Skip to main content
sharethis

JUST HOME เครือข่ายที่เกิดจากความร่วมมือของผู้คนนักกิจกรรม ที่นิยามสำคัญในการรวมตัวทำงานในประเด็นปาเลสไตน์ บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ “เรามาเป็นหนึ่งกันอีกครั้ง ไม่มีองค์กร ไม่มีโลโก้ ไม่เลือกศาสนาไหน ไม่มีธงใดๆ เว้นธงแห่งมนุษยชาติเพียงธงเดียว เราเดินด้วยความเรียบร้อย สันติวิถี และเรามาชูธง ปาเลสไตน์ แห่งมนุษยชาติด้วยกัน” ถ้อยแถลงในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเข้าร่วมเดินขบวนเพื่อรณรงค์ประเด็นปาเลสไตน์

17 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ธ.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลางปัตตานี เครือข่าย JUST HOME จัดกิจกรรม “ PALESTINE I PROMISE ” Walk - Dua – Promise โดยเริ่มกิจกรรม เขียนคำมั่นสัญญาบนธงผืนใหญ่ การอ่านดุอาร์บทขอพรจากอัลลอฮ. เพื่อทรงประทานความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์ ก่อนเดินขบวนจากลานวัฒนธรรมมุ่งสู่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี เมื่อเวลา 14.30 น. มีกิจกรรมอ่านสุนทรพจน์จากเยาวชน และอ่านแถลงการณ์จากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการโจมตีชาวปาเลสไตน์เปิดให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

อานัส พงค์ประเสริฐ นักกิจกรรม The Lookers กล่าวว่ากิจกรรม I PROMISE เกิดจากการสื่อสารของเด็กๆ ที่เห็นอกเห็นใจต่อผู้ถูกกระทำในปาเลสไตน์ มีเด็กคนหนึ่งในประเทศอังกฤษกล่าวถ้อยแถลงว่าตนจะสัญญาเพื่อปาเลสไตน์ โดยการเริ่มต้นสัญญากับตนเอง สัญญากับพระเจ้า สัญญากับปาเลสไตน์ เด็ก ๆ ได้สัญญาว่าจะละหมาดครบห้าเวลา สัญญาว่าจะขยันเรียนหนังสือ สัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างชาวปาเลสไตน์ สัญญาว่าพวกเขาจะอยู่ในบทดุอาร์และความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา

“กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการเดินเท้า เพื่อสะท้อนให้เพื่อนมนุษย์ และประชาคมระหว่างประเทศรับรู้ว่า เราไม่เห็นด้วยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์” อานัส กล่าว

ชารีฟ สาอิ ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ- CAP (Civil Assembly for Peace) อ้างถึงตัวเลขผลกระทบที่ทางสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำนักจุฬาราชมนตรี เปิดเผยรายงานการประเมินความเสียหาย และความต้องการด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมาระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 18,205 คน ชาย 4251 คน หญิง 5974 และเด็ก ๆ จำนวน 7,980 คน ยอดผู้บาดเจ็บประมาณ 49,654 คน เเบ่งเป็นเพศชาย 21095 ผู้หญิง 12,219 คน เด็ก 16340 คน บ้านเรือนเสียหาย 305,000 คน มัสยิด 292 แห่ง โบสถ์ 3 แห่ง นักข่าวเสียชีวิต 82 คน สถาบันสื่อและสำนักข่าว 150 แห่ง มีจำนวนตัวเลขผู้พลัดถิ่น 1,900,000 คน ผู้สูญหาย 7,760 คน แพทย์เสียชีวิต 296 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกควบคุมตัว 36 คน รถพยาบาลถูกทำลาย 102 คัน โรงเรียนถูกทำลาย 280 แห่ง บุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต 184 คน

“ตัวเลขผลกระทบต่างๆ เป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นวิกฤตของมนุษยชาติ พลเรือนในปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นี่จึงเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนหลากหลายในนาม JUST HOME เกิดขึ้น” ชารีฟ สาอิ กล่าว

อานัส อธิบายว่า Just Home เป็นการทำกิจกรรมเพื่อให้ทุกคนตระหนักรับรู้ถึงปัญหาด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ บ้านที่สะท้อนความหมายในมิติต่างๆ ทั้งบ้านสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ปรารถนาอยากกลับบ้าน ผู้ลี้ภัยที่คิดถึงอยากกลับบ้าน ผู้ที่ยึดครองที่เราอยากให้พวกเขากลับบ้าน หัวใจสำคัญคือเรื่องของความเป็นบ้าน

“ทุกคนมีความรู้สึกอยากกลับบ้าน ปาเลสไตน์อยากกลับไปปาเลสไตน์ แรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยากกลับบ้าน ทุกคนปรารถนาอยากกลับบ้านตนเอง และปรารถนาให้คนที่ยึดบ้านของพวกเขากลับบ้านของพวกเขาไป มาจากประเทศไหนก็กลับไปประเทศของตนเอง” อานัส กล่าว

อานัสพยายามชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งปาเลสไตน์อิสราเอลที่เกิดขึ้นระลอกใหม่นั้นเป็นพวงจากอดีตซึ่งมีรากความขัดแย้งมายาวนาน โดยเฉพาะสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อแบ่งเส้นเขตแดน

“เราอยากให้ทุกคนมองให้ถึงรากของปัญหา ทั่วทุกมุมโลกกำลังประสบปัญหาจากรากเดียวกัน คือ การขีดเส้นเขตแดนแยกผู้คนออกจากกัน แยกบ้าน แยกดินแดนจนทำให้เกิดคสามขัดแย้งในพื้นที่ต่าง ปาเลสไตน์ พม่า หรือแม้กระทั่งปาตานี ก็เป็นปัญหาที่มีลักษณะรากเหง้าเดียวกัน” อานัสกล่าว พร้อมระบุว่าอยากให้ทุกคนมองให้เห็นเบื้องหลังเหตุการณ์การลุกฮือระลอกใหม่ของชาวปาเลสไตน์ในวันที่ 7 ตุลาคม ที่เป็นการตอบโต้ของกลุ่มฮามาสเท่านั้น ปัญหาสำคัญคือมีการยึดครองยึดบ้านของชาวปาเลสไตน์มายาวนาน

อานัส ย้ำว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากประเด็นด้านมนุษยธรรมแล้ว ตนต้องการชี้ให้เห็นว่าทิศทางผู้คนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวรณรงค์ ไม่ใช่ท่าทีเดียวกันกับรัฐบาลไทยที่แสดงออกมา ตนต้องการสื่อสารให้ประชาคมระหว่างประเทศ และเพื่อนมนุษย์รับรู้ว่าการกระทำอันโหดร้ายต่อชาวปาเลสไตน์นั้นเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้

“สำหรับครอบครัวแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ เราเข้าใจดีในความสูญเสียเหล่านี้ ซึ่งในกิจกรรมของเรานั้น มีการเปิดรับบริจาคให้กับครอบครัวแรงงานไทยด้วย แต่เราอยากให้ทุกคนตระหนักว่าซึ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม หากเราไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจใด ๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คิดว่าเราอาจต้องพิจารณาความรู้สึกความเป็นมนุษย์ของเรา” อานัสกล่าว

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย อานัสกล่าวว่า รัฐบาลควรชี้แจงประเด็นการนำแรงงานไทยไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และรัฐต้องพิจารณาทบทวนการส่งแรงงานในพื้นที่เหล่านั้น ไม่ใช่แค่ปาเลสไตน์ รวมถึงเกาหลีใต้ หรือพื้นที่ความขัดแย้งที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตแรงงานชาวไทย  สอง ประเด็นที่เป็นจุดสนใจของสื่อต่างประเทศทั้งจากฮ่องกง จากโลกมุสลิมโลกมลายู กรณีที่มีการนำเสนอภาพข่าวอ้างว่าเป็นแรงงานไทยในอิสราเอลติดอาวุธและมีส่วนร่วมกับปฏิบัติของฝ่ายอิสราเอล 

ทั้งนี้ เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ในนาม JUST HOME อ่านแถลงการณ์เรียกร้องหยุดการโจมตีต่อพลเรือน และเปิดเส้นทางความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยเร็ว ชี้เป็นการกระทำที่ละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศมีการโจมตีบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลและรถพยาบาลเป็นจำนวนมาก โดยทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ในนาม JUST HOME ได้เรียกร้องให้  1.หยุดการโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์อย่างถาวรทั้งในฉนวนกาซ่าและฝั่งเวสต์แบงก์ 2. หยุดการปิดกั้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทุกรูปแบบรวมทั้งเปิดให้มีการลำเลียงและส่งปัจจัยยังชีพสาธารณูปโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพเข้าสู่พื้นที่อันได้แก่น้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค น้ำมัน ไฟฟ้าเป็นต้น 3.หยุดข่มเหงพลเรือนผู้บริสุทธิ์และหยุดจับกุมพวกเขาโดยไม่มีความผิด 4.หยุดทำลายทางสัญจรสาธารณะอันเป็นความจำเป็นต่อการช่วยเหลือมนุษยธรรม 5.หยุดพุ่งเป้าการโจมตีมายังโรงพยาบาล โรงเรียน สถานพยาบาลและค่ายผู้ลี้ภัย และเปิดทางให้มีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างสมบูรณ์  สุดท้าย เราขอเรียกร้องนานาชาติให้ช่วยกันปกป้องมนุษยธรรม ปกป้องมนุษยชาติจากการกระทำอันป่าเถื่อนของอิสราเอลทุกรูปแบบ

“การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับตนเองและลูกสาวที่กำลังเติบโตว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าของชีวิตที่เท่าเทียมกัน เรารับไม่ได้กับการสอนว่าชีวิตของมนุษย์ชาติพันธ์อื่นนั้นมีค่าน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงของเรา การกระทำอันโหดร้ายนั้นมาจากความเชื่อว่าตนเองเป็นชาติพันธ์ที่ดีมีค่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ” ผู้เข้าร่วมกิจกรรม I PROMISE กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net