Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มนตรา หรือ Incantation ของไต้หวันเรื่องนี้ออกมาในปี 2022 ซึ่งเป็นเรื่องลี้ลับชวนสยอง อีกมุมหนึ่งก็สื่อความสัมพันธ์ของแม่กับลูก (วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส, 2022) เราอาจพบได้ในหนังผีทั่วไปที่แม่อาจต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตลูกไว้ และในเรื่องนี้เธอก็ยอมตายแทนลูก แต่บทความสั้นนี้จะชวนเราไปดูมุมของ คำสาป คำอวยพร จดหมายลูกโซ่ และแนวคิดโพธิสัตว์ ซึ่งหนังอาจไม่ได้ต้องการสื่อเรื่องโพธิสัตว์ก็ได้ แต่หากเราทำความเข้าใจเรื่องโพธิสัตว์โดยเฉพาะของมหายาน อาจช่วยให้มองหนังเรื่องนี้เปลี่ยนไป

พุทธแบบตันตระในอาเซียน
Emma Burleigh (2022) ระบุว่า หนังได้เเรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี 2005 มีครอบครัวหนึ่งใน Kaohsiung ของไต้หวันอ้างว่าถูกผีเข้าสิง พวกเขาทำพิธีกรรมลี้ลับและได้ฆ่าลูกสาวสองคน แต่หนังได้ดัดแปลงและเพิ่มรายละเอียดลงไปโดยหยิบเอาศาสนาพุทธแนวตันตระซึ่งผสมกับฮินดู และบอกที่มาผ่านตัวละครว่า เป็นความเชื่อที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การอ้างนี้ไม่ได้เกินเลย เพราะพุทธศาสนาแบบจีนก็รับอิทธิพลจากอินเดียจริง และมณฑลยูนนาน ซึ่งมีพระภิกษุที่ปฏิบัติตันตระและช่วยแปลคาถาให้ตัวละครเอกในเรื่อง (Li Ronan) ก็เป็นพื้นที่ที่ใกล้กับพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

การปฏิบัติแบบตันตระกระจายไปหลายที่ในอาเซียน รวมถึงอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเชื่อว่าเป็นเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียขึ้นมาจนถึงภาคใต้ของไทยอย่างสุราษฏร์ธานี หรือในภาคเหนือก็มีกรณีของการทำสมาธิแบบโบราณหรือการท่องบทธารณีเพื่อให้พรของครูบาบุญชุ่มที่ว่า “โอม มุนี มุนี มหามุนี ศักยะมุนี สะวาหะ” (GHOST GURU, 2019) ซึ่งอาจดูแปลกในสายตาของเถรวาทสมัยใหม่

ความเชื่อเร้นลับที่หนังเรื่องนี้เสนอคือ การบูชาเจ้าแม่องค์ดำ ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Dahei Buddha Mother สันนิษฐานว่าคล้ายกับลัทธิบูชาเจ้าแม่กาลี (ซึ่งแปลว่า ดำ) การต้องบูชาด้วยสัตว์หรือเลือด หรือตัดอวัยวะบางอย่างเพื่อถวายท่านยังพบเห็นได้ เช่น ในปี 2016 หญิงชาวอินเดียอายุ 19 ปีได้ตัดลิ้นถวายเจ้าแม่กาลี โดยเชื่อว่าเธอจะได้รับพรให้สมหวัง (Indiatimes, 2016) ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่กาลียังพบในภาคใต้ของไทยในรูปของเทพเจ้าเเห่งความตาย (เจ้าเมรุเผาศพ) ชื่อ ตากาหลา-ยายกาหลี กาหลาคือพระกาฬ เป็นชื่อหนึ่งของพระศิวะ และ ยายกาหลีคือเจ้าแม่กาลี เป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมา ชายาพระศิวะ (เรื่องเล่าจากนักท่องมิติ, 2017) พระกาฬ หรือ กาล เป็นเทพแห่งกาลเวลาที่กลืนกินทุกอย่าง ในหนังเรื่องนี้ เจ้าแม่องค์ดำถูกทำออกมาในรูปขององค์เทพที่ไม่มีหน้าตา มีศีรษะที่มีรูกว้าง ซึ่งผมสันนิษฐานว่าเป็นเหมือนปากขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างพร้อมจะกลืนกินทุกสิ่ง โดยเฉพาะ “ชีวิต”

พรและคำสาปอยู่ด้วยกัน 
Li Ronan ทำคลิปให้ผู้ติดตามช่วยสวดมนต์อวยพรให้ลูกเธอ (Dodo) หายจากความเจ็บป่วย เธอขึ้นซับไทเทิลให้คนได้สวดตามว่า “Hou ho xiu yi, si sei wu ma” ซึ่งพระที่ปฏิบัติตันตระในยูนนานแปลไว้ว่า “โชคร้ายและโชคดีอาศัยกันและกัน ความตายและชีวิตอยู่ในชื่อ” เพราะเชื่อว่าชื่อเป็นตัวกำหนดชีวิต การเปลี่ยนชื่อจะช่วยเปลี่ยนชีวิตจึงพบได้ในหลายวัฒนธรรม (Stollznow, 2014, p. 21) รวมทั้งพุทธศาสนา ที่มักมีชื่อทางศาสนา (ฉายา) ให้คนที่จะบวช (มักอ้างว่า เพื่อให้เป็นภาษาบาลีและสวดง่าย) หรือแม้อุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธก็มักได้ชื่อใหม่ไป เพื่อแยกชื่อในทางโลกออกจากชื่อทางจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับการได้ชื่อใหม่เมื่อเข้าศาสนาคริสต์

คงไม่มีใครสวดมนต์ให้ตัวเองป่วยตาย ดังนั้น การสวดมนต์อธิษฐานคงเป็นไปในทางบวกทั้งหมด ยกเว้นกรณีทำของใส่คนอื่น (ซึ่งไม่รู้ว่ามีจริงไหม) แต่ถ้าเราเชื่อว่า การสวดมนต์ขอพรจะทำให้เกิดสิ่งดีดีขึ้นมาได้ ทำไมจะเชื่อต่อว่า การสวดมนต์/สร้างคำสาปที่จะทำให้สิ่งร้ายๆ เกิดขึ้นจะเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อทั้งสองอย่างนั้น “อิงอาศัย/อยู่ด้วยกัน” 

ตอนผมเป็นเณรช่วงปี 2543 ในจังหวัดตรัง มีการนิมนต์พระไปสวดให้ผู้ที่ป่วยหนักตามบ้าน และหลวงพ่อมักจะพูดกับพวกเราว่า “เมื่อพระมาสวดแล้ว ถ้าเขาไม่ดีขึ้น เขาก็จะตายเร็วขึ้น” ผมไม่ต้องการยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นจริงไหม แต่อย่างน้อยคำพูดหลวงพ่อสะท้อนชัดว่า พรและคำสาปอยู่ด้วยกัน นั่นคือถ้าพรในฝ่ายความดีไม่ทำงาน ความชั่วร้ายอาจทำงานแทน (?) 

พุทธเถรวาทเองก็พูดเรื่องสิ่งที่เป็นคู่กัน เช่น มีลาภ/เสื่อมลาภ มียศ/เสื่อมยศ นินทา/สรรเสริญ สุข/ทุกข์ กล่าวคือ ทั้งโชคดีและโชคร้ายจะอยู่ด้วยกัน อยู่ที่ว่าอะไรจะวนเวียนมา ซึ่งการหวังให้สิ่งดีเท่านั้นเข้ามาก็ดูจะขัดกับหลักความไม่เที่ยงหรือผันแปรตลอดเวลาของชาวพุทธ คำอธิบายที่ลึกลงกว่านั้นคือ จริงๆ โลกหรือสังสารวัฏนี้เต็มไปด้วยทุกข์ ทุกข์จึงแปลว่า “อดทนได้ยาก” ในขณะที่ สุข แปลว่า “อดทนได้ง่าย” หมายความว่า การอดทนง่ายหรือที่เเม้จะเรียกว่าสุข ก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง ตรงที่ต้องอดทน แค่มันเบาและสบายกว่าเมื่อเทียบกับความทุกข์ อริยสัจจึงพูดแต่เรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์ ที่เล่ามาก็เเค่จะยืนยันว่า ตามคำสอนของศาสนาพุทธ สุขก็อยู่ในทุกข์นั่นแหละ 

จดหมายลูกโซ่และโพธิสัตว์
หนังเรื่องนี้เฉลยในตอนท้ายว่า “ผู้ติดตามที่ช่วยเธอสวดมนต์ขอพรให้ลูกหายป่วย แท้จริงแล้วพวกเขากำลังสวดมนต์เพื่อรับเอาคำสาป” ซึ่งทำให้อาการป่วยของลูกเธอเบาบางลงได้จริง ยิ่งคนสวดมนต์ไปมากเท่าไหร่ คำสาปหรือสิ่งชั่วร้ายก็จะกระจายไปมากเท่านั้น แน่นอนว่า พวกเขาถูกหลอก รวมทั้งคนดูหนังเรื่องนี้ที่สวดมนต์ไปพร้อมกับเธอด้วย และอันนี้ก็ยังสร้างความสยองให้คนดูแม้จะออกจากโรงหนังไปแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าได้รับคำสาปติดตัวมา ซึ่งทางเดียวที่พอจะช่วยได้คือ ต้องหาคนอื่นๆ มาช่วยสวดมนต์บทนั้นเพื่อแบ่งเบา/รับคำสาปนั้นต่อๆ ไป เหมือนจดหมายลูกโซ่

พระโพธิสัตว์คือคนที่เห็นว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยทุกข์ และตั้งใจจะหาทางช่วยให้ตนเองและผู้อื่นพ้นไปจากความทุกข์ให้ได้ พระโพธิสัตว์ในเถรวาทคือคนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่แม้จะเป็นพระพุทธเจ้าก็มีความสามารถจำกัด ช่วยได้แค่บางคนเท่านั้น (ตถาคตเเค่บอกทาง) และเมื่อหมดอายุขัยก็นิพพานไปโดยไม่มีกิเลสให้กลับมาเกิดอีก แต่มหายานสอนให้ทุกคนทำตัวเป็นโพธิสัตว์ และมีตัวอย่างเช่น พระกษิติครรภ์ ที่ตั้งปณิธานเลยว่า หากในทุคติเช่น นรก ยังมีสัตว์อยู่ ตนก็จะไม่ขอเป็นพระพุทธเจ้า/นิพพาน หรือกวนอิม (พระอวโลกิเตศวร) ที่เลือกจะช่วยสรรพสัตว์ดีกว่าการบรรลุนิพพานไป 

มองได้ว่า โพธิสัตว์ในมหายานคือคนที่อยากอยู่ร่วมกับคนอื่นซึ่งยังมีทุกข์ และยังต้องทำงานช่วยเหลือหรือ “ช่วยเเชร์” ความทุกข์ของคนอื่น ถ้ามองด้วยสายตาเถรวาท โพธิสัตว์พวกนี้คงเป็นคนโง่ และอาจมองว่า จดหมายลูกโซ่นั้นมันช่างเลวร้าย เราจึงต้องรีบปฏิบัติให้บรรลุนิพพานหนีสังสารวัฏไปดีกว่า แต่ในสายตามหายาน ถ้าคนอื่นยังมีทุกข์และทราบว่าตนพอจะช่วยได้ เเม้ต้องแบ่งเบาคำสาปหรือความทุกข์ของผู้นั้น โพธิสัตว์ก็จะทำ นั่นคือถ้าสวมจิตใจโพธิสัตว์ เวลาดูหนังเรื่องนี้ นอกจากจะไม่กลัวคำสาปและไม่โกรธ Li Ronan แล้ว ยังพร้อมที่จะช่วยแบ่งเบาคำสาปด้วย

มหายานทำงานกันเป็นกลุ่มใหญ่ พระโพธิสัตว์ในสังคมมหายานหนึ่งๆ ไม่ได้มีแค่คนเดียว แต่อาจมีเป็นพัน ฉะนั้น หากต้องแบ่งเบาคำสาปหรือความโชคร้ายจากคนอื่น คำสาปก็จะถูกเเบ่งเป็นชิ้นน้อยมากๆ เทียบคำสาปเป็นเกลือ 1 ถุง (ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องป่วยตาย เเบบในหนังเรื่องนี้) เเต่เมื่อผู้คนจำนวนพันช่วยเฉลี่ยไปก็อาจได้เกลือคนละก้อนจนเหลือแค่ทุกคนป่วยเป็นหวัดกัน 2-3 วัน เมื่อเป็นเช่นนี้ คำสาปหรือความโชคร้ายจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป หากอาศัยอยู่ในสังคมที่คนเห็นอกเห็นใจกัน คือต่างคนต่างรู้สึกว่าตนเป็นโพธิสัตว์และตั้งใจจะช่วยคนอื่นอยู่เสมอ 

นี่เป็นข้อดีของมหายานที่สาวกเถรวาทมักมองข้าม ป.อ.ปยุตโต (พระเถระที่คนไทยจำนวนมากยกให้เป็นนักปราชญ์พุทธ) ก็มองมหายานในแง่ลบ ท่านอธิบายว่า โพธิสัตว์มหายานทำหน้าที่เป็นเทพเจ้าที่คอยประทานพร ทำให้สาวกเอาแต่สวดมนต์ร้องขอแล้วรอรับผล ไม่ลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งขัดกับหลักเถรวาทที่ท่านอธิบายว่าเน้นให้พัฒนา/พึ่งตัวเอง (ปยุตโต, 2566, น. 470-474) ซึ่งโพธิสัตว์ในมหายานไม่ได้เป็นเช่นนั้น โพธิสัตว์มีปัญญาหรืออุปายโกศล เขาช่วยสัตว์เพื่อให้สัตว์ได้พัฒนาตนจนพ้นทุกข์ อาจแปลงเป็นร่างต่างๆ เพื่อให้เข้ากับคน/ชุมชนนั้นๆ 

ไม่ใช่การตั้งตนเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ที่ใครมาขออะไรก็ให้แบบที่ปยุตโตกล่าว เพราะตัวโพธิสัตว์เองก็ฝึกตนเอง และยังตั้งใจที่จะไม่ละทิ้งสังคม ตัวอย่างเช่น ลูกศิษย์เจ้าแม่กวนอิมก็พยายามกินเจ เพื่อจะเลิก/ตัดวงจรการฆ่าสัตว์ และบริจาคโลงศพหรือสิ่งของช่วยเหลือคนยากจน ฯลฯ และที่สำคัญ สาวกเหล่านั้นจำนวนมากก็ตั้งใจจะเป็นโพธิสัตว์ด้วย

ถ้าเราอยากได้การเกิด เราปฏิเสธความตายได้หรือ? คำสอนที่ว่า คำอวยพรและคำสาปอยู่ด้วยกันจึงฟังดูมีเหตุผล สำหรับมหายานแล้ว การช่วยเเชร์ความทุกข์หรือคำสาปของคนอื่นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะโพธิสัตว์คือคนที่พร้อมจะเเบกรับหรือเเชร์ความทุกข์กับผู้อื่นจนวินาทีสุดท้าย บางทีการใช้วิธีคิดแบบโพธิสัตว์ อาจช่วยให้เรามองปัญหาสังคมในมุมที่กว้างมากขึ้นได้ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการถูกละเมิดเสรีภาพ ฯลฯ เพราะคนอื่นทุกข์ก็เหมือนเราทุกข์ เนื่องจากเรากับเขาอิงอาศัยกัน ฯลฯ ซึ่งต่างกับการถือคติแบบเถรวาทที่ต้องเอาตัวรอด แล้วรีบสลัดตนให้พ้นไปจากทุกข์


อ้างอิง
ปยุตโต. (2566). จาริกบุญ จารึกธรรม. เข้าถึงจาก https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/124.

เรื่องเล่าจากนักท่องมิติ, 2017 ประวัติพระกาฬ เข้าถึงจาก https://shorturl.at/enPX9.

วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส (2022) Incantation (มนตรา) หนังจากเรื่องจริงบนเกาะไต้หวัน ที่ดูสนุกดีแต่ไม่มีอะไรใหม่. เข้าถึงจาก https://thestandard.co/incantation/.

Emma Burleigh. (2022). The not-so-scary truth behind horror sensation ‘Incantation’. เข้าถึงจาก https://shorturl.at/knop5.

GHOST GURU. (2019). พุทธคาถาของ ครูบาพ่อบุญชุ่ม ญาณสังวโร. เข้าถึงจาก https://shorturl.at/gswU1.

Indiatimes. (2016). A dream to cut off her tongue and offer it to Goddess Kali. เข้าถึงจาก https://shorturl.at/aBY05.

Stollznow, K. (2014). Language Myths, Mysteries and Magic. Palgrave Macmillan.
 
ที่มาภาพ: https://broadly-specific.com/INCANTATION: The Anatomy of a Film That Places a Curse on its Viewers

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net