Skip to main content
sharethis

สหรัฐฯ-13 ประเทศพันธมิตร (รวมทั้งไทย) เห็นชอบเงื่อนไขหลักในความคิดริเริ่มกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของสหรัฐฯ ร่วมกันประกาศข้อตกลงยอมรับ “เสาหลัก” อีก 2 ข้อ ซึ่งก็คือ ประเด็นพลังงานสะอาดและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน


ที่มาภาพ: VOA

VOA รายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 ประธานาธิบดีโจ ไจเดน เข้าร่วมกับผู้นำอีก 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเวทียืนยันความก้าวหน้าของการเจรจาผลักดันความคิดริเริ่มดังกล่าวที่มีเป้าหมายส่งเสริมการเจริญเติบโตและการขยายโอกาสให้กับประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกยังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่

นอกจากสหรัฐฯ และไทยแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกเอเปคและความคิดริเริ่ม IPEF ก็คือ ออสเตรเลีย บรูไน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมทั้ง ฟิจิและอินเดีย ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเอเปค

ในระหว่างการประชุมเอเปคครั้งนี้ รัฐมนตรีจาก 14 ประเทศนี้ยังได้ลงนามรับรองอย่างเป็นทางการเสาหลักที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทุกฝ่ายได้ตกลงเห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย

แต่แม้ประเทศสมาชิกทั้งหมดได้เห็นชอบเนื้อหาของ 3 ใน 4 เสาหลักของความคิดริเริ่มนี้แล้ว การเจรจาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับเสาหลักด้านการค้าได้เลย ซึ่งจุดนี้ก็ถือเป็นความปราชัยของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่หวังจะใช้เวทีเอเปคเป็นพื้นที่บรรลุความสำเร็จของตนในการกลับเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอีกครั้ง และเพื่อเสนอตนเป็นน้ำหนักถ่วงอำนาจการค้าและเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อประเทศเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดน ยืนยันในการกล่าวสุนทรพจน์ความก้าวหน้าการเจรจาความคิดริเริ่มนี้ว่า เนื้อหาของ 3 เสาหลักที่ได้รับการรับรองมาแล้ว “คือสิ่งที่เราทุกคนทำสำเร็จ (เป็นสิ่งที่) ผู้นำธุรกิจทุกคนที่ผมได้พูดคุยด้วยและเพื่อนร่วมงานของผมทุกคนร่วมกันทำสำเร็จ และทุกคนก็จะทำการลงทุนเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ถ้าหากมีการคอร์รัปชันที่น้อยลง มีความโปร่งใสมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่ความตกลงนี้ต้องการแสดงให้เห็น”

ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่า ทุกฝ่ายยังต้องร่วมทำงานต่อไปเพื่อให้ได้กฎการค้าที่มีมาตรฐานสูงซึ่งรวมความถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่เข้มแข็งให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net