในกรุงลอนดอนมักจะใช้วิธีการแบบพิจารณาแบบแยกแยะเกี่ยวกับเรื่องการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. เป็นต้นมา เช่นมีการคำนึงถึงว่าพวกเขาใช้คำขวัญในการประท้วงในแบบที่ถูกแบนในประเทศยุโรปอื่นๆ หรือไม่ ถึงแม้ว่าตำรวจจะถูกกดดันจากรัฐบาลให้ใช้กำลังอย่างเต็มรูปแบบต่อการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ก็ตาม รวมถึงการที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนปาเลสไตน์อย่าออกมาประท้วง

 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การที่รัฐบาลอังกฤษแถลงแบบนี้ บวกกับการออกกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยฉบับใหม่ที่จำกัดสิทธิในการชุมนุม เสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดความกลัวที่จะออกมาชุมนุมจนกลายเป็นสิ่งที่กระทบต่อสิทธิในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกได้

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เกิดการฆาตกรรมกันในเรื่องที่ทางการระบุว่าเกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์รอบล่าสุด เช่น ในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา มีกรณีครูถูกแทงเสียชีวิตที่โรงเรียนในฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าผู้ต้องสงสัยก่อเหตุซึ่งเคยเป็นอดีตนักเรียนที่นี่เป็นผู้ที่กล่าวสวามิภักดิ์ต่อรัฐอิสลามก่อนที่จะก่อเหตุสังหาร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเพราะอะไร

มีกรณีความรุนแรงในเบลเยียมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมาที่เป็นเหตุให้แฟนบอลชาวสวีเดน 2 รายเสียชีวิต แต่ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ระบุว่าไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในกาซ่า

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสอ้างเหตุการณ์แทงกันเสียชีวิตในโรงเรียนดังกล่าว เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การเพิ่มความเข้มงวดในการใช้กฎหมายต่อต้านผู้อพยพซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งอยู่ก่อนแล้ว มีข้อเสนอแก้ไขกฎหมายให้มีการปิดกั้นมากขึ้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นในการขับไล่ชาวต่างชาติที่ต้องสงสัยว่า "มีอุดมการณ์สุดโต่ง" ทางด้านของเยอรมนี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็เรียกร้องให้มีการเนรเทศผู้คนที่แสดงออกสนับสนุนฮามาส

รัฐมนตรีด้านคนเข้าเมืองอังกฤษเรียกร้องให้มีการถอนวีซ่าคนที่พวกเขาอ้างว่าแพร่กระจาย "ความเกลียดชังและความแตกแยก" "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเหยียดชาวยิว" หรือ สนับสนุนองค์กรที่ถูกห้ามในอังกฤษ ซึ่งทั้งอังกฤษและยุโรปต่างก็ระบุฮามาสไว้ในองค์กรต้องห้ามและต้องทำการเนรเทศ รัฐมนตรีอังกฤษระบุว่ามีการเริ่มดำเนินกระบวนการนี้แล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่านโยบายเหล่านี้ ในแง่กระบวนการและบริบทที่มีการเสนอใช้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมและชาวอาหรับ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนรัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตและความปลอดภัยของทุกๆ คนในประเทศอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ นั่นรวมถึงการคุ้มครองประชาชนจากความรุนแรงที่มาจากความเกลียดชังของความคิดเชิงเหยียดชาวยิวหรือเชิงเกลียดกลัวอิสลามด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทช์เสนอให้รัฐบาลทำการเก็บรวบรวม 'ข้อมูลที่มีการจำแนก' เกี่ยวกับเชื้อชาติสีผิวและชนชาติ เพื่ออนุญาตให้พวกเขาโต้ตอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ต่อกรณีการเหยียดเชื้อชาติสีผิวและการกีดกันเลือกปฏิบัติทั้งในรูปแบบเชิงโครงสร้างและในรูปแบบอื่นๆ

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติงานในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหรือด้านความมั่นคงแบบที่ไม่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติและให้คุ้มครองสิทธิของทุกคน แต่ความจำเป็นในเรื่องการต่อต้านความรุนแรงที่เกิดบนฐานของความเกลียดชังและการคุ้มครองประชาชน ไม่ควรจะกลายมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันเลือกปฏิบัติโดยรัฐหรือการตั้งมาตรการผู้อพยพในเชิงละเมิดสิทธิ

อีกเรื่องหนึ่งที่ฮิวแมนไรท์วอทช์แสดงความกังวลคือการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก ฮิวแมนไรท์วอทข์เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลยุโรปควรจะละเว้นการจำกัดตีกรอบการประท้วงเว้นแต่มีความจำเป็นอย่างถึงที่สุดจริงๆ และถ้าหากมีการบังคับใช้ก็ควรจะมีความเข้มงวดแบบเป็นไปตามสัดส่วน โดยพิจารณาเป็นรายกรณีไป การสั่งแบนการประท้วงโดยสิ้นเชิงควรจะใช้เป็นวิธีสุดท้าย การสั่งห้ามหรือทำให้สัญลักษณ์ของปาเลสไตน์เป็นเรื่องผิดกฎหมายนั้นนับเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติและการโต้ตอบอย่างผิดสัดส่วน กลายเป็นการแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงออกในแบบที่ไร้ความชอบธรรม

วอร์ดกล่าวว่า "สิทธิในการชุมนุมและในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นนับเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตย และเป็นแนวทางที่สำคัญสำหรับประชาชนในการทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง รวมถึงในเรื่องนโยบายการต่างประเทศด้วย ... การสั่งแบนการประท้วงอย่างสันตินับเป็นการลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานของประชาชน"

 

เรียบเรียงจาก

Israel-Palestine Hostilities Affect Rights in Europe, Human Rights Watch, 26-10-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net