Skip to main content
sharethis

"ร้องเพลงชาติไทยได้ไหม" ละครเวทีแทรกสดโดยคณะ 'มาร็องดู' สะท้อนชีวิตแรงงานพม่าที่ต้องระหกระเหินเข้ามาทำงานในไทย แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิ การเลือกปฏิบัติ และการเข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาล  แต่ความพิเศษของละครเรื่องนี้คือการเชื้อเชิญให้ผู้ชม 'ลองคิด' พินิจไตร่ตรอง สวมบทบาทเป็นตัวละคร เพื่อหาทางออกไปพร้อมๆ กันได้

 

เมื่อ 12 พ.ย. 2566 ที่ชั้น 2 คาเฟ่ Yellow Lane อารีย์ซอย 1 กรุงเทพฯ คณะละคร ‘มาร็องดู’ ปีนี้อายุครบ 10 ขวบ ได้เปิดทำการแสดงละครเวทีแทรกสด (Forum Theatre) โดยมีชื่อเรื่องว่า "ร้องเพลงชาติไทยได้ไหม" (Can you sing national anthem?) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ประเทศเพื่อนบ้านของเราเอง ที่ตั้งใจเดินทางออกจากบ้านเกิด เพื่อเข้ามาเป็นแรงงานในไทย ด้วยความฝันและความหวังจะได้ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว และหากโชคดีมีเงินเหลือ ก็จะได้ทำบุญเป็นกุศลให้ชีวิตในภพหน้า

ละเวทีเปิดม่านนักแสดงชาวพม่าสวมบทบาทเป็นแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทย แต่เส้นทางเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ  เพราะพวกเขาต้องเผชิญการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกดูแคลน ตลอดจนการเลือกปฏิบัตินานับประการ ผ่านสถานการณ์ต่างๆ การทำงานในฐานะแม่บ้าน การทำงานในโรงงาน และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะสุขภายในประเทศที่เรียกตัวเองว่า 'สยามเมืองยิ้ม'

'การยึดพาสสปอร์ตของคนทำงาน'

'คนพม่าเป็นคนขี้ขโมย ไว้ใจไม่ได้ เสียงของคุณนายท่านหนึ่งคุยกับสามี ถึงเรื่องแม่บ้านชาวพม่าที่จ้างให้มาช่วยดูแลคุณแม่ของสามี พร้อมพ่นผรุสวาทมากมายคล้ายว่าคนที่พูดถึงไม่ใช่มนุษย์'

'ท้องใกล้คลอด แต่เมื่อไปโรงพยาบาล คุณหมอกลับบอก สามารถรอได้ เพราะว่าเด็กยังไม่คลอด'

'ประสบอุบัติเหตุหนัก กรรไกรคาอยู่ที่คอ ดูเหมือนเลือดไหลเป็นทาง แต่คุณหมอบอกจ่ายยาพาราเซตามอล'

'คุยกับพยาบาลไม่เข้าใจ เพราะใช้คนละภาษา ถูกไล่กลับบ้าน ทั้งที่ยังไม่ได้รับการรักษา'

การแสดงจะมี 2 รอบ รอบแรกเป็นไปตามบทละคร และรอบที่ 2 จะให้คนดูขึ้นมามีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหา ผู้นำการแสดงจะชวนให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วมกับการแสดงละคร โดยการสวมบทบาทเป็นตัวละครหลักในเรื่อง เพื่อร่วมขบคิดและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในละครดังกล่าวซึ่งในที่นี้คือการละเมิดสิทธิแรงงาน และทัศนคติของคนไทยต่อแรงงานเพื่อนบ้าน

ชาวพม่าที่มาร่วมรับชม ขึ้นมาแสดงให้เห็นการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญการโต้เถียงกับนายจ้าง คนรุ่นใหม่ไทยไม่ทนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขอระบายอารมณ์เป็นภาษาที่ดุดัน บางคนเลือกเข้าเป็นตัวละครเพื่อใช้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงบางเหตุการณ์ไปในแนวคิดที่ตัวเองเห็นว่าควรจะเป็น

จุดเริ่มต้นจากการต่อสู้หลัง รปห.

หลังจบงาน เราคุยกับ ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย ผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู และผู้กำกับละครเวที เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของละครเวทีนั้นมาจากการได้สนทนากับเพื่อนชาวพม่าที่เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ "Equity Initiative" และเขาเริ่มติดตามสถานการณ์ของคนพม่าช่วงหลังการทำรัฐประหารปี 2564 ทำให้เขาทราบว่า ชาวพม่าไม่ได้เป็นอย่างที่เขาเคยเข้าใจ พม่าเผาเมือง ขโมยทองอยุธยา หรือเป็นคนไว้ใจไม่ได้ แต่เป็นคนที่กล้าหาญและลุกขึ้นสู้กับเผด็จการ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการมองเพื่อนบ้านมุมใหม่ ก่อนนำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำละครเวทีในเวลาต่อมา

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย ผู้ก่อตั้งคณะละคร มาร็องดู

"สิ่งที่เราเคยคิดว่าคนพม่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันไม่ใช่ อย่างเช่น พม่านี่มันร้าย เผาอยุธยาเอาทองเราไปคือในอดีตยังจะจดจำอยู่ หรือในกรณีปัจจุบันคือชาวพม่ามันโหด มันจะฆ่าตัดคอเรา อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่เราถูกหล่อหลอมมา แต่หลังการรัฐประหารมา ตัวเขายังกล้าหาญที่ยืนหยัดและต่อสู้ แม้กระทั่งทหารมา เขายังไม่กลัวที่จะเอาหม้อเอาอะไรมาเคาะ เป็นคนไทยเราไม่ทำหรอก คุณเอาความกล้ามาจากไหน สังคมไทยสอนให้เราสยบยอมมากเกินไปรึเปล่า ประทับใจแล้วในช็อตนี้ เราก็เออ สนใจได้ยินได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนๆ เล่าให้ฟัง เรื่องเป็นอย่างไรบ้าง" ศรชัย กล่าว

รัฐประหารพม่า

สำหรับการทำรัฐประหารเมียนมาล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 1 ก.พ. 2564 โดยกองทัพพม่า นำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า โค่นล้มรัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านการทำรัฐประหาร ก่อนที่จะขยายกลายเป็นสงครามกลางเมือง แม้ว่าเวลาล่วงเลยผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว แต่พม่ายังไม่เห็นวี่แววกลับมาเป็นประชาธิปไตยในเร็ววัน

รายงานของ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 จนถึงปัจจุบัน (3 ธ.ค. 2566) มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 พันราย มีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 25,489 คน และยังถูกคุมขัง 19,701 คน

นอกจากนี้ จากสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 ส่งผลให้ประเทศพม่ากลายเป็นรัฐล้มเหลว ไม่สามารถให้บริการด้านสาธารณสุข และโครงการสร้างพื้นฐานแก่ประชาชน ขณะที่ผู้พลัดถิ่นภายในเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านคน

ออกแบบจากประสบการณ์จริงของนักแสดง

ผู้ก่อตั้งคณะมาร็องดู กล่าวด้วยว่า ในด้านการออกแบบบทละคร และพลอตเรื่อง ไอเดียเนื้อหาหรือคอนเทนต์ไม่ได้มาจากเขาเลย แต่เป็นการเก็บข้อมูลผ่านภาพถ่ายของนักแสดงสมัครเล่นชาวเมียนมา โดยตั้งโจทย์ให้นักแสดงร่วมถ่ายภาพที่คิดว่า เขาเจอหรือเพื่อนเขาเจอแล้วหนักหนาสาหัส ช่วยถ่ายเป็นภาพนิ่งให้ดู เน้นภาพถ่ายเป็นอิมเมจเธียเตอร์ (Image Theatre) จากนั้น ก็รวบรวม และทำเป็นละครขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ละครเรื่อง "จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง" เคยเปิดการแสดงในวาระวันงานที่มีคุณค่า (Decent Work) เมื่อ 22 ต.ค. 2566 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ขึ้นชื่อว่ามีแรงงานข้ามชาติข้ามฝั่งเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมีเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานจำนวนมาก ซึ่งหนักกว่าใน กทม. 

ความตั้งใจเดิมของศรชัย คือเขาอยากพานักแสดงชาวพม่าในแม่สอดลงมาทำการแสดงที่กรุงเทพฯ แต่ติดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ชาวพม่าเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้ศรชัย ต้องเฟ้นหานักแสดงชาวพม่าจากกรุงเทพฯ อีกชุดหนึ่ง เพื่อมาทำการแสดงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ

รู้จักละครแทรกสด หรือละครของผู้ถูกกดขี่ ที่เปิดให้ผู้ชมร่วมแสดง

หลายคนอาจสงสัยว่าละครเวทีเรื่องนี้ทำไมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแสดง และแก้ไขปัญหา อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังของการแสดงละครเวที ศรชัย กล่าวว่า การแสดงละครเวทีลักษณะนี้เรียกว่า "ละครของผู้ถูกกดขี่" คิดค้นโดย ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal) นักการละครบราซิล ยุคทศวรรษ 1960 จุดเด่นคือเนื้อเรื่องที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง และเขาจะไม่ให้แค่คนดูชมอย่างเดียว แต่เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำได้จริง ต้องมีการแสดงมันออกมาด้วย 

"ถ้าคุณคิดว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงสังคม คุณต้องไม่แค่คิดในหัว คุณต้องทำออกมา คุณจะได้ทราบว่า สิ่งที่คุณคิดอยู่ และทำออกมา ทำได้หรือไม่ได้

"ศัพท์ของทาง Marxist คือ 'Praxis' ทั้งคิดและก็ทำ และก็คิดกลับมา ใคร่ครวญใหม่ และก็ทำอีก ไปเรื่อยๆ เป็นกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญา" ผู้ก่อตั้งคณะละครมาร็องดู กล่าวถึงแนวคิดของละคร 

แก้กฎหมายไม่พอ แต่ต้องแก้ไขทัศนคติ-ความคิดควบคู่กัน

เมื่อม่านละครเวทีจบลง ศรชัย ให้คนดูช่วยกันเขียนถึงความรู้สึกหรือการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติในอุดมคติ หนึ่งในนักกฎหมายด้านแรงงาน มองว่า สำหรับเขาการแก้ไขกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะหากดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแรงงาน มันเป็นปัญหาจากทัศนคติด้วย สำหรับผู้กำกับละครเวที มองว่า จุดเริ่มต้นต้องสร้างความตระหนักรู้ขึ้นมาก่อน ถ้าเราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ว่ามันมีปัญหา เราก็ไม่สามารถคาดหวังความเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

"ถ้าให้เกิดความตระหนักรู้ (awareness) ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ลองจินตนาการว่าเขาสามารถตั้งกลุ่มละคร และเสนอภาพเหล่านี้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยคนไทยไม่รู้ เขาจะได้เรียนรู้ในกลุ่มของเขาต่อ และผมยังมองเห็นว่าคนไทยเรารู้จักคนพม่าหรือคนลาว เพื่อนบ้านผิวเผินมากๆ หรือไม่รู้จักเลยดีกว่า เพราะเราไม่เคยเป็นเพื่อนกับเขาเลย เราไม่เคยดูงานของเขาเลย ผมคิดว่าเราควรจะมีอะไรแบบนี้เยอะๆ" ศรชัย กล่าว

เมื่อสอบถามในแง่ผลตอบรับ "ผลตอบรับน่าพอใจ" ศรชัย ระบุ และกล่าวว่า เขาดีใจที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วม และออกมาแสดงความคิดเห็น บางคนบอกว่าเนื้อเรื่องในละครคือเรื่องจริง บางคนบอกว่าของจริงหนักกว่านี้ ส่วนที่หลายคนสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ คือเวลาที่ชาวเมียนมาที่ตั้งครรภ์ไปหาหมอที่โรงพยาบาล และถูกปฏิเสธรักษาหลายต่อหลายรอบนั้น อันนี้เป็นเรื่องจริงจากหนึ่งในผู้ทำการแสดง 

ผู้กำกับระบุว่า เขาไม่ได้ต้องการคำตอบการแก้ไขปัญหาตายตัว แค่มาร่วมกันถือว่าเป็นเรื่องดีแล้ว

ทางเลือกใหม่ของการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน 

ศรชัย ทิ้งท้ายว่า เขาอยากให้ภาคประชาสังคม หรือ NGO ลองใช้ศิลปะหรือละครเวที เป็นตัวเลือกใหม่ๆ ในการผลักดันประเด็นปัญหาสังคมร่วมกัน เพราะว่าละครเวทีสามารถเปิดบทสนทนา สร้างความตื่นเต้น และสร้างการมีส่วนร่วมได้ และเราอาจจะมีเวทีเสวนา ปิดท้าย ผลักดันร่วมกันได้

นอกจากนี้ เขาอยากเชิญชวนให้หลายคนเปิดใจลองชมการแสดงละครแทรกสด (Forum Theatre) มากขึ้น ไม่อยากให้คิดว่าเป็นละครผู้ถูกกดขี่แล้ว จะไม่เกี่ยวกับพวกเขา แต่ทุกคนสามารถถูกกดขี่ได้ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก จึงอยากเชิญชวนผู้ชมลองเข้ามาสัมผัสกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net