Skip to main content
sharethis
  • ถอดมุมมอง 'พอล แชมเบอร์' นักวิชาการรัฐศาสตร์ ผ่านบทวิเคราะห์การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารและตำรวจปี 66 ซึ่งแสดงถึงบทความของอิทธิพลเครือข่ายชนชั้นนำจารีต เครือข่ายภายในกองทัพ และเครือข่ายส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ 
  • ขณะที่นิยาม ‘วัง’ ที่ยังคลุมเครือ รอยร้าวภายในหมู่ชนชั้นนำ คำถามต่อไปและมองไปข้างหน้าโดยเฉพาะข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพทำเพียงแต่กองทัพหรือรัฐบาลจะเพียงพอหรือไม่ 

การโยกย้ายตำแหน่งสำคัญในตำรวจและกองทัพเป็นที่น่าจับตาเสมอในทุกปี เพียงแต่ว่าปีนี้ดูน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นศัตรูกับขั้วอำนาจเดิมเข้าไปร่วมด้วย  การโยกย้ายทหารในเดือนกันยายนและตำรวจในเดือนตุลาคม 2566 จึงน่าสนใจว่า การขึ้นมาของรัฐบาลใหม่จะส่งผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงในตำรวจและกองทัพ ขั้วอำนาจเดิมทั้งในรูปแบบทางการตามกฎหมายและรูปแบบไม่เป็นทางการอย่างเครือข่ายชนชั้นนำจารีต มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายในปีนี้หรือไม่อย่างไร

พอล แชมเบอร์ (Paul Chamber) นักวิชาการรัฐศาสตร์ชื่อดังผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้ในชื่อว่า "“Civilian Control of Those Close to the Palace: Making Sense of Thailand’s October 2023 Military and Police Reshuffles” ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) โดยบทความวิเคราะห์การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารและตำรวจปี 2566 ที่แสดงให้เห็นถึงบทความของอิทธิพลเครือข่ายชนชั้นนำจารีต เครือข่ายภายในกองทัพ และเครือข่ายส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผู้เขียนเห็นว่า บทความนี้มีข้อมูลพื้นฐานในบทความนี้มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพและตำรวจอย่างมาก จึงทำการปริทัศน์ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ตามสมควรเพื่อเห็นถึงนัยสำคัญทางการเมืองของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆที่ถือครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน

ข้อเสนอหลักของ แชมเบอร์ ในบทความนี้คือ การแต่งตั้งโยกย้ายทหารและตำรวจในปี 2566 เป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า เครือข่ายชนชั้นนำจารีตต่างต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปเพื่อให้พวกเขายังสามารถควบคุมเสถียรภาพทางการเมืองให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการเพื่อรักษาผลประโยชน์หลัก ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการโยกย้ายคือ ปัจจัยจากเครือข่ายวัง (Palace) ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นoปัจจัยรองลงมาคือมุ้งหรือกลุ่มก๊วนในกองทัพ (Factions) เช่น การแข่งขันอำนาจระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ภายในมุ้งบูรพาพยัคฆ์ แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มีเพื่อไทยแกนนำ แต่กลับไม่ได้มีอิทธิพลที่มีนัยยะสำคัญต่างจากเดิม การแต่งตั้งโยกย้ายทหารและตำรวจทั้งหมดยังอยู่ในมือของเครือข่ายชนชั้นนำ การร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยก็เพียงเพราะมีเป้าหมายร่วมกันคือการกีดกันพรรคก้าวไกลไม่ให้เข้าสู่อำนาจ แต่ชนชั้นนำจารีตก็ยังไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับเพื่อไทย ยังมีความไม่ไว้วางใจกันสูงมาก[1]

การควบคุมของวัง?

ความเกี่ยวข้องกับวังในการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพเป็นสิ่งที่มีมานาน อาจย้อนไปได้ไกลถึงช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 อันเป็นที่บทบาทของวังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากพระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์ที่เพิ่มสูงขึ้น วังใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในกองทัพโดยมีผู้จัดการคนสำคัญคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีผู้ล่วงลับทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเครือข่ายคอยคุมให้การโยกย้ายตำแหน่งในกองทัพต้องเป็นคนที่จงรักภักดีต่อวัง เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการความเหนือกว่าของสถาบันกษัตริย์เหนือกองทัพ (Monarchial supremacy)[2]

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนรัชสมัยกลับพบว่า บทบาทของวังต่อการโยกย้ายกองทัพมีเพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่จะขึ้นสู่ระดับสูงในกองทัพหรือคุมกำลังสำคัญของกองทัพล้วนแต่ต้องเป็นทหารคอแดง ซึ่งหมายถึงทหารที่ผ่านหลักสูตรของหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904(ฉก.ทม.รอ.904) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับพระราชทานปรัชญาแก่นกลางของการฝึกจากในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ทหารพระราชาอย่างเข้มข้น และเพื่อสร้างทหารตามแบบพระราชนิยมโดยทหารที่ผ่านหลักสูตรนี้ต้องแต่งกายเป๊ะ แข็งแกร่ง พร้อมกับท่าฝึกแบบใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น[3]

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เขียนหนังสือ A Solider King เสนอว่าการเกิดขึ้นของทหารคอแดงคือการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 กระชับความสัมพันธ์กับกองทัพด้วยการสร้างเครือข่ายและขนบใหม่ในกองทัพเพื่อให้มันใจได้ว่าจะได้รับความจงรักภักดีอย่างเต็มเปี่ยม ทหารคอแดงเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ได้คัดเลือกนายทหารชั้นหัวกะทิจำนวน 15 คน เข้ารับการฝึกที่วังทวีวัฒนา และตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) โดยมี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยนี้ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ ส่วนรองผบ.ฉก.ทม.รอ.904 พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ นายทหารผู้จงรักภักดี ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นผบ.ทบ.ต่อจากพล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งทั้งสองคนก็ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดของตัวเองเข้าไปในกองทัพด้วย[4]

การเกิดขึ้นของทหารคอแดงจึงเป็นการเกิดเครือข่ายวังใหม่ เป็นธรรมเนียมใหม่ในกองทัพที่ตำแหน่งสำคัญที่คุมกำลังหลักหรือเป็นหน้าเป็นตาให้กับกองทัพจะต้องเป็นทหารคอแดง ซี่งไล่เรียงมาตั้งแต่ 5 ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกหรือที่รู้กันในนาม 5 เสือทบ.[5] ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นต้น ภาพนี้จึงชัดเจนมากว่าบทบาทของวังเด่นชัดขึ้นกว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 สุภลักษณ์ กาญจนขุนดีบอกว่าในสมัยรัชกาลที่ 10 สามารถจัดการเครือข่ายด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากสมัยรัชกาลที่ 9 ที่จะทำผ่านพล.อ.เปรม ทหารในยุคนี้จึงมีความเป็นทหารพระราชา (Monarchized military)มากกว่ายุคก่อน[6]

เมื่อหันมามองการแต่งตั้งโยกย้ายในปี 2566 เมื่อไล่เลียงทีละตำแหน่งที่สำคัญในกองทัพก็จะพบว่าตำแหน่งสำคัญทั้งหมดล้วนเป็นทหารคอแดง ไล่มาตั้งแต่กองทัพบกที่เป็นกำลังหลักของกองทัพไทย ตำแหน่งสำคัญที่สุดอย่าง 5 เสือทบ.เกือบทั้งหมดเป็นทหารคอแดง มีเพียงพล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ เสธ. ทบ.คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นทหารคอแดง ส่วนกำลังหลักที่สำคัญที่สุดในกองทัพอย่างกองทัพภาคที่ 1 ที่รับผิดชอบศูนย์กลางของประเทศที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและตะวันตก เป็นกำลังหลังในการทำรัฐประหารทุกครั้ง ทุกตำแหน่งสำคัญ เช่น แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งถ้าไม่พลิกโผอะไรก็มีโอกาสจะขึ้นไปเป็นผบ.ทบในอนาคต  รองแม่ทัพภาคที่ 1 เสนาธิการแม่ทัพภาคที่ 1 ก็เป็นทหารคอแดงทั้งสิ้น[7]  

ในส่วนของตำแหน่งที่แม้จะดูไร้อำนาจที่สุดในกองทัพ แต่เป็นหน้าเป็นตาและดูแลเรื่องการทูตทหารให้กับกองทัพไทยอย่างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฝ่ายกองทัพบก[8] ล้วนแต่เป็นทหารคอแดง ภาพของการโยกย้ายทหารในปี 2566 ก็เป็นภาพสะท้อนต่อเนื่องตั้งแต่รัชสมัยใหม่ว่าทหารคอแดง ซึ่งเป็นทหารที่จงรักภักดีและได้รับการรับรองโดยวัง ได้คุมกำลังสำคัญในประเทศไว้หมดแล้ว

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ส่วนความแตกต่างที่พิเศษในการโยกย้ายครั้งนี้คือ บทบาทของวังกับการแต่งตั้งผบ.ตร.คนปัจจุบันอย่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล[9] ผู้ซึ่งถูกตั้งข้อกังขามากมาย เนื่องจากได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์หลายครั้งจนสามารถเติบโตในตำแหน่งหรือหากอธิบายอย่างเข้าใจง่ายคือ มีข้อกังขาว่า ผบ.ตร.คนปัจจุบันขึ้นมาได้เพราะ “ตั๋วตำรวจ”[10] ดังนั้น การก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วแบบนี้ทำให้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เป็นผู้ที่มีอาวุโสต่ำสุดในแคนดิเดตผบ.ตร.ทั้งหมดซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญของการเป็นผบ.ตร. ส่วนวัดอีกเกณฑ์ที่วัดจากความสามารถก็เป็นข้อกังขาเช่นกัน แชมเบอร์ ให้ความเห็นว่าการที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ภายหลังเปลี่ยนชื่อว่า กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ) เป็นคนแรก และการที่พล.ต.ท.ต่อศักดิ์เป็นน้องชายของพล.อ.อ.สถิตพงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ เลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ย่อมมีผลต่อการขึ้นมาของพล.ต.ท.ต่อศักดิ์[11]

ดังนั้น แชมเบอร์ จึงมองว่าสาเหตุสำคัญที่เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จำเป็นต้องเลือกพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ก็คงหลีกหนีไม่พ้นจากการเอาใจวัง ซึ่งน่าจะหมายถึงคนใกล้ชิดวังเพื่อลดความปฏิปักษ์ระหว่างกลุ่มการเมืองของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และวังหลวงที่เคยมีในอดีต[12] ซึ่งนั่นก็เป็นการอธิบายไปในตัวว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้เป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญอะไรในสมการทางอำนาจของทหาร-ตำรวจ

อีกประเด็นที่น่าสนใจว่าวังอาจจะเว้นการแทรกแซงตำรวจไป 1 รุ่น และรอตั้งผบ.ตร.คนถัดไปอีก 2 รุ่นทีเดียวเลย แชมเบอร์ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช หรือ บิ๊กก้อง อาจจะขึ้นเป็นผบ.ตร.อีก 2 รุ่นถัดไป หลังจากที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ คนใกล้ชิดพล.อ.ประวิตรเกษียณจากตำแหน่งผบ.ตร.ก่อนในปี 2569 เงื่อนไขสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจของบิ๊กก้องคือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาลไม่สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงในตำแหน่งผบ.ตร.อีกครั้ง ถ้าบิ๊กก้องได้ขึ้นเป็นผบ.ตร.ตามที่ แชมเบอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ บิ๊กก้องจะได้เป็นผบ.ตร.ถึง 10 ปี ซึ่งก็ตั้งข้อสังเกตได้ว่า นี่ก็อาจจะเป็นบทบาทของวังอีกครั้ง เนื่องจากบิ๊กก้องเป็นน้องชายของพล.อ.จักรภพ ภูริเดช ผู้เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์และเป็นผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ผู้ใกล้ชิดพระราชวัง

นิยาม ‘วัง’ ที่ยังคลุมเครือ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตจากประเด็นนี้ว่า งานทางวิชาการส่วนใหญ่ที่วิเคราะห์เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายว่า “วัง” (Palace) หรือใช้คำว่า สถาบันในราชสำนัก (Royal institution)  สถาบันที่เกี่ยวกับกษัตริย์ (Regal institution)  มีอิทธิพลอย่างมากต่อการแต่งตั้งโยกย้ายดังที่กล่าวมานั้นมีความคลุมเครืออย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าหมายถึงตัวแสดงใดในสถาบันเหล่านี้กันแน่ การที่เราใช้คำกว้างๆ เหล่านี้ก็ยากจะบอกได้ว่าใครที่เป็นผู้ดำเนินการจริงๆ เช่น เมื่อเทียบกันในรัชสมัยที่แล้ว ที่มีพล.อ.เปรมเป็นผู้จัดการเครือข่ายกษัตริย์ก็ชัดเจนว่า พล.อ.เปรมเป็นตัวแทนเครือข่ายกษัตริย์ แต่ในรัชสมัยนี้การจะกล่าวคำว่าวัง ก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครที่เกี่ยวข้องบ้าง สุภลักษณ์ เสนอว่าผู้ที่มีบทบาทในวังในการแทรกแซงการแต่งตั้งกองทัพคืออาจจะไม่ได้หมายถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เท่านั้น แต่หมายถึงผู้ใกล้ชิดอย่างพล.อ.อภิรัชต์และพล.อ.ณรงค์พันธุ์ แล้วสิ่งที่ แชมเบอร์ เสนอในบทความคือบุคคลเหล่านี้หรือไม่  

อีกประเด็นในการแต่งตั้งตำรวจ การที่ แชมเบอร์ เสนอว่าเป็นปัจจัยจากวังมีผลอย่างมาก คำถามคือใครที่เป็นผู้เกี่ยวข้องในการตั้งตำรวจ หากจะกล่าวว่ากระทำโดยคนวงในของวังอย่างพล.อ.อ.สถิตพงษ์ ราชเลขาธิการ คำถามต่อมาคือการกระทำนั้นเขาทำเองในนามผลประโยชน์ส่วนตัว หรือกระทำในนามของวังเพื่อให้ได้ผบ.ตร.ที่วังไว้ใจ หรือเป็นเพียงแค่การเอาใจของเพื่อไทยต่อคนใกล้ชิดวังเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เคยร้าวฉานกันเท่านั้น เช่นเดียวกันกับกรณีของพล.ต.ท.จิรภพที่ แชมเบอร์ มองว่าอาจจะได้เป็นผบ.ตร. 2 คนถัดไปซึ่งต่อจากพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ คำถามชุดนี้ก็คือชุดเดียวกันว่า หากเขาขึ้นเป็นผบ.ตร.จะมาจากอิทธิพลของพล.อ.จักรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือในนามของวังด้วยหรือเปล่า อนึ่งด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูลและกฎหมายไทย สิ่งเหล่านี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องการหาคำตอบต่อไป

เครือข่ายทางการเมืองกับการแต่งตั้งโยกย้าย และภาพสะท้อนชัยชนะของ พล.อ.ประยุทธ์

นอกจากนี้แล้ว อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ มุ้ง (Faction) และเครือข่ายภายในของกองทัพซึ่งมักจะมาจากการที่เป็นรุ่นในชั้นนักเรียนเตรียมทหารใกล้กันหรือมาจากหน่วยงานที่โตมาพร้อมกัน การโยกย้ายครั้งนี้สะท้อนภาพชัยชนะของพล.อ.ประยุทธ์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับมาของบูรพาพยัคฆ์ (สายพล.อ.ประยุทธ์) ภาพที่เด่นชัดที่สุดคือการตั้ง ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ที่เป็นการแข่งขันกันระหว่าง พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ซึ่งเป็นคนในเครือข่ายพล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ซึ่งเป็นคนในเครือข่ายของพล.อ.ประวิตร เพราะเติบโตมาในกรมทหารราบที่ 2กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือเรียกว่าบูรพาพยัคฆ์เหมือนกัน[13] แม้ว่าทั้งสองจะเป็นทหารคอแดงเหมือนกัน แต่ภายในคอแดงก็ยังมีการแข่งขันกันภายใน สุดท้ายการขึ้นมาของพล.อ.เจริญชัย ก็สะท้อนว่านี่คือประยุทธ์ได้ชัยชนะเหนือประวิตร และอาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับมาของบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี เนื่องจากปีที่แล้ว ประยุทธ์พ่ายแพ้ต่อวงษ์เทวัญ[14] เพราะพล.อ.ประยุทธ์ลงเหลวในการผลักดันพล.อ.เจริญชัยขึ้นสู่ตำแหน่งเพื่อตัวเองมีเวลาวางฐานอำนาจในกองทัพก่อนอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน และ พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนก่อน

ตำแหน่งสำคัญอย่าง แม่ทัพภาคที่ 1 อย่างพล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ ซึ่งเป็นผู้คุมกองกำลังรบสำคัญประเทศ มีส่วนสำคัญในการทำหรือป้องกันรัฐประหารก็เป็นคนสนิทของพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนหน่วยเดิมที่พล.อ.ประยุทธ์เติบโตมาอย่างกองพลที่ 2 และกรมทหารราบที่ 21 (ทหารเสือราชินี) พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังรักษาบทบาทของตัวเองเอาไว้จนพล.อ.ประวิตรแทบไม่มีบทบาทอะไรในกองพลที่ 2 ยังไม่รวมถึง แม่ทัพภาคที่2 3 และ 4 ล้วนเป็นคนใกล้ชิดกับประยุทธ์ มีเพียงแค่กองพลที่ 1 ที่ประยุทธ์ไม่ได้เข้าไปยุ่ง เพราะกำลังหลักอย่างกองพลทหารราบที่ 1 รอ.และกองพลทหารราบที่ 11 รอ.ล้วนถูกโอนเข้าไปสู่ส่วนราชการในพระองค์[15]

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกต แม้ว่าจะมาจากมุ้งเดียวกันอย่างบูรพาพยัคฆ์ แต่เมื่อผลประโยชน์ขัดกันก็สามารถแก่งแย่งอำนาจกันได้ การตั้งรัฐบาลปัจจุบันเองก็เป็นภาพสะท้อนของการดีลระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวิตร (เพื่อไทย) กับพล.อ.ประยุทธ์เพื่อกันไม่ให้พล.อ.ประวิตรขึ้นมาเป็นนายก แลกกับการที่เพื่อไทยปล่อยให้ประยุทธ์โยกย้ายคนในกองทัพได้อย่างเต็มที่ และพล.อ.ประยุทธ์จะยอมให้วุฒิสมาชิก (สว.) โหวตให้เศรษฐาเป็นนายกและให้ทักษิณได้กลับบ้าน นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยเองก็ยอมตั้งคนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปในหลายตำแหน่งสำคัญนอกกองทัพ เช่น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตาเป็นเลขานุการและที่ปรึกษา รมว.กลาโหม สุทิน คลังแสง หรือรองเลขาสมช.ฉัตรชัย บางชวด ก็ล้วนแต่เป็นคนของพล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น หากมองปัจจัยรองจากวัง ก็จะเห็นชัยชนะของพล.อ.ประยุทธ์ อย่างเต็มที่ หรือหากจะมองในฐานะคอแดงก็คงเป็นคอแดงสายพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรแพ้หมดรูปทั้งการแต่งตั้งคนของตัวเองในตำแหน่งสำคัญ และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ มองประเด็นนี้ต่างออกไป การจัดคนอยู่ในมุ้งหรือเครือข่ายเดียวกันก็เป็นเพียงการจัดระเบียบโดยสื่อเพื่อให้อธิบายได้ง่าย ไม่ได้สะท้อนอิทธิพลและผลประโยชน์จริงๆ ของพวกเขา การโยกย้ายทหารในตำแหน่งสำคัญล้วนแต่เป็นคอแดงทั้งสิ้น คนที่ถูกมองว่าเป็นคนในเครือข่ายพล.อ.ประยุทธ์หรือพล.อ.ประวิตรอาจจะไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะต้องภักดีต่อพล.อ.ประยุทธ์หรือพล.อ.ประวิตรไปเสียทั้งหมด เพราะว่าถ้าหากพวกเขาจะต้องเลือกระหว่างการเป็นคนของพล.อ.ประยุทธ์หรือพล.อ.ประวิตรกับการเป็นทหารคอแดงของวัง พวกเขาคงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าอยากสังกัดฝ่ายหลังมากกว่า ดังนั้น การโยกย้ายในปี 2565 กับ 2566 แทบไม่มีความแตกต่างเลย[16]

รอยร้าวภายในหมู่ชนชั้นนำ

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคตัวแทนชนชั้นนำจารีตอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐจะร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อกันไม่ให้พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่ได้ไว้ใจกันอย่างเต็มที่ จุดสังเกตดูได้จากการโยกย้ายทหารของพล.อ.ประยุทธ์สะท้อนว่า เพราะความไม่ไว้วางใจกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องวางกำลังสำคัญล้อมรัฐบาลไว้ สิ่งที่น่าจะเป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยและชนชั้นนำเดิมมีอยู่ 2 ประเด็น ประการแรก ประเด็นการแก้ไขกฎหมายอย่างพ.ร.บ.จัดระเบียบสภากลาโหม 2551 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ (Civilian Supremacy) ประการที่สอง ความพยายามของรัฐบาลเพื่อไทยที่จะดันคนที่ตัวเองต้องการไปในตำแหน่งสำคัญในตำรวจและกองทัพ

ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายสองฉบับที่กล่าวไปข้างต้นอาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยขัดแย้งกับกองทัพหรือชนชั้นนำจารีตที่อาจจะเสียประโยชน์ได้ ดังนั้น กองทัพต้องพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้เพื่อไทยแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ได้โดยเฉพาะพ.ร.บ.จัดระเบียบสภากลาโหม 2551 ที่จะสามารถลดบทบาทของกองทัพในการโยกย้ายทหาร เพราะแต่เดิมรัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้อยู่แล้ว หรือรัฐธรรมนูญก็ต้องไม่ทำให้ชนชั้นนำเดิมสูญเสียผลประโยชน์มากไป ดังนั้น ชนชั้นนำและกองทัพจึงจำเป็นต้องมีกองกำลังขนาดใหญ่เอาไว้ดังเดิมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และรับประกันว่าหากรัฐบาลเพื่อไทยไปคุกคามผลประโยชน์ของชนชั้นนำจารีตและกองทัพก็พร้อมที่จะทำรัฐประหารได้เสมอ[17]

ส่วนประเด็นการดันคนของตัวเองไว้วางใจไปในตำรวจและกองทัพ แชมเบอร์ ประเมินว่า ในอนาคตพรรคเพื่อไทยต้องการดัน พล.อ.อุกฤษฏ์ ซึ่งเป็นทหารคอเขียวขึ้นเป็นผบ.ทบ.[18]เพื่อให้เพื่อไทยสามารถเข้าไปแบ่งสันอำนาจในกองทัพได้ด้วย แน่นอนว่าการดันคอเขียวเข้าไปแบบนี้ย่อมเกิดความขัดแย้งกับวังที่สนับสนุนคอแดงอยู่แล้ว หรือในประเด็นตำรวจนั้นพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคร่วมเองก็มีมุ้งเครือข่ายภายในตำรวจ เช่น เครือข่ายตระกูลดามาพงษ์ เครือข่ายประวิตร/พัชรวาท เครือข่ายตระกูลชิดชอบ ย่อมเป็นไปได้ว่าเพื่อไทยและพรรคร่วมย่อมต้องการดันคนในมุ้งของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นผบ.ตร.คนถัดไปย่อมมีโอกาสที่จะเป็นการประนีประนอมระหว่างเครือข่ายทั้งหมดในรัฐบาลรวมถึงวัง

แชมเบอร์ มองว่าเมื่ออำนาจของพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรใกล้จะหมดลง โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ที่คนในเครือของตนอย่างพล.อ.เจริญชัย ผบ.ทบ.กำลังจะเกษียณภายในปีหน้า แชมเบอร์ มองว่าเมื่ออำนาจทั้งสองหมดลงยิ่งจะทำให้อิทธิพลในการแต่งตั้งโยกย้ายของวังสูงขึ้น การที่เสนอแบบนี้ก็น่าคิดว่าแล้วพรรคเพื่อไทยจะแทรกขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อวังขยายอิทธิพลของตัวเองมากขึ้นไปทุกวัน

คำถามต่อไปและมองไปข้างหน้า

การแต่งตั้งโยกย้ายในปี 2566 เป็นภาพสะท้อนแบบแผนทางอำนาจที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยใหม่ การแต่งตั้งโยกภายในกองทัพในตำแหน่งสำคัญล้วนแต่ต้องเป็นทหารคอแดง ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดราชสำนักและเป็นทหารผู้จงรักภักดีขั้นสูงสุด ตั้งแต่ตำแหน่งผบ.ทบ. ผบ.สส. แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นต้น จุดต่างที่มองเห็นเพิ่มเติมคือ การโยกย้ายตำรวจที่วังมีบทบาทมากขึ้น จุดที่น่าถกเถียงคือ ปัจจัยที่รองลงมาจากวังสรุปแล้วพล.อ.ประยุทธ์มีบทบาทมากขึ้นจริง หรือเป็นเพียงแค่ทหารคอแดง ซึ่งจุดนี้ก็ยังต้องหาคำตอบต่อไปจากการดูแนวโน้มการโยกย้ายในปีถัดๆ ไป

สิ่งที่แน่ชัดในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้คือ การขยายตัวของบทบาทวังที่นับจะมากขึ้นทุกวัน จนเราต้องตะโกนถามดังๆ อีกครั้งว่า “เรากำลังอยู่ในระบอบอะไร” เหตุใดวังถึงสามารถเข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐบาลได้ขนาดนี้ เพราะการโยกย้ายครั้งนี้ก็เห็นได้ชัดว่าวังหรือตัวแทนวังได้วางคนใกล้ชิดของตัวเองไว้หมดแล้ว จนสื่อหลายคนก็มองว่า กองทัพต่อจากนี้ไปมีการวางฐานอำนาจไว้เป็น 10 ปี เมื่อเห็นภาพเช่นนี้จึงเกิดคำถามต่อไปว่า หากเราต้องการจะปฏิรูปกองทัพทำเพียงแต่กองทัพจะเพียงพอหรือไม่ ในเมื่อกองทัพเองก็เป็นเพียงเบี้ยรองบ่อน และรัฐบาลก็เป็นเบี้ยรองบ่อนกองทัพอีกที หากไม่มีรัฐบาลในอนาคตที่กล้าตั้งคำถาม กล้าเสนอหลักพลเรือนเป็นใหญ่ ซึ่งอาจจะต้องเหนือทั้งกองทัพและอำนาจจารีตทั้งหลายที่มีอยู่ มิเช่นนั้น เราคงอยู่ในสภาวะกึ่งประชาธิปไตยไปอีกยาวนาน

 

[1]  Chambers, P. (2023). Civilian Control of Those Close to the Palace: Making Sense of Thailand’s October 2023 Military and Police Reshuffles. ISEAS Perspective, 2023(83). https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2023-83-civilian-control-of-those-close-to-the-palace-making-sense-of-thailands-october-2023-military-and-police-reshuffles-by-paul-chambers/

[2] Chambers, P., & Waitoolkiat, N. (2016). The Resilience of Monarchised Military in Thailand. Journal of Contemporary Asia, 46(3), 425-444. https://doi.org/10.1080/00472336.2016.1161060

[3] กองบรรณาธิการ Commonschool. (2565). เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”. Retrieved from https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8228/

[4] สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. (2563). ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่. Retrieved from https://prachatai.com/journal/2020/11/90372

[5] ผู้คุมกำลังสำคัญของกองทัพบก ประกอบไปด้วย 5 ตำแหน่ง 1) ผู้บัญชาการทหารบก 2) รองผู้บัญชาการทหารบก 3) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 2 คน 4) เสนาธิการทหารบก

[6] เยี่ยมยุทธ สุทธิฉาย. (2563). อ่านโผทหาร 65 กลุ่มไหนได้ ฝ่ายไหนเสีย เมื่อ ‘ทหารพระราชา’ กำลังแทนที่ 3 ป. Retrieved from https://prachatai.com/journal/2022/09/100588

[7] Chambers, P. (2023). Civilian Control of Those Close to the Palace: Making Sense of Thailand’s October 2023 Military and Police Reshuffles. ISEAS Perspective, 2023(83). Retrieved from https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2023-83-civilian-control-of-those-close-to-the-palace-making-sense-of-thailands-october-2023-military-and-police-reshuffles-by-paul-chambers/

[8] อ้างแล้ว

[9] อ้างแล้ว

[10] The Matter. (2021). BRIEF RECAP 29.0K ‘ตั๋วช้าง’ คืออะไร? สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งใน และนอกสภา ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม แบบครบจบรวดเดียว. Retrieved from https://thematter.co/brief/136142/136142

[11] อ้างแล้ว

[12]  อ้างแล้ว สาเหตุสำคัญที่ผู้เขียนอภิปรายว่าน่าจะหมายถึงคนใกล้ชิดวัง เนื่องจากคำอธิบายนี้มาจากคำอธิบายของอดีตนายกรัฐมนตรีพล.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอธิบายว่า สาเหตุที่ตนถูกรัฐประหารมาจากการที่ทำให้วงในของวัง/คนรอบวัง (Palace circle) ไม่พอใจ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนเข้าใจว่า แชมเบอร์ น่าจะมองว่าพล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ผู้เป็นราชเลขาธิการเป็นคนวงในของวัง ซึ่งอดีตทักษิณเคยมีปัญหากับคนวงในรอบวัง ดังนั้น การเอาใจตั้งน้องของคนในวังเป็นผบ.ตร.ย่อมน่าจะช่วยลดความตึงเครียดในอดีตได้อย่างดี

[13] ทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 จะได้ชื่อว่าเป็นบูรพาพยัคฆ์ แต่ถ้าได้อยู่ในภายในกรมทหารราบที่ 21 ซึ่งสังกัดกองพลทหารราบที่2จะได้ชื่อว่าทหารราชินีด้วย ดังนั้น พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ซึ่งโตมากจากกรมทหารราบที่ 21 เหมือนกับพล.อ.ประยุทธ์จึงจัดได้ว่าทั้งคู่อยู่ในเครือข่ายทหารราชินีเหมือนกัน รวมถึงสื่อเองก็ให้ข้อมูลว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกัน ส่วนพล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ซึ่งเติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 2 ในหน่วยที่ประวิตรที่เติบโตขึ้นเป็นผู้บัญชาการหน่วยนี้ ทั้งสองคนจึงเป็นแค่บูรพาพยัคฆ์เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทหารเสือราชินี

[14] วงษ์เทวัณ คือ ทหารที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) สาเหตุที่เรียกว่าวงษ์เทวัณเนื่องจากผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในหน่วยนี้ล้วนเป็นลูกหลานของนายทหารผู้ใหญ่ คำว่าวงษ์เทวัญ มาจากนิทานเรื่องอิเหนา เป็นชื่อของวงศ์เทพทั้ง 4 ที่มาจุติบนโลกมนุษย์ ดังนั้นลูกหลานก็ย่อมนับว่าเป็น ”วงษ์เทวัณ”

[15] อ้างแล้ว

[16] สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, ผู้ให้สัมภาษณ์, 29 พฤศจิกายน 2566

[17] อ้างแล้ว

[18] อ้างแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net