Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์’ หวังหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ เปิดพื้นที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม จี้นายกฯมอบอำนาจการตัดสินใจให้คณะพูดคุยฯ ไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว

29 พ.ย.2566 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรมรายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (29 พ.ย.) กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนใหม่ 

กัณวีร์ เห็นว่า การแต่งตั้งนายฉัตรชัย ซึ่งเป็นพลเรือนคนแรกที่มาทำหน้าที่นี้ในรอบ 10 ปี  ถือเป็น นิมิตรหมายที่ดี เพราะป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคณะพูดคุยที่มีหัวหน้าเป็นข้าราชการประจำ จากคนแรก คือ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร แม้ในขณะนั้นจะเป็นพลเรือน แต่ก็เคยเป็นทหารมาก่อน และเคยอยู่ สมช. มาอย่างยาวนาน ซึ่งโดยตำแหน่งต้องเป็นเลขาธิการ สมช. มาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย จึงน่าจะทำให้การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพทำได้ดีขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ทหาร แต่ยังมีฝ่ายปกครอง ตำรวจ และยังเกี่ยวกับมิติการต่างประเทศ มิติการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข 

กัณวีร์ มองว่า การเข้ามากุมบังเหียนของนายฉัตรชัย ในคณะพูดคุยชุดนี้ พบว่ามีการตัดผู้แทนจาก 3 ส่วนราชการ คือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาล และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ส่วนกลาง มองในมุมดี ก็จะคล่องตัว แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง คือสิ่งที่ตนเองเสนอไปทุกครั้งในการพูดคุยคณะเจรจาสันติภาพ จะต้องนำคนที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาคประชาชน และภาคประชาสังคมเข้าไปด้วย ว่าทิศทางที่เขาต้องการในการสร้างเสรีภาพเป็นอย่างไร สิ่งที่เขาอยากเห็นคืออะไร หากทำได้ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งได้มีการเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวันนี้ ให้องค์ประกอบของคณะพูดคุยฯ มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน
 
"การพูดคุยเพื่อสันติภาพถูกยกระดับมาเป็นวาระแห่งชาติแล้ว จึงคาดหวังว่าคณะพูดคุยฯชุดใหม่ จะทำงานให้สอดคล้องกับการผลักดันในสภาฯด้วย การจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่องปาตานี มีการพูดคุยในสภาใหญ่เรื่องการแก้ไขปัญหาการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของฝั่งผู้เจรจามากขึ้น รวมกับการทำงานของรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องการเห็นสันติภาพที่แท้จริง แต่ความน่าเชื่อถือต้องประกอบไปด้วยองคาพยพในทุกรูปแบบ"

กัณวีร์ กล่าวย้ำด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น จะต้องไม่มีการกดทับเรื่องอัตลักษณ์ สิทธิเสรีภาพ ไม่กดทับการแสดงออก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ จะต้องนำความเห็นของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้ นายกรัฐมนตรี จะต้องมอบอำนาจให้คณะพูดคุยฯให้ชัดด้วย เพื่อจะได้ทำงานได้รวดร็ว และนำไปสู่การปฏิบัติได้ด้วย

ส่วนแนวทางการพูดคุยของคณะเจรจานั้น นายกัณวีร์ มองว่า ตอนนี้องคาพยพยังไม่พร้อม เมื่อเจรจาเสร็จแล้ว จะมีข้อเสนออีกฝั่งของคู่เจรจา ก็ต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาล จึงเกิดคำถามว่าคณะพูดคุยสามารถตัดสินใจเองเลยได้หรือไม่ ตนเองกังวลว่า ถ้าคณะพูดคุย ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ ก็จะไม่สามารถทำให้การพูดคุยน่าเชื่อถือ ดังนั้น คณะพูดคุยต้องมีจุดประสงค์ชัดเจน มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน ว่าสามารถพูดได้ขนาดไหนสามารถตัดสินใจได้โดยเร็ว ถ้าตัดสินใจแล้ว จะสามารถปฏิบัติได้ทันที จึงเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วย พร้อมเห็นว่า ถ้าได้รับอำนาจเต็มที่จากนายกรัฐมนตรี ให้หัวหน้าคณะพูดคุยตัดสินใจ บอกได้เลย หยุดสถานการณ์รุนแรง ลดเงื่อนไขในพื้นที่เสี่ยงได้

กัณวีร์ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือ และองคาพยพต่าง ๆ ต้องมาพร้อมกัน รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ หากจะทำให้ดี เพิ่มความน่าเชื่อถือให้สูงขึ้น ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกให้ได้โดยเร็ว ซึ่งยกเลิกลำบาก เพราะกฎอัยการศึกสามารถประกาศโดยผู้บังคับกองพันของหน่วยงานในพื้นที่ แต่ถ้ายกเลิกจะต้องใช้พระบรมราชโองการ ดังนั้น หากยกเลิกได้ก็จะแสดงถึงความน่าเชื่อถือ และความจริงจังของรัฐบาลในเรื่องการสร้างสันติสุขชายแดนใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net