Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพิจารณาดูในพระราชบัญญัติ หรือ พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันประกาศคือเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีเอาไว้ 4 ประการด้วยกัน ปรากฏอยู่ใน หมวด 1 มาตรา 8 ดังนี้ คือ 

1. ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม 2. แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม 3. ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์และแจ้งผลการดูดวงจันทร์ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา และ 4. ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม นี่คืออำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี 4 ประการนี้เท่านั้นที่ระบุเอาไว้ใน พรบ.ฉบับนี้ นอกเหนือจากนั้นไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี 

การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีตาม พรบ.ฉบับนี้นั้น มีจุฬาราชมนตรีเพียงแค่ 2 ท่าน (ท่านจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 และ 18 คือ นายสวาสดิ์ สมาลยศักดิ์ และ นายอาศิส พิทักษ์คุ้มพล) พวกเราหลายท่านคงจะรับทราบกันดีว่าที่ผ่านมาท่านจุฬาราชมนตรีได้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใด ณ ที่นี่ไม่ขอกล่าวถึง 

แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่จะชี้ชวนให้พิจารณากันก็คือ ใน พ.ร,บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ฉบับนี้ ได้ระบุเอาไว้ใน หมวด 3 มาตรา 16 เอาไว้ว่า ให้มีคณะกรรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” (กอท.) ประกอบด้วยจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจาก กรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และจากกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรี จำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ (ระบุไว้ในมาตรา 19 ของ พรบ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540) 

ปัจจุบัน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ กอท. ชุดปัจจุบัน ตำแหน่งประธานฯ นั้นได้ว่างลง (จุฬาราชมนตรี) มีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจาก กอจ. อยู่จำนวน 36 คน และมาจากการคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีจำนวน 13 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 49 คน 

รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) มีจำนวน 9 ท่าน ตัวแทนจาก กอจ. 5 ท่าน จุฬาราชมนตรีคัดเลือก 4 ท่าน 

มีเลขาธิการ กอท. จำนวน 1 ท่าน ซึ่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้คัดเลือก 

มีรองเลขาธิการ กอท. จำนวน 9 ท่าน มาจากตัวแทน กอจ. จำนวน 7 ท่าน มาจากจุฬาราชมนตรีเป็นผู้คัดเลือก จำนวน 2 ท่าน ที่เหลืออีก 30 ท่าน คือ คณะ กอท. ที่มาจากตัวแทน กอจ. จำนวน 24 ท่าน และ 6 ท่าน มาจากจุฬาราชมนตรีเป็นผู้คัดเลือก (รายละเอียดดูได้จากลิงค์ https://www.cicot.or.th/th/about/board )  

ข้อสังเกตบางประการที่พอจะนึกได้ เมื่อเห็นหน้าตาของ กอท.ชุดปัจจุบันที่มีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน (ตอนนี้ตำแหน่งว่างลง) จากจำนวน 49 ท่าน ใน คณะ กอท. นี้นั้น 36 ท่านมาจากตัวแทนของ กอจ. และอีก 13 ท่าน เป็นโควต้าที่ท่านจุฬาราชมนตรีเป็นผู้คัดเลือก ในจำนวน 13 ท่าน ใครเป็นใคร ท่านผู้อ่านลองดูกันเอาเอง ตามลิงค์นี้ https://www.cicot.or.th/th/about/board 

คำถามปิดท้ายในข้อเขียนนี้ คือ คุณสมบัติของประธาน กอท. ก็คือ คุณสมบัติผู้ที่เป็นจุฬาราชมนตรี คือผู้ทำหน้าที่ผู้นำองค์กรของคณะนี้ (กอท.) ด้วยเช่นกัน ระบุไว้ในหมวด 1 มาตรา 7 ที่มีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อ ใน พรบ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ข้อสุดท้าย คือ มาตรา 7 (10) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง......แล้วด้วยเหตุใดเล่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น กอท.ให้เหมือนกับคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นจุฬาราชมนตรี ? 

ทำไมต้องเอาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ??

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: จุฬาราชมนตรีมีไว้ทำไม? (1) https://prachatai.com/journal/2023/11/106673

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net