Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานนี้แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในพม่านำโดย กองกำลังโกก้าง (MNDAA) ปฏิบัติการรุกคืบ ยึดพื้นที่คืนจากกองทัพเผด็จการพม่าได้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพเผด็จการส่งกำลังมาทางตอนเหนือติดพรมแดนจีนได้ เรื่องนี้มีบริบทประวัติศาสตร์อย่างไร และเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์-เผด็จการทหารพม่า-รัฐบาลจีน อย่างไรบ้าง

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) ร่วมมือกับกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยพม่า หรือ กองกำลังโกก้าง (Myanmar National Democracy Alliance Army - MNDAA) ปฏิบัติการโจมตีร่วมกันในระลอกล่าสุดที่เขตพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน-ขายแดนจีน ทำให้พวกเขาสามารถยึดครองฐานทีมั่น 12 แห่งของกองทัพเผด็จการพม่าและของกองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับเผด็จการเอาไว้ได้

ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา มีชื่อว่า "ปฏิบัติการ 1027" ซึ่งมีการประสานงานร่วมกับกองกำลังอาระกัน จนกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ ซึ่งทาง TNLA ระบุว่าพวกเขายึดฐานที่มั่นได้ 6 จุดในเมืองหนองเขียว, น้ำคำ, น้ำป่าคา และ ล่าเสี้ยว ขณะที่ MNDAA อ้างว่าพวกเขายึดตำบลชิงฉ่วยเหอ ในเมืองเหลากาย ที่อยู่ติดกับพรมแดนจีนเอาไว้ได้ และทำการยึดฐานที่มั่นของเผด็จการทหารได้อย่างน้อย 6 แห่ง ซึ่งเมืองเหล่ากาย มีทีท่าว่าจะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มติดอาวุธอย่างที่กล่าวอ้างไว้จริง

ทางกลุ่มติดอาวุธทั้งสองกลุ่มยังระบุอีกว่าพวกเขาสามารถสังหารและจับตัวทหารและตำรวจฝ่ายเผด็จการได้เป็นจำนวนมาก

TNLA ยังระบุถึงตัวเลขเจ้าหน้าที่เผด็จการทหารที่พวกเขาสังหารได้ อีกทั้งยังระบุถึงการที่พวกเขาโจมตีฐานบัญชาการทางตะวันออกเฉียงเหนือของล่าเสี้ยวด้วยจรวด อย่างน้อย 4 ลูก ก่อนหน้าที่พวกเขาจะโจมตี ฐานบัญชาการทหารฝ่ายเผด็จการแห่งนี้ได้ทิ้งระเบิดใส่ที่อื่นๆ ในเมืองจนเป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย ก่อนหน้าที่ TNLA จะยิงจรวดใส่ฐานทัพดังกล่าว

นักกิจกรรมฉานระบุว่าการยึดครองเมืองเหล่ากาย และพื้นที่ชิงฉ่วยเหอ นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อแผนการของ MNDAA จากการที่เผด็จการทหารพม่าพยายามจะก่อตั้งการบัญชาการในระดับภูมิภาคที่ชายแดนพม่า-จีนในเหล่ากาย

มีนักวิเคราะห์ระบุว่าการที่ MNDAA รุกคืบเข้าไปในพื้นที่ชิงฉ่วยเหอ ในเมืองเหล่ากาย เอาไว้ได้แสดงให้เห็นถึงการที่ดินแดนแห่งนี้กลับคืนสู่การปกครองของโกก้างอีกครั้ง

เส้นทางที่กองทัพเผด็จการพม่าใช้ค้าขายกับจีนในตอนนี้ทุกเส้นทาง รวมถึงชายแดนมูเซซึ่งเป็นชายแดนพม่า-จีนที่คึกคักที่สุด ในตอนนี้ตกอยู่ในการควบคุมของกองกำลังภราดรภาพกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์พม่าแล้ว ซึ่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนพม่า (BPLA) ได้เข้าร่วมกองกำลังชาติพันธุ์โจมตีเป้าหมายเผด็จการทหารพม่าด้วย โดยที่ Ko Lynn Lynn จาก BPLA บอกว่าพวกเขาจะเข้าร่วมรบด้วยเพราะทางกลุ่มภราดรภาพสนับสนุนพวกเขาและพวกเขามีศัตรูเดียวกันคือเผด็จการทหาร

กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ อย่าง แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติคะเรนนี (KNPLF) กองกำลังประชาชนมันฑะเลย์และโม่โกะ รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาจากกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า ต่างก็แสดงความยินดีกับปฏิบัติการ 1027

บริบทของปฏิบัติการในโกก้าง

สื่อ Shan Herald Agency For News ระบุว่า ปฏิบัติการโจมตีระลอกล่าสุดนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นการขัดขวางไม่ให้กองทัพเผด็จการพม่าส่งกำลังเสริมไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือที่อยู่ติดกับชายแดนจีนได้ โดยที่สื่อฉบับเดียวกันนี้ได้ให้ข้อมูลประกอบเพื่อให้เข้าใจบริบทของปฏิบัติการโจมตีเอาไว้ดังนี้

1.) MNDAA โกก้างเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ให้สัญญาว่าจะยึดคินดินแดนโกก้างคืนมา พวกเขาสูญเสียดินแดนไปตั้งแต่ราว 10 ปีก่อนหน้านี้ ในเดือน ส.ค. 2552 กองทัพพม่าได้ทำการบุกจู่โจมเข้าไปในดินแดนโกก้าง ทำให้ เผิงเจียเซิง ผู้นำ MNDAA ในยุคนั้นและกองกำลังของเขาต้องหนีไปที่สามเหลี่ยมทองคำ

ในตอนแรก เผิงเจียเซิง พยายามจะหนีเข้ามาในประเทศไทยโดยการเข้าหาเจ้ายอดศึกแต่ทำไม่สำเร็จ ในเวลาต่อมาเขาจึงปักหลักอยู่แบบไปๆ มาๆ ระหว่างชายแดนจีน-พม่า กับ ลาว หลังจากนั้นในปี 2558 โกก้างก็กลับมาทำสงครามอีกครั้งซึ่งสร้างความประหลาดใจอย่างมากให้กับคนทั่วพม่า และเมื่อกองกำลัง MNDAA โกก้างกลับมา พวกเขาก็สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับกองทัพพม่า

2.) เคยมีการเรียกร้องให้ เผิงเจียเซิง อดีตผู้นำ MNDAA ที่ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ให้จัดตั้งแนวร่วมชาติพันธุ์ที่ประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยที่ในคราวนี้ MNDAA ได้ปรับโฉมของตัวเองและส่งเสริมการกำจัดเผด็จการทหารพม่ามาเป็นประเด็นอันดับหนึ่ง และในครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ MNDAA ถูกเรียกร้องให้จัดตั้งแนวร่วมชาติพันธุ์ในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร

3.) โชคดีที่สถานการณ์พม่าหลังรัฐประหารค่อนข้างโกลาหลและอำนาจรวมศูนย์ของรัฐบาลกลางพม่าก็กำลังถดถอยลง ทำให้กลุ่มติดอาวุธอาศัยโอกาสในช่วงที่เกิดสูญญากาศทางความมั่นคงของพม่าในการเกณฑ์กำลังรบใหม่ๆ ให้เข้าร่วมโดยอาศัยฐานจากคนรุ่นใหม่ที่เกลียดเผด็จการทหาร ทำให้กองกำลังหลายกลุ่มอย่าง กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ที่มาจากคนรุ่นใหม่ฝ่ายซ้าย กองทัพปลดปล่อยประชาชนพม่า (BPLA) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) หลายหน่วย และ กองกำลังป้องกันชาติคะเรนนี (KNDF) ต่างก็ได้รับการฝึกการรบจาก MNDAA โกก้าง

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มโกก้างยังได้ขยายเหล่าทัพออกไปเป็น 4 เหล่าทัพ เมื่อประเมินคร่าวๆ แล้วกำลังของโกก้างน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันนาย และมีทหารยะไข่ กองทัพอาระกันอาร์มี (AA) เสริมทัพเข้ามาอยู๋ภายใต้กองพลน้อยที่ 611 นับตั้งแต่ที่ NUG ประกาศสงครามคุ้มครองประชาชนในปี 2564 ปีเดียวกับที่เกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด กองกำลังส่วนหนึ่งของ MNDAA ก็พยายามยึดครองหมู่บ้านโมโกที่อยู๋ติดชายแดนจีน-รัฐฉาน และพยายามยึดอดีตฐานที่มั่นกบฏพรรคคอมมิวนิสต์ การโจมตีของ MNDAA ในปี 2564 ทำให้กองพลทหารราบเบาของเผด็จการพม่าเสียหายอย่างหนัก

4.) ในทางตรงกันข้าม เมื่อเทียบกับสมัยที่โกก้างกลับมาเปิดฉากสู้รบกองทัพพม่าอีกรอบหนึ่งในปี 2558 ตอนนั้นไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน เพราะประชากรส่วนใหญ่ในตอนนั้นที่เป็นชาวชนชาติพม่ามีแต่จะสนับสนุนฝ่ายกองทัพ เนื่องจากในยุคนั้นกระแสชาตินิยมกำลังแรงเพราะความรู้สึกต่อต้านจีน แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าขาวพม่าพากันปรบมือแซ่ซ้องสรรเสริญการที่กองกำลังโกก้างนำกองทัพพันธมิตรชาติพันธุ์โจมตีกองทัพเผด็จการพม่า โดยมีกองกำลังพิทักษ์ประชาชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการต่อสู้รอบปัจจุบัน

5.) กองกำลังโกก้าง MNDAA เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเข้าใจนโยบายของประเทศจีนได้เป็นอย่างดี พวกเขาให้เหตุผลถึงการโจมตีในครั้งนี้ว่าเพื่อทำลายฐานกลุ่มหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์หรือสแกมเมอร์ผู้ที่อยู่ในเขตปกครองตนเองโกก้าง ทางการจีนรู้สึกไม่พอใจการมีอยู่ของการกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้มานานแล้วโดยเฉพาะพวกสแกมเมอร์และแก็งค์ต้มตุ๋น

เรื่องใหญ่ที่สุดคือความล้มเหลวของหน่วยตระเวนชายแดนในการยับยั้งขบวนการสแกมเมอร์และการค้ามนุษย์ชาวจีน MNDAA จึงระบุถึงปฏิบัติการยึดพื้นที่ในแง่นี้ เพื่อให้มันกลายเป็นการ "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" สำหรับการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เจ้าหน้าที่ทางการยูนนานก็กดดันให้ชนชั้นนำในเขตปกครองตนเองโกก้างที่หนุนหลังหน่วยตระเวนชายแดนให้ลงจากอำนาจ

ในปี 2552 ช่วงที่มีเหตุการณ์โกก้างนั้น ทางการจีนเคยเปิดไฟเขียวให้มีปฏิบัติการต่อ MNDAA จนทำให้กองทัพพม่ายึดครองพื้นที่โกก้างได้ทั้งหมดอย่างง่ายดาย แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นแตกต่างออกไปมาก เศรษฐีใหญ่ในโกก้างกำลังถูกคุมขังอยู่ในจีน ทำให้ MNDAA ฉวยโอกาสนี้ได้ อีกประการหนึ่งคือญาติของกลุ่มผู้นำ MNDAA ในเมืองลาเป็นตัวอย่างที่ดีในสายตาของทางการจีน เพราะในพื้นที่นั้นเต็มไปด้วยธุรกิจการพนันก็จริง แต่ไม่มีการต้มตุ๋นออนไลน์ และไม่มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปที่จีนจากข้อหาเรื่องสแกมเมอร์เลย

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยูนนานระบุว่า ทางการจีนมีความไม่พอใจอย่างมากและจะไม่ยอมทนต่อกรณีการต้มตุ๋นออนไลน์ แต่พวกเขาก็เห็นว่าเผด็จการทหารพม่าไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้และมีความเฉื่อยชาต่อปัญหานี้ ดังนั้นแล้วพวกเขาจึงใช้วิธีที่หนักกว่านี้หรือไม่ก็เร่งการกดดันให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และถ้าจำเป็นจริงๆ ก็จะทำทุกวิถีทางแบบ "ไม่ได้ด้วยเล่ห์ เอาด้วยกล"

6.) ในบริบทที่จีนมีนโยบายรีเซ็ตความสัมพันธ์กับพม่า กลุ่มกบฏที่มีเชื้อสายจีนอย่างโกก้างอาจจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมไม่วันใดก็วันหนึ่ง การปฏิเสธวาระของจีนที่เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการโดยให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งมาเป็นผู้นำชั่วคราว อาจจะนำไปสู่การเน้นกดดันเผด็จการพม่ามากขึ้น แม้กระทั่งผู้แทนพิเศษจากจีนจะเข้าร่วมในการประชุมสันติภาพที่จัดขึ้นแบบเอาหน้าโดยเผด็จการพม่าก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำการกดดันใดๆ ต่อกลุ่มกบฏทางภาคเหนือของพม่าที่มาจากพื้นที่พรมแดนจีน-พม่า

พอมีกลุ่มแนวร่วมใหม่ผุดขึ้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า กลุ่มเผด็จการพม่าก็อยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้มากกว่าเดิม ถ้าหากจีนพยายามเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ย พวกเขาก็จะพูดถึงการรีเซ็ตความสัมพันธ์กับพม่าได้ว่าเพื่อสร้างความคืบหน้าในการยุติความวุ่นวายในพม่าหลังรัฐประหาร

7.) MNDAA ใช้ยุทธวิธีที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและเต็มไปด้วยเทคนิค มีการใช้เครื่องมืออย่างโดรนและแว่นส่องกลางคืนด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการแอบสนับสนุนจากจีน ทำให้ชวนสงสัยว่าพวกเขาจะโจมตีแบบที่ต้องใช้งบประมาณมากอย่างนี้ได้อย่างไร เท่าที่เห็นคือ กองกำลังต่างๆ ถูกส่งไปโจมตีในหลายที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน แต่ก็มีเป้าหมายชัดเจน ทำให้เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะสามารถยึดครองพื้นที่โกก้างได้ทั้งหมด พวกเขาสามารถตัดช่องทางและควบคุมพื้นที่ถนนสายใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างพรมแดนจีนกับเขตพื้นที่โกก้างเอาไว้ได้ รวมถึงเมืองที่ถนนตัดผ่าน และวางกำลังตามพื้นที่โกก้างเพื่อยึดคืนมาเป็นของพวกเขาอีกครั้ง

ถนนจำนวนมากที่เชื่อมต่อกับเขตพื้นที่โกก้างในตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังแนวร่วมที่นำโดย MNDAA และทาง MNDAA ก็อ้างว่าพวกเขาสามารถยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญไว้ได้หลายแห่ง โชคดีของพวกเขาอีกอย่างหนึ่งคือการที่เผด็จการพม่าอาศัยพวกกลุ่มติดอาวุธที่เอนเอียงได้ง่ายเอาไว้ทำหน้าที่หลักๆ ในเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคของโกก้าง และเป็นไปได้ที่กลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่เหล่านี้จะแปรพักตร์พอถึงเวลาที่จะต้องเผชิญหน้าในการสู้รบจริงๆ

นอกจากนี้ เขตพื้นที่โกก้างยังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีการใช้แม่น้ำแนวป้องกันพื้นที่ทั้งหมด ถ้าหากว่า MNDAA สามารถควบคุมพื้นที่เหล่ากายเมืองหลวงของภาคเชียงตุงได้ และแนวร่วมกลุ่มกบฏสามารถขัดขวางและใช้อิทธิพลเหนือพื้นที่ถนนใหญ่ๆ ได้แบบนี้ต่อไป กลุ่มติดอาวุธโกก้างก็จะสามารถยึดพื้นที่โกก้างคืนได้ทั้งหมด ยุทธวิธีของพวกเขาในขั้นตอนแรกคือตัดกำลัง ในขั้นตอนที่สองคือปฏิบัติการและยึดฐานที่มั่นใหญ่ๆ หรือไม่ก็หน่วยทหารราบในทางยุทธศาสตร์ และในขั้นตอนที่สามคือการยึดฐานใหญ่อย่างเลาก์ก่าย

การผนึกกำลังโจมตีหลายครั้งเช่นนี้ชวนให้นึกถึงยุคคริสตทศวรรษ 1960s ที่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าปฏิบัติการโจมตีทางตอนเหนือของรัฐฉาน ในตอนนั้นพวกเขายึดพื้นที่สมรภูมิบางแห่งได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็ทำการยึดครองพื้นที่โกก้างทั้งหมดได้ รวมถึงพื้นที่ๆ มีการสู้รบในปัจจุบันที่อยู่ตามแนวโครงการยุทธศาสตร์ของจีนด้วย


เรียบเรียงจาก
Kokang Leads Coordinated Attacks: What Everyone Needs to Know, Shan Herald Agency For News, 28-10-2023


Ethnic Alliance Report Rapid Gains From Myanmar Junta Along Chinese Border, The Irrawaddy, 28-10-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net