Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสือ “พระ-พุทธ-ศาสนา-ไทย ตายแล้ว?” รวมบทความ และบทสัมภาษณ์ของนิธิเกี่ยวกับพุทธศาสนาในมิติความสัมพันธ์กับรัฐ สังคม การเมือง มิติคำสอน และมิติเชิงวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อของชาวพุทธไทยไว้แทบทั้งหมด ผู้สนใจ "ความคิดทางพุทธศาสนา" ของนิธิไม่ควรพลาด

มีบางประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยน คือผมคิดว่างานบางชิ้นของนิธิและงานวิชาการที่ได้อิทธิพลจากงานนิธิ (เช่นงานของพระไพศาล วิสาโล เป็นต้น) มักตีความว่าการปฏิรูปพุทธศาสนาสมัย ร.4-5 เน้นคำสอนที่มีความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้พุทธศาสนาแบบปฏิรูปแล้วเป็น “พุทธแบบเหตุผลนิยม” ที่ทำลายความหลากหลายของพุทธศาสนาแบบที่เคยมีมาในอดีต

ในงานชื่อ “ปากไก่และใบเรือ” นิธิมองว่าการเกิดพุทธแบบเหตุผลนิยมมาจาก “ปัจจัยภายใน” คือชนชั้นนำให้ความสำคัญกับ “คำสอนที่มีเหตุผล” ในไตรปิฎกมากกว่าอรรถกถา แต่ในบทความชื่อ “อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา” (บทความในหนังสือที่เอ่ยข้างต้น) นิธิตีความการปฏิรูปศาสนายุค ร.4-5 ว่าชนชั้นนำหรือปัญญาชนยุคนั้น อาศัย “ตรรกะของวิทยาศาสตร์” และ “เหตุผลนิยมแบบตะวันตก” ในยุคสมัยนั้นเป็น “บรรทัดฐาน” ในการตีความพุทธศาสนาที่พึงได้รับคำรับรองจากรัฐ แต่นิธิไม่ได้อภิปรายว่าเหตุผลนิยมแบบตะวันตกคืออะไร และชนชั้นนำเอามาใช้เป็นบรรทัดฐานสร้างพุทธแบบเหตุผลนิยมขึ้นมาอย่างไร ผมมีประเด็นที่จะอภิปรายเชิงแลกเปลี่ยน 5 ประเด็นหลักๆ

1. ในยุคที่ศาสนาพยายามปรับตัวเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ปัญญาชนของศาสนาหลักๆ ต่างพยายามตีความศาสนาของตนให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เช่น นิวตัน (Isaac Newton)ตีความว่าการค้นพบความจริงทางวิทยาศาสตร์ คือการค้นพบผลงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า หรือค้นพบอัจฉริยภาพของพระเจ้าในการออกแบบธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ นักคิดอิสลามก็ตีความทำนองเดียวกัน ในยุคอาณานิคมปัญญาชนพุทธในศรีลังกา พม่า สยาม ต่างตีความว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เพื่อแสดงให้พวกบาทหลวง มิชชันนารีหรือชาวตะวันตกเห็นว่าพุทธศาสนาไม่ได้งมงายล้าหลัง แต่มีความทันสมัย และเข้ากันได้กับความก้าวหน้าทางปัญญาของตะวันตก 

2. แต่การตีความเช่นนั้นทำให้ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม กลายเป็น “ศาสนาแบบเหตุผลนิยม” หรือไม่? การจะตอบคำถามนี้ เราต้องแยกระหว่าง “ความมีเหตุผล” (justification) กับ “เหตุผลนิยม” (rationalism) ให้ชัดก่อน 

ความมีเหตุผลเป็นคุณสมบัติของระบบความเชื่อ, แนวคิด หรือทฤษฎีต่างๆ ส่วนเหตุผลนิยมคือแนวคิดหรือทฤษฎีเฉพาะแบบหนึ่งที่ให้อำนาจสูงสุดแก่เหตุผล (reason) ในการตัดสินความจริงและความถูกต้องทางศีลธรรม 

ตัวอย่างเช่น แนวคิดตรงข้ามกับเหตุผลนิยม คือ “ประสบการณ์นิยม” (empiricism) ถือว่าเหตุผลไม่ใช่สิ่งตัดสินความจริงที่เชื่อถือได้มากที่สุด ประสาทสัมผัสต่างหากคือสิ่งตัดสินความจริงที่เชื่อถือได้มากที่สุด นักคิดฝ่ายประสบการณ์นิยมอ้างข้อเท็จจริงหรือหลักฐานต่างๆ มากมายเพื่อสนับสนุนว่าแนวคิดประสบการณ์นิยมเป็นแนวคิดที่มีเหตุผล หรือมีความสมเหตุสมผลให้น่าเชื่อถือได้มากกว่า แต่ “ความมีเหตุผล” ของแนวคิดนี้ก็ไม่ได้ทำให้ตัวแนวคิดนี้เป็นเหตุผลนิยม ตรงกันข้ามมันกลับเป็น “คู่แข่ง” สำคัญของแนวคิดเหตุผลนิยม

ในยุคกลาง นักปรัชญาคริสต์อย่างอไควนัส (Thomas Aquinas) และคนอื่นๆ ได้นำแนวคิดเหตุผลนิยมโบราณแบบเพลโตและอาริสโตเติลมาตีความสนับสนุนความมีอยู่จริงของพระเจ้า (God) แต่ก็ไม่ได้ทำให้คริสต์ศาสนากลายเป็น “ศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ขึ้นมาเลย เพราะนักปรัชญาเหล่านั้นเพียงใช้หลักเหตุผลแสดงให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล หรือมีความสมเหตุสมผลที่จะเชื่อ แต่การใช้เหตุผลไม่สามารถทำให้เราเข้าถึงพระเจ้าได้ การเข้าถึงพระเจ้าต้องอาศัย “ศรัทธา” (faith) เท่านั้น 

ในคัมภีร์พุทธศาสนาและการตีความของปัญญาชนยุค ร.4-5 หรือยุคไหนๆ และในพุทธศาสนานิกายใดๆ ก็แสดงเหตุผลไว้มากมายเพื่อสนับสนุนว่า “นิพพานมีอยู่จริง” แต่ต่างก็ยืนยันว่าการใช้เหตุผลไม่สามารถทำให้บรรลุนิพพานได้ การบรรลุนิพพานเป็นประสบการณ์ด้านในของแต่ละคนที่เรียกว่า “การตรัสรู้” หรือวิมุติ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเน้นคำสอนที่มีเหตุผลในไตรปิฎก หรือการเน้นตีความคำสอนพุทธศาสนาให้มีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ทำให้พุทธศาสนาเป็น “พุทธแบบเหตุผลนิยม” ได้จริง เพราะไม่ใช่การให้อำนาจสูงสุดแก่เหตุผลในการตัดสินความจริงและความถูกต้องทางศีลธรรมอย่างที่แนวคิดเหตุผลนิยมยืนยัน 

3. ในทางจริยศาสตร์ (Ethics) มีแนวคิดที่เป็นคู่แข่งกันสองแนวคิดคือ “ประสบการณ์นิยมทางศีลธรรม” (moral empiricism) กับ “เหตุผลนิยมทางศีลธรรม” (moral rationalism) แนวคิดแรกอ้างอิงข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ หรือความรู้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนหลักการทางศีลธรรม แต่แนวคิดหลังปฏิเสธการอ้างอิงแบบนั้นมาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนหลักการทางศีลธรรม แนวคิดเหตุผลนิยมทางศีลธรรมยืนยันว่าการใช้เหตุผลเพียวๆ เท่านั้นที่จะนำไปสู่การสร้างหลักการทางศีลธรรมที่ถูกต้องได้จริง

ตัวอย่างของแนวคิดประสบการณ์นิยมทางศีลธรรม เช่น แนวคิดประโยชน์นิยม (utilitarianism) เสนอหลักการทางศีลธรรมว่า ”การกระทำที่ดีหรือถูกต้องคือการกระทำที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด” ผลลัพธ์ที่เรียกว่า “ประโยชน์สูงสุด” ต้องวัดปริมาณหรือตรวจสอบได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนประเด็นว่าทำไมจึงถือว่า “ประโยชน์สูงสุด” แก่ “คนจำนวนมากที่สุด” (หรือส่วนรวม) จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดทางศีลธรรม หรือเป็น “เกณฑ์” ตัดสินความถูกต้องของการกระทำทางศีลธรรม นักคิดประโยชน์นิยมก็จะอ้างข้อเท็จจริงต่างๆ หรือความจริงทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลการศึกษาทางจิตวิทยาบอกว่า “ธรรมชาติทางจิตวิทยาของมนุษย์คือ การเกลียดความทุกข์ ความเจ็บปวด และต้องการความสุข” เป็นสาเหตุให้พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนมีแนวโน้มแสวงหาความสุขหรือสิ่งที่มีประโยชน์เป็นปกติ สังคมทุกสังคมก็ต้องการความสุขหรือประโยชน์ส่วนรวม อาจมีการศึกษาลงลึกในทางชีววิทยาถึงระดับ “ดีเอ็นเอ” ว่ามนุษย์มีแนวโน้มโดยธรรมชาติในการพึ่งพาพาอาศัยกันเพื่อให้สังคมส่วนรวมอยู่รอด หรืออาจอ้างผลการศึกษาเปรียบเทียบว่าสังคมที่มีวัฒนธรรมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และวางระบบการกระจายประโยชน์ส่วนรวมอย่างเป็นธรรมคือสังคมที่ก้าวหน้ากว่าสังคมที่ขาดวัฒนธรรมและระบบเช่นนั้น เป็นต้น 

ส่วนแนวคิดเหตุผลนิยมทางศีลธรรม เช่น ปรัชญาศีลธรรมสายคานท์ (Kantian) เป็นปรัชญาที่ให้อำนาจสูงสุดแก่เหตุผลในการตัดสินความถูกต้องทางศีลธรรม คานท์แยกว่าวิทยาศาสตร์ให้ความรู้แก่เราเกี่ยวกับธรรมชาติทางชีววิทยา จิตวิทยา แต่นำมาเป็นรากฐานของศีลธรรมไม่ได้ เพราะความถูกต้องทางศีลธรรมไม่ขึ้นกับข้อเท็จจริงในธรรมชาติหรือความจริงทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การกระทำหรือพฤติกรรมที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เช่น กฎทางชีววิทยา กฎทางจิตวิทยา หรือกระทั่งกฎทางสังคมวิทยา ไม่ถือว่าเป็นการกระทำตามกฎศีลธรรม เพราะศีลธรรมไม่ใช่เรื่องของ “ข้อเท็จจริง” แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่ “ควรจะเป็น” และสิ่งที่จะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็นคือ “เหตุผล” ที่เป็นอิสระจากกราครอบงำของอารมณ์ความรู้สึกตามกฎทางชีววิทยาและกฎทางจิตวิทยา และเป็นอิสระจากกฎทางสังคมวิทยา เช่น อิทธิพลครอบงำของคนอื่น ความเชื่อทางศาสนา ประเพณี อำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐ เป็นต้น

สำหรับคานท์ การมีศีลธรรมกับการมี “อิสรภาพ” (autonomy) จึงเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการมีอิสรภาพ (หรือเสรีภาพ) หมายถึง การที่เราสามารถใช้เหตุผลของตนเองบัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นมาใช้กับตัวเองและใช้ร่วมกันกับทุกคนอย่าง “สมเหตุสมผล” ได้ โดยกฎศีลธรรมที่เราบัญญัติขึ้นต้องเป็นกฎที่เคารพความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และมีศักดิ์ศรีในตัวเอง กฎศีลธรรมที่เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคนในฐานะ “คนเท่ากัน” เช่นนี้ จึงสมเหตุสมผลที่จะเป็นกฎสากลที่ทุกคนสามารถยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้ และการมีเสรีภาพยังหมายถึงการที่เรามีเจตจำนงอิสระ (free will) ในการกระทำตามกฎศีลธรรมสากลนั้นด้วย

นั่นคือเสรีภาพทางศีลธรรมหรืออิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) ตามไอเดียแบบคานท์ แต่เมื่อพูดถึง “เสรีภาพทางการเมือง” (political liberty) คานท์ยืนยันว่า “รัฐต้องเป็นกลางทางคุณค่า” หมายถึง รัฐต้องประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้พลเมืองทุกคนเลือกการมีชีวิตที่ดีตามความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาใดๆ ก็ได้ตราบที่เขายังเคารพสิทธิเสรีภาพแบบเดียวกันของคนอื่นๆ แนวคิดนี้เป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่แยกศาสนาจากรัฐ หรือเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ดังนั้น แนวคิดเหตุผลนิยมแบบคานท์จึงไม่ใช่แนวคิดที่ขจัดความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อ กลับเป็นแนวคิดที่วางหลักเสรีภาพเป็นรากฐานรองรับให้ความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดความเชื่อเป็นไปได้จริงมากกว่า

พูดให้ชัดคือ แนวคิดปรัชญาศีลธรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าประโยชน์นิยมหรือปรัชญาศีลธรรมสายคานท์ต่างยืนยันว่าปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลที่ไม่สนใจสังคม เพราะประโยชน์นิยมยืนยันเสรีภาพในฐานะเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการสร้างประโยชน์ส่วนรวมและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ขณะที่ปรัชญาสายคานท์ยืนยันเสรีภาพควบคู่กับการสร้างหลักการสากลที่เน้นความเสมอภาคบนพื้นฐานของ “ความเป็นคนเท่ากัน” ซึ่งรอลส์ (John Rawls) นำหลักการนี้มาพัฒนาเป็นหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง คือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพปัจเจกบุคคล พร้อมๆ กับให้ความสำคัญกับหลักการประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ และโอกาสความก้าวหน้าด้านอาชีพการงานและอื่นๆ ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

4. ภาพรวมความก้าวหน้าของการเน้นความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ความเป็นวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยมแบบตะวันตกสมัยใหม่ เกิดจากการปฏิรูปคริสต์ศาสนาที่ยืนยัน “คำสอนที่แท้จริงของเยซูคริสต์” ควบคู่กับยืนยัน “ความเสมอภาคในสายตาของพระเจ้า” และ “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” (freedom of conscience) ของปัจเจกบุคคล จนนำมาสู่การยืนยันเสรีภาพที่จะแสวงหาและนำเสนอความจริงที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ทอย่างเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของศาสนจักรและศาลศาสนา ส่งผลให้แนวคิดมนุษยนิยม (humanism) เสรีนิยม (liberalism) และแนวคิดโลกวิสัย (secularism) งอกงามขึ้น แนวคิดเหตุผลนิยมทางศีลธรรมแบบตะวันตกสมัยใหม่ ก็คือส่วนหนึ่งของมนุษยนิยม เสรีนิยม และโลกวิสัย ที่ต่างยืนยันเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง หรือเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะทางสังคมและการเมือง ที่กลายเป็นรากฐานของการปฏิวัติเปลี่ยนรัฐคริสเตียนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชญ์เป็นรัฐโลกวิสัยในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ในเวลาต่อมา

5. หากจะมีการตีความศาสนาที่สอดคล้องกับเหตุผลนิยมที่ยืนยัน “freedom of conscience” และ “moral autonomy” ก็คงมีในการตีความของนักคิดโปรเตสแตนท์ เช่น ล็อก (John Locke) ตีความว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีสิทธิตามธรรมชาติเท่าเทียมกัน แนวคิดนี้ถูกเขียนไว้ในคำประกาศอิสรภาพอเมริกา และในอเมริกาที่เป็นรัฐโลกวิสัย แยกศาสนาจากรัฐ ก็มีวัฒนธรรมตีความคริสต์ศาสนาสนับสนุนเสรีภาพและความเสมอภาค 

ขณะที่คานท์ซึ่งเป็นโปรเตสแตนท์เช่นกัน ก็ยืนยันว่ากฎศีลธรรมไม่ใช่กฎของพระเจ้าหรือกฎของศาสนจักร แต่เป็นกฎที่เราทุกคนใช้เหตุผลและเสรีภาพของตนเองบัญญัติขึ้นมาใช้ร่วมกัน และกฎกติกาทางการเมืองก็ไม่เกี่ยวกับความเชื่อศาสนาใดๆ หากเป็นกฎที่พลเมืองมีสิทธิเท่าเทียมในออกเสียงบัญญัติขึ้น แม้ต่อมามีแนวคิดปรัชญาอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์ เช่น Existentialism นักคิดสายปรัชญานี้ก็ยืนยันคล้องกับคานท์และนักคิดสายประโยชน์นิยมว่าปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ 

คำถามคือ “พุทธแบบเหตุผลนิยม” ที่ใช้ “ตรรกะของวิทยาศาสตร์” และ “เหตุผลนิยมแบบตะวันตก” เป็น “บรรทัดฐาน” ในการตีความคำสอน เหตุใดจึงไม่นำไปสู่การยืนยันเสรีภาพแห่งมโนธรรม เสรีภาพทางศีลธรรม ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และแนวคิดโลกวิสัยแบบตะวันตก แต่กลับเป็นพุทธที่ถูกควบคุมโดยอำนาจรัฐที่ขัดกับหลักความเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยมโดยสิ้นเชิง

แม้แต่ “เสรีภาพทางศาสนา” ในไทยมีจริงหรือไม่? ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องคิดให้ลึกซึ้ง นิธิเขียนไว้ในหนังสือ "พระ-พุทธ-ศาสนา-ไทย ตายแล้ว?" ว่าสังคมไทยมีเสรีภาพทางศาสนา แต่ไม่มีความเสมอภาคทางศาสนา เป็นแบบนี้มาตลอด คือแม้คนไทยเลือกนับถือศาสนาได้ แต่พุทธศาสนาต้องสำคัญที่สุด

ผมเห็นด้วยว่าไทยซึ่งไม่ใช่ “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ไม่มีความเสมอภาคทางศาสนาได้จริงหรอก (เช่นเดียวกับพม่า, ศรีลังกา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย) แต่ “เสรีภาพทางศาสนาก็ไม่มีจริง” ด้วย เพราะการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติขัดกับ freedom of conscience ของปัจเจกบุคคล แม้ไม่ได้บังคับให้เขาถือพุทธ แต่มันคือการบังคับขืนจิตใจให้เรียนสิ่งที่เขาไม่นับถือ หรือไม่อยากเรียน เป็นการไม่เคารพ moral autonomy ของปัจเจกบุคคลด้วย
 
ยิ่งกว่านั้น พระเณรภายใต้ “ระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” ก็ไม่มี freedom of conscience และ moral autonomy เพราะศาสนจักรนี้มีกฎให้พระทำหน้าที่สอน หรือตีความคำสอนพุทธสนับสนุนความจงรักภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ได้ แต่ห้ามตีความพุทธสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน การไม่มีเสรีภาพดังกล่าวคือการ “ถูกกดทับความเป็นมนุษย์” ที่ต้องมีเสรีภาพแห่งมโนธรรมสำนึกและอิสรภาพทางศีลธรรมเป็นของตนเอง

น่าเศร้านะครับเมื่อนึกถึงความเป็นจริงว่าเราอยู่ภายใต้ระบบการปกครองที่การเป็นพระและการเป็นพลเมืองไม่สามารถจะทำให้เรามี “ความเป็นมนุษย์” ทึ่มีเสรีภาพแห่งมโนธรรมและอิสรภาพทางศีลธรรมเป็นของตนเองได้ ถ้าพระแสดงออกว่ามีเสรีภาพและอิสรภาพดังกล่าวก็ถูกไล่ออกจากวัดหรือจับสึก ถ้าพลเมืองทำแบบนั้นก็ถูกไล่ออกนอกประเทศหรือถูกขังคุก 

ดังนั้น ไม่มีจริงหรอก “พุทธแบบเหตุผลนิยม” ที่เกิดจากการใช้ตรรกะของวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมแบบตะวันตกมาเป็นบรรทัดฐานตีความคำสอน ถ้ามีก็คงเป็น “พุทธเหตุผลนิยมไทยๆ” ที่ไม่ใช่เหตุผลนิยมแบบตะวันตกสมัยใหม่ เหมือน “ประชาธิปไตยไทยๆ” ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมัยใหม่ 

ความสำเร็จรูปธรรมที่ชัดเจนมากที่สุดของการปฏิรูปศาสนาของชนชั้นนำสยาม คือการสถาปนา “พุทธราชาชาตินิยม” (พุทธศาสนาแบบที่ถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีราชาเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ) และสร้างศาสนจักรของรัฐ อันได้แก่ “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” (มหาเถรสมาคม) ที่เป็นกลไกรวบอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรให้ขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์ และใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่สร้างขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

จะตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับแนวคิดเหตุผลนิยมทางศีลธรรมที่ยืนยัน moral autonomy ของเราทุกคนได้ แบบนักคิดโปรเตสแตนท์เคยทำ ก็ต่อเมื่อปัญญาชนพุทธบ้านเรามองเห็นปัญหาของ “พุทธราชาชาตินิยม” มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างทะลุ และมีความกล้าหาญทางศีลธรรมที่จะต่อสู้เพื่อ “ปลดปล่อยพุทธธรรม” ให้ “หลุดพ้น” จากอำนาจครอบงำของรัฐ และศาสนจักรของรัฐเท่านั้น  

 

ที่มาภาพ https://www.facebook.com/photo/?fbid=718887443614970&set=a.553484836821899
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net