Skip to main content
sharethis

‘ดีอี’ ลุย Big Data เดินหน้าตั้ง ‘สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่’ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัล 7 ระดับให้บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน - 'ภูมิธรรม' เผย พรบ.ประมงพร้อมแล้ว เตรียมยื่นเข้า ครม. เชื่อคืนความเป็นธรรมให้ชาวประมงและอุตสาหกรรมประมงสำเร็จ


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

30 พ.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่านายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ‘โครงการอบรมการป้องกันความปลอดภัย ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 22 (Cyber Defense Initiative Conference) หรือ CIDC 2023 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ผลักดันไทยเป็นรัฐบาลดิจิทัล ใช้เทคโนโลยียกระดับชีวิต เศรษฐกิจ และความโปร่งใสของภาครัฐ รวมถึงการจัดเก็บฐานข้อมูลในระดับภาพรวม ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระทรวงดีอี ได้จัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (Public Organization) หรือ BDI โดยมี คณะกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นผู้ดูแลและดำเนินภารกิจ

นายประเสริฐ กล่าวว่า BDI มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นต้องทำควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จึงต้องส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชน มีความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) และเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้ในเรื่องนี้ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลความร่วมมือในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สอดคล้องกับแนวคิด UN Global Digital Compact (GDC) ของสหประชาชาติ โดยมี นโยบายการพัฒนาบุคคลกรทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/องค์กร และระดับบุคคล ในเรื่อง ทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้มีขีดความสามารถและความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนนี้ได้มีการริเริ่มกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรภาครัฐ ทั้งนี้ ได้พัฒนาความสามารถของทักษะด้านดิจิทัล แบ่งเป็น 7 กลุ่มความสามารถ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 Digital Literacy : ความสามารถด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
กลุ่มที่ 2 Digital Governance, Standard, and Compliance : ความสามารถ ด้านการควบคุมกำกับ และ การปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานการจัดการด้านดิจิทัล
กลุ่มที่ 3 Digital Technology : ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กร
กลุ่มที่ 4 Digital Process and Service Design : ความสามารถด้านการออกแบบกระบวนการและการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล
กลุ่มที่ 5 Strategic and Project Management : ความสามารถด้านการบริหารกลยุทธ์และการจัดการโครงการ
กลุ่มที่ 6 Digital Leadership : ความสามารถด้านผู้นำดิจิทัล
กลุ่มที่ 7 Digital Transformation : ความสามารถด้านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล

นายประเสริฐ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ ถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล โดยรัฐบาล กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สู่ความยั่งยืนในการสร้างคุณค่าและระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลของประเทศ

“ปัจจุบันไทยยังขาดแคลนบุคลากรมีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล รัฐบาลต้องหามาตรการเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต เพาะเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ส่งเสริมเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นในอนาคต และเติมเต็มสาขาขาดแคลน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

'ภูมิธรรม' เผย พรบ.ประมงพร้อมแล้ว เตรียมยื่นเข้า ครม. เชื่อคืนความเป็นธรรมให้ชาวประมงและอุตสาหกรรมประมงสำเร็จ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ร่วมด้วยนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าการจัดเตรียมร่างพระราชบัญญัติการประมงของรัฐบาล โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่าเพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงไทยตามที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ เราได้มีการนำร่างกฎหมายที่เคยจัดทำไว้ร่วมกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ระหว่างพรรคเพื่อไทยและสมาคมประมงต่างๆ กลับมาพิจารณาเพิ่มเติม ปรับปรุง เพื่อให้ครบถ้วนและสมบูรณ์มากขึ้น ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้เสร็จสิ้นภายใน 99 วันแรก ของการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ จนบัดนี้ร่างกฎหมายได้ดำเนินการจัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงชุดนี้ เพื่อมีมติให้ส่งให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป เชื่อว่าจะได้เข้าสภาต้นปีหน้าแน่นอน

นายปลอดประสพ กล่าวว่า สาระสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา IUU Fishing พ.ศ. 2558 ซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การตราพระราชกำหนดขึ้นบังคับใช้อย่างเร่งด่วน และไม่ได้รับการศึกษาไตรตรองอย่างถี่ถ้วน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการประมงถูกดำเนินคดีนับหมื่นราย และมีเรือประมงกว่า 3,000 ลำ ถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ ทำให้ผู้ประกอบกิจการประมง รวมไปถึงลูกจ้าง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น สถานีน้ำมัน สะพานปลา ตลาดปลา แพปลา และท่าเทียบเรือ นับหมื่นราย นำมาสู่การประสานการทำงานเพื่อศึกษาและนำร่างกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยและสมาคมประมงได้จัดทำร่วมกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วมาดำเนินการเพื่อผลักดันสู่การประกาศใช้เพื่อบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้การดำเนินการของคณะกรรมการเองในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับปรุง และยกเลิก กฎหมายลูกหลายฉบับที่สามารถทำได้ก่อนไปแล้วด้วย

“การแก้กฎหมายประมงครั้งนี้ จะเป็นการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาประมงที่บังคับใช้ขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม การพิจารณากฎหมายในสภาจะดำเนินการควบคู่กับการเจรจากับต่างชาติให้ยอมรับในแนวทางของไทย เชื่อว่าหากทั้ง 2 ส่วนบรรลุตามเป้าหมาย เราจะสามารถคืนความเป็นธรรมให้ชาวประมง และฟื้นคืนชีวิตให้อุตสาหกรรมประมงได้สำเร็จ” นายภูมิธรรมกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net