Skip to main content
sharethis

'อีลอน มัสก์' ซีอีโอใหญ่ของบริษัท 'เทสลา' กำลังเผชิญกับกระแสต่อต้านครั้งใหม่ล่าสุดหลังจากที่เขาไม่ยอมลงนามใน 'สัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง' ทำให้กลุ่มแรงงานเทสลาในสวีเดนเพิ่งจะทำการหยุดงานประท้วงในเรื่องนี้ และมีทีท่าว่ามัสก์อาจจะต้องเผชิญกับการโต้ตอบจากแรงงานในสหรัฐฯ ที่มีความเข้มแข็งและเพิ่งจะชนะการประท้วงใหญ่ๆ ไปเมื่อไม่นานนี้


ที่มาภาพ: IF Metall, Stockholm section (อ้างใน socialeurope.eu)

อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัท 'เทสลา' ผู้ที่นับเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เขาเป็นที่อื้อฉาวในเรื่องแนวคิดต่อต้านสหภาพแรงงานทั่วโลก แต่แรงงานเทสลาหลายแห่งในยุโรปก็กำลังต่อต้านจุดยืนของบริษัทเทสลา จากการที่มัสก์ไม่ยอมลงนามใน สัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง กับแรงงาน

ถึงแม้ว่าในสหรัฐฯ จะยังไม่มีการเคลื่อนไหวถึงขั้นนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีกรณีที่สหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องครั้งใหญ่ เช่น กรณีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ (UAW) ที่เพิ่งจะเรียกร้องข้อตกลงการจ้างใหม่ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์สำหรับพวกเขา บวกกับเรื่องความสำเร็จในการจัดตั้งแรงงานเทสลาในยุโรป สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยให้แรงงานเทสลาในสหรัฐฯ หันมาต่อสู้ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ในสัปดาห์ที่แล้ว มีกรณีที่สหภาพแรงงานในสวีเดนที่ชื่อสหภาพ IF Metall ทำการผละงานประท้วงหลังจากที่การเจรจาต่อรองสัญญาจ้างร่วมกันกับเทสลาไม่ประสบความสำเร็จ "มาเป็นเวลายาวนานมาก" จนทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องวอล์กเอาท์จากที่ทำงาน เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เทสลาไม่ยอมรับสัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง

ในแถลงการณ์บนเว็บไซต์สหภาพแรงงานสวีเดนระบุว่าพวกเขาต้องการให้ "สมาชิกคนทำงานในเทสลามีสภาพการจ่างงานที่ดีและปลอดภัยอย่างทัดเทียมกับสมาชิกคนทำงานในบริษัทที่คล้ายกันในสวีเดน ... เป็นเวลานานมาแล้วที่พวกเราพยายามจะหารือกับเทสลาให้ลงนามในสัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง แต่ก็ไม่เป็นผล  ในตอนนี้พวกเราไม่ทีทางอื่น นอกเหนือจากจะมีการเคลื่อนไหวแรงงานในระดับอุตสาหกรรม"

สัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง ดังกล่าวนี้มีการครอบคลุมถึงลูกจ้างในสวีเดนราวร้อยละ 90 เป็นสัญญาที่จะเปิดทางให้ทางสหภาพและบริษัทสามารถเจรจาต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานและเงินค่าแรงได้

แต่ในการเปิดการเจรจาต่อรองครั้งก่อนหน้านี้ที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยสถาบันเพื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสวีเดน ฝ่ายผู้บริหารของเทสลาสวีเดนอ้างนโยบายของบริษัทในการที่จะไม่ยอมลงนามในสัญญาร่วมกันกับแรงงาน โดยอ้างว่านโยบายของบริษัทไม่อนุญาตให้ลงนามในสัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม

นอกจากนี้โฆษกของเทสลายังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อสวีเดนว่า ทางเทสลา "ปฏิบัติตามกฎของตลาดแรงงานสวีเดน" แต่ที่ไม่ยอมลงนามในสัญญาการร่วมเจรจาต่อรองแบบบริษัทอื่นๆ ก็เพราะว่าพวกเขา "ได้เสนอข้อตกลงที่เทียบเท่าหรือดีกว่าของที่มีอยู่ในสัญญาร่วมกันกับแรงงานไปแล้ว" จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องลงนาม

บรานิสลาฟ รูกานี เลขาธิการสหพันธ์นานาชาติของสหภาพแรงงานฝรั่งเศส Force Ouvrière กล่าวว่า นโยบายของเทสลานั้นเป็น "อุดมการณ์ของความเขลา" รูกานีบอกว่า "เทสลาต้องการสร้างโมเดลสังคมใหม่  ซึ่งพวกเขาจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ สัญญาการร่วมเจรจาต่อรองและการต่อรองคือรากฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขามีพันธะต้องเจรจาต่อรอง ถ้าพวกเขาไม่ทำ พวกเขาก็จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในยุโรป"

ทางสหภาพ IF Metall มีเป้าหมายต้องการวางฐานเงินเดือนและสวัสดิการของลูกจ้างประมาณ 120 ชีวิต ที่ทำงานที่ศูนย์บริการเทสลาในสวีเดน แต่ก็มีแรงงานในสวีเดนบางส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วมการหยุดงานประท้วง

แรงงานท่าเรือในสวีเดนบอกว่าพวกเขาจะสนับสนุนการประท้วงของสหภาพและปิดกั้นการขนส่งจากเทสลาทั้งหมดไม่ให้นำลงจากเรือ แรงงานท่าเรือเหล่านี้ไม่ได้ทำงานให้เทสลาโดยตรง แต่ก็ควบคุมท่าเรือใหญ่ๆ 4 แห่งที่เป็นแหล่งนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าสู่สวีเดน กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่สำหรับเทสลา แต่เว็บไซต์ eu-evs.com ก็ระบุว่าในปี 2566 นี้ ยานยนต์ไฟฟ้าของเทสลา เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสวีเดน

นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาของสวีเดน อุล์ฟ คริสเตอร์สสัน กล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "กฎหมายของสวีเดนนั้นชัดเจนและประเพณีของสวีเดนในตลาดแรงงานก็มีความชัดเจน ดังนั้นแล้วดิฉันจึงหวังว่าจะมีการยุติข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายเรื่องนี้ด้วยวิธีการปกติ"

ทางสหภาพเปิดเผยว่า ตัวแทนจากเทสลายอมพบปะหารือกับสหภาพในวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา

รูกานีบอกว่าในฐานะที่เขาเป็นนักสหภาพแรงงานฝรั่งเศส เขาเห็นด้วยกับการหยุดงานประท้วงในสวีเดนอย่างเต็มที่ และบอกว่ายุโรปต้องสกัดกั้นไม่ให้บริษัทต่างชาติมาละเมิดกฎเกณฑ์แรงงานของชาติยุโรป ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็น "จุดเริ่มต้นของจุดจบ" และพวกเขาจะ "สูญเสียสิทธิแรงงาน"

มัสก์เป็นผู้ที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องจัดตั้งสหภาพของพนักงานบริษัทตัวเองมาโดยตลอด เขาเคยระบุข้อความในทวิตเตอร์เมื่อปี 2561 ว่า พนักงานเทสลาจะสูญเสียตราสารสิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทถ้ามีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งต่อมาศาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่าข้อความทวิตเตอร์ของมัสก์มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายแรงงาน

แต่มัสก์ก็ยังต้องเผชิญกับกฎหมายแรงงานและสิทธิลูกจ้างที่เข้มงวดมากกว่าในยุโรปด้วย

คริสติอาน เบนเนอร์ ประธานหญิงคนแรกของสหภาพ IG Metall ได้เตือนมหาเศรษฐีทั้งหลายอย่าได้เหยียบย่ำความพยายามในการจัดตั้งสหภาพที่โรงงานกิกะไบต์ของเทสลาในกรุงเบอร์ลิน "พวกคุณต้องระวังเอาไว้ เพราะกฎแห่งเกมของที่นี่แตกต่างออกไป" เบนเนอร์กล่าว

ที่โรงงานดังกล่าวนี้มีรายงานเรื่องอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากผิดวิสัย และทาง IG Metall ก็กล่าวว่ามีแรงงานเทสลาสมัครเป็นสมาชิกสหภาพจำนวนมากขึ้น

ถึงแม้ว่ากรณีการหยุดงานประท้วงในสวีเดนที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ฝ่ายนายจ้างยอมมาเจรจาด้วย จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกับแรงงานแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมตามสหภาพแรงงานในแบบที่อีลอน มัสก์ อยากจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ (UAW) กำลังจับตามองเทสลา

โดยที่ UAW เพิ่งจะทำการประท้วงต่อบรรษัทยักษ์อย่าง เจอเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด และสเตลแลนทิส จนประสบความสำเร็จในเรื่องเรียกร้องมาก่อนเมื่อไม่นานนี้

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้แรงงานเทสลาในสหรัฐฯ จะถูกไล่ออกหลังจากที่พยายามจะจัดตั้งมาก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงอย่างเป็นทางการต่อเทสลา อีกทั้งทาง UAW ก็ประกาศว่าจะทำการตั้งสภาพเทสลาในสหรัฐฯ ด้วย โดยที่ ชอว์น เฟน ประธาน UAW กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าการจัดตั้งสหภาพนั้นเป็นเรื่องที่ "ทำได้" ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอในการจัดตั้งสหภาพอย่างเป็นทางการก็ตาม

ปฏิบัติการของแรงงานเทสลาในเยอรมนีก็เพิ่งจะทำให้พวกเขาได้รับค่าจ้างเพิ่มร้อยละ 4 หลังจากที่สหภาพ IG Metall ในเยอรมนี ประกาศประสานงานร่วมกันกับ IF Metall ในสวีเดน

รูกานี นักสหภาพแรงงานฝรั่งเศสกล่าวว่าความสำเร็จในสวีเดนและเยอรมนีน่าจะส่งผลมาถึงความพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ไปด้วย โดยที่รูกานีมองว่า สหพันธ์สหภาพแรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งอเมริกา (AFL-CIO) ที่เป็นสหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จะเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการนำความสำเร็จจากยุโรปไปสู่สหรัฐฯ

มีผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระบุว่า พวกเขาเชื่อว่าเทสลาจะต้องเผชิญกับความเป็นจริงรูปแบบใหม่ในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนีที่แรงงานยานยนต์ทุกแห่งทำการจัดตั้งสหภาพมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว และถ้าหากคนงานเทสลาในสหรัฐฯ เข้าร่วมกับสหพันธ์แรงงานก็จะเกิดแรงกดดันทางกฎหมายต่อโรงงานให้ต้องแก้ไขนโยบายของตัวเองจากเดิมที่มีนโยบายต่อต้านการลงนามในสัญญาร่วมกันกับแรงงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานบอกว่า ความสำเร็จของ UAW เมื่อไม่นานนี้ ยิ่งจะทำให้คนงานเทสลามีแต้มต่อในการต่อรอง

อย่างไรก็ตามการพยายามจัดตั้งสหภาพเทสลาในสหรัฐฯ อาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ หลายแง่ นอกเหนือจากแรงต้านจาก อีลอน มัสก์ เองแล้ว ยังมีเรื่องที่โมเดลสหภาพในยุโรปมีความแตกต่างกับของสหรัฐฯ ด้วย จากการที่สหภาพในหลายประเทศของยุโรปเช่น สวีเดน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส มีลักษณะการต่อรองในระดับภาคส่วนของแรงงานนั้นๆ แต่การต่อรองโดยสหภาพในระดับแต่ละบริษัทของสหรัฐฯ มักจะเป็นไปในลักษณะแบบต่อรองกับแต่ละบริษัทแยกกันไป

เว้นแต่ว่าถ้าหากแรงงานสหรัฐฯ มีทางเลือกในการเข้าร่วมสหภาพที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม สหภาพถึงจะมีสามารถเจรจาต่อรองในระดับอุตสาหกรรม หรือนระดับภาคส่วนนั้นๆ เพื่อเรียกร้องสัญญาร่วมกันกับแรงงานที่จะกินความครอบคลุมถึงแรงงานทุกคนในภาคส่วนเหล่านั้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะของสหภาพนั้นๆ


เรียบเรียงจาก
Elon Musk, who hates unions, has to deal with a rare strike at Tesla after his Swedish workers walked out, Business Insider, 06-11-2023
Unions Are Finally Teaching Elon Musk a Lesson in Europe, and the U.S. Could Be Next, Vice, 09-11-2023

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net