Skip to main content
sharethis

สส.ก้าวไกล จี้ผู้บริหาร ก.ศึกษาธิการ กล้าคิดกล้าทำ เร่งแก้วิกฤตการศึกษาไทย หยุดแก้ไขแบบไม่แก้ไข ทำขอไปทีเพียงเพื่อลดกระแส ชี้คะแนน PISA ต่ำสุดรอบ 20 ปี สะท้อนหลักสูตรแกนกลางมีปัญหา แนะรัฐทบทวน ปัดฝุ่นดึงหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ - นำ กมธ.ความมั่นคงฯ ลงพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี แก้ปัญหา ‘ยางพารานำผ่าน’ ส่งกลิ่น-กระทบการจราจรสังขละบุรี ‘ปิยรัฐ’ เผย ศุลกากร-กรมวิชาการเกษตร เถียงวุ่นนำผ่าน ‘น้ำยาง’ ได้หรือไม่ คาดเชิญอธิบดีหารือ 21 ธ.ค.นี้


ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

19 ธ.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งข่าวว่าปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch นโยบายการศึกษา หัวข้อ “วิกฤติการศึกษาไทย แก้ไขแบบไม่แก้ไข” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาหลายประเด็นในโลกออนไลน์ แต่ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ มักออกมาพูดถึงปัญหาแบบขอไปทีเพียงเพื่อลดกระแส เหมือนแก้ไขแต่ไม่แก้ไข ส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด ตนจึงแถลงเพื่อจับตาการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา ทั้งหมด 3 ประเด็น

ประเด็นแรก กรณีความผิดพลาดของข้อสอบวิชาเฉพาะ TPAT1 การวัดความถนัดทางวิชาชีพแพทย์ ในส่วนที่วัดเชาวน์ปัญญา ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีความคล้ายข้อสอบ BMAT (BioMedical Admissions Test) ที่ออกโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เพียงแปลเป็นภาษาไทยแต่ไม่มีการเปลี่ยนโจทย์หรือตัวเลือก

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการเปิดเผยข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็น TGAT หรือ TPAT หรือ A-level จึงเปิดช่องให้เกิดความไม่โปร่งใส หลังจากนักเรียนที่เข้าสอบมีการจำคำถามและคำตอบเพื่อแชร์ข้อสอบร่วมกัน พบว่าข้อสอบที่จำมาไปตรงกับข้อสอบ BMAT ประมาณ 8-11 ข้อ จาก 45 ข้อ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ โดยข้อสอบ TPAT1 มีค่าธรรมเนียมสอบประมาณคนละ 800 บาท มีผู้เข้าสอบราว 60,000 คน กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ในฐานะผู้ออกข้อสอบได้เงินประมาณ 48 ล้านบาท แต่กลับออกข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน ตนจึงขอเรียกร้องให้ กสพท. ตอบคำถามประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนและผู้ปกครอง

ปารมีกล่าวว่า ประเด็นต่อมา คือปัญหาคะแนน PISA ที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อลองดูข้อสอบของ PISA เทียบกับหลักสูตรการเรียนการสอนและตำราเรียนต่างๆ ของเด็กไทย จะพบว่าไม่ตรงกัน สะท้อนว่าหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันมีปัญหา 8 กลุ่มสาระที่นักเรียนไทยต้องเรียน ไม่ตอบโจทย์การศึกษาในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน กระทั่งไม่ช่วยในการทำข้อสอบ PISA

ทั้งที่เด็กไทยเรียนหนัก 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่เมื่อดูคะแนนสอบต่างๆ จะพบว่าคะแนนตกต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่ท่าทีของกระทรวงศึกษาธิการ มักออกมารับลูก สั่งการให้ไปดูตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่เคยแก้ไขลงลึกไปถึงต้นตอ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันส่งเสียงไปยังผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าหลักสูตรที่เน้นท่องจำ ไม่ต่อยอดไปสู่การคิดวิเคราะห์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยน ทางออกที่พรรคก้าวไกลและนักวิชาการจำนวนมากเห็นตรงกัน คือการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

“นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมร่างไว้แล้ว แต่เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมากลับมีการระงับ จึงขอให้ผู้บริหารกระทรวงทบทวนหลักสูตรแกนกลาง ปัดฝุ่นหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้าน พร้อมกับ RUN (Reskill - Upskill - New skill) หรือการฟื้นฟูทักษะ เพิ่มทักษะ ใส่ทักษะใหม่ให้คุณครู เพื่อให้สามารถใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะกับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ปารมีกล่าว

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า คะแนน PISA ยังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงมากของการศึกษาไทย เพราะเมื่อจำแนกคะแนนตามกลุ่มโรงเรียน จะพบว่าโรงเรียนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และโรงเรียนสาธิต ซึ่งผู้มีโอกาสเข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในขณะที่โรงเรียนกลุ่มอื่นมีคะแนนต่ำกว่า จึงเห็นได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ต้องมาพร้อมกับปากท้องอิ่ม การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงต้องแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควบคู่กัน แยกกันไม่ได้

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ OECD มีการสอบถามนักเรียนผู้เข้าสอบ PISA ถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ผลออกมาว่าเด็กไทยจำนวนมากยังอดมื้อกินมื้อ เช่น นักเรียน 13.5% อดอย่างน้อย 1 มื้อต่อสัปดาห์ นักเรียน 5.8% อดข้าวทุกวันหรือเกือบทุกวันต่อสัปดาห์

ประเด็นสุดท้าย คือความท้าทายในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส ที่มักมีปัญหาด้านงบประมาณและภาระงานของครู ตั้งแต่งานสอน งานเอกสาร จนถึงงานนอนเวรที่ดึงครูออกจากห้องเรียน เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้หาก รมว.ศึกษาธิการ ค้นหาว่าอะไรเป็นภาระนอกเหนืองานสอน และลงนามในประกาศหรือระเบียบของกระทรวง

พร้อมกันนี้ ปารมีเสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งมาจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่มี กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เป็นรองประธาน และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นรองประธานร่วม ข้อเสนอนี้ผ่านมา 3 ปี แต่ผู้บริหารกระทรวงยังไม่ขยับเอาไปใช้จริง

1.จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กให้แตกต่างไปจากปัจจุบันที่ใช้ “เงินอุดหนุนรายหัว” เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนจำนวนน้อย โดยอาจใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียน (Fundamental School Quality Level: FSQL) ตามระบบของธนาคารโลกซึ่งเคยใช้ที่เวียดนาม เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนทันที

2.เพิ่มแรงจูงใจให้ครู เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพ การประเมินวิทยฐานะที่ต้องแตกต่างออกไป

3.จัดครูธุรการและภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน และเกลี่ยอัตรากำลังครูให้เหมาะสม

4.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้ยืดหยุ่น เพราะนักโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนมีความพร้อมแตกต่างกัน

5.จัดหาสื่อการเรียนที่เหมาะสมและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอน

6.ปรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมสร้างระบบรับผิดชอบของ ผอ. เช่น มีการประกาศสู่ชุมชนรอบข้างว่าจะพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กภายในกี่ปี มีระบบตรวจสอบว่า ผอ. ทำได้จริงตามที่สัญญามากน้อยแค่ไหน

7.แก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก

8.ปรับระบบการผลิตและการพัฒนาครู

9.ให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

10.ถ้าจำเป็นต้องยุบหรือควบรวมโรงเรียน รัฐต้องจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้นักเรียน เช่น รถรับส่ง คูปองค่าเดินทาง ทั้งนี้ ต้องมีการสอบถามความเห็นจากชุมชน ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของชุมชน (Small Protected Schools) เช่น อยู่บนเกาะหรือบนภูเขา อาจจำเป็นต้องมีอยู่ แต่รัฐต้องเสริมทรัพยากรเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอวิงวอนให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการมีความกล้าคิดกล้าทำ ออกนอกกรอบเดิมๆและขอให้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือนักเรียนไทย ช่วยเหลือครูไทย ช่วยเหลือผู้ปกครอง เราจึงจะแก้วิกฤตการศึกษานี้ได้” ปารมีทิ้งท้าย

นำ กมธ.มั่นคงฯ ลงพื้นที่กรณี ‘ยางพารานำผ่าน’

เมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. 2566 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตามข้อร้องเรียนของประชาชน นำโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ., ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย, ยูนัยดี วาบา สส.พรรคประชาธิปัตย์, ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ร่วมเดินทางไปด้วย

โดยในวันที่ 17 ธ.ค. กมธ.ความมั่นคงฯ ได้ลงพื้นที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นด่านผ่อนปรนชั่วคราวที่เดิมที่เคยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามไปมาได้ระหว่างไทย-เมียนมาร์ แต่ในช่วงสองปีหลังการรัฐประหารในเมียนมาร์ ด่านพรมแดนนี้ถูกปิดไปแต่ยังสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำคัญสำหรับการอุปโภคบริโภคที่เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนโดยไม่เสียภาษี ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนมาว่า มีการลำเลียง “ยางพารา” ผ่านแดนโดยไม่เป็นการนำเข้า เรียกว่า “การนำผ่าน“ หมายความว่าไม่ใช่การนำเพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยแต่เป็นการนำเข้ามาผ่านไทยและไปออกอีกด่านหนึ่งของไทยเพื่อไปยังประเทศที่สามโดยประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้ โดยมีการนำผ่านยางพาราส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงฯ เผยว่า การนำผ่านลักษณะนี้ ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลยนอกจากค่าธรรมเนียม 650 บาทต่อรถบรรทุก 1 คัน ถนนพังเสียหายอีกเรื่องหนึ่งเพราะเป็นข้อตกลงภายในอาเซียน

นอกจากนี้ ประชาชนได้ร้องเรียนมาว่า มีการลักลอบสำแดงปริมาณยางพาราเท็จ ทำให้เกิดยางพาราเถื่อนที่ราคาถูกกว่าเข้ามาในประเทศไทย กระทบต่อตลาดยางในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีมีปัญหา แต่ยังมีผลกระทบมากกว่านั้นคือเรื่องกลิ่นของน้ำยางสด ที่มีกลิ่นรุนแรงมาก

“จากการเห็นสภาพหน้างานจริง เห็นว่าตรงลานจอดรถนักท่องเที่ยวเดิมที่ด่านฯ ถูกแปลงเป็นลานจอดรถเทรลเลอร์ รถบรรทุกสิบล้อ จำนวนนับสิบๆ คันต่อวัน เพื่อที่จะมาถ่ายน้ำยางจากรถบรรทุกฝั่งเมียนมาร์ให้รถบรรทุกฝั่งไทย เป็นการ transit ยาง แล้วขับไปส่งที่ประเทศมาเลเซีย เกิดความ แออัดของด่านเต็มไปด้วยรถบรรทุกและเกิดกลิ่นน้ำยางสด จนภายหลังไม่อนุญาตให้ส่งน้ำยางสด เปลี่ยนเป็นยางแผ่นรมควัน และกระทบต่อช่องทางเดินรถของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสังขละบุรี เพราะเป็นทางขึ้นเขาลงเขาที่มีเพียง 2 ช่องจราจร รถติด นักท่องเที่ยวไม่อยากมา จึงเป็นปัญหาสะสมของชาวสังขละบุรีที่เดิมมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว” ปิยรัฐกล่าว

ปิยรัฐ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. หลังลงพื้นที่ กมธ.ได้เรียกประชุมหน่วยงานท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ประกอบด้วย รณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี, พ.อ.สุรเดช เมฆานุวงศ์ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า, อิศเรศ รุ่งเรืองชนบท นายด่านศุลกากรสังขละบุรี, ตัวแทนกรมวิชาการเกษตร จ.กาญจนบุรี ร่วมประชุมเพื่อพูดคุยหาทางออก ซึ่งในที่ประชุมมีการถกเถียงกันในประเด็นการนำผ่านยางพารา

โดยผู้แทนกรมวิชาการเกษตร จ.กาญจนบุรี ยืนยันว่าอนุญาตให้นำเข้าเพียงยางแผ่นรมควันเท่านั้น ไม่สามารถนำน้ำยางสดเข้ามาได้ แต่ในขณะเดียวกัน นายด่านศุลกากรก็ยืนยันว่าไม่ว่ายางประเภทอะไรก็สามารถนำเข้ามาได้เพราะเป็นเพียงแค่การผ่านแดนไม่ได้เป็นการนำเข้า มีการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507

ซึ่ง กมธ. มีความเห็นว่าศุลกากรมีอำนาจในการตรวจสินค้าทุกชนิดที่มีการผ่านแดนเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือนำผ่าน ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะละเว้นเพราะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ได้ และไม่สามารถอ้างหลักความบริสุทธิ์ใจได้ เพราะกรมศุลกากรมีหน้าที่ตรวจตราแทนพี่น้องประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กมธ.ยังคาใจ จะมีการเรียกสอบถามไปยังอธิบดีกรมศุลกากรอีกครั้ง ว่ามีอำนาจบังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร ในกรณีนี้ได้หรือไม่ รวมถึงสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตรว่า สามารถนำผ่านน้ำยางพาราได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.กักพืช คาดว่าจะมีการประชุมกับระดับอธิบดีในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปการแก้ปัญหาเบื้องต้นจากทางนายอำเภอสังขละบุรีว่า ได้มีการระงับการนำเข้าหรือผ่านแดนยางสดแล้วเนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อประชาชน ซึ่ง กมธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่าไม่มีการขนย้ายยางสดแล้ว ส่วนเรื่องปริมาณรถบรรทุก ที่จากเดิมสามารถขนส่งได้ไม่จำกัดจำนวนต่อวันเป็นการจำกัดที่ 30 คันต่อวัน และไม่อนุญาตให้เดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยอนาคตอาจจะมีการพิจารณาให้ขนส่งรถบรรทุกได้เฉพาะเวลากลางคืนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงการพิจารณาจุดผ่อนปรนผ่านแดนจุดอื่น ซึ่งจะมีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้น ปิยรัฐ ยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า ลักษณะชายแดนบริเวณใกล้กับด่านเจดีย์สามองค์นั้น มีความเสี่ยงต่อการขนสิ่งของผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ เพราะมีบ้านเรือนประชาชนจำนวนหลายหลังที่มีทะเบียนบ้านของไทย แต่เมื่อเข้าทางหน้าบ้านแล้วทะลุออกหลังบ้านเป็นเขตแดนของประเทศเมียนมาร์ แม้ลักษณะบ้านจำพวกนี้จะไม่หรูหรา แต่มีราคาสูงหลักสิบล้านบาท กมธ.ได้ลงพื้นที่ไปดูมาแล้วและได้ถามไปในที่ประชุมแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ มีการยอมรับว่ามีบ้านลักษณะนี้จริง ยากต่อการจัดการของเจ้าหน้าที่เพราะเป็นบ้านที่มีโฉนดที่ดิน มีบ้านเลขที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net