Skip to main content
sharethis
  • ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีหลักพัน ไปจนถึงเกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนด้วย
  • การนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกในการลดความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น แต่การจะลดความขัดแย้งโดยไม่นิรโทษกรรมโดยคดีมาตรา 112 เป็นไปไม่ได้ เพราะมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่
  • พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ได้ทำให้ไม่มีการดำเนินคดีอีกในอนาคต มาตรา 112 ยังคงอยู่ไม่ได้ถูกแก้ไปด้วย

19 พ.ย.2566 ที่อาคาร All Rise (สำนักงาน iLaw) เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง” เป็นการเปิดตัว “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....” หรือ “ร่างนิรโทษกรรมประชาชน” เพื่อลบล้างความผิดของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง โดยในการเสวนาครั้งนี้มีอดีตแกนนำการชุมนุมทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง เยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมในช่วงปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เก็บรวบรวมข้อมูลคดี และตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม

(ขวาไปซ้าย) สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ,เบนจา อะปัญ, อมร อมรรัตนานนท์, เหวง โตจิราการ และพูนสุข พูนสุขเจริญ

“เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” เปิดตัว “ร่างนิรโทษกรรมประชาชน” ให้ทุกฝ่าย รวม ม.112 เพื่อลดขัดแย้ง

ม.112 เป็นปัญหาร่วมของสังคม

อมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เริ่มจากกล่าวว่าเขามาร่วมงานในครั้งนี้ในฐานะส่วนตัวเพราะหลังจากการชุมนุมเมื่อปี 2551 แล้ว พธม.ก็สลายตัวแยกย้ายกันไป แต่เขาก็อธิบายของการเกิดขึ้นของ พธม.ว่าเกิดขึ้นมาจากความต้องการตรวจสอบรัฐบาลไทยรักไทยซึ่งเป็นไปตามกระบวนของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ และได้พยายามตรวจสอบกรณีซุกหุ้นของทักษิณ ชินวัตรที่เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นและมีการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่าง ปปช.จนเกิดกรณี “บกพร่องโดยสุจริต” ขึ้นมา

อดีต พธม.กล่าวว่าในเวลานั้น เกิดคำถามหลายคำถามต่อระบอบประชาธิปไตยผ่านทางรัฐสภาการมีเสียงข้างถือเป็นความถูกต้องชัดเจนในการบริหารประเทศแต่ พธม.มองว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่เพียงรูปแบบแต่จะต้องมีความชอบธรรมและมีเหตุมีผล การเคลื่อนไหวของ พธม.ก็มีจุดยืนที่จะตรวจสอบระบอบประชาธิปไตยของทักษิณที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่และทำให้พวกเขาในเวลานั้นเห็นว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” จากจุดนี้ก็ทำให้เกิดความเห็นต่างกันในภาคประชาชนด้วยกันเองและเป็นใจกลางของความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม อมรเห็นว่าการเข้ามาร่วมขบวนของสินธิ ลิ้มทองกุล และจำลอง ศีเมืองในเวลานั้นทำให้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแนวทางไปและการที่ทักษิณไม่ยอมรับการตรวจสอบและไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงจาก สายหนึ่งในขบวนการ พธม.มีการเสนอให้ใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่อยู่ในกลไกลของระบอบประชาธิปไตยมาใช้ ทำให้แนวร่วมบางส่วนถอยออกจากขบวนไป และมีบางส่วนถึงจะไม่เห็นด้วยแต่เมื่อร่วมหัวจมท้ายกันมาแล้วก็เลยยังเดินหน้าต่อไป

อดีตแนวร่วม พธม.กล่าวต่อว่าเมื่อถึงวันนี้แล้วก็ได้สรุปบทเรียนว่าการเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำได้แค่ทำให้ประชาชนตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อที่จะรับผิดชอบต่อกลไกของระบอบประชาธิปไตยในเวลานั้นแต่ก็ได้บทเรียนอีกบทด้วยว่าการเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธีและเปิดเผยนั้นถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้และยังถูกฉกฉวยไปจากทหารด้วยการรัฐประหาร ทำให้การเคลื่อนไหวต้องหยุดไปแล้วก็มีหลายส่วนไปร่วมและสนับสนุนคณะรัฐประหาร และสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจากคณะรัฐประหารยังได้เอาเหตุผลของการเคลื่อนไหวของ พธม.ไปเป็นเหตุผลของการรัฐประหารด้วยและทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามมา

อมรกล่าวว่า พวกเขาหลายคนมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นเป็นการถอยหลังและลดอำนาจพรรคการเมืองให้อ่อนแอและยังสร้างค่านิยมว่านักการเมืองและพรรคการเมืองไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนอีกทั้งยังเป็นกลุ่มบุคคลที่ชั่วร้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในวิธีคิดของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวกับ พธม. ที่มุมหนึ่งก็เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองแต่อีกมุมก็เป็นการนำเสนอที่ไม่เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยและพรรคการเมือง แต่การเสนอว่าจะปฏิรูปการเมืองก็ไม่สามารถเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมได้ก็เลยเกิดวาทกรรมว่าต้องการนักการเมืองเป็นคนดีมาปกครองบ้านเมือง แต่การยอมรับกลไกประชาธิปไตยที่ออกมาผ่านรัฐธรรมนูญนี้ การด้วยรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ปี 2540-2560 ทำให้ประชาชนหรือภาคประชาชนจะได้ตัวแทนของตัวเองเข้ามาจัดการกับอำนาจรัฐตีบตันไม่สามารถทำให้ประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชนเข้ามาสู่อำนาจรัฐได้อย่างแท้จริง แต่เอื้อให้กับกลุ่มทุน

อมรกล่าวต่อว่าความขัดแย้งระหว่างแต่ละฝ่ายที่ผ่านมานั้นหลายครั้งทำให้เกิดการโต้แย้งกันไปมาบางครั้งไปจนถึงเกิดความรุนแรง แต่เขาก็เห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่แต่ละฝ่ายจะมองเข้าไปที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและมองอย่างมีเหตุมีผลและหาข้อเท็จจริงทางสังคมการเมืองว่าการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มนั้นมีจุดยืนใดบ้างที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเกิดเวทีที่สามารถพูดคุยและย้อนกลับไปค้นคว้าและยอมรับถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้จะทำให้ภาคประชาชนและสังคมสามารถเดินหน้าไปได้

ส่วนประเด็นเรื่องคดีความของพวกเขานั้นก็ยังมีหลายคดีที่ยังรอการพิจารณา มีคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นกบฏด้วยทั้งคดี 9  แกนนำที่ชุมนุมแล้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลที่จบแล้วจำคุกคนละ 8 เดือน คดีปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่มีคนถูกดำเนินคดีรวม 98 คน คดีชุมนุมที่รัฐสภาวันที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนเกิดความรุนแรงเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องยิงแก๊สน้ำตาใส่มวลชนจนมีคนเสียชีวิตซึ่งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ก็ยกฟ้อง แล้วก็ยังมีคดีชุมนุมที่หน้าสถานีโทรทัศน์ NBT ที่มีผู้ต้องหาเกือบร้อยคนที่ศาลพิพากษาจำคุกไปส่วนหนึ่งแต่มีอีก 5 คนที่ถูกฟ้องเพิ่มอีกคดี และยังมีคดีอาญาอื่นๆ อีกที่ถูกลงโทษจำคุกไปแล้วที่ยังเหลืออยู่ก็คือคดีปิดสนามบินที่ศาลชั้นต้นกำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ และบางคนเช่นตัวเขาเองก็เคยต้องโทษจำคุกมาบ้างแล้ว แล้วก็มีคนที่บาดเจ็บล้มตายจำนวนหลักร้อย

อมรกล่าวว่า เขาก็รู้สึกรำคาญที่คดียืดยาวมาจนถึงวันนี้และอยากให้มีความชัดเจน แต่เขาก็ยอมรับว่าเมื่อออกมาเคลื่อนไหวแล้วก็สู้ในกติกาแม้จะรู้ว่ามีความไม่ชอบธรรมอยู่เพราะก็ไม่มีทางออกอื่น แม้ว่าในอดีตเขาจะเคยเข้าป่าจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อยึดอำนาจรัฐมาแล้วแต่สังคมไทยมันเป็นไปไม่ได้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น ก็ได้ข้อสรุปว่าถอยหลังออกมาต่อสู้ในระบบรัฐสภา

ทั้งนี้อดีตแนวร่วม พธม.ก็ได้ตอบในประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ว่าเขาก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าการที่จะข้ามพ้นความขัดแย้งแล้วให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้กฎหมายนิรโทษกรรมมีความจำเป็นและเขาก็เห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคก้าวไกลที่จะให้มีคณะกรรมการมาคัดกรองว่าจะได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ แล้วเรื่องที่แกนนำจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ก็จะได้ถกเถียงกัน เพราะการฟันธงว่าจะให้นิรโทษกรรมใครบ้างก็จะเกิดจะเป็นปลายปิดแล้วเกิดปัญหาตามมา

“แต่ผมก็เห็นว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาร่วมของสังคมที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหา ถ้าไม่คลี่คลายเยาวชนลูกหลานเราก็จะติดกับวังวนของความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นแนวคิดผมสนับสนุนว่าก่อนที่จะมีเนื้อหาก็มีกรรมการมานั่งคุยกัน แต่ปลายทางคือต้องปลดล็อกทางสังคมเพื่อที่จะเริ่มเดินหน้า” อมรเสนอและในระยะต่อไปก็ต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อวางโครงสร้างทางอำนาจให้ประชาชนและเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม

รัฐต้องไม่มองประชาชนเป็นศัตรู

เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ กล่าวว่าคดีทางการเมืองเกิดขึ้นมาจากการที่ฝ่ายรัฐมองประชาชนของตัวเองเป็นศัตรู เพราะถ้าไม่ได้มองเป็นศัตรูแล้วรัฐจะต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน และกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามเข้าร่วมไว้ก็ยังห้ามรัฐทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นรากเหง้าของปัญหา เพราะถ้ามองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปและรัฐยังมองประชาชนเป็นศัตรูก็ยากที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนและยากที่จะทำให้เกิดการนิรโทษกรรมได้

แกนนำ นปช.กล่าวว่า เมื่อรัฐมองประชาชนเป็นศัตรูแล้วก็หาทางใส่ร้ายกล่าวหาด้วยเรื่องต่างๆ เพื่อเอาผิดเช่น กรณีของชายชุดดำ ที่เป็นข้ออ้างที่รัฐใช้เพื่อสังหารประชาชน และ ศอฉ.ยังมีคำสั่งให้ทหารยิงประชาชน ดังนั้นประเทศจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อนแต่เวลานี้ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐบาลล่าสุดนี้จะมาจากการเลือกตั้งเพราะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองของคณะรัฐประหารและ สว. 250 คนที่เกี่ยวข้องกับ คสช.ไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อมก็ต้องสนับสนุน คสช.ไม่ว่าพรรคการเมืองของ คสช.จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ และเป็นเรื่องตลกที่พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงประชาชนมากที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

เหวงกล่าวต่อไปว่าสำหรับเขาเองแล้วมีเป้าหมายอยู่ 3 เรื่องคือ ประเทศไทยจะต้องไม่มีการรัฐประหารอีกแล้วและจะทำให้ไม่มีได้ก็ต้องเอาคนทำรัฐประหารมารับโทษทางกฎหมาย และจะต้องไม่มีการฆ่าคนโดยใช้ทหารกลางเมืองอีกต่อไปซึ่งจะต้องเอาทหารที่ก่อเหตุมารับโทษทางกฎหมายด้วย และการนิรโทษกรรมที่เขาขอไปถึงพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่าให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนด้วยเพราะคดีทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นเพราะความเห็นทางการเมืองเท่านั้น แล้วก็เปิดเวทีให้คนเหล่านี้ได้แสดงความคิดเห็นถ้าคนเห็นว่าเป็นความคิดที่ทำจริงไม่ได้ก็แสดงความเห็นโต้แย้งกันไป

เหวงกล่าวว่าเดิมที่แล้ว นปช.เป็นแค่ส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้เรื่องไม่เอารัฐประหารและเอาประชาธิปไตย คัดค้านรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นเผด็จการ และเมื่อถึงปี 2553 ที่มีมวลชนมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วเมื่อเกิดเหตุตัดสัญญาณช่องเอเชียอัพเดตคนก็ตามไปชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคมเพื่อให้คืนช่องสัญญาณเพราะคนก็กังวลว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กำลังชุมนุมกันอยู่ที่สะพานผ่านฟ้ากับแยกราชประสงค์หรือไม่ แต่ก็มีทหารมาตั้งแนวกั้นขวางไว้แต่ไม่สำเร็จและเขาเห็นว่าเหตุการณ์นั้นทำให้ทหารรู้สึกเสียศักดิ์ศรีและมีการเอาคืนในวันที่ 10 เม.ย.2553 ตามมาโดยการเอาทหารมาสลายการชุมนุม

แกนนำ นปช.กล่าวว่าจากเหตุการณ์ในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 นั้นมีประชาชนตาย 20 กว่าศพ แล้วหลังจากเหตุการณ์วันนั้นก็ยังพยายามปราบให้เด็ดขาดมีการตัดน้ำตัดไฟตัดทางส่งอาหารที่ชุมนุม ถ้ารัฐบาลมองประชาชนเป็นศัตรูก็จะใช้ทุกวิถีทางแบบนี้ และยังเป็นที่มาของกองกำลังชายชุดดำที่เวลาผ่านมาแล้ว 13 ปี ยังไม่สามารถจับกุมมาได้ และยังถูกใช้ผังล้มเจ้าในการใส่ร้ายเพราะเมื่อคดีถึงศาลเจ้าหน้าที่ก็ยังยอมรับว่าเป็นเอกสารปลอม ไปจนถึงเรื่องการเผาสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพที่สุดท้ายแล้วคดีที่เกี่ยวข้องศาลก็ยกฟ้องไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม เหวงก็ให้ข้อมูลว่าคนเสื้อแดงถูกจับกุมดำเนินคดีมากกว่าพันคนในเวลานั้น ทั้งคดีเผาสถานที่ คดีชุมนุมปิดถนนเพื่อขวางการลำเลียงพลของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุม แต่เนื่องจากคนที่โดนคดีส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วด้วยความจนก็ไม่สามารถหาทนายความมาสู้คดีได้ จึงต้องอาศัยเพียงทนายความอาสาหรือทนายความของ สส.บางคนที่มาช่วยแต่ก็ไม่สามารถช่วยได้นานนับปีได้ สุดท้ายศาลก็พิพากษาลงโทษไปตามกฎหมายและสำนวนคดีที่ทำขึ้นมาตั้งแต่ชั้นตำรวจ แต่เขาก็มีคำถามว่าแล้วอย่างกรณีที่มีการเผาศาลากลางจังหวัดที่ไฟเริ่มติดมาจากชั้นสองของอาคารได้อย่างไร ใครจะสามารถขึ้นไปเพื่อวางเพลิงได้

“คนเสื้อแดงได้รับความอยุติธรรมเยอะมาก ผมจึงอยากจะเรียนไปยังพรรคที่ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์จะทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงได้หรือไม่ ตายเกือบร้อยศพจะเอายังไง” แกนนำ นปช.กล่าว

เหวงยังกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 6 รายที่วัดปทุมวนารามเมื่อ 19 พ.ค.2553 ด้วยว่าเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งออกมาแล้วว่าทหารเป็นคนยิงแล้วก็ยังระบุชื่อด้วย แต่ถ้าเอาคดีไปฟ้องศาลทหารศาลก็ยกฟ้องซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าใช้หลักกฎหมายอะไรกันถึงยก ความยุติธรรมก็ไม่เกิด ปัญหานี้ทำให้มีการตั้งคณะประชาชนทวงความยุติธรรมขึ้นมาแล้วก็เสนอว่าถ้าทหารทำความผิดอาญากับประชาชนจะต้องนำคดีมาพิจารณาในศาลพลเรือนและยังรวมไปถึงนักการเมืองที่กระทำความผิดด้วยไม่ให้ไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แกนนำ นปช.ยังกล่าวอีกว่าที่ผ่านมา ธิดา เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ นปช.เช่นเดียวกันและเนื้อหาคือให้นิรโทษกรรมแค่ประชาชนเพราะมีแค่เรื่องความเห็นต่างจากรัฐ โดยไม่รวมแม้กระทั่งแกนนำมวลชนและผู้นำทางการเมืองเพราะถ้านิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำเกินกว่าเหตุรัฐก็จะฆ่าประชาชนซ้ำๆ ต่อไป จึงนิรโทษกรรมให้ไม่ได้เด็ดขาด ทั้งนี้ร่างของ นปช.นี้ก็ถูก วรชัย เหมะ ซึ่งเคยเป็นแกนนำ นปช.มาก่อนได้ขอเอาไปเข้าสภา

เหวงเล่าต่อว่า ในตอนนั้นธิดาก็ได้ฝากไว้ว่าให้ออกเป็นพระราชกำหนดเพราะถ้าออกเป็น พ.ร.บ.จะถูกแก้และเติมภายหลัง แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้นแล้วแม้ว่าจะผ่านวาระหนึ่งมาได้แต่เมื่อเข้าวาระสองก็มีฉบับของเพื่อไทยกลายเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยขึ้นมา และภายหลังก็เกิด กปปส. ขึ้นมาโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์จากเรื่องนี้

เหวงกล่าวว่าถึงช่วง 2563 ที่มีเยาวชนออกมาชุมนุมกันจำนวนมากเพราะเห็นปัญหาโครงสร้างทางการเมือง แต่ก็ยังเคลื่อนไหวภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ม.112 แล้วก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้อยู่สองร้อยกว่าคน ทั้งที่กฎหมายมาตรานี้ถูกแก้ไขมาหลังการรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ซึ่งก็ทำให้เห็นว่ากฎหมายนี้แก้ไขได้มาแล้วและยังเป็นการแก้เพื่อเอามาเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง ดังนั้นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้เขามองว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

“การแสดงความคิดเห็นที่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรา 112 ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นสรุปแล้วผมเห็นว่าควรจะต้องผลักดันให้มีนิรโทษกรรมทางการเมืองเฉพาะประชาชน แต่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำเกินกว่าเหตุ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหมายรวมถึงรัฐบาลด้วยไม่สมควรได้รับการนิรโทษแต่สมควรได้รับการพิจารณาโทษทางกฎหมาย” เหวงกล่าวสรุปข้อเสนอของตน

เหวงได้ฝากถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดและโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยการผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมนี้จะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทยที่จะรักษาคะแนนเสียงให้กลับมาทัดเทียมหรือเกินกว่าพรรคก้าวไกลได้ เพราะถึงอย่างไรก็ได้คะแนนนิยมจากเรื่องเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชนแสดงออกชัดเจนแล้วว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเมื่อเทียบกับก้าวไกลแล้วเขาล้ำกว่าไปแล้ว การที่พรรคเพื่อไทยผลักดันการนิรโทษกรรมก็จะทำให้คะแนนนิยมกลับมาได้

รัฐไทยไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งเลย

เบนจา อะปัญ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เล่าว่าการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในช่วง 2563 เป็นการชุมนุมลักษณะแฟลชม็อบกันบ่อยทำให้แต่ละครั้งที่ไปชุมนุมก็จะมี 1 คดี สมมติว่าชุมนุม 7 ที่ก็ 7 คดีแล้ว คดีของแต่ละคนจึงมีเยอะมาก อย่างตัวเธอเองก็ถึง 20 คดี ซึ่งยังมีคนที่มีคดีมากกว่านี้ ผลกระทบรุนแรงมากหลายคนที่โดนมากกว่า 10 คดีขึ้นไปก็ต้องไปศาลกันทั้งเดือน แล้วคดีเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกดองไว้นานแต่เป็นคดีที่มีการพิจารณาเร็วมากพิพากษาไว หลายคนก็ต้องเข้าเรือนจำไปแล้ว

“รัฐไทยไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งเลย ทำไมชุมนุมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก อย่างพันธมิตรฯ เรายังไม่ถึงสิบขวบ ตอนนี้จะ 25 อยู่แล้วเรื่องราวต่างๆ มันหนักหน่วงสะสมมานาน ปี 63-66 เรายังต้องเรียกร้องกันอยู่เลย มันไม่ปกติแต่เราอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติจนเราคิดว่ามันปกติ มันถึงเวลาหรือยังที่เราจะสะสางปัญหาตรงนี้สักทีเราจะได้ไปต่อกันได้”

 เบนจากล่าวว่าการนิรโทษกรรมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ปลดล็อกแล้วก็ไปต่อกันสักที เธอไม่ได้อยากเห็นการเมืองแบ่งขั้วกัน แค่รู้สึกว่าต้องการรัฐบาลที่สามารถทำให้คนในประเทศอยู่ร่วมกันได้จริงๆ ไม่ใช่คนคิดต่างจากตัวเองแล้วไม่มีสิทธิอยู่ในประเทศนี้

เบนจามองถึงประเด็นที่อาจมีคนไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีม. 112 ว่า ถึงอย่างไรก็ตามคดีเหล่านี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการใช้เสรีภาพการแสดงออก และกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สร้างโดยมนุษย์ก็ควรจะต้องถามว่าถ้ามีสิ่งที่ไม่อยากให้แตะต้องมันยังสมควรให้มีอยู่หรือไม่ แล้วกฎหมายนี้ก็ถูกพัฒนามาจากกฎหมายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตอนนั้นไม่ได้มีโทษจำคุกสูงเท่าตอนนี้เพราะยังแค่ให้จำคุก 3-7 ปี แต่ตอนนี้เป็น 3-15 ปีแล้ว แล้วกฎหมายนี้ยังถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง คือถึงจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่การไม่พูดถึงเรื่องละเอียดอ่อนมันถูกต้องหรือไม่

“เราเชื่อว่าอะไรในโลกนี้มันสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์มันก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ อย่างมาตรา 112 มันเป็นแค่กฎหมาย 112 ไม่ใช่ตัวสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้นเราควรจะแก้ไขหรือพูดถึงมันได้ แต่ปัจจุบันแค่พูดถึง แค่อ้าปากว่า 112 คนก็เดินหนีกันหมด แค่พูดว่า 112 คุณไม่แม้กระทั่งถกเถียงกับมันด้วยซ้ำ พอมีประเด็น 112 มาคุณปัดตกเลยไม่แม้แต่จะเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น” เบนจากล่าว

เบนจากล่าวว่าเรื่องการนิรโทษกรรมเป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้จริงๆ แต่เรื่องมาตรา 112 นี้ถึงอย่างไรก็ต้องเอามาพูดกันวันนี้เพราะในอนาคตก็จะมีคนมาพูดอยู่ดี และเรื่องที่พูดกันวันนี้ก็มีการพูดมาก่อนแล้ว เราไม่สามารถซุกปัญหาเรื่องมาตรา 112 ต่อไปได้

“ถ้าคุณไม่จัดการวันนี้ วันหน้าคุณก็ต้องมารับมือกับเด็กเจเนอเรชั่นใหม่ที่อาจจะเปรี้ยงปร้างกว่ายุคพวกเราก็ได้ มันอาจจะแก้ไขยากกว่านี้ก็ได้ ไม่ได้ขู่แต่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริงแน่” เบนจาทิ้งท้าย

ม.112 เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าศูนย์ทนายความฯ ตั้งมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งปีหน้าก็จะสิบปีแล้วหมายความว่า คนที่อายุ 20 ปี เท่ากับพวกเขาก็อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตเขาแล้ว แล้วถ้านับจากรัฐประหาร 2549 แล้วดูจากอายุคนที่มาเวทีวันนี้อย่างหมอเหวงเขาก็อยู่ในความขัดแย้งมาเท่ากับ 1 ใน 3 ของชีวิตแล้ว

“การที่เราอยู่ในความขัดแย้งมายาวนาน 20 ปี ทำให้สภาพเศรษฐกิจสังคมบ้านเรามันชะงักงัน GDP ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาโตแค่เปอร์เซนต์กว่าๆ เรากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ เป็นประเทศแรกที่ไม่รวยแล้วจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำไมคนถึงไม่อยากมีลูก ทำไมคนถึงหดหู่ซึมเศร้า เราพึ่งได้รัฐบาลแต่ทำไมสังคมยังดูไม่มีช่วงฮันนีมูน สิ่งเหล่านี้มันกระทบกันไปหมด ไม่ใช่แค่กับนักการเมือง ไม่ใช่แค่คนที่อินการเมือง แต่การเมืองกระทบกับเราทุกคน”

พูนสุขเห็นว่าเหตุผลที่ทำให้สมควรเริ่มพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรม เพราะความขัดแย้งที่ผ่านมาหลายช่วงก็สู้กันเรื่องเดียวกันคือใครเป็นเจ้าของอำนาจ สถาบันและรัฐบาลที่ดีควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แม้ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2557 จะเป็นการเมืองแบบสีเสื้อ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาคู่ขัดแย้งได้กลายเป็นรัฐ เผด็จการกับประชาชน เมื่อทุกคนร่วมต่อสู้กันและมีเป้าหมายเดียวกันที่จะมีสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้พูดและแสดงความคิดเห็นแล้วยังสามารถอยู่ด้วยกันได้ท่ามกลางความแตกต่าง การนิรโทษกรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเริ่มทำเพื่อนำประเทศกลับสู่สภาวะปกติ

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ กล่าวว่าข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 2553 พบว่ามีคนที่ถูกดำเนินคดีกว่า 1,700 คน คนตาย 90 กว่าคน คนบาดเจ็บเกือบสองพันคน แล้วพอหลังช่วงรัฐประหาร 2557 มีการประกาศให้พลเรือนต้องไปขึ้นศาลทหารในความผิด 4 ประเภท คือความผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับประกาศคำสั่ง คสช. แล้วก็ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ มีคนโดนคดี 2,400 คน

พูนสุขกล่าวถึงปัญหาของคดีในช่วงรัฐประหารคือเขาออกประกาศคำสั่งที่เป็นกฎหมายเอง แล้วคนจับกุมก็เป็นทหารตำรวจ คนดำเนินคดีก็เป็นอัยการทหารแล้วคนพิพากษาก็เป็นศาลทหาร กระบวนการยุติธรรมอยู่ภายใต้ทหารทั้งหมด คสช.ได้ทำลายหลักนิติรัฐ ที่เป็นการปกครองที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การปกครองโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

“แต่เราก็เห็นความโอนเอนในการใช้กฎหมายเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาตามแต่ละช่วง มาตรา 112 เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นว่ามีการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างอย่างไม่ถูกต้อง”

พูนสุขได้ยกตัวอย่างของการใช้มาตรา 112 ที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร 2557 ที่มีอยู่จำนวนหนึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2553 เช่น คดีอากง คดีดาตอปิโด  หลังปี 2557  ก็เอาคดีม.112 มาขึ้นศาลทหารเพราะเป็นคดีนโยบายและเป็นหนึ่งในความขัดแย้ง ส่วนการตัดสินลงโทษก่อนรัฐประหารลงกรรมละประมาณ 5 ปี แต่เมื่อเป็นช่วงหลังรัฐประหารศาลทหารก็ลงโทษเฉลี่ยกรรมละ 8-10 ปี และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประกันตัวแล้วตอนนี้คดีของอัญชันที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐประหารปัจจุบันก็ยังอยู่ในเรือนจำและไม่รู้ว่าจะได้ออกเมื่อไหร่เพราะถูกลงโทษให้จำคุกไป 80 กว่าปี

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2561 ถึง 19 พ.ย.2563 มีการหยุดใช้มาตรา 112 ไปช่วงหนึ่ง ทั้งที่เคยถูกใช้มาอย่างหนักหน่วงรุนแรงในช่วงศาลทหาร คดีก็มีการยกฟ้องโดยอ้างว่าสำนวนของอัยการไม่ชัดเจนหรือลงโทษในข้อหาอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมาแต่แรก ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวในกระบวนการอย่างมากแม้ว่าจำเลยบางคนอาจจะได้ประโยชน์ก็ตาม

“จำเลย ผู้ต้องหาบางคนได้ประโยชน์ แต่ในฐานะคนที่ติดตามการใช้มาตรา 112 ก็คือหนาว ว่าใครที่สามารถมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายทั้งตำรวจ อัยการ ศาลได้ถึงเพียงนี้ แล้วอยู่ๆ วันที่ 19 (พ.ย.63)คุณประยุทธ์ก็ออกแถลงการออกมาสวยๆ ว่าผมจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา แต่ถามว่าก่อนหน้านั้นมันมีมาตราหนึ่งที่คุณไม่ใช้ ก็คือมาตรา 112”

พูนสุขให้ข้อมูลจำนวนคดีหลังจากการพูดของประยุทธ์วันนั้นได้เกิดการใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บข้อมูลมา ปัจจุบันมีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรานี้ถึง 262 คน 289 คดี และคนบุคคลที่มีคดีมาตรา 112 มากที่สุดคือพริษฐ์ ชีวารักษ์ 24 คดี และอานนท์ นำภาก็ต้องอยู่ในเรือนจำทั้งที่แค่ออกมาพูดมีถึง 14 คดี และถ้านับคดีการเมืองทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1,900 คน 1,200 คดี และคนเหล่านี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องวนเวียนกับคดีอีกนานแค่ไหน

“อานนท์ 14 คดีเพิ่งพิพากษาไปคดีแรก จะตัดสินจำคุกกี่สิบปีไม่รู้ เพนกวินยังไม่ได้พิพากษาสักคดี 24 คดีแค่คดีละ 3 ปีก็ร้องโอ้โหแล้ว เราจะกักขังอนาคตของประเทศชาติแบบนี้จริงๆ เหรอ อันนี้เป็นคำถามสำคัญและเป็นคำถามที่นำไปสู่ข้อเสนอว่าทำไมเราต้องมาพูดเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชน” ตัวแทนจากศูนย์ทนายความฯ กล่าว

พูนสุขกล่าวว่าแม้ก่อนหน้านี้จะมีการเสนอเรื่องนิรโทษกรรมมาบ้างทั้งจากของฝ่ายเสื้อเหลืองที่ไม่ได้รวมคดีมาตรา 112 หรือร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลที่ยื่นต่อรัฐสภาไปแล้วก็ยังไม่ได้ระบุว่ารวมความผิดอะไรบ้าง ทำให้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนอยากผลักดันเรื่องนี้และเป็นก้าว แรกที่จะออกจากความขัดแย้งได้ แล้วก็อยากให้มีวงคุยอย่างนี้เหมือนตอนก่อนเลือกตั้งที่มีการพูดถึงว่าแต่ละพรรคการเมืองจะทำอะไรกับมาตรา 112 หรือไม่แม้ว่าหลังเลือกตั้งการคุยเรื่องนี้จะหายไปจากสังคม

พูนสุขกล่าวว่ามาตรา 112 เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีความขัดแย้งมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าบอกว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งมาตรา 112 ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย การจะออกนิรโทษกรรมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่รวมคดีมาตรา 112 ไว้ด้วยจึงเป็นไปไม่ได้ และการนิรโทษกรรมก็เป็นการล้างความผิดตั้งแต่อดีตจนถึงวันที่กฎหมายใช้ แต่หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วหากมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดตามกฎหมายก็ยังถูกดำเนินคดีอยู่

“พ.ร.บ.นี้เป็นแค่ก้าวแรกและเป็นขั้นต่ำด้วยซ้ำ ไม่ต้องกังวลว่าถ้านิรโทษกรรมไปแล้วเกิดขึ้นอีกจะทำยังไง ถ้าเกิดขึ้นอีก มาตรา 112 ยังอยู่ ยังไม่ได้แก้เขาก็มีโอกาสถูกดำเนินคดีอีก แต่นี่คือขั้นต่ำของการแก้ไขความขัดแย้ง และควรมีมาตรการอื่นๆ เสริมไปด้วยไม่ใช่แค่การออกกฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียว” พูนสุขกล่าวและได้ย้ำว่าการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 แต่การนิรโทษกรรมจะทำให้คนเห็นถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองใหม่ๆ และการอยู่ร่วมกันกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ ด้วย

กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิประชาชน

สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางของกระทรวงต่อกรณีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองว่าทางกระทรวงมีกองทุนยุติธรรมอยู่ในส่วนของคดีการเมืองก็ได้ใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในการช่วยเหลือเงินประกันตัวไปแล้ว 133 คดีเป็นเงิน 83 ล้านบาทเศษ

ที่ปรึกษา รมต.ยุติธรรมกล่าวว่านอกจากนั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ทุกสมัยที่ผ่านมาก็มีคำสั่งให้ดูแลผู้ต้องขังคดีการเมืองเป็นพิเศษกว่านักโทษทั่วไปเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่อาจมีทัศนคติรุนแรง และปัจจุบันยังมีนักทาคดีการเมืองที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 18 กลุ่มคดี และที่ผ่านมาก็มีผู้ได้รับผลกระทบที่มักจะไปร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรมซึ่งเขาก็ได้รับทราบปัญหาทั้งเรื่องการเยี่ยมที่ไม่สะดวก เครื่องนอนไม่สะอาด ไม่มีหนังสือพิมพ์อ่าน หรือการใส่เครื่องพันธนาการตอนออกศาล ก็มีการสั่งให้ดำเนินการให้เรียบร้อยและให้เกียรติคนกลุ่มนี้ด้วย

สมบูรณ์กล่าวถึงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่มีหน้าที่และการกำหนดแผนไว้ด้วยว่าจะต้องมีการส่งเสริมสิทธิการชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน และกรมคุ้มครองสิทธิฯ ยังได้อบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดการชุมนุมขึ้นว่าสิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชน

ตัวแทนจากกระทรวงก็ได้กล่าวด้วยว่าเรื่องราวที่วิทยากรมีการเสนอบนเวทีนี้ สำหรับกระทรวงยุติธรรมเองก็เป็นปลายน้ำของส่วนอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการหรือศาล กรมราชทัณฑ์ก็รับมาเมื่อศาลมีคำสั่งให้ขังมา ซึ่งกระทรวงเองก็พร้อมจะรับฟังปัญหาหรือปรับปรุง หรือถ้ามีเรื่องยังขุ่นข้องหมองใจกระทรวงก็พร้อมดำเนินการให้ตามกฎหมาย และเป็นการทวงสิทธิของการชุมนุม

สมบูรณ์กล่าวถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ตัวเขาเองก็ได้รับเรื่องมาจากรัฐมนตรีว่าให้รวบรวมเรื่องนี้เพื่อมาปรึกษากันว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ก็ได้ร่างที่มีการเสนอมาแล้ว แต่ให้ตอบตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือกระทรวงจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร แต่เป็นเรื่องที่มอบหมายให้เขารวบรวมประเด็นทั้งหมดในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรับบาลพรรคหนึ่งแล้วก็เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

สมบูรณ์กล่าวถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมว่า รัฐมนตรีมาจากพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลแต่ว่าก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างสูง เพราะการเสนอร่างกฎหมายของประชาชนเป็นสิทธิตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ ทุกครั้งที่มีภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้ามาก็จะพิจารณาและถ้าจะไม่รับก็ต้องมีเหตุผล แต่ถ้าเป็นกฎหมายการเงินที่มีการเสนอมาจะต้องให้รัฐบาลรับรองซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมก็ต้องให้ความเห็น ดังนั้นรับรองว่ารัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนและสิทธิของประชาชนเป็นอย่างสูง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net