Skip to main content
sharethis

เพจกระทรวงการต่างประเทศของพม่าแถลงหลังไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) โดยเนื้อหามีการระบุถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ "เน้นย้ำ" อย่างเรื่อง "การค้ามนุษย์" และ "การหลอกลวงต้มตุ๋นออนไลน์ทางตอนเหนือของประเทศ" ที่ต่างชาติมองว่าเป็นปัญหาในพม่า

 

22 พ.ย. 2566 ข่าวที่แถลงผ่านเพจลงวันที่ 14 พ.ย. 2566 ระบุว่า คณะผู้แทนพม่านำโดย U Zaw Zaw Soe รองอธิบดีกรมกิจการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศพม่า ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมพิเศษของ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) เมื่อวันที่ 7-11 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงได้เข้าประชุม "อาเซียนฮิวแมนไรท์ไดอะล็อก ครั้งที่ 5" เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมาด้วย

ในการประชุมดังกล่าวมีประธานคือ H.E. Wahyuningrum ตัวแทนของอินโดนีเซีย และมีผู้แทน AICHR จากประเทศอาเซียนอื่นๆ เข้าร่วม โดยมีตัวแทนจากติมอร์ตะวันออกเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

การประชุมนี้มีการพิจารณาความคืบหน้าของปฏิบัติการตามแผนการ 5 ปี (2564-2568) และหารือกันเรื่องการปฏิบัติการตามประเด็นที่ AICHR ให้ความสำคัญมาก่อน

ภาพจาก Ministry of Foreign Affairs Myanmar

เพจกระทรวงต่างประเทศของพม่าระบุว่า โครงการและกิจกรรมในปี 2566-2567 เน้นเรื่องสิทธิสตรี, สิทธิเด็ก, สิทธิคนพิการ, เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก, ประเด็นปัญหาเรื่องข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลที่ผิด, ประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน, สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และโลกร้อน, การต่อต้านการค้ามนุษย์, การป้องกันการทารุณกรรม, ดัชนีสิทธิมนุษยชน, สิทธิมนุษยชนกับการกำหนดนโยบาย, อาเซียนฮิวแมนไรท์ไดอะล็อก และประเด็นอื่นๆ

ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิมนุษยชนและการออกกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน

กระทรวงต่างประเทศพม่าระบุว่า ผู้แทนของพม่าต่อที่ประชุม AICHR ได้ "อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความพยายามในการสร้างสันติภาพและความมั่งคั่ง, การปล่อยตัวนักโทษและการให้นิรโทษกรรม, ปฏิบัติการต่อต้านการพนันออนไลน์และการหลอกลวงต้มตุ๋นในทางตอนเหนือของพม่าผ่านความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องความร่วมมือของพม่ากับอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, การให้ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับพม่าและการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ (ในการสร้างสันติภาพในพม่า)"

นอกจากนี้ยังมีการหารือคู่ขนานกับกลุ่มทำงานด้านสิทธิสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (AER-WG) ซึ่งมีการหารือเรื่องความคืบหน้าและให้แนวทางแก่ AER-WG ในการพัฒนาขอบข่ายงานในระดับภูมิภาคด้านสิทธิสิ่งแวดล้อมในอาเซียน

ในด้านความสัมพันธ์กับภายนอกอาเวียน ตัวแทน AICHR ได้พบปะกับตัวแทนจากสวิตเซอร์แลนด์และสหประชาชาติเพื่อหารือถึงผลลัพธ์และการติดตามผลความคืบหน้า จากการที่ AICHR ไปประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์และการประชุมด้านสิทธิมนุษยชน AICHR-UN ครั้งแรกที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ AICHR ยังได้พบปะกับผู้แทนถาวรของญี่ปุ่นต่ออาเซียน โดยมีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่จะประสานความร่วมมือกันในภาคส่วนไหนได้บ้างในปี 2567

จากนั้นการประชุมก็สรุปด้วยพิธีการส่งมอบเก้าอี้ประธานอาเซียน AICHR จากอินโดนีเซียให้กับ สปป. ลาวดำรงตำแหน่งต่อไป เนื่องจากอาเซียนใช้ระบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเก้าอี้ประธานให้กับประเทศสมาชิก

การแถลงข่าวของกระทรวงต่างประเทศพม่ายังได้ระบุรายชื่อตัวแทนของพวกเขาที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนฮิวแมนไรท์ไดอะล็อก ครั้งที่ 5 ได้แก่ U Zaw Zaw Soe รองอธิบดีกรมกิจการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศพม่า  และ  Daw Yin Po Myat รองอธิบดี กรมองค์การนานาชาติและเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองคนได้ทำการพูดสรุปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลไกสิทธิมนุษยชนในพม่าให้กับที่ประชุมได้ทราบ

 

 

เรียบเรียงจาก

เพจกระทรวงการต่างประเทศพม่า

https://www.facebook.com/mofamyanmar/posts/pfbid0BrCV4aKxK2JZ8JZL577qNP5CQzEyntHL6V68HdDhEsEC94Gnguc478nK6Z1f7N4Jl

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net