Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาสั่งกองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัว ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนลาหู่ เป็นเงิน 2,072,400 บาท ปม จนท.ทหาร วิสามัญ 'ชัยภูมิ' ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 17 มี.ค. 60

 

16 พ.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "มูลนิธิผสานวัฒนธรรม" (CrCF) และเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (16 พ.ย.) เมื่อเวลา 9.43 น. ระบุว่า ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เวลาประมาณ 8.30 น. ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดี นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 โดยมีกองทัพบกเป็นจำเลยตั้งแต่เมื่อปี 2562 เนื่องจาก ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ณ ด่านตรวจบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าผู้ตายขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหาร 

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (16 พ.ย.) ศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2,072,400 บาท แก่ครอบครัวป่าแส โดยเป็น ค่าปลงศพ 120,000 บาท ค่าอุปการะแม่ 1,952,400 บาท และค่าทนายความ 50,000 บาท แต่ค่าเยียวยาทางจิตใจ ที่ครอบครัวได้เรียกร้องไปนั้น ศาลเห็นว่า ชัยภูมิ ต้องเป็นผู้เรียกร้องเอง

เปิดคำพิพากษา

เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานว่า นาปอย ป่าแส กล่าวภายหลังรับทราบคำพิพากษาของศาลว่า ตนรู้สึกดีใจกับคำตัดสินของศาลที่มีออกมาในวันนี้มาก ที่ผ่านมา ชัยภูมิเป็นกำลังหลักสำคัญของครอบครัว พอน้องไม่อยู่ครอบครัวก็ทุกข์ทรมานมาก นอกเหนือจากนั้นต้องขอบคุณหลายๆ องค์กรที่เข้ามาช่วยครอบครัวเราต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย วันนี้ตนก็จะพูดกับลูกได้แล้วว่าพวกเราได้รับความยุติธรรมแล้ว

ขณะที่ยุพิน ซาจ๊ะ และไมตรี จำเริญสุขสกล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรัก ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ดูแลและต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับชัยภูมิตั้งแต่แรกเริ่มนั้น กล่าวว่า เราดีใจมากที่การต่อสู้ของพวกเราในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า แม้ระหว่างทางของการต่อสู้พวกเราจะพบเจอกับอุปสรรค และแรงกระแทกมากมายแต่คำพิพากษาของศาลที่มีออกมาวันนี้ทำให้การต่อสู้ของพวกเราไม่ไร้ความหมาย หลายคนบอกให้พวกเราเลิกต่อสู้ แต่เราบอกพวกเขาไปว่าแม้ระยะเวลามันจะยาวนานหรือเห็นความหวังแต่เพียงริบหรี่เราก็จะสู้ เราเคยให้สัญญาไว้กับน้องชัยภูมิ ว่าจะนำความยุติธรรมกลับมาให้เขาให้ได้ วันนี้พวกเราก็ทำได้ การตายของน้องชัยภูมิ ไม่ได้สูญเปล่าหรือหายไปกับสายลม ความบริสุทธิ์ของน้องได้รับการพิสูจน์จากชั้นศาลแล้ว ขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงานที่ช่วยกันต่อสู้จนได้รับความยุติธรรมให้กับครอบครัวของชัยภูมิด้วย

ปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า วันนี้ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องไม่ให้ครอบครัวได้รับการเยียวยาใด ศาลฎีกาพิพากษาให้กองทัพบกในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารต้องรับผิดชอบค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งได้แก่ค่าปลงศพ 1,020,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะที่ชัยภูมิต้องอุปการะแม่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ที่เกี่ยกับเรื่องการทำมาหากินของชัยภูมิเอาเงินมาอุปการะแม่ในแต่ละเดือน และค่าขาดไร้อุปการะแม่ในอนาคต ซึ่งศาลก็ฟังว่าตามประวัติการศึกษาของชัยภูมิเป็นเด็กที่เรียนดีก็ย่อมมีโอกาสที่จะศึกษาจบปริญญาตรีแน่นอนในอนาคตและย่อมมีโอกาสที่จะได้อาชีพการงานที่จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ต่อเดือน ตามที่เราฟ้องเข้าไป ศาลก็กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จนกว่าแม่จะอายุ 80 ปี ซึ่งเราคำนวณตามอายุ ณ ขณะที่ชัยภูมิถูกยิงรวมไปอีก 29 ปี ศาลคำนวณส่วนนี้ให้ครบถ้วน รวมค่าขาดได้การอุปการะเป็นเงิน 1,900,000 กว่าบาท นี่คือผลที่เกิดขึ้น

ข้อสำคัญคือข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังนั้นถือได้ว่าศาลฎีกามีความละเอียดมากพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของการเกิดเหตุการณ์ขึ้นในวันที่ 17 มี.ค. 2560 เรื่องกล้องวงจรปิดเช่นเดียวกัน ศาลฟังเลยว่า กล้องวงจรปิดพยานฝ่ายจำเลย เจ้าหน้าที่รวมทั้งพนักงานสอบสวนที่ตรวจสอบมาแล้วได้ยืนยันว่ากล้องวงจรปิด 9 ตัวนั้นใช้งานได้ 6 ตัว ซึ่งเราก็ได้มีการอ้างเรื่องนี้เข้าไปแล้วตั้งแต่ชั้นการไต่สวนการตาย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารก็บ่ายเบี่ยง นี่คือข้อสำคัญที่หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกองทัพบกควรจะมาตรวจสอบจัดการในเรื่องลักษณะอย่างนี้ว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของตนเองกระทำการสิ่งใดกระทบต่อร่างกายชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนอยู่แล้วทำไมถึงไม่แสดงกล้องวงจรปิดออกมา ซึ่งหลักฐานที่ส่งมาไม่ได้ครอบคลุมวันที่เกิดเหตุ แต่ไปเอาวันที่พ้นจากวันเกิดเหตุมานำส่ง ศาลฟังแล้วเชื่อได้ว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญทางนิติวิทยาศาสตร์

อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ที่อ้างว่าชัยภูมิมีระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหารจึงต้องยิงป้องกันตัวนั้นก็ฟังไม่ได้ เพราะตอนที่ให้หยุดรถตรวจค้นตัว ตรวจค้นรถก็ชัดเจนว่ามีการเปิดข้างในรถเปิดประตูทั้งสี่บาน เปิดท้ายรถ เปิดด้านหน้ารถหมดแล้วเจ้าหน้าที่ทหารเองก็ยืนยันว่าตอนตรวจค้นนั้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ดังนั้นอาวุธวัตถุระเบิดมันคือระเบิดอาวุธสงครามด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คุณตรวจไม่เจอแล้วชัยภูมิจะวิ่งไปเอาระเบิดนั้นในภายหลัง

การควบคุมตัวชัยภูมิด้วยเช่นกันศาลก็ฟังว่าในภาวะนั้นทหารหลายนายควบคุมเขาอยู่แล้ว แต่เขาแค่สะบัดและวิ่งหนีเท่านั้นเองและมีประจักษ์พยานชาวบ้านคนหนึ่งที่พาหลานมาในพื้นที่ใกล้ ๆ ก็เห็นเหตุการณ์ว่าชัยภูมิวิ่งไปไม่ได้มีสิ่งผิดกฎหมายหรือมีอะไรที่จะชี้ได้เลยว่าเป็นวัตถุระเบิดหรือสิ่งของใดๆ ที่จะไปทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ทหารได้ ศาลเลยฟังว่าน้ำหนักพยานของฝ่ายจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารนั้นฟังไม่ได้ไม่มีน้ำหนักพอ ศาลจึงเชื่อว่าเหตุการณ์ที่อ้างว่าชัยภูมิมีระเบิดและกำลังจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่จึงยิงนั้นเป็นการฟังไม่ได้ว่ามีระเบิดจริง ประกอบกับระเบิดอย่างที่ว่านี้เป็นวัตถุระเบิดที่มีขั้นตอนที่จะปลดสลักอยู่หลายขั้นตอน พยานผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดก็มีให้การไว้แล้ว สอดรับกับพฤติการณ์ที่ฝ่ายครอบครัวซึ่งเป็นโจทก์อ้างว่าชัยภูมิไม่มีวัตถุระเบิดแน่ๆ

เรื่องวัตถุระเบิดศาลก็พิจารณาละเอียดไปถึงขั้นที่เรานำสืบว่า วัตถุระเบิดถ้าจับจริงเอาออกจากรถวิ่งไปแต่ตรวจไม่พบดีเอ็นเอของชัยภูมิในวัตถุระเบิดเลย ศาลก็เชื่อว่าเมื่อไม่มีลายพิมพ์นิ้วมือหรือดีเอ็นเอของชัยภูมิเลยที่ด้ามของระเบิดมันก็เป็นข้อพิรุธอย่างมากว่าระเบิดนั้นมาจากไหน แล้วเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

นี่คือภาพโดยรวมว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธงสงครามยิงโดยพลทหารที่ยิง ศาลเชื่อว่าทหารยิงเพื่อสกัดไม่ให้ชัยภูมิหลบหนี และยิงหนึ่งนัด ประกอบกับที่เขาเคยบอกกับพยานของเราว่าที่เขายิงเขาไม่ได้ตั้งใจ ศาลเลยไปฟังว่าเขาไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ผู้ยิงนั้น เมื่อเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้ชัยภูมิเสียชีวิตจึงเป็นการละเมิด และเมื่อเป็นการละเมิดก็เกิดความเสียหายต่อแม่ซึ่งเป็นโจทก์ที่ต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากชัยภูมิในอนาคตศาลก็เลยมีคำพิพากษาว่า กองทัพบกในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องรับผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.ความรับผิดทางการละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี พ.ศ. 2539

โดยสรุปก็คือ ขณะนี้ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยกองทัพบกต่อแม่ชัยภูมิ เป็นเงิน 2,072,400 บาท รวมดอกเบี้ยอีกต่างหาก ดอกเบี้ยจะนับตั้งแต่วันกระทำละเมิดร้อยละ 7.5 ต่อปี มาจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 64 ซึ่งมีการแก้ไขดอกเบี้ยใหม่ ของเดิม 7.5 ต่อปี ของใหม่จะเป็นร้อยละ 5 ซึ่งขั้นตอนต่อไปฝ่ายกองทัพบกจะต้องนำเงินมาวางไว้ที่ศาลตามคำพิพากษา ซึ่งฝ่ายการเงินของศาลแพ่งจะทำการคำนวณออกมาให้ว่าวันไหนที่เขามาวางเงินเพื่อจ่ายให้กับโจทก์หรือแม่นั้นเขาก็จะคำนวณดอกเบี้ยให้เรียบร้อย เมื่อเขามาวางไว้ที่ศาลทางเราก็มีหน้าที่ติดต่อฝ่ายแม่ให้เตรียมไว้ในเรื่องของการทำบัญชีเงินฝากของแม่และนำเอาไว้ที่ฝ่ายการเงินเมื่อเงินยื่นมาทางฝ่ายการเงินของศาลแพ่งก็จะโอนเข้าบัญชีแม่

อย่างน้อยก็ได้รับความเป็นธรรมในระดับหนึ่งแต่คำถามสำคัญก็คือว่าหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะกองทัพบกที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนสุขทุกข์ของประชาชนด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดแบบนี้ กองทัพบกจะทำอย่างไรในเชิงนโยบายไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และที่เกิดขึ้นมาแล้วควรจะไปทบทวน เอาสถิติเอาข้อเท็จจริงมาดู ไม่ใช่สู้กันจบแล้วจบไปเพราะรัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ต้องดูโดยละเอียดว่าทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเกิดคำถามว่าประชาชนจะมั่นใจกับรัฐได้อย่างไรในความปลอดภัยทั้งทางร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน กองทัพบกจ่ายเงินไปในนามของรัฐมากมายแล้วจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกระทำต่อประชาชน ดังนั้นจะมีมาตรการนโยบายในการควบคุมกำกับอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีกและไม่ช่วยปกปิดความจริง เช่นกรณีของกล้องวงจรปิดในคดีของชัยภูมิ

6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 'ชัยภูมิ' เสียชีวิต

เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ เปิดไทม์ไลน์ 6 ปี นับตั้งแต่ชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิตที่ด่านตรวจบ้านริมหลวง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 17 มี.ค. 60 จนกระทั่ง ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกฟ้อง ก่อนที่ล่าสุดวันนี้ ศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำตัดสิน ให้กองทัพบก ชดใช้กว่า 2 ล้านบาท

- 17 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง  ต.เมืองนะ  อ.เชียงดาว  จ.เชียงใหม่ ตรวจค้นรถยนต์ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ขับรถยนต์เดินทางพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคน ผ่านด่านตรวจดังกล่าว ก่อนที่ชัยภูมิจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ชัยภูมิ พยายามขัดขืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธมีด และระเบิดขว้างสังหาร จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้จนชัยภูมิ เพื่อป้องกันตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาว่า พบยาบ้าเป็นจำนวน 2,800 เม็ด ซ่อนอยู่ในหม้อกรองน้ำของรถยนต์ของชัยภูมิอีกด้วย

ภาพชัยภูมิและเจ้าหน้าที่ทหารค้นรถคนเกิดเหตุที่ชัยภูมินั่งมาด้วย แฟ้มภาพ

- 22 พ.ค. 2562 นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ ยื่นฟ้องแพ่งต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 โดยมีกองทัพบกเป็นจำเลย จากกรณีวิสามัญ 'ชัยภูมิ'

นาปอย ป่าแส

- 26 ต.ค. 2563 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพลทหาร เพื่อป้องกันให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย จึงไม่ใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น กองทัพบกซึ่งเป็นจำเลยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

- 26 ต.ค. 2564 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ พ2591/2562 ที่ นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ เป็นโจทก์ฟ้องกองทัพบก แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์สั่งเลื่อนนัดฟังคำตัดสินออกไปเป็นวันที่ 26 ม.ค. 2565 เวลา 8.30 น. เนื่องจากยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ 

- 26 ม.ค. 2565 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยยืนตามศาลชั้นต้นคือยืนยกฟ้องคดี "ครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส ฟ้องกองทัพบก" เหตุว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่า

- 16 ม.ค. 2566 ศาลแพ่งอ่านคำสั่งศาลฎีกา กรณีกองทัพบกวิสามัญชัยภูมิเมื่อปี 2560 มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกา และรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา หลังก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง 

- 16 พ.ย. 2566 ศาลฎีกากลับคำพิาพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ สั่งให้กองทัพบก ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส เป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านบาท ตามที่รายงานข้างต้น  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net