Skip to main content
sharethis

ผ่านครึ่งทางกระบวนการ SEA แผนแม่บทพัฒนาสงขลา-ปัตตานี ชู 4 เป้าหมาย “สร้างสรรค์ มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นธรรม” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ข้อมูลน่าตกใจ สงขลาเศรษฐกิจดีกว่าปัตตานีเกือบ 5 เท่า แนะเร่งพัฒนาหวั่นจะยิ่งทิ้งห่างไปเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจบริการป้องกันประเทศพุ่งสูงในปัตตานี เผยพบศักยภาพหลายด้าน ทั้งด้านประชากร ประมง พลังงานทดแทน และการศึกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่านครึ่งทางกระบวนการ SEA แผนแม่บทการพัฒนาสงขลา-ปัตตานี

จัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี เดินทางมาเกือบถึงครึ่งทางแล้วแล้ว นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 หรือ 2 ปีเต็มนับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติรับข้อเสนอของ ”เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ให้จัดทำ SEA เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564

ทั้งนี้ เนื่องจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมเรียกร้องให้ชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อันเป็นส่วนหนึ่งของการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สู่เมืองต้นแบบที่สี่ คือ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ถูกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นต่อต้านอย่างหนัก

โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันจัดทำ SEA และแผนแม่บทต่างๆ โดยให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วม ทางสภาพัฒน์ จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ดำเนินการในระยะเวลา 18 เดือน นับจากเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยเป็นการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA มี 6 ขั้นตอนหลัก และใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 8 ครั้ง รวม 40 เวที มีผู้เข้าร่วม 3,000 คน ในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี 

ทั้ง 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1.กำหนดขอบเขตของ SEA 2.การพัฒนาทางเลือกการพัฒนา 3.การประเมินทางเลือก 4. การกำหนดมาตรการเพื่อความยั่งยืน 5.การจัดทำแผนติดตามและประเมินผล และ 6.การจัดทำรายงาน SEA

เสนอศักยภาพพื้นที่-สร้างทางเลือกการพัฒนาเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในเดือน ธ.ค. 2566 กระบวนการจัดทำรายงาน SEA อยู่ในช่วงการระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 4 ได้ แก่เวทีที่ 15-20 โดยเมื่อวันที่ 16 - 17 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรม ซี.เอส. จ.ปัตตานี เป็นเวทีที่ 15-16 มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประมาณ 300 คน จากกลุ่มเป้าหมายด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอสรุปผลการศึกษาที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของพื้นที่ศึกษา และแผนที่ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี 

และรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัด และศักยภาพที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อนำมาจัดทำ (ร่าง) รายงานการกำหนดขอบเขต และใช้ประกอบการจัดทำแผนแม่บทฯ ในส่วนของการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาของแผน ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการระดมสมองจากผู้มีส่วนได้เสีย เรื่อง ทางเลือกการพัฒนาเบื้องต้น

ส่วนเวทีที่ 17-19 จัดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลา จากนั้น คณะที่ปรึกษาฯ จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทั้ง 5 เวทีข้างต้น ไปนำเสนอในเวทีสรุปวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

4 ประเด็นยุทธศาสตร์ “สร้างสรรค์ มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นธรรม”

สำหรับ (ร่าง) เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตัวชี้วัด สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลาและ จ.ปัตตานี ที่มีการนำเสนอในเวทีที่ 15-19 ในเบื้องต้นได้ระบุเป้าหมายการพัฒนา คือ “มหานครแห่งความสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม” แต่ข้อความนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง

ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์ มี 4 ประเด็น ได้แก่ 

1. การยกระดับเศรษฐกิจเดิม และสร้างเศรษฐกิจใหม่อย่างสร้างสรรค์
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
3. การสร้างสรรค์สังคมเป็นธรรมและเป็นสุข
4. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จ.สงขลาและ จ.ปัตตานี

ทั้งนี้ แต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ คณะที่ปรึกษาได้นำเสนอผลจากการวิเคราะห์ SWOT (จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและศักยภาพ) ที่เกี่ยวข้องมีหลากหลายประเด็น

สงขลาเศรษฐกิจดีกว่าปัตตานี เกือบ 5 เท่า 

ทั้งนี้ ในเวทีที่ 15 ดร.สินาด ตรีวรรณไชย (ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐาน ทำให้เห็นตัวเลขความแตกต่างของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของ 2 จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี อย่างมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นศักยภาพในด้านการพัฒนาในหลายประเด็นด้วยกัน 

โดย จ.สงขลามีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Products: GPP) ปี 2564 อยู่ที่ 253,229 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเกือบ 5 เท่าของ จ.ปัตตานี ที่มีขนาด 50,600 ล้านบาท โดย จ.สงขลา ประชากรมีรายได้ 145,123 บาทต่อคนต่อปี ส่วน จ.ปัตตานีมีรายได้ประชากร 78,131 บาทต่อคนต่อปี ส่วนตัวเลขอื่นๆ ก็มีความแตกต่างกันมากเช่นกัน 

ขณะที่มูลค่าการส่งออก จ.สงขลา อยู่ที่ 232.7 พันล้านบาท มีมูลค่าการนำเข้า 37.8 พันล้านบาท ส่วน จ.ปัตตานี มีมูลค่าการส่งออก 4.2 พันล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 1.7 พันล้านบาท
จ.สงขลา รายได้จากการท่องเที่ยว 1.57 หมื่นล้านบาท ส่วน จ.ปัตตานี มีรายได้จากการท่องเที่ยว 565 ล้านบาท 

จากข้อมูลดังกล่าว ดร.สินาด ได้เสนอผลสรุปเป็นภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่าง จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ปี 2539 ถึงปี 2563 คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของจังหวัดสงขลามีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของจังหวัดปัตตานีมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้ และมีแนวโน้มลดลง

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาพึ่งพาสาขาบริการเป็นหลัก ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมมี สัดส่วนใน GPP เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสาขาเกษตรกรรมมีสัดส่วนลดลง โดยสาขาการผลิตที่มีขนาดใหญ่สุด 5 อันดับแรก ของ จ.สงขลา ได้แก่ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (20.06 % ของ GPP) การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ (12.60 %) เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง (12.19 %) การศึกษา (10.02 %) และ การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน (9.24 %)

เศรษฐกิจบริการป้องกันประเทศ พุ่งสูงในปัตตานี

ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานีเปลี่ยนจากการพึ่งพาสาขาเกษตรกรรมมาเป็นสาขาบริการมากขึ้น โดยเฉพาะบริการจากภาครับที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

โดยสาขาการผลิตที่มีขนาดใหญ่สุด 5 อันดับแรกของ จ.ปัตตานี ได้แก่ เกษตรกรรม (22.93 %), การบริหารราชการ การป้องกันประเทศฯ (19.25%) การศึกษา (16.20%) การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ (12.05 %) และ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (8.58 %)

แนะเร่งพัฒนาปัตตานี ห่วงสงขลาดูดความเจริญไปหมด

จากข้อมูลดังกล่าว รศ.ดร.ซุกรี  หะยีสาแม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงความคิดเห็นว่า ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่าง จ.สงขลาและ จ.ปัตตานี มีความแตกต่างกันมากจะทำอย่างไรที่จะเร่งการพัฒนา จ.ปัตตานี ให้เร็วขึ้น แม่ไม่สามารถเทียบเท่ากับ จ.สงขลา แต่ก็ไม่ให้ทิ้งหางกันมากเกินไป

โดยที่ผ่านมา พบว่า เมื่อมีการรวมพื้นที่ จ.สงขลา กับ จ.ปัตตานี อยู่ในแผนพัฒนาเดียวกันแล้ว จ.สงขลามักจะดูดความเจริญจะไปจาก จ.ปัตตานี แต่ใช้สถานการณ์ของ จ.ปัตตานี เป็นเหตุผลในการพัฒนา จ.สงขลา ทำให้เศรษฐกิจของ จ.ปัตตานี ถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ

ประชากรหนาแน่น ได้เปรียบในการพัฒนาเมือง

ดร.สินาด ยังได้นำเสนอข้อมูลเรื่องการกระจายตัวของประชากรใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ด้วยว่า มีศักยภาพในการพัฒนาให้มีความเป็นเมืองแห่งอนาคตได้ โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นเมือง เพราะการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่ก็จะได้เปรียบ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วมีคนใช้เยอะก็จะเป็นประโยชน์มาก เพราะความหนาแน่นสูง

ทั้งนี้ จ.สงขลามีพื้นที่มากกว่า จ.ปัตตานี และมีจำนวนประชากรมากกว่า จ.ปัตตานี โดย จ.สงขลา มีประชากร 1.7 ล้านคน (15%ของภาคใต้) ส่วน จ.ปัตตานี มีประชากร 6.5 แสนคน (7%ของภาคใต้) 

ศักยภาพด้านประมง พลังงานทดแทน

ศักยภาพด้านต่อมาคือ การประมง เพราะจากการสำรวจข้อมูลจากแผนที่ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ พบว่า พื้นที่ด้านประมงทะเล เขต 9 (สงขลา-ปัตตานี) แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์สูงขึ้นมากในปี 2565 โดยมีปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (CPUE) ที่สูงมากถึง 35 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งพื้นที่อ่าวไทยมี 3 เขตที่มี CPUE สูง คือ เขต 6 (ชุมพร-สุราษฎร์ธานี) และเขต 1 (จ.ตราด)

นอกจากนี้จากการสำรวจ ยังพบข้อมูลว่า มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ แม้จะยังไม่ดีมากนัก เช่น การเกษตร การค้าขาย การแปรรูปสินค้าเกษตร ที่น่าสนใจคือ ศักยภาพเรื่องพลังงานทดแทนหลายอย่าง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ 

ปัตตานี การศึกษาเติบโต แต่คุณภาพยังไม่ดี

ดร.สินาด ยังระบุด้วยว่า จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี พบว่า ด้านการศึกษามีการเติบโตมาตลอด โดยมีปริมาณสถานศึกษาจำนวนมาก แต่ผลการไม่ดี จะทำอย่างไรให้มีผลการศึกษาที่ดีขึ้น รวมถึงการจ้างงานด้วย หมายถึงจะต้องพัฒนาทักษะด้วย ไม่ว่าการศึกษาในระบบหรือการศึกษาศาสนา ต้องให้สามารถพัฒนาในเรื่องอาชีพได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาและสำรวจข้อมูล ยังมีการค้นศักยภาพในการพัฒนาอีกหลายด้านทั้งในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ซึ่งคณะที่ปรึกษาจะรวบรวมและนำเสนอในภาพรวมอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค. 2566 นี้ ที่โรงแรมสยามออเรียนทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

อ่านเอกสารประกอบเวทีได้ที่นี่

ติดตามกระบวนการ SEA ได้ที่เพจ 
SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี https://www.facebook.com/SEASongkhlaPattani
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net