Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อ 'เบนาร์นิวส์' เปิด 'รายงานประจำปี 2567 ฮิวแมนไรท์วอทช์' (Human Rights Watch World Report 2024) ชี้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยยังวิกฤตภายใต้รัฐบาลชุดใหม่

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2567 เบนาร์นิวส์ รายงานว่าจาก รายงานประจำปี 2567 ของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch World Report 2024) ชี้ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยยังวิกฤตภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐยังถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ นักกิจกรรมยังคงต้องถูกคุมขัง เพียงเพราะการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ นักกิจกรรมและนักสิทธิชายแดนใต้ชี้ ผู้เห็นต่างควรมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในการแถลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ภาพรวมของไทยยังมีความน่ากังวลโดยเฉพาะการดำเนินคดีต่อนักศึกษาและผู้ชุมนุมประท้วง ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปีที่แล้ว ส่งผลให้หลายคนต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน ทั้งที่ไม่ควรจะเป็น

“การพูด การชุมนุม การแสดงความคิดเห็นออนไลน์ หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มที่รัฐบาลไม่ชอบ การกระทำเหล่านี้ไม่ควรเป็นความผิดทางอาญา” ฟิล กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ฟิล กล่าวอีกว่า สิ่งที่องค์กรเห็นคือรัฐบาลใช้กฎหมายที่กว้างและละเมิดสิทธิ เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หรือแม้แต่มาตรา 112  เพื่อดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและเยาวชน ซึ่งเขาจะมีชีวิตอีกยาวนาน แต่ไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติเพราะเผชิญคดีในศาลจำนวนมาก 

ส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2567 ของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า รัฐบาลไทยยังคงใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ต่อความผิดแต่ละครั้งในปี 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 258 คน จากการกระทำต่าง ๆ ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยหรือการแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย 

“เรื่องนี้เลวร้ายและยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง การดำเนินคดีเหล่านี้ต้องถูกยกเลิก พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัว” ฟิล กล่าว

“รัฐบาลไทยมักควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เป็นเวลานานหลายเดือน ก่อนที่จะตัดสิน แม้ศาลอนุมัติประกันตัว แต่ก็มีเงื่อนไขเข้มงวด เช่น กักบริเวณ ต้องใส่กำไลติดตามตัว ห้ามพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามร่วมชุมนุมทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ในปีที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 35 คน ถูกควบคุมตัวก่อนตัดสิน จากการเข้าร่วมการชุมนุมหรือกระทำการที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์” ส่วนหนึ่งของรายงาน ระบุ

กระแสการชุมนุมที่เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นร่วมพันครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,938 คน จาก 1,264 คดี ในนั้นเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 286 คน เมื่อมีการเปลี่ยนจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ สู่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีการเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่ผู้ถูกคุมขัง เพราะมีอย่างน้อย 25 คนที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด และเรียกร้องการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องหา จำเลย และผู้ต้องขังคดีการเมือง

“คนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม ควรได้รับนิรโทษกรรม เพราะเขาคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐ เขาควรได้รับสิทธิประกันตัว ถ้าไม่ไปยุ่งเหยิงพยาน และหลบหนี ท้ายที่สุดเขาคือ คนคนนึงที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมเช่นกัน เขาควรจะได้ออกมาใช้ชีวิต และไม่ต้องต่อสู้กับความรุนแรงของรัฐ” ตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวถึงการนิรโทษกรรมและสิทธิประกันตัว

ด้าน ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยชี้แจงว่า ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมอยู่

“ตอนนี้ พรรคการเมืองเสนอเรื่องเข้าสภาแล้ว ผมเชื่อว่า เวทีสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่จะได้มีความเห็น แต่การประกันตัวเป็นเรื่องของศาล กระทรวงยุติธรรมเรามีหน้าที่แก้ไขกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคน โดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบัน เราจะยึดหลักนิติธรรม เราจะใช้เวทีของสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนประชาชนแก้กฎหมาย” นายทวี ระบุ

ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีต่อเนื่อง

นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 จนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของสงขลา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,500 ราย

แม้การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น จะทำให้เหตุรุนแรงในครึ่งแรกของปี 2566 ลดลง แต่เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นทหารและพลเรือนก็กลับมาเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ และจัดกิจกรรมอภิปรายเรื่องอธิปไตยและพื้นที่สาธารณะจำนวนมาก 

“รัฐบาลล้มเหลวในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบการทรมาน ฆ่าโดยมิชอบ และการละเมิดชาวมุสลิมมลายูในหลายกรณี โดยทางการไทยได้ให้การชดเชยทางการเงินแก่เหยื่อหรือครอบครัวของพวกเขา เพื่อแลกกับความยินยอมที่จะไม่กล่าวหาหรือยื่นฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่” ส่วนหนึ่งของรายงาน ระบุ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ในพื้นที่ชายแดนใต้มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 40 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญาจากการทำกิจกรรมอย่างสันติ ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เอง

มะยุ เจ๊ะนะ นักกิจกรรมซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร และฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรมแต่งกายชุดมลายู (Melayu Raya 2022) เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 เชื่อว่า รัฐบาลพลเรือนควรสนับสนุนเสรีภาพมากกว่านี้

“ไม่อยากให้รัฐใช้กฎหมายปิดปากประชาชน สิ่งที่สำคัญคือ ในช่วงรัฐบาลพลเรือน ควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ความเป็นประชาธิปไตยต้องมาเป็นอันดับแรก เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และกระบวนการสร้างสันติภาพที่กำลังเดินหน้า ก็ควรเปิดพื้นที่กลางให้กับคนในพื้นที่สามารถแสดงออกได้” มะยุ กล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า แทนที่จะดำเนินคดีกับนักกิจกรรม รัฐบาลควรเชิญพวกเขามามีส่วนร่วม

“กระบวนการสันติภาพจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าทหารยังใช้กฎหมายดำเนินคดีกับประชาชนที่ทำกิจกรรมโดยสันติ นับเป็นเรื่องที่ขัดกับจุดประสงค์ JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม - Joint Comprehensive Plan towards Peace) ที่ต้องการลดการเผชิญหน้าด้วย เพราะนับเป็นการใช้ความรุนแรงทางกฎหมายดำเนินคดีกับภาคประชาสังคม ที่ควรถูกนำมามีส่วนร่วมในการพูดคุยฯ” พรเพ็ญ ระบุ

ด้าน ฟิล ทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยมีปัญหาสิทธิมนุษยชนมากมายทั้งในชายแดนใต้ หรือแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย สิ่งที่เรายังไม่ได้เห็นจากรัฐบาลนี้คือความจริงจังในการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่เคารพสิทธิมนุษยชน แม้เราจะเห็นความพยายามในเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่นั่นไม่เพียงพอ เราต้องการจากรัฐบาลพลเรือนมากกว่านี้”

อนึ่ง รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2567 ฉบับนี้มีความยาวทั้งหมด 736 หน้า ซึ่งสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ โดยในบทนำของรายงาน ติรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยโดยถูกแทรกแซงทางการเมือง หลังจากสั่งให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งส่งผลให้มีข้อกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสและเป็นธรรมของกระบวนการทางการเมือง

“การค่อย ๆ ทำลายระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลที่สำคัญเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม” ส่วนหนึ่งของบทนำ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net