Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถาบันนิยมเชิงวาทกรรม (discursive institutionalism) เป็นแนวการศึกษาสถาบันแนวใหม่ล่าสุดในแวดวงวิชาการ เพิ่งแพร่หลายเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา 

สถาบันนิยมแบ่งได้สองแนวกว้างๆ คือ แนวเก่ากับแนวใหม่ 

สถาบันนิยมแนวเก่าศึกษาโครงสร้าง-หน้าที่ เช่น หน่วยงานไหนมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ก็ทำไปตามนั้น หรือกฎหมายว่าอย่างไร ก็ต้องทำตามนั้น 

ใครไม่ทำตาม ก็ถือว่าละเมิดหรือฝ่าฝืน ต้องให้ศาลหรือองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยตัดสิน เหมือนเคสแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในเวลานี้ คนไทยใจจดจ่อกับประเด็นที่ว่าตกลงนโยบายกู้มาแจกเป็นเงินดิจิทัลทำได้หรือไม่ได้ และผลจะเป็นอย่างไรต่อไป

การศึกษาสถาบันนิยมแนวเก่ามองแคบ มองแค่อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เห็นพฤติกรรมในนั้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการเมือง

ที่จริงการกระทำของมนุษย์เป็นการเมือง เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่วัด โรงพยาบาล หรือสำนักข่าวโทรทัศน์ 

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ “คุณถึก” สื่อมวลชนอาวุโสหัวก้าวหน้า จะวิจารณ์ว่าตนคิดไม่เหมือน   คนอื่น คือ คิดว่าเที่ยวนี้นโยบายแจกเงินดิจิทัลน่าจะผ่านฉลุย?

คราวโครงการกู้เงินจัดการน้ำสามแสนล้านบาทของยิ่งลักษณ์ เขา “ไม่ถูกกัน” แต่ตอนนี้เขาเป็นพวกเดียวกันแล้ว 

คุณถึกมองการเมืองในการตัดสินประเด็นทางกฎหมายว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลทำได้หรือไม่ได้    

อันเป็นตัวอย่างว่าสถาบันทุกสถาบันไม่ได้ปลอดจากการเมือง แม้แต่สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินทางกฎหมาย มีพฤติกรรมลึกลับอยู่ในนั้น เพียงแต่เราไม่เห็น ได้แต่ “มโน” อย่างที่คุณถึกมอง

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการศึกษาสถาบันนิยมแนวใหม่ 

หลักใหญ่ คือ ไม่ได้ศึกษาเฉพาะอำนาจหน้าที่เหมือนแนวนิติศาสตร์ 
แต่ศึกษาพฤติกรรมการเมืองที่เกิดขึ้นในสถาบันด้วย เดิมแบ่งย่อยออก 3 แนว ได้แก่ 

แนวทางเลือกที่มีเหตุผล (rational-choice) 

แนวองค์การ (organization) และที่ใหม่มาก คือ แนวประวัติศาสตร์ (historical institutionalism) 

ส่วนที่ใหม่กว่าอีก คือ แนวสถาบันนิยมเชิงวิพากษ์ ซึ่งหลักๆ มาจากงานของวิเวียน ชมิดต์ (Vivien Schmidt) เมื่อ ค.ศ. 2007

แนวทางเลือกที่มีเหตุผล ก็อย่างเช่น ทำไมคนไทยขับรถปาดซ้ายแซงขวา ไม่เหมือนนิวยอร์ก 

คำตอบ คือ คนไทยรีบเร่ง ถ้าไปสังเกตดูคนที่ขับรถอย่างนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพวกรีบมาก เช่นแกร็บ หรือไรเดอร์ แท็กซี่หรือสองแถว 

แล้วถนนกรุงเทพฯ ก็แคบ ไม่กว้างและไม่มีทางลอยฟ้าหรือเส้นทางเลือกอื่น 

หรือว่าทำไมคนไทยไม่ชอบหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย มีอยู่ทีหนึ่งคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ชนหมอตายแถวรามา คนชนเป็นตำรวจเสียด้วย 

คำตอบที่พบนอกจากปัญหาการขาดสำนึกพลเมือง (civic sense) แล้ว ยังต้องไปถามหมอนั่นด้วยว่าเป็นเพราะอะไร อันเป็นเหตุผลเฉพาะตัวบุคคล

คำตอบอาจเหมือนกันหมดก็ได้ว่า “ก็ใครๆ เขาก็ขับอย่างนี้กันแหละครับ แฮ่ๆๆ” (ไม่เห็นเขาเป็นอะไร?—เขาอาจย้อนถามเรา)

แนวทางองค์การ เป็นแนวทางศึกษาวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งกลายเป็นแบบแผนของความประพฤติ เช่น อาเตี่ยตอนตั้งร้าน เอาใจใส่การทำอาหารทุกขั้นตอน ต้อนรับลูกค้าด้วยไมตรียิ่ง ขอบคุณลูกค้าทุกคน จนภายหลังบริษัทเติบใหญ่ร่ำรวย อาเตี่ยก็ยังทำเหมือนเคย

สิ้นเตี่ยแล้ว อาตี๋ก็สอนให้พนักงานจดจำกลายเป็นวัฒนธรรมองค์การที่เอาใจใส่ลูกค้าและประณีตทุกขั้นตอน 

หรือตัวอย่างศาลสูงในสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจคดีอะไรออกมา คนอเมริกันร้อง “อ๋อ นึกแล้วต้องเป็นอย่างนั้น” คนยอมรับกันถ้วนหน้า แม้วันหนึ่งสมมติว่าศาลสูงไปตัดสินคดีในเต้นท์ คนบ้านเขาก็คงร้อง “อ๋อ” เหมือนเดิม ซึ่งน่าจะหาศาลที่มีความชอบธรรมสูงอย่างนี้ได้ยากสักหน่อย หมายถึงการมีอำนาจการยอมรับนับถือจากประชาชนสูงมาก แทบจะไม่ต้องอ้างอำนาจตามกฎหมายก็ยังได้
    
ส่วนแนวประวัติศาสตร์ เป็นแนวใหม่เกิดมาช่วงทศวรรษ 1970 มองการเมืองในแง่ความคิด (ideas) กับสถาบัน (institutions) 

หมายความว่าที่จริง “อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย” มันเป็นเพียงกรอบโครงของการกระทำ แต่การกระทำจริงๆ มันขึ้นอยู่กับความคิดแต่ละระยะ มันพลวัตว่างั้นเถอะ 

ไม่ใช่ว่าสถาบันจะทำอะไรตามเดิมเสมอไป เว้นแต่เป็นเรื่องอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเรียกว่า “path-dependency” 

ถ้าเป็นนโยบายสาธารณะก็เรียกว่า “lock in effect” หมายความว่ามันไม่มีทางเลือกทางอื่น เช่น พอประเทศไหนเริ่มนโยบายประชานิยมแล้ว ก็ต้องประชานิยมไปเรื่อยๆ ทุกยุคทุกสมัย เพราะเกิดลูกค้าในนโยบายและเกิดความคาดหวังขึ้นมาแล้ว นักการเมืองมีหน้าที่อย่างเดียว คือ ตอบสนอง

แม้ปฏิวัติและพยายามล้มนโยบายประชานิยมก็ไม่สำเร็จ เช่น ตุรกี เม็กซิโก และไทย (สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์)

สำหรับสถาบันนิยมเชิงวาทกรรม เป็นแนวการศึกษาสถาบันใหม่ล่าสุด มองว่า นอกจากขึ้นอยู่กับความคิดและสถาบันแล้ว มันยังขึ้นอยู่กับอำนาจวาทกรรม (discursive power) ในเวลานั้นด้วย 

คำว่า “วาทกรรม” (discourses) นักปราชญ์สมัยก่อนใช้ หมายถึง “แนวคิด” หรือ “มโนทัศน์” (concepts) เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต่อมา นักคิดสมัยหลังสมัยใหม่ โดยเฉพาะฟูโกต์ (Foucoult) เอามาใช้ในความหมายเจาะจงว่า “มโนทัศน์” มันมีอำนาจกดทับคน (subjection) ซึมลึกเข้าไปแม้กระทั่งห้องน้ำห้องนอน 

มโนทัศน์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ คนสร้างขึ้น เช่น คำว่า Homosexual ฟูโกต์พบว่าเพิ่งมีในศตวรรษที่ 19 จากเอกสารทางศาสนา การแพทย์แล้วก็นิติศาสตร์ เพราะฉะนั้นจริงๆ การแบ่งคนเป็นเพศชายกับเพศหญิง เป็นการประกอบสร้างทางสังคม หมายความว่าคนเราอาจมีเพศมากกว่านั้นอีกก็ได้

เพราะการแบ่งเพศเป็นการกระทำของคนไม่ใช่เกิดตามธรรมชาติ

ย้อนมาดูการศึกษาสถาบันนิยมเชิงวาทกรรม นอกจากจะเป็นสถาบันนิยมแนวใหม่ หรือบางทีเรียกว่า “รุ่นที่สี่” แล้ว ยังเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญในการศึกษานโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ด้วย 
พื้นฐานของการศึกษานโยบายสาธารณะมองว่า “ตัวนโยบาย” มันไม่ใช่แค่ “เครื่องมือ” แต่มันมีอำนาจกดทับคน 

กระบวนการวิเคราะห์สถาบันนิยมเชิงวิพากษ์ จึงให้ดู 3 อย่าง ได้แก่ ความคิด (ideas)         วาทกรรม (discourses) และสถาบัน (institutions)

ความคิดแบ่งออกย่อยเป็น 2 ประเภท คือ ความคิดที่เรารับรู้ (cognitive) กับความคิดเชิงปทัสถาน หรือคุณค่าของสังคม (normative) ถ้าเป็นนโยบายสาธารณะก็คือ ความคิดของตัวแสดงในนโยบายสาธารณะ ในนโยบายแจกเงินดิจิทัล ได้แก่ คุณเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล 

การที่คุณเศรษฐาเสนอนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทตอนหาเสียง ภาษานโยบายสาธารณะเรียกว่า “การรับรู้นโยบาย” (policy recognition) มีฐานะเป็น “ความคิดนโยบาย” (policy ideas) 

แต่ความคิดนี้ยังไม่ชัดเจน เช่น ตกลงจะแจกใคร และเอาเงินมาจากไหน ดังนั้น จึงไม่มี “แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง” (a clear and specific course of action) เพราะครม.ยังไม่ได้เขียนเสนอและรัฐสภายังไม่ได้ลงมติอนุมัติ

ปัญหาทางการเมืองในนโยบายสาธารณะจึงได้แก่ ทำไมคุณเศรษฐาถึงคิดอย่างนั้น มีเหตุผลอะไร เป็นหน้าที่ของคุณเศรษฐาและรัฐบาลต้องแถลงออกมาให้ประชาชนเข้าใจ 

การกล่าวเพียงว่าขณะนี้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกู้เงินมาแจกเป็นเงินดิจิทัลคนละหนึ่งหมื่นบาท

มีช่องว่างให้คนวิพากษ์ได้มากมาย เช่น ขณะนี้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่จริงหรือไม่ 

อย่างน้อยมนุษย์ก็เห็นปัญหาไม่ตรงกัน จำเป็นต้องหาฉันทามติก่อน 

สมมติคนเห็นตรงกันว่าเป็นวิกฤติ การแก้ปัญหาล่ะ ควรจะทำอย่างไร หากมีคนเสนอเป็นอย่างอื่น ก็ควรรับฟังและนำมาปรับปรุง ไม่ใช่โต้ทุกดอก เพราะไม่ใช่ชกมวยที่ต้องใส่อาวุธใส่กันไม่ยั้ง หรือ  ไม่จำเป็นต้องบดขยี้เสียงค้านทุกกรณี

เพราะรัฐบาลกระทำในนามสาธารณะ ซึ่งมีผลผูกพันต่อคนทุกคน การกู้เงินมาแจกมันดีหรือไม่ดี อย่างไร ย่อมมีสิทธิดีเบตกันได้ เช่น ผลต่อหนี้สาธารณะ รัฐบาลมีแนวทางชำระหนี้ในอนาคตอย่างไร อันเป็นการแสดงออกว่าเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ (accountable government) 

การอ้างว่าหาเสียงไว้แล้ว ต้องทำตาม นั้น ไม่ใช่เหตุที่จะอ้างได้ในนโยบายสาธารณะ เพราะต้องดูความพร้อมทางด้านทรัพยากร เครื่องมือและข้อจำกัดของนโยบาย 

นโยบายสาธารณเป็นแนวทางการกระทำที่ตอบสนองต่อปัญหาที่สังคมและประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งต้องเห็นตรงกันก่อน

มีนโยบายมากมายที่พรรครัฐบาลหาเสียงเอาไว้ แล้วทำไม่ได้ ต่อมารัฐบาลก็ออกมาชี้แจงประชาชนว่าทำไม่ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา สมัยคลินตันหาเสียงว่าจะออกนโยบายความมั่นคงสุขภาพ  ถ้วนหน้า แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้ เพราะนอกจากใช้เงินมหาศาลแล้ว กลุ่มผลประโยชน์ในประเทศยังออกมาต่อต้านอย่างแพร่หลาย

แม้แต่ในประเทศไทยเอง รัฐบาลนี้ก็เคยพูดว่า “อ๋อครับ อันนั้นเป็นการหาเสียงครับ ตอนนี้เลยฤดูหาเสียงมาแล้ว –แฮ่มๆๆ” 

นอกจากนี้ยังมีความคิดในเชิงคุณค่าอีก เช่น ทำไมเราไม่คิดเรื่องสวัสดิการให้เป็นระบบมากกว่าแค่เอาเงินมาแจก?? 

ทำไมเราไม่คิดเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน???
    
ส่วนวาทกรรม ก็คือ คำพูดที่รัฐบาลกับฝ่ายค้านหรือสาธารณะตอบโต้กัน เพื่อมุ่งหมายครอบงำความคิดของสังคม 

เช่น รัฐบาลพยายามอ้างว่าที่ต้องแจกเงินดิจิทัลเพื่อคำนึงถึงคนจน การแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากวิกฤติ คนจนจำนวนมากรอความหวัง คนจนกำลังออกมาสนับสนุนรัฐบาล

ฝ่ายค้านอ้างว่าเงินตั้งห้าแสนล้านบาทเอาไปทำอย่างนี้ๆๆๆ ดีกว่า 

รัฐบาลก็โต้ว่าคุณอย่าโต้ลอยๆ (ทั้งที่ตัวเองนั่นและเสนอนโยบายลอยๆ แต่ฝ่ายค้านเขาเสนอแนวทางใช้เงินห้าแสนล้านบาทเป็นรูปธรรมกว่า) 

บางคนค้านว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลทำไม่ได้ผิดกฎหมาย ถ้ากู้มาแจกเป็นเงินดิจิทัลหมื่นบาทได้ คราวหน้าจะกลายเป็นมาตรฐานว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายกู้มาแจกได้ 

ถ้าเกิดมีพรรคหนึ่งเสนอนโยบายว่าแจกเงินสดหมื่นห้าพันบาท จะทำยังไง 

ตรงนี้น่าคิดมาก เพราะรัฐธรรมนูญอาเจนตินาให้อำนาจผู้ว่าการรัฐแจกเงินสดแก่ประชาชนได้ (Fenwick, 2015) 

ถ้าเกิดแจกได้ ต่อไป อบจ. อบต.ไทยขอแจกเงินสดบ้าง รัฐบาลหรือศาลจะห้ามยังไง
    
ปัญหาทางวาทกรรมอยู่ที่รัฐบาลพยายามดึงเอาคนจนมาเป็นพวก ยิ่งมีการออกข่าวว่าคนจะได้รับเงินเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เท่าใด กลุ่มคนเหล่านั้นก็เริ่มเข้ามาสู่การเมืองและกดดันให้รัฐบาลแจกเงินดิจิทัล 

แต่ฝ่ายค้านก็รู้ทัน เล่นการเมืองตอบโต้ว่า ถ้าแจกไม่ได้ รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ—น่าจะถึงขั้นล้มละลาย” เช่น กรณีที่พี่ตู่ จตุพร คาดการณ์

ด้านสุดท้าย คือ สถาบัน บรรดาความคิดและวาทกรรมต่างๆ เป็นเสมือนฟองอากาศที่ขังเอาไว้ในขวด พอเปิดจุกออกก็ระเหยออกมาทางคอขวด 

หากสถาบันไม่รับรอง ความคิดและวาทกรรมก็กลายเป็นอากาศธาตุ สถาบันจึงเป็นบริบทสำคัญที่สุดในการกำหนดรูปร่างโครงสร้างของนโยบายแจกเงินดิจิทัล 

เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ต้องออกความเห็นว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลทำได้หรือไม่ 

คาดหมายว่าคณะกรรมการคงถกเถียงกันมาก หากทำได้ คณะกรรมการกฤษฎีคงเสนอข้อจำกัดต่างๆ เอาไว้มากมาย เช่น ต้องห้ามทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ 

การแจกเงินดิจิทัลอาจประสบกับข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายมากกว่าที่คิดก็ได้ 

ในทางกลับกัน หากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าทำไม่ได้ คณะกรรมการกฤษฎีก็มีฐานะเป็น veto points ตั้งแต่จุดเริ่มต้น พูดแบบไทยๆ คือ “ตายตั้งแต่อยู่ในท้อง” 

ต่อมา ป.ป.ช. ตั้งกรรมการขึ้นมาจับตา ว่ากันตามจริง--คนไทยงงมาก!! เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลยังไม่ได้ทำอะไร 

ตัวนโยบายรัฐบาลยังไม่ได้กำหนด (formulation) การตั้งกรรมการขึ้นมาจับตาของป.ป.ช. กระทำเพื่ออะไร เพราะฐานะของป.ป.ช. เป็นองค์การกึ่งตุลาการที่มีอำนาจตรวจสอบ (semi-judicial review) ต่อเมื่อมีการกระทำและมีการกล่าวหาว่าทุจริตหรือผิดกฎหมายต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ป.ป.ช.จึงเข้าไปตรวจสอบ

การกระตือรือร้นของป.ป.ช. เช่นนี้เป็นการเมืองเกินไปหรือไม่ (politicization) อันนี้ ป.ป.ช. น่าจะชี้แจงในแง่ขอบอำนาจหน้าที่ให้สาธารณชนเข้าใจ 

ตรงกันข้าม การกล่าวหาว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นนโยบายที่คิดยังไม่เสร็จหรือคิดยังไม่รอบคอบ 

ตรงนี้ต่างหากที่น่ารับฟัง เพราะกระบวนการคิดนโยบายของรัฐบาลยังไม่เรียบร้อย แถลงออกมาแต่ละครั้งก็ขัดกันเอง สาธารณะย่อมมีสิทธิตั้งคำถามว่า “อ้าว ทำไมไม่คิดให้มันเรียบร้อยเสียก่อน” 

เล่นตีปี๊บอย่างนี้ ถ้าไม่หวังหาเสียงแล้ว จะหวังอะไร --มันใช่การสื่อสารทางการเมืองเพื่อหวังผลอะไรสักอย่างหรือเปล่า?? 

สถาบันต่อมาที่น่าจะเป็นผู้กำหนดรูปร่างนโยบายแจกเงินดิจิทัล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญไทยอยู่ที่คนมองว่ามีการเมือง ยกตัวอย่างความเห็นคุณถึกที่กล่าว 

ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องมีคนไปร้องว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลขัดรัฐธรรมนูญมาตราอะไร ศาลรัฐธรรมนูญถึงพิจารณาได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบทางตุลาการ (judicial review) ต่อการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและหลักรัฐธรรมนูญ

สถานะ ณ ปัจจุบันดูเหมือน “พี่ศรี” ไปร้องเรียบร้อยแล้ว แต่คนทั่วไปไม่ทราบประเด็นที่ร้องและกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรับคำร้องแล้วยัง กระบวนการพิจารณาเป็นยังไง มี schedule ออกมาแล้วยัง นอกจากคำร้องแล้วต้องพิจารณาพยานหลักฐานอะไรเพิ่มหรือเปล่า เป็นต้น

การศึกษาสถาบันนิยมเชิงวาทกรรม ไม่ได้มองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ “คน” แต่มองว่าศาล        ก็เป็น “คน” เพราะฉะนั้น การอ้างข้อกฎหมายของเขาจึงไม่ใช่เป็นหลักตรรกะวิทยาของสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วซึ่งต้องเป็นไปตามนั้น (logic of path-dependency) หรือเป็นหลักเหตุผล (rationality) อย่างสมบูรณ์ 

แต่มีความเป็น “คน” ปะปนด้วย โดยเฉพาะกระบวนการวิพากษ์และการคิดสะท้อนย้อนกลับถึงตัวเอง เช่น ครั้งหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยอ่านคำพิพากษาออกโทรทัศน์ แล้วพูดว่า “ถนนเมืองไทยยังมีฝุ่นเยอะ น่าจะเอาเงินงบประมาณไปทำถนนให้ดีก่อน” 

แสดงว่า ศาลก็เป็นคนที่มี “คุณค่า” ของตัวเองและเอาตัวเองเข้าตัดสินคดี 

ด้วยเหตุนี้ในทางทฤษฎี คนเราจึงไม่ใช่หน่วยวิเคราะห์ที่พยากรณ์ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่       ตัวแสดงที่แสดงออกมาโดยทันทีโดยไม่ยั้งคิด คนเราอยู่กึ่งกลางระหว่างการพยากรณ์ได้กับที่คิดเอาเอง 

ปัญหาของคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญของไทยอยู่ที่อันไหนเป็นข้อกฎหมาย อันไหนเป็นเหตุผลตามกฎหมาย และอันไหนเป็นเหตุผลที่คิดเอง 

เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้เจาะจงว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลทำได้หรือไม่ได้ แต่ใช้คำนามธรรม เช่น คำว่า “วินัยการเงินการคลัง” หรือคำว่า “สมเหตุสมผล” 

คำเหล่านี้แล้วเป็นดุลพินิจ และเป็นอำนาจดุลพินิจ (discretion power) ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น   บางคน เช่น คุณถึกจึงมีสิทธิเชื่อว่าขอบเขตของอำนาจดุลพินิจนี้ไม่แน่นอน

สถาบันสุดท้ายจริง ก็เป็นสถาบันนิติบัญญัติ รัฐสภาไทยคงเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้ายว่า “อนุมัติ” นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทหรือไม่ 

แน่ละว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจารกันไปอีกนานว่าเป็นเพราะอะไร การอนุมัติหรือไม่คงเป็น “อาจารย์ใหญ่” ในการศึกษาการเมืองของนโยบายสาธารณะในประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน

ต่อไป เวลาอาจารย์หรือนักศึกษาเรียนนโยบายสาธารณะ ก็จะอ้างว่า “ครั้งหนึ่ง รัฐบาล        เศรษฐามีนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท” ผลปรากฏว่า...

สรุปว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองของสำนักสถาบันนิยมเชิงวิพากษ์เป็นการเมืองและมีอำนาจวาทกรรมครอบงำสังคม หากประเทศเราไม่แก้ปัญหาสวัสดิการสังคมและไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอภิสิทธิ์ชนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยมหาศาล ปล่อยให้คนจนเผชิญทุกข์อยู่ท่ามกลางระบบเสรีนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา 

นโยบายประชานิยมจะยังอยู่กับเรา ในฐานะที่เป็นทางออกเล็กๆ ไปอีกนานแสนนาน !!!

พรรคการเมืองก็จะสนใจตอนหาเสียงว่า “เอ้าพวกเรา เที่ยวนี้จะแจกอะไรดี” ??
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net