Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อเบนาร์นิว 20 ปีแห่งความสิ้นหวัง และบาดแผลของคนชายแดนใต้ นักสิทธิมนุษยชนเชื่อ ยุบ กอ.รมน. ภาค 4 หรือถอนทหารพื้นที่ชายแดนใต้ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา


แฟ้มภาพสำนักข่าวอิศรา

สื่อเบนาร์นิว รายงานเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 ว่านับตั้งแต่เหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเผาโรงเรียน 20 แห่ง และปล้นปืน 413 กระบอก จากคลังแสงของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาสในช่วงดึกของวันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน ผ่านเวลามาแล้ว 20 ปี ไฟที่ลุกโชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เคยดับมอดลง

ชาวบ้าน ครอบครัวผู้สูญเสีย หรือแม้กระทั่งสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบ ยังมีความเชื่อเหมือนกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปลายด้ามขวาน ไม่มีทางจบลงง่ายๆ เช่นเดียวกับนักสิทธิมนุษยชนที่มองว่า ความต้องการของขบวนการฯ คือ เอกราช หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ต้องการเขตปกครองพิเศษ ดังนั้น การยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า หรือการถอนกำลังทหารจะไม่ช่วยแก้ปัญหา

“หลายปีที่ผ่านมา มีสมาชิกครอบครัวของผม 7 คน ที่ถูกยิง ถูกระเบิด แต่ตัวผมเองก็ยังเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งที่ความจริงเราเป็นผู้สูญเสีย มันโหดร้ายมากนะ ทุกวันนี้ ผมก็ทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากพยายามใช้ชีวิตให้ปกติ กรีดยาง ขายของ แล้วก็อยู่ให้ห่างจากเจ้าหน้าที่” อิมรอน ยูโซ๊ะ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ รัฐบาลเลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยการส่งฝ่ายความมั่นคงลงไปปฏิบัติงาน ทำให้ระหว่างปี 2547-2553 ชายแดนใต้มีทหาร ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กว่า 7.5 หมื่นนาย

ปี 2566 แม้จะมีแนวคิดลดกำลังพล แต่เจ้าหน้าที่ 5 หมื่นนายก็ยังปฏิบัติงานในพื้นที่ ตามวิธีคิดของฝ่ายรัฐ การมีกำลังพลจำนวนมากอาจป้องกันปัญหาได้ แต่ในมุมมองของคนท้องถิ่น การใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากก็อาจสร้างความไม่ไว้ใจได้เช่นกัน

“เชื่อว่า ครบรอบ 21 ปี ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะชาวบ้านยังสูญเสีย ยังถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ ผมไม่มีความหวังกับการพูดคุย เพราะเห็นแล้วว่า ทุกๆ ครั้ง ไม่มีอะไรที่จับต้องได้เลย แต่ก็อยากให้ทำต่อไป เผื่อว่า สักวันจะพอมีหวังขึ้นมาบ้าง” อิมรอน กล่าว 

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 2.22 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7.54 พันคน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 1.40 หมื่นชีวิต ในปี 2556 รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นทางออก แต่ถึงตอนนี้ผ่านมาแล้ว 11 ปี ชายแดนใต้ก็ยังไม่เคยได้พบกับสันติสุข

“เจ้าหน้าที่ทำร้ายเพื่อนเรา ความเจ็บปวดนี้ เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากร่วมขบวนการเพื่อแก้แค้น แต่ยังไม่ทันทำอะไร คนที่ทำร้ายเพื่อนเราก็กรรมตามสนอง รถคว่ำตาย ตอนนี้ เราไม่ได้ก่อเหตุแล้ว แต่ก็ยังอยู่แบบไม่มีความสุข เพราะเจ้าหน้าที่สงสัยทุกคน มองทุกคนเป็นฝ่ายตรงข้าม แบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะถ้ามันแก้ได้จริง ก็คงไม่ต้องรอถึง 20 ปี” มะ(สงวนนามสกุล) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กล่าว

ก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 คนในพื้นที่บอกให้รัฐบาลใช้พลเรือนแก้ปัญหา มีการเสนอให้ถอนกำลังทหารออกไป รวมทั้งเรียกร้องให้ยุบ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะหน่วยงานนี้ถูกมองว่ามีภาระงานซ้ำซ้อน และไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง 

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ซึ่งนับเป็นพลเรือนคนแรกที่ได้ทำหน้าที่นี้ เพื่อเจรจากับ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani- BRN) ที่นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือฮีพนี มะเระ) และตัวแทนจากมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อตั้ง “กลุ่มด้วยใจ” หลังจากที่ น้องเขยซึ่งเป็นเพียงพนักงานร้านล้างรถธรรมดาถูกคุมตัวด้วย ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และฆ่าคนตาย เป็นเวลาร่วม 2 ปี ก่อนที่สุดท้ายศาลจะตัดสินว่า เขาไม่มีความผิด กรณีดังกล่าวทำให้อัญชนาตระหนักว่า ชายแดนภาคใต้มีบางอย่างไม่ปกติ

“รัฐต้องยอมรับก่อนว่าความรุนแรงมาจากทั้งรัฐ และขบวนการฯ ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันเพื่อนำมาสู่ความเข้าใจ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด รัฐต้องแสดงความเป็นมิตรกับประชาชนอย่างจริงใจ เชื่อว่า การถอนทหาร หรือยุบ กอ.รมน. จะไม่ช่วยให้ปัญหาหมดไป แต่สิ่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ การเคารพสิทธิของประชาชน” อัญชนา กล่าว 

ท่ามกลางเสียงเรียกร้อง เศรษฐา ยังยืนยันว่า กอ.รมน. จำเป็น และไม่ควรยุบหน่วยงานนี้ ขณะเดียวกันในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 รัฐบาลใหม่ก็ได้เสนองบประมาณ 6.65 พันล้านบาทสำหรับแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร่วม 4 ร้อยล้านบาท

“จากการพูดคุยกับชาวบ้าน เอกราช คือสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ แต่เขาก็เข้าใจว่าการได้เอกราชเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลานี้ สิ่งที่เขาต้องการที่สุดจึงเป็น เขตปกครองพิเศษ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเลือกผู้นำของตัวเองตามกลไกประชาธิปไตย เขาไม่อยากถูกควบคุม เขาอยากได้อิสระในความคิด ดูแล และออกแบบนโยบายของพวกเขาเอง”

ในวาระครบรอบ 20 ปี จุดเริ่มต้นความขัดแย้งชายแดนใต้ระลอกใหม่ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความพร้อมที่จะมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน

“ยืนยันได้เลยว่า ประเทศไทยไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้ เพียงแต่ว่าเราต้องอยู่แบบพหุวัฒนธรรม อยู่ในสังคมที่มีหลากหลายทางวัฒนธรรม ในอนาคตข้างหน้าถ้าเกิดสถานการณ์ยุติ ไม่มีการก่อเหตุ ไม่มีการใช้อาวุธ ชายแดนใต้ก็จะกลับสู่ระบอบปกติ ถึงแม้ว่าในพื้นที่จะมีพี่ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องปากท้อง ซึ่งเรากำลังจะส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีกินดี” พล.ท. ศานติ กล่าว

นับตั้งแต่ปี 2547 ฝ่ายความมั่นคงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ตามแนวทางของรัฐบาล โดยรัฐบาลได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผ่านกฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.บ. อัยการศึกฯ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. กอ.รมน. ซึ่งกฎหมายพิเศษเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยเพื่อการสอบสวนได้สะดวก และยาวนานกว่ากฎหมายอาญาปกติ ทั้งการจับกุมยังไม่ต้องขออำนาจศาลก่อนดำเนินการด้วย

สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 คน นับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นจุดประทุของไฟความขัดแย้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net