Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การสิ้นสุดลงของวังหน้า การขยายอาณาเขตสนามหลวง และการตัดถนนราชดำเนินเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว มาพร้อมกับภูมิทัศน์แบบสมัยใหม่ใจกลางกรุง ในเวลาไล่เลี่ยกันก็ได้เกิดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลนักเรียนขึ้นเมื่อปี 2444 ครั้งแรกประกอบด้วยทีมทั้งหมด 9 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (ก่อตั้งปี 2425[1]), โรงเรียนสวนกุหลาบ (ไทย), โรงเรียนสวนกุหลาบ (อังกฤษ) (ก่อตั้งปี 2425)[2], โรงเรียนวัดมหรรณพาราม) (ก่อตั้งปี 2427[3]), โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ (ก่อตั้งปี 2435[4]), โรงเรียนกล่อมพิทยากร (ก่อตั้งปี 2435)[5], โรงเรียนสายสวลี (ก่อตั้งปี 2437)[6]  และโรงเรียนราชวิทยาลัย (ก่อตั้งปี 2439[7])โรงเรียนราชการ (ก่อตั้งปี ราวปี 2442 [8]) โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสำคัญที่อยู่แวดล้อมกับอำนาจการศึกษาและกลไกการปฏิรูปประเทศ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง ไกลที่สุดก็น่าจะเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัยที่อยู่บริเวณจวนเดิมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) แถบฝั่งธนบุรีฝั่งตรงข้ามกับปากคลองตลาด-วัดราชบูรณะ การเล่นฟุตบอลและการแข่งขันถือว่าเป็นหนึ่งในการสร้างความเป็นชายและใช้ขัดเกลาความเป็นสุภาพบุรุษ

สนามแข่งขันรายการฟุตบอลแต่แรกยังไม่มีสนามกลางตายตัว มีการเลือกใช้สนามของโรงเรียนที่ร่วมแข่งขันบางแห่ง และท้องสนามหลวงบ้าง หากพิจารณาตามชื่อโรงเรียนที่ส่งเข้าแข่งขัน จะเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอำนาจรัฐของโรงเรียนต่างๆ ในยามที่รัฐต้องการผลิตบุคลากรมาป้อนระบบราชการให้เพียงพอกับระบบการปกครองที่พยายามขยายองคาพยพให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ตัวละครไม่น้อยที่ได้รับการบันทึกในฐานะนักเรียนนักฟุตบอล ได้กลายเป็นข้าราชการสำคัญ เช่น นายบุญจ๋วน บุญยะปานะแห่งประถมสามจีนใต้ ต่อมาคือ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (2436-2506) นายบุญชู ศีตะจิตต์แห่งมัธยมพิเศษเทพศิรินทร์ ต่อมาเป็นพระเชฏฐไวทยาการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2490-2497 (2435-2516) นายจร โชติกเสถียรแห่งราชวิทยาลัย ต่อมาเป็นหลวงจรเนาวิเทศ สังกัดกระทรวงการคลัง นายส่าน โชติเสถียร ต่อมาเป็นพระวุฒิศาสตร์เนติญาณ กระทรวงเศรษฐการ[9]

การแข่งขันของโรงเรียนต่างๆ จึงมิได้เป็นการส่งทีมเข้าร่วมเฉยๆ แต่แสดงให้เห็นถึงการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับรัฐ หรืออาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันฟุตบอลโรงเรียนได้เผยให้เห็นเครือข่ายทางการศึกษาที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐในยุคนั้นไปด้วย

รัชสมัยต่อมาก็ได้มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยมีสนามแข่งหลักๆ อยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และสวนกุหลาบวิทยาลัย ในช่วงนี้เริ่มมีการแบ่งการแข่งขันเป็นรุ่นอายุ แต่ก็ยังเป็นการแข่งขันระหว่างโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก[10] การแข่งขันต่อเนื่องจากปี 2454-2475 น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนต่างๆ ด้านฟุตบอลก่อตัวขึ้นมาอย่างแน่นแฟ้นนำไปสู่การแข่งขันจตุรมิตรสามัคคีในเวลาต่อมา หลังปฏิวัติ 2475 กรมพลศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบการจัดแข่งขันฟุตบอลนักเรียน และเริ่มมีโรงเรียนนอกกรุงเทพฯ มาร่วมแข่งขัน แต่ก็หยุดชะงักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระดับสูงกว่านั้นเริ่มมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อปี 2477 ในช่วงแรกได้จัดการแข่งขัน ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[11] ก็ย่อมสะท้อนถึงเครือข่ายด้านฟุตบอลและสถาบันการศึกษาที่โยงใยถึงกันด้วย

ในที่สุดโรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯทั้ง 4 แห่ง ได้ริเริ่มจัดฟุตบอลที่ชื่อว่า "จตุรมิตรสามัคคี" เมื่อปี 2507 ในนามของการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างครู อาจารย์ และนักเรียน ทั้งฝ่ายนักกีฬาและฝ่ายกองเชียร์ ว่ากันว่าเกิดจากการประสานงานของอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ได้เชื้อเชิญโรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญมาแข่งขันฟุตบอลร่วมกัน[12]

นับได้ว่าทั้ง 4 โรงเรียนนี้ นับเป็นโรงเรียนชั้นนำของประเทศในระดับมัธยมศึกษาในขณะนั้น และยังเป็นโรงเรียนที่มีความเก่าแก่ระดับร้อยปี สำหรับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและเทพศิรินทร์ ไม่เป็นเพียงโรงเรียนของรัฐแต่ยังมีอัตลักษณ์ที่ผูกอยู่กับเจ้านายสยามอย่างชัดเจน ขณะที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และอัสสัมชัญเป็นตัวแทนของโรงเรียนคริสต์ที่เก่าแก่ที่เคยมีความโดดเด่นในฐานะเป็นของชาวตะวันตกและมีจุดเด่นที่การสอนภาษาอังกฤษ และทั้งคู่ก็เป็นตัวแทนของทั้งนิกายโปรเตสแตนท์และโรมันคาทอลิก

การแข่งขันใช้สนามศุภชลาศัยเป็นสนามแข่งขัน และหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพทุกปี โดยโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในครั้งแรก แต่ได้ช่วงที่เว้นการจัดงานก็คือ ปี 2509 และ 2510 เนื่องจากสนามไม่ว่างเพราะถูกเลือกเป็นสถานที่ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาแหลมทอง ช่วงต่อมาคือ ปัญหาการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และ6 ตุลาคม 2519 ทำให้ไม่มีการแข่งขันในปี 2518-2520 แต่น่าสงสัยว่าปี 2523-2524 ไฉนจึงไม่มีการแข่งขัน นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา จะเป็นการแข่งขันปีเว้นปี อุปสรรคมาอีกครั้งเมื่อถึงปี 2554 ที่ต้องงดแข่งเพราะประสบปัญหามหาอุทกภัยในช่วงดังกล่าว[13]  ในปี 2559 เป็นปีที่ต้องเลื่อนไปอีกปี เพราะยังอยู่ในช่วงถวายอาลัยช่วงสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เช่นเดียวกับช่วงโควิด 19 ที่ทำให้การแข่งขันถูกระงับเมื่อปี 2564 และเลื่อนการแข่งขันในครั้งล่าสุดปี 2566 จะเห็นได้ว่า ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีได้วางอยู่ในบริบทสังคมการเมืองไทยแบบที่ว่า หากจะทำหนังประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองฟุตบอลจตุมิตรฯ ก็สามารถทำได้อย่างสบายๆ

การที่ฟุตบอลนักเรียนได้รับสิทธิ์ให้ใช้สนามกีฬาแห่งชาติเช่นนี้ ย่อมสะท้อนความไม่ธรรมดาของเครือข่ายที่พวกเขามีไปด้วย นั่นหมายถึงว่า สนามกีฬาอันโอ่อ่าเช่นนี้มีสนามมาตรฐาน พร้อมกับแสตนด์เชียร์ที่ล้อมรอบทั้ง 4 ฝั่ง มีรั้วรอบขอบชิดปิดกั้น สามารถจุผู้ชมนับหมื่น ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ฝั่งคบเพลิง อันอยู่ตรงข้ามอัฒจันทร์ประธาน ที่สามารถจะใช้สำหรับแปรอักษรแสดงข้อความและภาพต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ฟุตบอลจตุรมิตร จึงไม่ได้เป็นการแข่งขันไปตามความสะดวกของโรงเรียนแบบเดิมๆ อีกแล้ว

นอกจากนั้นฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีได้เก็บค่าผ่านประตู โดยรายได้ส่วนหนึ่งของการแข่งขันจะนำทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย[14] ดังนั้น ฟุตบอลจตุรมิตรฯ จึงแสดงให้เห็นถึง 3 มิติ ก็คือ การแข่งขันกีฬาที่มีมิติแบบกีฬาการกุศล การอิงอยู่กับชนชั้นนำ และการสร้างพื้นที่ของเครือข่ายทางสังคมในหมู่โรงเรียนชั้นนำในกรุงเทพฯ

มากไปกว่านั้น รายการฟุตบอลนี้ยังได้รับแอร์ไทม์จากสถานีโทรทัศน์เพื่อทำการถ่ายทอดสดอีกด้วย แม้จะเป็นเพียงแค่การแข่งขันฟุตบอลระดับนักเรียนและเป็นเพียงฟุตบอลของโรงเรียนเพียง 4 โรงเรียนในกรุงเทพฯ เช่น ปี 2534 มีการถ่ายทอดสดผ่านช่อง 9 อ.ส.ม.ท.[15] ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล และปีนั้นเกิดการรัฐประหารขึ้น ข้อสังเกตคือ หัวหน้าผู้ทำรัฐประหารครั้งนั้นคือ สุนทร คงสมพงษ์ ศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้ยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์

ฟุตบอลรายการนี้ยังดำรงอยู่คู่สังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะแสดงถึงศักยภาพของโรงเรียนดังกล่าวแล้ว ฟุตบอลรายการนี้ยังแสดงให้เห็นถึงศูนย์กลางอำนาจและเครือข่ายการเมือง-เศรษฐกิจระดับครีมของสังคมไทย ก่อนที่นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้จะก้าวขึ้นสู่อภิสิทธิ์ชนในอนาคตไม่ว่าจะในตำแหน่งนักการเมืองระดับชาติ นายกรัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารระดับสูง หรือกระทั่งผู้ทำการรัฐประหาร ด้วยชื่อเสียงของพวกเขา จึงไม่แปลกที่ 2 โรงเรียนดังจะมีโรงเรียนสาขาหรือแฟรนไชส์ขยายออกไปในพื้นที่ต่างจังหวัดเช่น สวนกุหลาบวิทยาลัย และเทพศิรินทร์[16] (แตกต่างจากโรงเรียนในเครือเซนต์คาเบรียล-อัสสัมชัญ และเครือสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยที่มีระบบบริหารอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีสาขาเช่นกันในต่างจังหวัด)

เว็บไซต์รัฐบาลไทยได้ทำประวัตินายกรัฐมนตรีไว้ เมื่อสืบค้นจะพบว่าเคยศึกษาในโรงเรียนใดมาบ้าง ผู้เขียนลองจำแนกเฉพาะผู้ที่เคยศึกษาในเครือ จตุรมิตรฯ เราจะนับได้ถึง 12 คน ดังนี้[17]

 

พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) : สวนกุหลาบวิทยาลัย, อัสสัมชัญ

ควง อภัยวงศ์ : เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ

ทวี บุณยเกตุ : สวนกุหลาบวิทยาลัย

เสนีย์ ปราโมช : อัสสัมชัญ, เทพศิรินทร์, สวนกุหลาบวิทยาลัย

ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : เทพศิรินทร์

สัญญา ธรรมศักดิ์ : อัสสัมชัญ

คึกฤทธิ์ ปราโมช : สวนกุหลาบวิทยาลัย

ธานินทร์ กรัยวิเชียร :สวนกุหลาบวิทยาลัย

เปรม ติณสูลานนท์ : สวนกุหลาบวิทยาลัย

ชาติชาย ชุณหะวัณ : เทพศิรินทร์

อานันท์ ปันยารชุน : กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

สุรยุทธ์ จุลานนท์ : สวนกุหลาบวิทยาลัย

 

จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีเคยศึกษาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมากที่สุด มีจำนวนถึง 7 จาก 12 คน รองลงมาเทพศิรินทร์คือ 5 คน น้อยที่สุดคือ กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย แต่ในกรณีของเสนีย์ ปราโมช ถือว่ามีประสบการณ์ในโรงเรียนถึง 3 แห่ง นั่นคือ อัสสัมชัญ เทพศิรินทร์ และสวนกุหลาบวิทยาลัย

จึงไม่แปลกที่ในสูจิบัตรปี 2562 ระดับประธานองคมนตรี อย่างสุรยุทธ์ จุลานนท์ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด อย่างพรพิพัฒน์ เบญญศรี ในนามศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้มี “สาร” ที่ตีพิมพ์เนื่องในพิธีเปิดการแข่งขัน ครั้งที่ 29[18]

การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ภายใต้ความสนใจในด้านบวกแล้ว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา โรงเรียนในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความไม่น่าไว้วางใจเนื่องด้วยเป็นสถาบันที่มีโอกาสจะใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะประสบการณ์ร่วมกัน จากการร้องเรียน หรือการเป็นข่าวในพื้นที่สื่อ ล่าสุด สัญญา คุณากร พิธีกรชื่อดังก็ออกมาโพสต์โซเชียลเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับดราม่า การขึ้นแสตนด์เชียร์ในนามของศิษย์เก่าสวนกุหลาบซึ่งมีนัยตอบโต้ ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส.ก้าวไกลที่ออกมาต่อต้านการแปรอักษรในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีโดยเขาโพสต์ว่า

 

“ผมเป็นคนไม่ชอบมีเรื่องกับใคร แต่ทำไมผมมีความรู้สึกว่า ประโยคที่ได้ยินจากเรื่องนี้มันตรงกับที่รู้สึก ว่า “…(คุณ)อย่า…(มาหาเรื่อง) กับโรงเรียนของ…(ผม)เลย” คุณไม่เคยรับรู้ถึงเกียรติภูมิ ของโรงเรียน ความอดทน ความเสียสละ การภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่จะสร้างเยาวชน ที่มีเกียรติ มีรากเหง้า มีกำลังสติปัญญา และมีความเป็นมนุษย์ … ทั้งหมดต้องถูกหล่อหลอมโดยหลายช่องทาง หลายกิจกรรม…มีทั้งยาก และง่าย ทั้งเหน็ดเหนื่อย…และลำบาก โปรดรับรู้ว่า นักเรียนสวนกุหลาบ จะรักษาความถูกต้องจากการแอบแฝงผลใดๆ และจะรักษาเกียรติของโรงเรียนเสมอไป  #ผมคือนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” [19]

 

ตรงกันข้ามกับฟุตบอลนักเรียนระดับชาติที่ได้รับการสนับสนุนน้อยอย่างน่าใจหาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ดังที่มีผู้เขียนข้อเสนอสะท้อนไว้ในวันก่อนกรณีการแข่งขันฟุตบอล 7 สี เปรียบเทียบกับ ฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาวของนักเรียนญี่ปุ่น[20] การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีเพียง 4 โรงเรียน กลับมีพื้นที่สื่อและการสนับสนุนจากทุนและรัฐอย่างน่าจับตา มันจึงสะท้อนถึงโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งไม่ใช่แค่ด้านกีฬา แต่มันหมายถึง โอกาสทางการศึกษาของโรงเรียนในต่างจังหวัดที่อยู่บนความเหลื่อมล้ำมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับการรวมศูนย์กลางของโอกาสอยู่ที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไปด้วย.

 

 

อ้างอิง   

[1]  เจมส์ เอฟ. แมคคาร์ธีผู้ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่สยาม ที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2523 มีบทบาทจัดตั้งโรงเรียนแผนที่ฝึกสอนชาวสยาม โดยนำเอานายทหารรักษาพระองค์ 30 นายเข้าเป็นนักเรียนรุ่นแรก แมคคาร์ธีเป็นครูใหญ่ สอนบริเวณตึกแถวกองมหาดเล็ก ข้างประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง ดูใน กรมแผนที่ทหาร.  “ประวัติ”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563 จาก https://bit.ly/2xf88qW

[2] เดิมเรียกว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งขึ้นเพื่อฝึกหัดหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์โดยเฉพาะให้เป็นทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้ขยายให้ผู้สมัครจากภายนอกมากขึ้น และใช้บริเวณพระตำหนักสวนกุหลาบที่เคยเป็นคลังที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในปี 2425 แต่แรกมีการฝึกหัดอย่างทหารและแบบสามัญตามโรงเรียน เมื่อมีผู้สมัครเรียนเกินจำนวนตำแหน่งทหารมหาดเล็กจึงเปลี่ยนจากนักเรียนทหารมาเป็นนักเรียนพลเรือน จนต้องสร้างตึกยาวทางพระราชวังด้านให้ใช้เป็นที่เล่าเรียน ต่อมาปี 2436 ได้ขยายไปนอกพระบรมมหาราชวัง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนสวนกุหลาบที่ได้แยกเป็น 2 แห่งได้แก่ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษ ฝ่ายไทยได้ย้ายไปที่วัดมหาธาตุส่วนหนึ่งและที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมมหาราชวังอีกที่หนึ่ง สวนกุหลาบฝ่ายไทยมีความสัมพันธ์กับกระทรวงธรรมการอย่างน่าสนใจ เนื่องจากเมื่อกระทรวงธรรมการสร้างอาคารใหม่บริเวณวังหน้าเดิม ก็ได้ให้สวนกุหลาบฝ่ายไทยไปใช้ตึกในนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามสวนกุหลาบฝ่ายไทยยังได้ย้ายไปอีกหลายแห่ง เช่น วัดมหาธาตุฝั่งใต้, โรงเลี้ยงเด็กริมคลองมหานาค และในที่สุดก็ไปที่ตึกแถวหลังยาววัดราชบูรณะที่จะกลายเป็นกลับมารวมกันอีกครั้งของฝ่ายอังกฤษ ส่วนฝ่ายอังกฤษนั้น ไม่ได้ย้ายออกนอกพระบรมมหาราชวัง แต่ว้ายไปที่ริมพระที่นั่งสุทธัยสวรรค์ ต่อมาได้ย้ายออกไปแถบบริเวณสตรีสวนสุนันทาลัย ปากคลองตลาด จนได้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบสุนันทาลัย ต่อมาสมเด็จพระราชินีได้ขอพระราชทานที่ดินดังกล่าวเพื่อปรับปรุงเป็นโรงเรียนราชินี จึงได้ย้ายมารวมกับโรงเรียนเทพศิรินทร์ ไปอยู่ร่วมกับตึกแม้นนฤมิตร จึงได้ชื่อว่าโรงเรียนสวนกุหลาบแม้นนฤมิตร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษเทพศิรินทร์ จนในปี 2454 โรงเรียนสวนกุหลาบฝ่ายไทยและอังกฤษก็ได้มารวมกันอีกครั้งในปี 2454 ปีเดียวหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต   ดูใน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “ประวัติโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 จาก http://www.skn.ac.th/skn/index.php/2016-09-07-14-40-46/536-2016-09-07-14-26-50

[3] ตั้งขึ้นในปี 2427 ดูใน โรงเรียนวัดมหรรณพาราม. “ประวัติโรงเรียน”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563 จาก http://www.watmahannapharam.ac.th/datashow_46915

[4] ตั้งขึ้นในปี 2435 บริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ต.สวนมะลิ ถ.บำรุงเมือง ต่อมาย้ายมาที่บริเวณวังจันทรเกษม ถ.ราชดำเนิน มีบทบาทหน้าที่ผลิตครู ปี 2461 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู และปีเดียวกันนั้นเปิดสอนหลักสูตรประโยคครูประถม (ป.ป.) รับนักเรียนจบม.6 และประกาศนียบัตรครูมูล ส่วนครูมัธยมนั้นส่งไปสมทบกับโรงเรียนมัธยมเบื้องปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา ปี 2499 ย้ายจากวังจันทรเกษมไปบริเวณอ.บางเขน หลังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในเวลาต่อมายกระดับเป็นวิทยาลัยครูพระนคร ปี 2509 ดูใน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร. “ประวัติมหาวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563 จาก https://www.pnru.ac.th/index.php?op=detail&opid=69

[5]  แต่แรกชื่อโรงเรียนวัดพระเชตุพน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนกล่อมพิทยากร และโรงเรียนอุดรพิทยาคม ต่อมาในปี 2442 ได้มีการสร้างอาคารเรียนใหม่และรวมเป็นโรงเรียนเดียวในชื่อโรงเรียนกล่อมพิทยากร ดูใน โรงเรียนวัดพระเชตุพน.  “ประวัติโรงเรียน”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563 จาก http://school.bangkok.go.th/watprachetuphon/history.html

[6] โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคาร สร้างขึ้นบริเวณถนนบำรุงเมือง ตำบลสวนมะลิ ริมคลองมหานาค เดิมเป็นโรงเลี้ยงเด็ก ดูใน สวัสดิ์ เลขยานนท์, ศตวรรษแห่งการกีฬา (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์พระจันทร์,  2520), หน้า 18

[7] สร้างขึ้นบนที่ดินจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ตั้งขึ้นในปี 2439 ชาวบ้านนิยมเรียกว่าโรงเรียนฟากขะโน้น หรือโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้ย้ายไปบริเวณตำบลไผ่สิงโต ปทุมวัน ข้างสระปทุมวัน ดูใน โรงเรียนมัธยมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. “ประวัติการก่อตั้งโรงเรียน”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563 จาก http://mattayom.bsru.ac.th/index.php/strory

[8] ไม่แน่ใจนักว่าโรงเรียนราชการดังกล่าวใช่โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนที่ก่อตั้งในปี 2442 หรือไม่ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . “ประวัติจุฬาฯ”. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563 จาก https://www.chula.ac.th/about/overview/history/

[9] สวัสดิ์ เลขยานนท์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 159-160, 167

[10] สุนทร แม้นสงวน, พัฒนาการการแข่งขันกีฬานักเรียนในประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมัยปัจจุบัน วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533, หน้า 37-38, 41, 43, 45-46, 48-49, 52, 55-56, 59, 61, 64-65, 70, 77-78, 82-83, 87-88, 90-91, 95-96, 101, 104 และ 108  และสิทธิ รัตนราษี, การศึกษากีฬาฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540, หน้า17, 18

[11] สิทธิ รัตนราษี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 33

[12] สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29 พ.ศ.2562, หน้า 28-29

[13] สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29 พ.ศ.2562, หน้า 28-29

[14] สิทธิ รัตนราษี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 40-41

[15] Yak136. จตุรมิตรฯครั้งที่ 16 นัดชิง BCC vs AC. Youtube. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.youtube.com/watch?v=xhW1aSR8Gv8 (3 เมษายน 2555)

[16] ดูการอภิปรายเรื่องโรงเรียนแฟรนไชส์ได้ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “ชื่อเสียง ‘โรงเรียนแฟรนไชส์’ การเดินสวนทางกับการกระจายอำนาจทางการศึกษา”. ไทยรัฐพลัส. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 จาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/101992 (23 สิงหาคม 2565)

[17] รัฐบาลไทย. “ทำเนียบนายกรัฐมนตรี”. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/index

[18] สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29 พ.ศ.2562, หน้า 14-15

[19] ผู้จัดการออนไลน์. “ “ดู๋ สัญญา” ลั่นไม่ชอบมีเรื่องกับใคร แต่อย่ามาหาเรื่องกับโรงเรียนผมเลย”. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566. จาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9660000102528 (15 พฤศจิกายน 2566)

[20] มฤคย์ ตันนิยม. “ชิงแชมป์ฤดูหนาวญี่ปุ่น : บอล 7 สียังขาดอะไรถึงจะมีศักยภาพเทียบเท่ารายการนี้ ”. Think Curve. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566. จาก https://thinkcurve.co/chingaechmprduuhnaawyiipun-b-l-7-siiyangkhaad-aairthuengcchamiisakyphaaphethiiybethaaraaykaarnii/ (6 พฤศจิกายน 2566)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net