Skip to main content
sharethis

จาก ปม มินิ วปอ. ที่มีชื่อ ' แพทองธาร' สมัคร พร้อมลูกหลานนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ในโอกาสนี้ชวนย้อนอ่านงานวิจัย 'เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ' ชี้เป็นช่องจัดตั้งหา "พวก" ส่งผลต่อความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและระบบประชาธิปไตย ขณะที่เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา 'เศรษฐา' เคยอัดกลางเวที วปอ. ชี้สร้างอภิสิทธิ์ชน เตือนเยาวชนจับตาอยู่

 

จากที่มีการเปิดเผยว่า แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงเจตจำนง สมัครเข้าเรียน หลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) หรือ มินิ วปอ. รุ่นแรก National Defence Course for Future Leader (NDCFL)  มินิวปอ.รุ่น1 ในโควตาการเมือง ส่งผลให้เกิดความสนใจและกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะบรรดารายชื่อภาคการเมือง เครือข่ายข้าราชการ นักวิชการ คนมีชื่อเสียงนักธุรกิจต่างๆ ที่สมัครเข้าร่วมหลักสูตรนั้น

'เศรษฐา' เคยอัดกลางเวที วปอ. ชี้สร้างอภิสิทธิ์ชน เตือนเยาวชนจับตาอยู่

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานรับฟังการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติของ วปอ. ท่ามกลางบรรดา ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา เข้าร่วมรับฟัง นายกฯ กล่าววิจารณ์ วปอ. ด้วยว่า เป็นสถาบันสร้างคอนเน็คชั่นอภิสิทธิ์ชนท็อป 1% ของประเทศนี้ พร้อมทั้งเตือนเยาวชนจับตาอยู่ และขอให้ใช้สายสัมพันธ์เพื่อประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและความยากลำบาก

"สำหรับ วปอ.ยังพาทุกท่านเข้ามาทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดเป็นสมาคม สร้างสังคมและกลายเป็นสายสัมพันธ์อันดีของทุกๆท่านในที่นี้ ความแข็งแกร่งของเหล่าศิษย์เก่าเป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทย เส้นสายสัมพันธ์คอนเน็คชั่นของพวกท่านในประเทศ ทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษหรือเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนก็ว่าได้ เป็นท็อป 1% หรือน้อยกว่านั้นของประเทศนี้ เป็นสถาบันที่คนอยากเข้ามาศึกษา ที่อยากได้รับเกียรติเข้ามาอยู่ในที่นี้ คอนเน็คชั่นที่ท่านได้รับจากสถาบันนี้จะสามารถให้ประโยชน์ต่ออาชีพการงานของพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ภาครัฐวิสากิจ ภาคประชาสังคมหรือต่อยอดธุรกิจได้อย่างมหาศาล" เศรษฐา กล่าว พร้อมเรียกร้องขอให้ใช้ความรู้ความสามารถและสายสัมพันธ์จากที่นี้ให้เกิดประโยชน์โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ได้ใช้แต่สิทธิ์ ให้ดูถึงหน้าที่และความเหมาะสมเพราะทุกสายตาในประเทศจับจ้องกันอยู่ในฐานะเป็นบุคคลพิเศษที่จะเป็นผู้นำของประเทศนี้ในทุกๆ ด้าน

ย้อนไปที่ พ.ย.2556 รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป" ที่จัดทำโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาตราจารย์ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสนับสนุนโดยสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทหนึ่งของรายงานวิจัยดังกล่าวชื่อ "เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ" ของนวลน้อย ตรีรัตน์ และ ภาคภูมิ วาณิชกะ ระบุไว้ในบทคัดย่อว่า 

ขณะนี้มีหลักสูตรทีอบรมผู้บริหารระดับสูง โดยเน้นการผสมผสานผู้เข้าอบรมจากภาคราชการ ทังข้าราชการพลเรือน ทหาร ตํารวจ ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ทําให้เกิดความสัมพันธ์ทังทีเป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นการศึกษาเดียวกัน และระหว่างรุ่น คําถามสําคัญคือ หลักสูตรการศึกษาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงใช่หรือไม่ และเครือข่ายเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลประการใดในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย จากการวิเคราะห์ความเป็นมา เนื้อหา กิจกรรมของหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมาก เช่นวิทยาลัยตลาดทุน วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และอื่นๆ รวมหกหลักสูตร อีกทั้งศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของเครือข่ายที่เกิดขึ้นได้ข้อค้นพบสําคัญคือหลายหลักสูตรแม้จะมีเป้าหมายในการให้ความรู้ด้วย แต่ลึกๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับการจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์หรือการหา "พวก" เพื่อเพิ่มช่องทางและพลังในการผลักดันผลประโยชน์ขององค์กรที่จัดหลักสูตร "การศึกษา" เป็นข้ออ้างในการรวบรวมบุคคลภายนอกองค์กรที่มีหน้าที่กํากับดูแลการทํางานหรือพิจารณาอนุมัติผลประโยชน์ขององค์กรเข้ามาสู่กระบวนการกล่อมเกลาเพื่อให้บุคคลเหล่านั้น "เชื่อ" ในเป้าหมายเดียวกัน การเป็นเพื่อนร่วมรุ่นร่วมหลักสูตรได้รับการตอกยํ้ามาก เกิดเป็นเครือข่ายผู้บริหารระดับสูง มีบทบาทเป็นเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งในระดับของการแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะบุคคล และในระดับของโครงสร้างอํานาจโดยตัวของมันเอง

โดยรวมการดําเนินการของหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันแม้จะมีผลดีบ้าง แต่อาจจะมีผลเสีย ต่อความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและระบบประชาธิปไตยของสังคมไทย ทําให้เกิดคําถามเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดําเนินนโยบายหรือการตัดสินใจในองค์กรภาครัฐเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาต่อการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การศึกษาครั้งนี้จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้พัฒนาระบบธรรมาภิบาลและพิจารณาถึงแนวทางในการหลีกเลียง ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทีอาจเกิดขึ้นต่อองค์กรที่จัดตังหลักสูตร โดยกําหนดกรอบการดําเนินงานของหลักสูตรผู้บริหารทีดําเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือ การพัฒนาประสิทธิภาพในการทํางานของหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริงเป็นหลัก และควรมีการกําหนดหลักเกณฑ์ทีชัดเจนในการอนุญาตให้ผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐเข้าศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรทีดําเนินการโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยยึดหลักความจําเป็น ผลประโยชน์ของหน่วยงาน และผลกระทบต่องานที่รับผิดชอบเป็นสําคัญเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการทํางานเพราะบางหลักสูตรก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่แต่อย่าง

นอกจากนี้ วันที่ 15 ส.ค.55 ประชาไทเคยนำเสนอรายงานกิจกรรมงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป" ที่ศูนย์สารนิเทศ จุฬาฯ ซึ่ง นวลน้อย พูดถึงงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยว่า ศึกษาโครงสร้างอำนาจจากการวิเคราะห์เครือข่ายความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและองค์กรในระดับสูง หรือชนชั้นนำในสังคมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยพิจารณากลไก วิธีการ และกระบวนการที่ก่อให้เกิดความร่วมมือที่ทำให้เกิดการสร้าง รักษา และสืบทอดอำนาจ และเชื่อมโยงถึงการสะสมความมั่งคั่ง โดยศึกษาหลักสูตรผู้บริหาร 6 หลักสูตร ได้แก่
(1) หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
(2) หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม
(3) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า
(4) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(5) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย
(6) หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง

จาก 6 หลักสูตรแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 4 หลักสูตร คือ วปอ. (รวมทั้งหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐเอกชนและการเมือง (วปม.) บ.ย.ส., ปปร. และ พตส. กลุ่มที่ 2 คือ หลักสูตรที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ ประกอบด้วย 2 หลักสูตร คือ วตท. และ (2) TEPCoT

เป้าหมายของกลุ่มที่ 1 จะเน้นพัฒนาศักยภาพหรือแนวคิดของผู้เข้าเรียน มีการประเมินผลอย่างชัดเจน เป้าหมายของการศึกษามีลักษณะกว้างและเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยเครือข่ายที่หลักสูตรสร้างขึ้นไม่มีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของหลักสูตรชัดเจนนัก ขณะที่กลุ่มที่ 2 เน้น "กล่อมเกลาทางความคิด" ให้คนที่เข้ามาเกิดความเชื่อแบบเดียวกันเป็นหลัก และจะมีการผลักดันข้อตกลงหรือแนวคิดบางประการจากเครือข่ายที่หลักสูตรสร้างออกไปด้วย

การสร้างเครือข่ายของหลักสูตร แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.การคัดเลือกบุคคลเข้ารับการศึกษา โดยกลุ่มที่ 1 ซึ่งจัดโดยราชการ เน้นผู้เรียนที่เป็นผู้บริหารระดับกลางที่เป็นดาวรุ่ง หรือผู้นำในอนาคต ขณะที่กลุ่มที่ 2 เน้นที่ผู้มีอำนาจบทบาททางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม 2.การสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของหลักสูตร โดยทั้งสองกลุ่มเน้นการสร้างกิจกรรมทางสังคมที่ก่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้เรียน โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ปฐมนิเทศ การรับน้อง มีสายรหัส 3.ตอกย้ำหรือรักษาความสัมพันธ์หลังสำเร็จการศึกษา โดยตั้งสมาคมศิษย์เก่า เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างรุ่น


อาชีพของผู้เข้าเรียนในหลักสูตรต่างๆ


การตั้งเครือข่ายศิษย์เก่า (ที่มา: สไลด์ประกอบการบรรยาย)

นวลน้อยยกตัวอย่างเครือข่ายที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจก อาทิ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งผ่านการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงมา 3 หลักสูตร คือ วปอ. 34 (2534) วตท. 4 (2550) และ TEPCoT 2 (2552) ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ. ที.เค.เอส.เทคโนโลยี ซึ่งมีสุพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการและรองประธานกรรมการบริษัทเป็นนักศึกษา วตท.รุ่นที่ 3 และณรงค์ จุนเจือศุภฤกษ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบเป็นนักศึกษา วตท.รุ่น 4 และณรงค์เป็นรองประธานกรรมการ บมจ.มติชนในปัจจุบัน

ส่วนตัวอย่างของเครือข่ายเชิงสถาบันกับการผลักดันผลประโยชน์องค์กร นวลน้อยยกตัวอย่างของการจัดสัมมนาใหญ่ "ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด" เมื่อปี 2551 โดย วตท.รุ่น 1-5 ซึ่งสามารถเชิญ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ในขณะนั้นมาร่วมงาน และหลังจากนั้น นพ.สุรพงษ์ ได้เซ็นคำสั่งจัดตั้งแผนพัฒนาตลาดทุน ซึ่งมีคณะทำงานเกือบ 90% ผ่าน วตท.ทั้งสิ้น แผนนี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วใน 1-2 ปี โดยมีเรื่องสำคัญคือ การเปลี่ยนสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นวาระของคนส่วนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์อยู่ในแผนดังกล่าว การผลักดันนี้เข้าสู่กฤษฎีกาได้ในสมัยรัฐบาล ปชป. แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็พลิกล็อค โดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยกับการแปรสภาพเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เองมีความเกี่ยวเนื่องกับคนในตลาดบางส่วนที่ต้องสูญเสียประโยชน์ สุดท้ายปลายปี 2554 เขาได้ขอถอนร่างออกจากกฤษฎีกา โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นนโยบายรัฐบาล

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการรวมตัวเชิงสถาบัน และกล่อมเกลาทางความคิด หลายเรื่องเดินหน้าไปได้เร็ว แต่เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ใช่คนกลุ่มดียวในสังคม กลุ่มอื่นๆ จึงสามารถปะทะขัดขวางแรงขับเคลื่อนเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ เมื่อเทียบหลักสูตรการศึกษาพิเศษเหล่านี้กับมหาเศรษฐีไทย 40 อันดับ จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ พบว่า นักธุรกิจที่มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ จะไม่นิยมเข้าเรียน นอกจากนี้ พบว่า จาก 40 ตระกูล คนในแต่ละตระกูลนิยมเข้าเรียน วตท. 19 ตระกูล วปอ. 13 ตระกูล และ บ.ย.ส. และ ปปร. อย่างละ 6 ตระกูล

นวลน้อยตั้งคำถามในครั้งนั้นว่า การรวมตัวของบุคคลชั้นนำผ่านหลักสูตรเหล่านี้จะก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจชนชั้นนำมากขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดในลักษณะที่สองคือ เป็นช่องทางให้กลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว แทรกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อแบบที่สองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นวลน้อยชี้ว่า แต่เมื่อพิจารณาทั้งหมด ไม่ว่าจะส่งผลแบบใด ก็คงไม่ทำให้สังคมไทยเสมอหน้ามากขึ้น เพราะการเกาะเกี่ยวกันไม่ว่ารูปแบบไหน ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำมากขึ้น โดยที่ประชาชนที่อยู่ภายนอกหรือระดับล่างย่อมเข้าไม่ถึง และสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัญหาในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net