Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' เผยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาบ่อย แต่ส่วนใหญ่จะวางสายไปไม่พูดอะไร บางครั้งมีข้อความส่งมาว่า "เรียนท่านเศรษฐา ทวีสิน" สั่งจัดการเด็ดขาด ‘ซิมม้า-บัญชีม้า-เว็บพนันออนไลน์’ ‘รมว.ดีอี’ ลุยเดินหน้า 4 มาตรการปราบอาชญากรรมออนไลน์ เร่งประสาน กสทช. ออกประกาศ ถือครองซิมการ์ด 5 หมายเลข ต้องลงทะเบียนภายใน 30 วัน

25 พ.ย. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องนักท่องเที่ยวจีนว่า เมื่อ 3-4 วัน มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยมากขึ้น เฉลี่ยวันละกว่า 10,000 คน แต่ถือว่าต้องทำการบ้านกันต่อ ต้องบริหารจัดการอะไรที่ไม่ถูกต้องออกไป ซึ่งตรงนี้พยายามจัดการอยู่

เมื่อถามว่าการปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากจากฟรีวีซ่าอาจทำให้มีกลุ่มจีนสีเทาเข้ามาด้วยจะทำให้ไม่ปลอดภัยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้ไปเช็กดูว่าคนที่ทำผิดกฎหมายเข้ามาก่อนฟรีวีซ่า แต่ว่าจะมาก่อน มาหลัง หรือมาระหว่างฟรีวีซ่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้น เมื่อวานนี้ได้เรียกผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาประชุม เจ้าหน้าที่จากกระทรวงท่องเที่ยวฯ และตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอีกวงประชุมหนึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะให้มาดูแลเรื่องของคอลเซ็นเตอร์ที่มีการไปฝังตัวอยู่ตามชายแดน ต้องไปดูให้ดีๆ และมีมาตรการออกไป เชื่อว่านายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี จะให้ความสำคัญสูงสุด

เมื่อถามว่าตัวนายกรัฐมนตรีเคยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า บ่อยครับ ส่วนใหญ่จะวางสายไป ไม่ได้พูดอะไร บางครั้งมีข้อความส่งมาว่า เรียนท่านเศรษฐา ทวีสิน ว่าแบบนี้ๆ ทั้งนี้ หากมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาอยากแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามที่กระทรวงดีอีแนะนำ เรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร กระทรวงดีอี ที่ดูแล กสทช. รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทั้งหลาย ต้องดูเรื่องจำนวนซิม เบอร์โทรออกมาจากซิมอันเดียว แต่ออกวันละ 500 เบอร์ และเป็นเบอร์ที่แตกต่างกันไป ต้องขอร้องให้ กสทช. ดูให้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าของแบบนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าโทรเบอร์ซ้ำๆ แต่หากว่าเป็นเบอร์เดียวโทรเข้ามาก็เป็นเหตุผลที่จะระงับการใช้ ขอความกรุณาดูให้ดีด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยกับนายประเสริฐ และถือว่าเป็นวาระสำคัญที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ส่วนเรื่องเฟคนิวส์ที่จะกระทบกับนักท่องเที่ยวจะมีการขยายผลจับกุมอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับคณะความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กอ.รมน. ให้หาต้นตอเรื่องนี้มาด้วย หากเป็นเรื่องเฟคนิวส์เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการบ่อนทำลายความเจริญของประเทศชาติ ตนคิดว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องบริหารจัดการกันไป

เมื่อถามว่าปัญหาเรื่องข่าวปลอมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่เดินทางเข้าประเทศตามเป้าหมายหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นหนึ่งในหลายปัจจัย เพราะมีเรื่องที่รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น จะทำให้จำนวนเงินที่มาใช้จ่ายในประเทศไทยน้อยลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องของนักท่องเที่ยวอย่างเดียว เป็นเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยต่อคนที่เราอยากให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อยากให้อยู่ท่องเที่ยวในประเทศนานขึ้น และไม่ให้ไปอยู่แค่เมืองหลักเพียงอย่างเดียว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ อยากพัฒนาศักยภาพและไปท่องเที่ยวเมืองรอง เช่น จังหวัดสระแก้ว ที่ตนมาวันนี้ ซึ่ง สส. ในพื้นที่บอกว่าสระแก้วมีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ซึ่งเราอยากสนับสนุนให้อยู่นานขึ้น ต้องพัฒนากันอย่างยั่งยืนในหลายๆ มิติ ให้ความสำคัญกับทุกด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

สั่งจัดการเด็ดขาด ‘ซิมม้า-บัญชีม้า-เว็บพนันออนไลน์’ ‘รมว.ดีอี’ ลุยเดินหน้า 4 มาตรการปราบอาชญากรรมออนไลน์

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่านายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อสั่งการมาที่กระทรวงดีอี และ สตช. ให้จัดการเรื่องซิมม้า และปราบโจรออนไลน์เด็ดขาด ตนในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้เชิญคณะกรรมการ ประชุมเพื่อหารือ และสรุปมาตรการเร่งดำเนินการการ ใน 4 เรื่องสำคัญ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในเรื่องแรกคือ กรณีการออกประกาศเพื่อให้ผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ด ตั้งแต่ 5 เลขหมายขึ้นไป ลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกับผู้ให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการออกประกาศอยุ่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ กสทช. โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน และให้มีผลให้ต้องลงทะเบียน ภายในไม่เกิน 30 วันนับแต่การออกประกาศ โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย จำนวนมากถึง 286,148 ราย และมีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไปถึง 7,664 ราย

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในเรื่องที่สองเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC 1441 (สายด่วน 24 ชม.) วันที่ 1 – 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประชาชนโทรเข้ามา 62,306 สาย สามารถระงับบัญชีธนาคารได้ถึง 5,329 บัญชี มีการจับกุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 389 ราย และมีคดีใหญ่แก๊ง call center ที่มีเงินหมุนเวียน 7,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งผลดำเนินงานที่ผ่านมาโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ AOC สามารถช่วยเหลือประชาชนได้เป็นจำนวนมาก และสามารถอายัดบัญชี ได้เฉลี่ยเวลา 15 นาที

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาโดยตลอด ในการเร่งดำเนินการขยายผลการจับกุม และทลายเครือข่ายบัญชีม้า/ซิมม้า โดยสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกถึงบัญชีในขั้นตอนต่างๆ พร้อมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามก็ต้องแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมออนไลน์และขอความร่วมมือไปยังภาคธนาคารให้ดำเนินการอายัดรายชื่อบัญชีม้าทั้งหมดพร้อมทั้งเพิ่มกระบวนการในการตรวจสอบการเปิดบัญชีใหม่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า ในเรื่องที่สาม ในด้านสถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ หรือ เพจ ผิดกฎหมายโดยรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 22 พฤศจิกายน 2566 สูงถึง 16,359 เว็บไซต์ เฉลี่ย 309 เว็บต่อวัน เพิ่มขึ้น 6 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปิดได้เฉลี่ย 55 เว็บต่อวัน

สำหรับการปิดกั้นเว็บพนันออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 22 พฤศจิกายน 2566 ปิดได้ สูงถึง 3,120 เว็บไซต์ เฉลี่ย 66 เว็บต่อวัน เพิ่มขึ้น 12 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปิดได้เฉลี่ย 5 เว็บต่อวัน

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ในเรื่องที่สี่ คือที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนบูรณาการประชาสัมพันธ์ภัยอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมี 3 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1. ประชาชนทุกคนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ และลดพฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงรู้วิธีการป้องกัน และการแก้ไขปัญหา 2. ประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริงในการป้องกันภัยออนไลน์ 3. หน่วยงานมีความร่วมมือ และแบ่งปันทรัพยากรในการป้องกันภัยออนไลน์

“กระทรวงดีอี มีความมุ่งมั่นที่จะลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เรามีความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและปราบปรามอย่างเต็มที่ รวมถึงมีการรณรงค์ สร้างการตระหนักรู้เท่าทันภัยทางออนไลน์ รวมทั้งการสร้างเครื่องมือให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง (National Fact Checking)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net