Skip to main content
sharethis

ส่องผลพิพากษาคดีมาตรา 112 เมื่อเดือนตุลา 2566 รวมทั้งหมด 18 คดี (รวมคดีเยาวชน) ได้รับการยกฟ้อง 3 คดี ที่เหลือลงดาบหมด ด้านศูนย์ทนายฯ เผยนับตั้งแต่ 30 พ.ย. 2561 จนถึง 31 ต.ค. 2566 มีคำพิพากษาคดี 112 ทะลุ 100 คดีแล้ว

 

ประมวลข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกกล่าวหาคดีทางการเมือง และ iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน พบว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2566 มีการพิพากษาคดี 112 ทั้งหมดอย่างน้อย 18 คดี แบ่งเป็นชั้นต้น 10 คดี คดีศาลเยาวชน 2 คดี และอุทธรณ์ 6 คดี

โดยสามารถแบ่งเป็น 1. ลงโทษจำคุก รอลงอาญา 6 คดีความ 2. ลงโทษจำคุก ไม่รอลงอาญา 6 คดีความ 3. ยกฟ้อง 3 คดีความ 4. เป็นคดีความเยาวชน ลงโทษ 2 คดีความ และ 5. รอกำหนดโทษ 1 คดีความ ซึ่งมีรายละเอียดโดยคร่าวดังนี้

คดีศาลชั้นต้น

สำหรับกรณีที่ศาลชั้นต้น ตัดสินว่ามีความผิดตาม มาตรา 112 โดยสั่งจำคุกไม่รอลงอาญา จำนวน 5 ราย ได้แก่ สหรัฐ สุขคำหล้า (โฟล์ค) ถูกสั่งจำคุก 2 ปี และ มงคล ถิระโคตร (บัสบาส) จำคุก 4 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 คนได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีความชั้นอุทธรณ์

ด้านคดีความของวรรณวลี ธรรมสัตยา และพวก รวม 3 คน กรณีถือป้ายข้อความในม็อบที่กรุงเทพฯ ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องจำเลย 2 ราย เนื่องจากเห็นว่าข้อความในป้ายไม่ชัดเจนว่าเข้าข่ายตามมาตรา 112 แต่ศาลลงโทษจำคุกวรรณวลี 2 ปี 8 เดือน แต่ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

เวหา แสนชนชนะศึก เดิมเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 จากกรณีแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก’ วิจารณ์กษัตริย์จำนวน 1 ข้อความเมื่อปี 2564 และวิจารณ์ศาลจำนวน 1 ข้อความเมื่อปี 2565 แต่เวหา กลับทำให้การเป็นการรับสารภาพ ทำให้ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน (31 ต.ค.) และมีคำสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โดยคดีนี้ ‘เวหา’ ไม่สู้คดีความต่อ เนื่องจากต้องการประจานความอยุติธรรมของกระบวนการศาล

ขณะที่คดีที่มีการลงโทษ และให้รอลงอาญา มีจำนวนทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ (จำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้รอการลงโทษ 2 ปี) เวฟ (จำคุก 1 ปี 6 เดือน และรอการลงโทษ 2 ปี) พัชรพล (จำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา 3 ปี) ต้น (จำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี) และมณีขวัญ (จำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา 3 ปี)

รอกำหนดโทษ 1 รายคือ 'เซ็นเตอร์'

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ส่วนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่ศาลมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยมีคดีที่ยังต่อสู้ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 2 คดี ได้แก่ คดีของพรชัย ที่จังหวัดยะลา (ลงโทษจำคุก 2 ปี) และคดีของ 'กัลยา' (นามสมมติ) ที่จังหวัดนราธิวาส (ลงโทษจำคุก 6 ปี) โดยกรณีของพรชัย ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา แต่คดีของกัลยา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เธอถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

'ธาวิน' ผู้ถูกกล่าวหามาตรา 112 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่เมื่อ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 เห็นควรเป็น 'รอการลงโทษ 5 ปี'

สุรีมาศ, วารี, และ พิพัทธ์ ผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 'ยกฟ้อง' ตามศาลชั้นต้น

ขณะที่เยาวชน 2 ราย ศาลเยาวชนกลางมีคำสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนคำพิพากษา โดยสั่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 132 วรรค 2 โดยสั่งให้ควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจ และให้เข้าอบรมฝึกวิชาชีพ ได้แก่ คดีของ 'ภูมิ หัวลำโพง' (นามสมมติ) (ควบคุมตัว 1 ปี) และคดีของ 'ภัทรชัย' (ควบคุมตัว 6 เดือน) ปัจจุบัน ทั้ง 2 คนถูกควบคุมตัวที่บ้านเมตตา

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2566 มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างสู้คดีเท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มอย่างน้อย 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 ราย 

รวมยอดผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จำนวน 13 ราย ได้แก่ 1. วุฒิ 2. เวหา 3. วารุณี 4. ทีปกร 5. วัฒน์ 6. เก็ท โสภณ 7. อุดม 8. สมบัติ ทองย้อย 9. อานนท์ นำภา 10. วีรภาพ วงษ์สมาน 11. ภูมิ หัวลำโพง (คดีเยาวชน) 12. กัลยา (นามสมมติ) และ 13. ภัทรชัย (คดีเยาวชน)

ภูมิ หัวลำโพง (ถ่ายโดย iLaw)

ศูนย์ทนายฯ มองแนวโน้มการตัดสินคดีทางการเมือง

กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Prachatai Talk" เมื่อ 1 พ.ย. 2566 มองแนวโน้มการสั่งลงโทษคดีทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะมาตรา 112 โดยสังเกตจากท่าทีของศาลเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่สั่งลงโทษไม่รอลงอาญา  นอกจากนี้ เขายังมองว่าการพิพากษาลงโทษนี้น่าจะดำเนินไปในสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีคนติดคุกจากมาตรา 112 ถึงร้อยคน

สำหรับแนวทางการตัดสินคดี โดยให้รอการลงโทษนั้น ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน เช่นล่าสุดคดีของเบนจา อะปัญ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้รอการลงโทษ แต่คดีอื่นๆ กลับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในความเห็นของเขา มันไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าเป็นอย่างไรกันแน่ 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังจากคดีทางการเมือง ทั้งหมด 36 ราย แบ่งเป็น คดีที่สิ้นสุดแล้ว 11 ราย และยังสู้คดี 25 ราย ประกอบด้วย 1. ถิรนัย 2. ชัยพร 3. ชนะดล 4. วุฒิ (นามสมมติ) 5. เวหา แสนชนชนะศึก 6. ทีปกร 7. วารุณี 8. ประวิตร 9. วัฒน์ (นามสมมติ) 10. ขจรศักดิ์ 11. คเชนทร์ 12. โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 13. ณัฐพล 14. วัชรพล 15. จตุพล 16. สมบัติ ทองย้อย 17. ไพฑูลย์ 18. ธนายุทธ ณ อยุธยา 19. อานนท์ นำภา 20. วีรภาพ วงษ์สมาน 21. ภูมิ หัวลำโพง (คดีเยาวชน) 22. กัลยา (นามสมมติ) 23. ภัทรชัย (คดีเยาวชน) 24. อุดม 25. สุขสันต์  

นอกจากนี้ เฉพาะคดีความมาตรา 112 มีผู้ถูกคุมขังทั้งนักโทษเด็ดขาด และต่อสู้คดีความ มีจำนวน 13 ราย

สิทธิประกันตัวยังน่าเป็นห่วง

ทนายความจากศูนย์ทนายฯ มองว่า คำพิพากษาของศาลเทียบระหว่างรัฐบาลประยุทธ์ และเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้แตกต่างหรือมีผลอย่างเป็นนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ทนายกิตติศักดิ์ มองถึงสิทธิการให้ประกันตัว หลังมีคำพิพากษาแล้ว ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ถ้าสังเกตจากศาลในกรุงเทพฯ จะไม่ให้ประกันตัวมากกว่าศาลต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา มักจะมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำเสนอต่อศาล ไม่บ่งบอกว่าเขามีพฤติการณ์ตั้งใจหลบหนี และมาตามนัดศาลทุกนัด

กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้แตกต่างจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ของ มงคล ถิระโคตร ให้ประกันตัว ขณะเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ในกรุงเทพฯ ไม่ให้ประกันตัวเลย ทำให้คาดการณ์พอได้ว่าศาลใน กทม.ไม่ให้การประกันตัวเลย 

ขณะที่ทนายความกิตติศักดิ์ มองด้วยว่า แนวทางคำพิพากษาของศาลไม่ให้ประกันตัวมีความจำเพาะบางกรณี โดยเฉพาะในคนที่ได้รับความสนใจ หรือให้ความเห็นทางการเมืองบ่อยครั้ง เพื่อส่งสัญญาณว่าผู้มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง และสร้างสภาวะความหวาดกลัวในการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง  

นอกจากนี้ คนที่เป็นกลุ่มทะลุแก๊ซ หรือเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกดินแดง เมื่อปี 2564 มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ประกันตัว เพราะศาลมองว่าไม่ได้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก แม้ว่าในข้อเท็จจริงนั้น เขาโดนตั้งข้อหาพกพาวัตถุระเบิด แต่เขาไม่ได้พกระเบิดจริง มันเป็นการประดิษฐ์ประทัดขึ้นมา และไม่ได้นำเข้าอาวุธ ดังนั้น แม้ว่าจะต่อสู้คดี หรือรับสารภาพ ก็จะไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว 

ทนายกิตติศักดิ์ มองว่า ศาลสามารถทำได้ 3 ระดับเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เริ่มจาก 1. ศาลสามารถให้สิทธิประกันตัวกับผู้ต้องหาทางการเมืองได้เลย 2. อัยการสูงสุดมีอำนาจในการที่จะสั่งไม่ฟ้องคดี หรือถอนฟ้องคดี และ 3. ผลักดันการนิรโทษกรรม รวมถึงมาตรา 112 ซึ่งจะต้องใช้กำลัง และความร่วมมืออีกเยอะในการผลักดัน ถ้าทำได้จะแก้ปัญหานี้ได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นับตั้งแต่ 30 พ.ย. 2561 จนถึง 31 ต.ค. 2566 มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 จำนวน 101 คดีแล้ว โดยกรณีล่าสุดคือกรณีของเวหา แสนชนชนะศึก ตามที่รายงานไปเบื้องต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net