Skip to main content
sharethis

'365 วัน พันเหตุการณ์' ปี 2566 นับเป็นปีที่เกิดเรื่องราวมากมาย เหตุการณ์ที่ 'ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น' ทั้งชัยชนะของพรรคก้าวไกลในสนามเลือกตั้งระดับประเทศ การกลับไทยของ 'วัชรเรศร' และอดีตนายกฯ ทักษิณ รวมถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเพื่อสิทธิประกันตัวด้วยวิธีสุดขั้วที่แทบไม่เกิดขึ้นมาก่อน ประชาไทขอชวนผู้อ่านย้อนดู 12 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน เกิดอะไรขึ้นบ้างในปี 2566

16 มกราคม: 'แบม-ตะวัน' ถอนประกันตัวเอง อดอาหาร-น้ำแลกชีวิต เพื่อสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง

จั่วหัวต้นปี 2566 ด้วยการต่อสู้ของนักกิจกรรมอิสระ 'แบม' อรวรรณ ภู่พงษ์ และ 'ตะวัน' ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เมื่อ 16 มกราคม 2566 ทั้งสองคนประกาศขอถอนประกันตนเอง เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิประกันตัวของเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมือง พร้อมกับแถลงข้อเรียกร้อง 3 ข้อสื่อสารถึงกระบวนยุติธรรม และพรรคการเมืองในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ได้แก่ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และ 3. พรรคการเมืองในลงเลือกตั้งต้องมีนโยบายประกันเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 

'แบม-ตะวัน' ประกาศถอนประกันตัวเอง และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าป้ายศาลฎีกา (ถ่ายโดย แมวส้มประชาไท)

อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 2 วัน แต่ข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบรับ เมื่อ 18 มกราคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก 'Tawan Tantawan' ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอแถลงยกระดับการต่อสู้โดยการอดอาหารและอดน้ำ (Dry Hunger Strike) ซึ่งเป็นวิธีที่อันตรายต่อสุขภาพและชีวิต

สองนักกิจกรรมกระทำอารยขัดขืนอดอาหารและน้ำ สลับกับการอดอาหารอย่างเดียว รวมระยะเวลา 52 วัน หรือนับตั้งแต่ 18 มกราคม 2566 จนถึงระยะเวลา 11 มีนาคม 2566 แม้ว่าไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่อธิบายว่า การอารยขัดขืนของอรวรรณ และทานตะวัน ส่งผลกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมหรือการเมืองไทยอย่างไร แต่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความฯ เปิดเผยว่า ระหว่าง 52 วันที่ อรวรรณ และทานตะวัน อดอาหารประท้วง ไม่มีผู้ถูกคุมขังเพิ่ม ขณะเดียวกัน มีผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 4 ราย และมีผู้ยื่นคำร้องขอถอดกำไล EM และศาลอนุญาตอีกอย่างน้อย 34 ราย

หลังจากยุติอดอาหารและน้ำ ทั้งสองคนเข้ารับการรักษาตัวจนสุขภาพร่างกายดีขึ้น ก่อนออกมากิจกรรมการเมือง เรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 และสิทธิการประกันตัวอีกหลายครั้ง อาทิ การไปทำกิจกรรมโพล 'เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิก/แก้ไขมาตรา 112' ตามเวทีปราศรัยของพรรคการเมืองพรรคต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง สส.ในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา การร่วมกิจกรรม 'เดินเพื่อเพื่อน' จากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไปที่บ้านปรานี จ.นครปฐม รวมระยะทาง 51 กม. เพื่อเรียกร้องปล่อยตัว ธนลภย์ ผลัญชัย หรือหยก เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เมื่อ 3-4 พฤษภาคม 2566 และอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 กุมภาพันธ์: เก็ท-จตุพล-ณัฐพล ฝืนตื่นประท้วง เรียกร้องสิทธิประกันตัว 

คู่ขนานกับการอดอาหารและน้ำของทานตะวัน และอรวรรณ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จตุพล (สงวนนามสกุล) และณัฐพล (สงวนนามสกุล) สองนักกิจกรรมจากทะลุแก๊ซ ได้ร่วมกันประท้วง 'ฝืนตื่น' เพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของอรวรรณ และทานตะวัน และสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การประท้วงโดยการฝืนตื่น หรือการประท้วงโดยไม่ให้ตัวเองนอนหลับตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายใกล้เคียงกับการอดอาหารและน้ำประท้วง โดยเก็ท ฝืนตื่นประท้วง เป็นระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่ 7-20 กุมภาพันธ์ จตุพล และณัฐพล ประท้วงโดยการฝืนตื่นตั้งแต่ 7-10 กุมภาพันธ์ รวมระยะเวลา 4 วัน แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

28 มีนาคม: ปฏิบัติการรณรงค์ยกเลิก มาตรา 112 ที่ใกล้วังมากที่สุด

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 28 มีนาคม 2566 เมื่อมีศิลปินอิสระจากจังหวัดขอนแก่น 'บังเอิญ' ศุทธวีร์ สร้อยคำ อายุ 25 ปี ได้ใช้สีสเปรย์สีดำระบายบนกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ถนนหน้าพระลาน ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง เป็นสัญลักษณ์ 'อนาคิสต์' ขีดฆ่า 112 และตัวอักษรภาษาอังกฤษ 'P' ซึ่งตั้งใจจะเขียนเป็นคำว่า 'People' (ประชาชน) แต่ถูกตำรวจรวบตัวก่อนจะเขียนข้อความเสร็จ

บังเอิญ ถูกตำรวจจับกุมขณะพยายามพ่นสเปรย์กำแพงวัดพระแก้ว (ถ่ายโดย แมวส้มประชาไท)

ศิลปินวัย 25 ปี ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ สน.พระราชวัง ทันที โดยบีบีซีไทย ได้บรรยายเหตุการณ์นี้ว่านี่เป็นปฏิบัติการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ที่ใกล้วังมากที่สุดนับตั้งแต่การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ถูกจุดติดเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา 

บังเอิญ ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาด และไม่มีข้อหามาตรา 112 ก่อนได้รับการประกันตัวชั้นสอบสวนในวันที่ 29 มีนาคม โดยศาลให้วางเงิน 50,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามกระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

29 มีนาคม: 'หยก' เยาวชนวัย 15 ปี ผู้ต้องหา ม.112 ถูกคุมขังที่สถานพินิจในจังหวัดนครปฐม 51 วัน 

29 มีนาคม จนถึง 18 พฤษภาคม 2566 เป็นช่วงเวลาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ออกหมายควบคุมตัว 'หยก' ธนภลย์ ผลัญชัย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี (บ้านปรานี) จังหวัดนครปฐม รวมระยะเวลา 51 วัน หลังเธอถูกจับกุมจากหมายจับที่ สน.สำราญราษฎร์ และแจ้งข้อหามาตรา 112 กรณีแสดงออกทางการเมืองในกิจกรรม "13 ตุลา หวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป" ณ ลานเสาชิงช้า เมื่อปี 2565 

'หยก' ได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปรานี (ภาพถ่ายโดย แมวส้มประชาไท)

สำหรับธนภลย์ ผลัญชัย เป็นหนึ่งในเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 และก่อนหน้าที่เธอจะถูกจับกุม เธอเคยถูกตำรวจสันติบาลมาหาที่บ้าน และโรงเรียน และเจ้าหน้าที่มีการพูดคุกคามผู้ปกครองของเธอ เช่น ควรให้ลูกไปพบจิตแพทย์ หรือ "มีลูกแบบนี้ฆ่าตัวตายดีกว่า" และในช่วงที่อยู่ในสถานพินิจ เธอยังถูกประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ไลฟ์สดขู่ฆ่า หากไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม

การดำเนินคดีกับเยาวชน และการออกหมายขังที่นครปฐม เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามกับมาตรา 112 และกระบวนการดำเนินคดีกับเยาวชน ว่าเหมาะสมหรือไม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 เมษายน: นักกิจกรรมการเมืองถูกคนร้ายสวมหมวกกันน็อคใช้ไม้เบสบอลฟาดจนแขนหัก ใกล้ที่พักยามวิกาล

14 เมษายน เวลา 21.00 น. เวหา แสนชนชนะศึก ผู้ต้องหามาตรา 112 ได้ถูกชายใส่หมวกกันน็อคใช้ไม้เบสบอลฟาดเข้าไปที่แขนของเขาจนหัก รวมถึงมีรอยฟกช้ำทั่วบริเวณแขน ขา และแผ่นหลัง เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากเวหา และบังเอิญ เดินออกไปซื้ออาหารเย็นทาน และกำลังเดินกลับที่พักย่านนนทบุรี

โดยทางตำรวจใช้เวลาไม่นาน สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุที่ใช้ไม้เบสบอลตีจนแขนหัก 2 ใน 3 ของผู้ก่อเหตุทั้งหมด และทั้ง 2 คนภายหลังได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา 

ทั้งนี้ การก่อเหตุลอบทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม ตามการรายงานของสื่อมวลชน เกิดขึ้นครั้งสุดท้าย เมื่อ 28 มิถุนายน 2562 เป็นกรณี 'จ่านิว' สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ขณะนั้นเป็นนักกิจกรรมการเมือง ถูกคนร้ายใช้ไม้เบสบอลตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 พฤษภาคม : พรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ฉาบประเทศไทยเป็นสีส้ม

14 พฤษภาคม พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ อันดับ 1 สามารถเอกชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยได้ สส.เขต จำนวน 112 ที่นั่ง และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 39 ที่นั่ง รวมเป็น 151 ที่นั่ง แซงพรรคเพื่อไทย แชมป์เก่าโดยได้ สส.รวม 141 ที่นั่ง เฉือนไปเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น และอันดับ 3 คือพรรคภูมิใจไทย ของอนุทิน ชาญวีระกูล จำนวน 71 ที่นั่ง 

ทุกคนทราบตอนจบว่า พรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่ผ่านเสียงโหวตของรัฐสภา แต่สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เคยนิยามว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกลเปรียบเสมือน ‘ทอร์นาโดแห่งความเปลี่ยนแปลง’ เนื่องจากสะท้อนความต้องการความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ไม่ได้แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่เป็นคนทุกวัย และในห้วงเวลาเดียวกัน ก็เป็นความเสื่อมมนต์ขลังของระบบ 'บ้านใหญ่' หรือระบบอุปถัมภ์ดูแลพื้นที่ ในการเลือกตั้ง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลช่วงเวลานั้น ปราศรัยใหญ่หาเสียงครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

5 สิงหาคม: 'วัชรเรศร' แลนดิ้งไทยครั้งแรกในรอบ 27 ปี

วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารชื่อดัง รายงานว่า เมื่อช่วงกลางดึกของ 5 สิงหาคม วัชรเรศร วชิรเวช อายุ 42 ปี พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี พร้อมกับมีภาพของเขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ และจะใช้เวลาอยู่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ 

ภาพของ 'วัชรเรศร' กลับมาเยี่ยมประเทศไทยครั้งแรก (ที่มา: เฟซบุ๊ก Vacharaesorn Vivacharawongse)

ไม่ได้มาแค่หนึ่ง แต่เมื่อ 13 สิงหาคม จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ อายุ 40 ปี พระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยเช่นกัน และอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อมารับพี่ชาย 'วัชรเรศร' กลับสหรัฐฯ ด้วยกัน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม

นอกจากนี้ วัชรเรศร ไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว เพราะในปีเดียวกัน วัชรเรศร กลับมาประเทศไทยอีกครั้งราว 4 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวยืนยันว่ามาเป็นการส่วนตัว เพื่อร่วมกิจกรรมในช่วงวันพ่อ 5 ธันวาคม โดย วัชรเรศร อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 14 วัน ก่อนเดินทางกลับในวันที่ 18 ธันวาคม 

ทั้งนี้ การกลับมาของวัชรเรศร ทั้ง 2 ครั้ง มีความน่าสนใจจากสาธารณชนและสื่อมวลชนอย่างมาก เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคำถามอนาคตของการสืบสันตติวงศ์หลังรัชกาลที่ 10 หลัง 'เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ' ยังอยู่ในระหว่างประชวร ตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

22 สิงหาคม: 'ทักษิณ' กลับไทยในรอบ 15 ปี-'เพื่อไทย' ตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ไม่ได้มีแค่วัชรเรศร และจักรีวัชร เท่านั้นที่ได้กลับบ้าน เพราะว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น. 'เรื่องที่ไม่คิดจะได้เห็น ก็ได้เห็น' ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อายุ 72 ปี หลังจากบอกว่าจะกลับบ้านมาหลายต่อหลายรอบ ได้นั่งเครื่องบินแลนด์ดิ้งท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทย ซึ่งเป็นการกลับไทยในรอบ 15 ปีกับอีก 22 วัน และเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เขาถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549

ทักษิณ กลับไทย (ถ่ายโดย คชรักษ์ แก้วสุราช)

ทั้งนี้ การกลับมาของทักษิณ เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังพรรคเพื่อไทย แถลงต่อสื่อจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง โดยไม่มีเงาของพรรคก้าวไกล ผู้ชนะการเลือกตั้ง สส.ครั้งล่าสุด ที่เคยร่วมกันจับมือเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตย ร่วม 8 พรรคการเมือง ก่อนหน้านี้

ในวันเดียวกัน หลังทักษิณ กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย พรรคเพื่อไทย ผ่านโหวตของรัฐสภาและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในวันเดียวกัน ส่งให้เศรษฐา ทวีสิน อดีตซีอีโอของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง 'แสนสิริ' ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยคะแนน 482 เสียง จาก 728 เสียงในรัฐสภา

นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจอย่างมากในทางการเมือง โดยมีผู้เชี่ยวชาญมองว่า การตั้งรัฐบาลครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยกมือโหวตลงมติ 'เห็นชอบ' ให้เศรษฐา พร้อมกับดับฝันของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีกระแสข่าวมาว่าต้องการเก้าอี้นายกฯ และการกลับมาของ 'ทักษิณ' ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลสำเร็จ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

22 สิงหาคม: 'ConforAll' ล่า 2 แสนรายชื่อใน 3 วัน สายฟ้าแลบ เสนอคำถามประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ทุกหมวดทุกมาตรา สสร.เลือกตั้ง 100%  

22-25 สิงหาคม กลุ่มสมัครอาสาล่ารายชื่อเพื่อเสนอคำถามทำประชามติ หรือ ConforAll ล่าลายเซ็นรวม 205,379 รายชื่อ ด้วยเวลาเพียง 3 วัน หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อ้างว่าไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในการเสนอคำถามตาม พ.ร.บ.ประชามติ ส่งผลให้ 4 หมื่นรายชื่อที่ระดมกันมาก่อนหน้านี้ในช่องทางออนไลน์ถูกปัดตกทันที และเกิดเป็นกระแสที่ประชาชนหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกันเปิดโต๊ะล่ารายชื่อเขียนด้วยมือ จนได้ลายเซ็นเกินเป้าหมายที่กำหนดจากเดิม 5,000 รายชื่อ เป็น 2 แสนรายชื่อในพริบตาเดียว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีม ConforAll ต้องเร่งรีบเสนอคำถามประชามตินั้น ก็เพื่อให้ทันการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก โดยอ้างอิงจากคำแถลงของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุไว้เมื่อ 2 สิงหาคม 2566 ตอนที่ยุติ MOU แนวทางการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วมเดิม (ซึ่งมีพรรคก้าวไกล) ว่า ในการประชุม ครม.ครั้งแรกจะให้มีการทำประชามติ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม.นัดแรก ที่ประชุมเพียงแค่ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 และเมื่อล่าสุด ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการฯ ออกแถลงแนวทางการทำประชามติ โดยระบุว่าจะถามประชามติ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 พร้อมทั้งเตรียมเสนอ ครม.ประมาณช่วงเดือนมกราคม 2567 หรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งหากเป็นการถามประชามตินี้จะไม่ตรงกับคำถามของ ConForAll ที่ต้องการแก้ไขทั้งฉบับ 

ทีมบรรณาธิการของประชาไท ได้ยกให้ "กลุ่มสมัครอาสาล่ารายชื่อเพื่อเสนอคำถามทำประชามติ" เป็น "กลุ่มบุคคลแห่งปี 2566" เนื่องจากการล่ารายชื่อ 2 แสนรายชื่อภายในระยะเวลาอันสั้น สะท้อนพลังของประชาชน และความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสังคมไทย เป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ทีม ConforAll

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

19 พฤศจิกายน: ภาคประชาชนเปิดตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 

19 พฤศจิกายน 'เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน' เปิดตัว "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ...." หรือ "ร่างนิรโทษกรรมประชาชน" โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อลบล้างความผิดของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม และแสดงออกทางการเมือง หวังลดความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ระหว่างฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้

ร่างกฎหมายนี้จะแบ่งคดีการเมืองที่ได้รับการนิรโทษกรรมเป็น 2 แนวทาง คือ คดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 คดีความ รวมถึงคดีมาตรา 112 และคดีที่ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาคดีการเมืองเพื่อการนิรโทษกรรม 

ทั้งนี้ การเปิดตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชน เกิดขึ้นหลัง 6 ตุลาคม 2566 พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

21 ธันวาคม: พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 4 ฉบับผ่านวาระแรก ลุยต่อชั้น กมธ. 

21 ธันวาคม iLaw รายงาน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ร่าง ประกอบด้วย 1. ร่างพรรคก้าวไกล 2. ร่างภาคประชาชน 3. ร่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ 4. ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ 

ทั้ง 4 ร่างมีใจความหลักสำคัญการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น เพื่อให้รับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคนไม่ว่าจะมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศใดก็ตาม

กระบวนการต่อไปคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เมื่อกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในวาระสอง และสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระสาม หลังจากพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามวาระเสร็จสิ้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาสามวาระต่อไป 

24 ธันวาคม: 'ชัยชนะฝั่งประชาธิปไตยอีกครั้ง' ทีมประกันสังคมก้าวหน้า คว้าชัยเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 6 ที่นั่ง 

24 ธันวาคม ทีมประกันสังคมก้าวหน้า นำโดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการ สามารถคว้าชัยชนิดแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ได้ทั้งหมด 6 ที่นั่ง จาก 7 ที่นั่ง ประกอบด้วย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ชลิต รัษฐปานะ สมาชิกสหภาพคนทำงาน ธนพงศ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษา MWG นลัทพร ไกรฤกษ์ นักสื่อสารและนักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ และสุดท้าย ลักษมี สุวรรณภักดี จากสหภาพแรงงานมอลลิเก้ เฮลท์ แคร์ และที่นั่งที่ 7 คนสุดท้าย คือ ปรารถนา โพธิ์ดี จากเครือข่ายพนักงานราชการไทย

ในวันเดียวกัน หลังทราบผลการเลือกตั้งกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว ษัษฐรัมย์ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า นี่เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้ง (ครั้งแรกคือการเลือกตั้ง สส. เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566) ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นหมุดหมายของการปักธงฝ่ายประชาธิปไตยทุกการเลือกตั้งนับจากนี้ และเป็นการนับหนึ่งการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า (ถ่ายโดย สหภาพคนทำงาน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net