Skip to main content
sharethis

'จัสติสฟอร์เมียนมาร์' เผยชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าและเครือข่ายเพิ่ม รวมทั้งเรียกร้องให้หยุดยั้งกองทัพพม่าไม่ให้กระทำทารุณต่อประชาชน แซฟไฟร์กรุ๊ปหนึ่งในบริษัทของทุนมินลัตที่ถูกคว่ำบาตร มี ส.ว. อุปกิต ปาจรียางกูร ของไทยเอี่ยวด้วย

 

15 ธ.ค. 2566 องค์กรเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทหารพม่า จัสติสฟอร์เมียนมาร์ (Justice For Myanmar) แถลงการณ์แสดงความพอใจที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, แคนาดา และอังกฤษ ร่วมกันเพิ่มการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการต่อจากนี้เพื่อหยุดยั้งกองทัพพม่าไม่ให้ก่อเหตุทารุณประชาชน

องค์กรจัสติสฟอร์เมียนมาร์ระบุว่า พวกเขายินดีกับการประกาศคว่ำบาตรรอบล่าสุดต่อรัฐบาลทหารพม่าและผู้คนที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่กองทัพพม่าได้ก่อสงครามสร้างความหวาดผวาให้ประชาชนอย่างรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ จัสติสฟอร์เมียนมาร์เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ยกระดับการคว่ำบาตรแบบมีการประสานงานกันให้มากขึ้นโดยเร็ว

การคว่ำบาตรครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทหารพม่าเริ่มสูญเสียเขตแดนและอำนาจการควบคุมพื้นที่ต่างๆ หลังจากที่กองทัพพม่าได้ก่อการรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นเวลาผ่านมา 3 ปีแล้ว 

สหภาพยุโรปเปิดเผยในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า พวกเขาได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคล 4 คน และนิติบุคคลอีก 2 ราย ในช่วงที่พม่ายังคงมีสถานการณ์ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง

แซฟไฟร์กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทที่ถูกคว่ำบาตร มี ส.ว. ไทยเอี่ยวด้วย

ในรายชื่อบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรในครั้งนี้มีรัฐมนตรีของพม่ารวมอยู่ด้วย 1 ราย และมีสมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยเผด็จการทหารอีก 2 ราย และมีผู้บัญชาการกองทัพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนชาวพม่าอีก 1 นาย นอกจากนี้ยังมีบริษัท 2 แห่งที่ทำรายได้ให้กับทหารพม่าและจัดหาอาวุธกับยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่กองทัพพม่านำไปใช้ คือบริษัทเครือสตาร์แซฟไฟร์กรุ๊ป และบริษัท Royal Shune Lei จำกัด ต่างก็ถูกคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน

การคว่ำบาตรในครั้งนี้จะเป็นการอายัดทรัพย์สินและปิดกั้นการจัดหาเงินทุนหรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะนำมาให้กับพวกเขาเองหรือเป็นผลกำไรของพวกเขาก็ล้วนถูกห้ามทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วผู้ที่ถูกคว่ำบาตรยังจะถูกห้ามเดินทางไปที่ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย

หนึ่งในบริษัทที่ถูกคว่ำบาตรในครั้งนี้คือ สตาร์แซฟไฟร์กรุ๊ป เป็นบริษัทที่มี ทุนมินลัต อดีตผู้นำระดับสูงของกองทัพพม่าที่มีความใกล้ชิดกับมินอ่องหล่าย เป็นเจ้าของ และมีอุปกิต ปาจรียางกูร ส.ว.ไทย เป็นผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทแห่งนี้

แถลงการณ์ของจัสติสฟอร์เมียนมาร์ระบุว่า สตาร์แซฟไฟร์กรุ๊ป เป็นกลุ่มธุรกิจเล่นพรรคเล่นพวกของกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับครอบครัวของมินอ่องหล่าย ซึ่งลูกๆ ของมินอ่องหล่ายหลายคนถูกจับกุมในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดในไทย ซึ่งส่งผลให้ทุนมินลัต ผู้ก่อตั้งสตาร์แซฟไฟร์กรุ๊ป ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในไทยตอนนี้ด้วยข้อหาค้ายาเสพติดและฟอกเงิน

บริษัท Royal Shune Lei จำกัด เป็นบริษัทค้าอาวุธให้กับกองทัพพม่า เป็นครั้งแรกที่พวกเขาถูกคว่ำบาตร ซึ่งก่อนหน้านี้จัสติสฟอร์เมียนมาร์เคยเน้นย้ำให้เห็นว่าบริษัทนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธและสินค้าที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธได้โดยมีแหล่งที่มาจากรัสเซียและเซอร์เบีย บริษัทดังกล่าวนี้ยังได้เป็นตัวกลางในการซื้อขายอาวุธจากเกาหลีเหนือให้กับพม่าเมื่อปี 2565 ด้วย

บุคคลที่ถูกคว่ำบาตรในครั้งนี้ได้แก่กองทัพพม่า SAC 3 ราย Nyo Saw, Wunna Maung Lwin และ Hmu Htan กับผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นที่ตะวันออก Hla Moe โดยที่ Nyo Saw เป็นขาใหญ่ของวงการธุรกิจมาเฟียของเผด็จการทหารพม่า เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานบรรษัทเมียนมาร์อิโคโนมิคและเป็นสมาชิกกรรมาธิการปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศด้วย

 

อังกฤษคว่ำบาตรเครือข่ายต้มตุ๋นไซเบอร์-บ่อนคาสิโนในเมืองใหม่ 'ชเวก๊กโก่'

นอกจากอียูแล้วในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือวันที่ 8 ธ.ค. 2566 สหราชอาณาจักรก็ออกมาตรการคว่ำบาตรบุคคลในพม่าหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งใช้แรงงานทาสไซเบอร์และคาสิโนผิดกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือ เสอจื้อเจียง นักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ได้สัญชาติกัมพูชา เจ้าของโครงการเมืองใหม่ “ชเวก๊กโก่” ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท Yatai International Holding Group เขาถูกจับกุมตัวในไทยเมื่อปี 2565

ในวันที่ 8 ธ.ค. 2566 แคนาดาได้ทำการคว่ำบาตรเป็นครั้งที่ 2 ต่อ มินอ่องหล่าย ผู้ที่จัสติสฟอร์เมียนมาร์ระบุว่าเป็น "อาชญากรสงคราม" ที่ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมถึงเป็นผู้นำก่อการรัฐประหาร โดยในครั้งนี้แคนาดาใช้กฎหมายเทียบเคียงกฎหมายแมกนิตสกีฉบับของแคนาดาคือกฎหมาย "ความยุติธรรมต่อเหยื่อของเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่ฉ้อฉล" ในการคว่ำบาตร ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์  2564 หลังเกิดรัฐประหาร แคนาดาได้สั่งคว่ำบาตรมินอ่องหล่ายภายใต้มาตรการกำกับดูแลเศรษฐกิจพิเศษ (พม่า)

Yadanar Maung กล่าวว่า การคว่ำบาตรครั้งล่าสุดเหล่านี้เป็นเรื่องน่ายินดี ในฐานะเป็นความก้าวหน้าอีกชั้นหนึ่งในการสกัดกั้นแหล่งเงินทุนและอาวุธของฝ่ายกองทัพ ซึ่งใช้ในการก่อการร้ายต่อประชาชน

นอกจากนี้ Maung ยังแสดงความยินดีที่อังกฤษคว่ำบาตรกลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มติดอาวุธที่อยู่ภายใต้การสั่งการของกองทัพพม่า บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอย่างการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสในสถานปฏิบัติการต้มตุ๋นทางไซเบอร์ รวมถึงบ่อนคาสิโนผิดกฎหมายและการฟอกเงิน

"กองทัพพม่าเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้ ภัยคุกคามที่พวกเขาก่อกับภูมิภาคอาเซียนและที่อื่นๆ จะไม่สามารถขจัดให้หายไปได้ จนกว่าแก็งอาชญากรกองทัพพม่าจะถูกรื้อถอนและประเทศพม่ากลายเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย" Maung กล่าว

อย่างไรก็ตาม Maung ก็เรียกร้องให้ต่างชาติดำเนินการมากกว่านี้และเร็วกว่านี้ในการตัดท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพพม่า "พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ยกระดับการคว่ำบาตรและทำมันในลักษณะที่มีการประสานงานกันมากขึ้นเพื่อความยุติธรรมและหลักการภาระความรับผิดชอบ" Maung กล่าว

 

อียูประกาศจะคว่ำบาตรกองทัพพม่าเพิ่ม ถ้ายังโจมตีพลเรือน-ถ่วงเจรจาสันติ

ทางอียูระบุอีกว่ามาตรการคว่ำบาตรโดยการจำกัดทางการเงินล่าสุดนี้ เป็นมาตรการที่ควบคู่ไปกับการคว่ำบาตรด้วยการที่อียูระงับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงต่อรัฐบาลและระงับการช่วยเหลือทั้งหมดจากอียูที่อาจจะถูกมองว่าเป็นการให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารพม่า

อียูระบุอีกว่า พวกเขามีความกังวลอย่างมากต่อการที่พม่ายังคงมีการยกระดับความรุนแรงมากขึ้น และสถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปสู่การสู้รบที่ยืดเยื้อโดยมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับภูมิภาค ทางอียูยังได้ประณามเรื่องที่กองทัพพม่ายังคงทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น การทารุณกรรม, ความรุนแรงบนฐานของเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี, การปราบปรามบุคคลในภาคประชาสังคม ผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและนักข่าว, การโจมตีประชากรพลเรือน ซึ่งรวมไปถึงชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และทางศาสนาด้วย

อียูระบุว่า สภาบริการแห่งรัฐ (SAC) ของรัฐบาลทหารพม่ายังมักจะทำการขัดขวางการจัดเจรจาหารือสันติภาพในแบบที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ในช่วงเดียวกับที่มีการใช้ความรุนแรงแบบไม่แยกแยะต่อพลเรือนที่ไร้อาวุธ ที่เห็นได้ชัดคือการโจมตีทางอากาศซ้ำๆ หลายครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ในพม่าไร้ความคืบหน้า ทางอียูเปิดเผยมาก่อนหน้านี้หลายครั้งว่าพวกเขาพร้อมที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ต่อคนที่มีส่วนรับผิดชอบในการทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในพม่า

ทางอียูได้ประณามการทำรัฐประหารของพม่ามาตั้งแต่ที่เริ่มเกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และต่อมาก็มีมาตรการจำกัดและคว่ำบาตรต่อฝ่ายเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ หลายครั้ง ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

เรียบเรียงจาก

JFM WELCOMES LATEST CANADIAN, EU AND UK SANCTIONS ON THE MYANMAR JUNTA AND ITS ASSOCIATES, AND CALLS FOR FURTHER MEASURES TO END MASS ATROCITIES, Justice For Myanmar, 12-12-2023

https://www.justiceformyanmar.org/press-releases/jfm-welcomes-latest-canadian-eu-and-uk-sanctions-on-the-myanmar-junta

Myanmar/Burma: Council adds 4 persons and 2 entities to EU sanctions list in eighth round of sanctions, ECC EU, 11-12-2023

https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2023/12/11/myanmar-burma-council-adds-4-persons-and-2-entities-to-eu-sanctions-list-in-eighth-round-of-sanctions/

STAR SAPPHIRE COMPANIES FUNNELLING ARMS AND MONEY TO MILITARY, Justice For Myanmar, 26-04-2022

https://www.justiceformyanmar.org/stories/star-sapphire-companies-funnelling-arms-and-money-to-military

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net