Skip to main content
sharethis

ประชาชนเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิงแถลงคัดค้านการทำเหมืองหิน อุตสาหกรรมจังหวัดประกาศยุติเวทีรับฟังความคิดเห็นแจงไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชน

14 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ธ.ค.) จากกรณีประชาชนในพื้นที่และเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิงประท้วงคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเพื่อขอประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตำบลทุ่งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้ประกาศยุติเวทีการรับฟังความคิดเห็น และจะจัดทำรายงานเสนอให้ทางอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่วินิจฉัยต่อไป โดย ประสิทธิ์ ศรีพรหม อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ชี้แจงว่าอุตสาหกรรมจังหวัดไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชน การดำเนินการทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย

สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ที่ขอประทานบัตรสำหรับการทำเหมือง ประเภทที่ 2 โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง คำขอประทานบัตรที่ 1 /2565 ของบริษัท อิบนู อัฟฟาน แกรนิต กรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่ในเขตท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี  จัดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. โดยอุตสาหกรรมจังหวัดที่ลานอเนกประสงค์เทศบาลตำบลเตราะบอน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประชาชนชุมชนเตราะปลิง หมู่ 4 ตำบลทุ่งคล้า เข้าร่วมและคัดค้านการเปิดเวทีรับฟังความเห็น ทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

“จริงๆ ผมไม่อยากให้มีการล้มเวที เป็นเรื่องที่วิญญูชนเขาไม่ทำกัน ถ้าท่านกังวลกลัว โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ท่านกลัวทำไม ตอนนี้ทำให้ผู้ที่ต้องชี้แจงไม่สามารถชี้แจงตามกระบวนการได้ การล้มเวทีมันมิชอบมองมุมก็ไม่ชอบ ท่านจะแต่งลูกสาวแล้วมีคนมาล้มงานแต่ง ท่านยังไม่ฟังเลยว่าเขารักกันอย่างไร เขาเจอกันตอนไหน เดตกันอย่างไร ภาพดี ๆ หลังจากนั้นมีอีกเยอะ ท่านรักพื้นที่ผมก็รักพื้นที่ ผมมีความเข้าใจบทบาทของการอนุรักษ์ แต่จะอนุรักษ์อย่างไร การอนุรักษ์คือการใช้อย่างชาญฉลาด” อุตสาหกรรมกล่าวภายหลังการยุติเวที

อุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงเพิ่มเติมว่า เราทุกคนต่างมีส่วนในการทำให้เกิดการใช้แร่ ทุกท่านที่อยู่ในที่นี่ ใช้แร่วันละ 10 กิโลกรัม เราทุกคนขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ การหา รัฐเองก็ต้องหา เมื่อรัฐหาเองไม่ได้เลยให้เอกชนหา เมื่อเอกชนหารัฐจึงมีหน้าที่ในการออกระเบียบกฎหมายเพื่อกำกับ เริ่มบังคับตั้งแต่ อบต. ท้องที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมเขต กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ ด้านคนงานก็สาธารณะสุข ด้านศิลปากรที่ต้องเข้ามาตรวจ หน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเหมืองมีเยอะมาก และถ้าเราดูเรื่องการอนุมัติ ผู้ที่นั่งในการอนุมัติอนุญาตในคณะกรรมการแร่เต็มคณะ 22 ท่าน จาก 7 กระทรวง 14 หน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญและองค์กรเอกชนด้านละ 2 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอนามัย ด้านเหมืองแร่ ด้านวิศวกรรม อีก 2 ท่าน เต็มคณะ 22 คน ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการของมัน ขั้นตอนนี้หลังรังวัดเสร็จก็จัดเวทีประชาคม ทางเขาต้องทำรายงานธรณีวิทยา ซึ่งถ้าทำแล้วนักวิชาการตรวจว่าไม่เจอแร่เขาก็ทำไม่ได้ รายงานธรณีวิทยาแหล่งแร่เจอเพียงพอไหม วิศวกรจะตรวจว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ผมจึงอยากให้เวทีประชาคมเกิดขึ้นก่อน  อีกด้านหนึ่งต้องจ้าง Third Party เพื่อทำ EIA ซึ่งต้องทำสองครั้ง ถ้าไม่ผ่านคณะกรรมการพิจารณาสิ่งแวดล้อมก็ทำไม่ได้อยู่ดี ง่ายๆ แค่นี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ผมจึงอยากให้เวทีประชาคมเกิดขึ้นก่อน

ด้านเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ขอยืนยันว่าการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมปลอมๆ และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เก็ดขึ้นทั้งหมดเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดทำขึ้นให้ครบถ้วนตามกรอบที่กฎหมายกำหนดเพียงเท่านั้น อีกทั้งก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ มีการใช้พฤติกรรมของชนที่ไร้ซึ่งอารยะ ทั้งข่มขู่ คุกคาม ประชาชนที่คัดค้านโครงการเหมืองหินอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อหวังจะให้ประชาชนผู้รักในแผ่นดินเกิดหยุดเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของบริษัทที่มีการยื่นขอประทานบัตร และตั้งคำถามถึงสหกรณ์ อิบนู อัฟฟาน เกี่ยวกับการขอประทาน​บัตรทำเหมืองดังกล่าวนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสหกรณ์หรือไม่ ขณะที่ข้อมูลความเสียหายต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต และระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการส่ง จดหมายเปิดผนึกให้กับสมาชิกสหกรณ์ อิบนู อัฟฟานเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ตระหนักรับรู้ถึงเจตนารมณ์ของสหกรณ์อิสลามอิบนู อัฟฟาน นั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของอิสลามหรือไม่ และทางเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิงชี้ว่า การดำเนินการโครงการ​เหมืองหินฯ ดังกล่าวทำลายวิถีเศรษฐกิจ​ฐานรากและสังคม ทำลายวิถีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้คุณภาพชีวิตที่แย่ลง ไม่สามารถ​อยู่ดี กินดี มีสุข​ได้ และขัดกับหลักการคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม

อุตสาหกรรมจังหวัด ระบุว่าเวทีประชาคมเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งในลำดับถัดไปจะเป็นการส่งให้อธิบดีพิจารณาเพื่อให้มีการลงประชามติ ซึ่งจะเป็นการลงประชามติเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ตามระเบียบกฎหมายเท่านั้น ซึ่งคือชุมชนเตราะปลิง หมู่ 4 ตำบลทุ่งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ส่วนระยะเวลาของการพิจารณาวินิจฉัยนั้นจะเป็นไปตามความเห็นชอบของอธิบดีในการพิจารณา ประสิทธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดย้ำว่ากฎหมายนั้นเป็นหลักที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน

“กฎหมายให้ความยุติธรรมต่อทุกคน แต่อาจไม่ถูกใจทุกคน ผมจำเป็นต้องทำตามระเบียบกฎหมาย ถ้าอยากแก้กฎหมายเสนอให้เราผลักดันตามระบบ เสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขในรัฐสภา หรือเข้าชื่อห้าหมื่นรายชื่อเพื่อแก้ไข ผมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ เราไม่ได้โกรธกัน” อุตสาหกรรมจังหวัดกล่าวย้ำ

อารีฟีน โสะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านโครงการเหมืองหินเตราะปลิง จำนวน 545 รายชื่อ พร้อมยื่นรายงานประชาคมกำหนดอนาคตตนเองเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ว่าชุมชนไม่ต้องการให้มีการทำอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่เขาเตราะปลิง ซึ่งทางชุมชนได้จัดทำข้อมูลชุมชนประกอบเพื่อสนับสนุนเหตุผลความไม่เหมาะสมต่อการพัฒนาด้วยแนวทางดังกล่าว

นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม คนดังกล่าว ระบุดว้ยว่า ชุมชนเตราะปลิงเจ็บปวดกับประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายครั้งจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ไม่รับฟังเสียงของชุมชนอย่างแท้จริง การขับเคลื่อนเพื่อยุติการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ชอบธรรม เพราะโดยภาพรวมหลักฐานต่างๆ ชี้ว่าเวทีนี้กลายเป็นกระบวนการทางเทคนิคเพื่อให้เกิดการอนุมัติอนุญาตให้มีการทำเหมืองเท่านั้น 

“อยากให้ทุกคน ตระหนักว่าเบื้องหลังการกระทำของชาวบ้านนั้น มีเหตุผลเพียงพอ อยากให้ทุกคนเข้าใจและรับรู้ถึงความเจ็บปวดของชาวบ้าน ไม่ตัดสินการกระทำที่เกิดขึ้นโดยไม่สนใจเหตุผลเบื้องหลังการกระทำของพวกเขา เราหวังว่าโครงการต่างๆ ในพื้นที่ควรให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลัก ซึ่งการยับยั้งไม่ให้เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพของชุมชนผู้มีส่วนได้เสีย” อารีฟีน กล่าวเพิ่มเติม

แถลงการณ์เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ต่อกรณีการขอประทานบัตรระเบิดเขาทำเหมือง ฉบับที่ 2/2566

สืบเนื่องจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างของบริษัท อิบนู อัฟฟาน แกรนิต กรุ๊ป จำกัด ที่ได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ 1/2565 ทำเหมืองแร่ประเภทที่ 2 ชนิดแร่หินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในเขตท้องที่หมู่ 4 ตำบลทุ้งคล้า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ครอบคลุมที่ 152 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลเตราะบอน

เป็นความดึงดันของบริษัทและอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ที่พยายามจะผลักดันพิธีกรรมทางกฎหมายที่เรียกว่าเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในวันนี้ โดยที่ไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่ปรากฏเป็นที่ประจักษว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการระเบิดภูเขาทำเหมืองแร่ที่เขาเตราะปลิง  

โดยพิธีกรรมที่เรียกว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ได้ให้บุคคลที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลทุ้งคล้า อำเภอสายบุรี และหมู่ 4 ตำบลลางา อำเภอมายอ เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรเหมืองแร่ แต่กลับไม่ปรากฏบุคคลที่มีที่ดินทำกินอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีการยื่นคำขอประทานบัตรถูกเชิญชวนเข้าร่วมเวที อีกทั้งชุมชนที่ใช้สายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จากลำห้วยเตราะปิงที่มีต้นน้ำจากแหล่งภูเขาที่มีการขอประทานบัตร รวมถึงประชาชนที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อของบ้านเตราะปลิง หมู่ 4  ซึ่งอยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบการจากการระเบิดภูเขาทำเหมืองหิน ไม่ว่าจะด้วยแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด มลภาวะทางเสียง มลพิษทางอากาศ และสารปนเปื้อนรวมถึงตะกอนหินดินทรายที่กระทบต่อแหล่งน้ำอันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมจนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อีก

ประชาชน ชุมชน และเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดภูเขาตามที่กล่าวมา กลับไม่ถูกระบุอยู่ในผู้มีสิทธิเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดที่จัดโดยอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งคนเหล่านั้นต่างก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเช่นเดียวกัน ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเพียงเวทีที่หน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดพื้นที่ให้บริษัทที่ขอประทานบัตรใช้พื้นที่เวทีในวันดังกล่าวโฆษณาชวนเชื่อเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านตามที่ควรจะเป็น และเวทีพิธีกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน

ในนามของเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ขอยืนยันว่าการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมปลอมๆ และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เก็ดขึ้นทั้งหมดเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดทำขึ้นให้ครบถ้วนตามกรอบที่กฎหมายกำหนดเพียงเท่านั้น อีกทั้งก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ มีการใช้พฤติกรรมของชนที่ไร้ซึ่งอารยะ ทั้งข่มขู่ คุกคาม ประชาชนที่คัดค้านโครงการเหมืองหินอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อหวังจะให้ประชาชนผู้รักในแผ่นดินเกิดหยุดเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของบริษัทที่มีการยื่นขอประทานบัตร

 

เราขอตั้งคำถามดังๆไปยัง สหกรณ์​ อิบนู ​อัฟ​ฟา​น ว่า ทำไมถึงยังดันทุรัง​! เดินหน้า​ขอประทาน​บัตรทำเหมืองทั้ง ๆ ที่ข้อมูลความเสียหาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน วิถี และทรัพยากร ประจักรชัดอยู่แล้วว่ามีผลเสียมากกว่าผลได้ หรือท่านไม่ได้ใยดีกับหลักคุณธรรม ความเป็นธรรม ในการประกอบการทำธุรกิจใดๆ หวังเพียงกอบโกย​ผลประโยชน์​ ผู้คน ชุมชน รอบเขาเตราะปลิง จะพบกับความทุกข์ ประสบกับความชิปหาย ก็ช่างแม่งมันกระนั้นหรือ!

ทั้งนี้เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิงขอยืนยันว่าการกระทำของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการระเบิดภูเขาในวันนี้ เป็นเพียงการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อขอให้มีการยกเลิกโครงการเหมืองหินนี้โดยทันที

และเครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง ขอเรียกร้องให้สภาเทศบาลตำบลเตราะบอนเปิดประชุมสภาเพื่อลงมติเพิกถอนมติการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ หมู่ 4 ตำบลทุ่งคล้า ในดำเนินการโครงการระเบิดภูเขาเหมืองหินโดยเร็ว เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์เสียงคัดค้ายของประชาชนผู้ทรงอำนาจที่เลือกพวกท่านเข้ามาทำหน้าที่

“ ด้วยหัวใจที่รักภูเขา และสายน้ำ ”

เครือข่ายพิทักษ์เขาเตราะปลิง

วันพฤหัสบดี ที่ 14 ธันวาคม 2566

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net