Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีของ “แอมมี่ บอททอมบลู” และ “ปูน ธนพัฒน์” ว่า ม.217 ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะบทบัญญัติชัดเจนแล้วและโทษตามกฎหมายเมื่อชั่งน้ำหนักการคุ้มครองประชาชนจากอันตรายกับการจำกัดสิทธิแล้วมีความเหมาะสม ศาลอาญานัดพิพากษาคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ 26 มี.ค.67

15 ม.ค.2567 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และธนพัฒน์ กาเพ็ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ซึ่งเป็นข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่าการเผาทรัพย์ต้องเป็นการทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนทั่วไป อีกทั้งโทษตามกฎหมายยังไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด โดยการยื่นคำร้องนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ทั้งสองคนถูกฟ้องในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อ 28 ก.พ.2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลอาญาได้อ่านผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 นั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่จำเลยทั้งสองคนมีคำโต้แย้งเนื่องจากเห็นว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมและเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนกับผลกระทบจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแล้วเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน

จากนั้นศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาในส่วนของคดีอาญาภายหลังวันที่ 26 มี.ค.2567 เนื่องจากธนพัฒน์ยังติดสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่

ธนพัฒน์ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลอ่านคำวินิจฉัยถึงคดีของตนว่า แม้ว่าการกระทำของพวกเขานั้นไม่ว่าจะผิดหรือไม่ผิดตามความเห็นของศาล แต่พวกเขาก็รู้ว่าพวกเขาทำไปโดยมีเจตนารมณ์อย่างไรและเพราะอะไร ในตอนที่เกิดเหตุเพื่อนของพวกเขาก็ยังอยู่ในเรือนจำและตอนนี้ก็ยังอยู่ในเรือนจำอยู่

“มันสื่อถึงว่าความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นและความยุติธรรมที่เรากำลังตามหามันยังไม่ถึงจุดหมายสักทีหนึ่ง แต่การมาฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ก็ได้เห็นแนวทางแล้วว่าคำพิพากษาจะเป็นอย่างไร ก็คิดว่ามีเวลาให้เตรียมตัวแล้วก็หวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะยุติธรรมจริงๆ สิทธิการประกันตัวจะเป็นของผู้คนจริงๆ รวมถึงเราสองคนและเพื่อนๆ ที่อยู่ในเรือนจำด้วย”

ไชยอมรกล่าวว่าหลังจากฟังคำวินิจฉัยวันนี้แล้วก็คงต้องเตรียมตัวเรื่องการส่งต่อต่างๆ ทั้งร้านอาหารและเพลงที่กำลังทำอยู่ก็ต้องรีบอัดให้เสร็จตามที่สัญญาไว้กับค่ายเพลงทั้ง 15 เพลงที่จะต้องออกเดือนละเพลง เพราะช่วงที่ผ่านมามีปัญหาส่วนตัวต่างๆ เข้ามาทำให้ล่าช้าออกไป รวมถึงการจัดการเรื่องลูกสาวของเขารวมกับอดีตภรรยา

การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้เป็นการอ่านคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.2566 แล้วโดยมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มบนเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสรุปใจความได้ว่า จำเลยทั้งสองคนได้ยื่นคำโต้แย้งถึงศาลรัฐธรรมนูญระหว่างการสืบพยานของศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีอำนาจวินิจฉัยตามกฎหมาย โดยคำโต้แย้งของทั้งสองคนนั้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 นั้นมีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองไม่ให้เกิดการเผาทรัพย์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไป แต่กฎหมายกลับบัญญัติถ้อยคำไว้เพียง “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” โดยไม่ได้ระบุว่า “อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” เอาไว้อย่างชัดเจน แต่กฎหมายอาญาจะต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ อีกทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสองคนยังเป็นการแสดงออกทางศิลปะหรือการประท้วงแล้ว โทษตามกฎหมายก็ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำเมื่อเปรียบเทียบกับข้อหาการทำลายหรือทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียไปตามมาตรา 358

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากฎหมายอาญามาตรา 217 นั้นเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 5 ความผิด เกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ จําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท"  แต่จากคำโต้แย้งของจำเลยทั้งสองทที่เห็นว่ามาตรา 217 นี้ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนนั้น ทั้งนี้กฎหมายอาญาอาจบัญญัติถ้อยคําเพียงเท่าที่ชัดเจนแน่นอนพอควรและ อาศัยการตีความตามบริบทของเรื่องประกอบกับบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถเข้าใจถึง ความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นได้ โดยไม่จําต้องบัญญัติถ้อยคําให้อยู่ในระดับที่ระบุเฉพาะเจาะจงลงไปอย่างละเอียด

คำวินิจฉัยระบุเหตุผลต่อว่า เพราะบางกรณีอาจเป็นการเหลือวิสัยที่กฎหมายจะบัญญัติโดยใช้ถ้อยคําให้ชัดเจนแน่นอน จนปราศจากการต้องตีความโดยสิ้นเชิง ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาเพื่อลงโทษบุคคลนั้น นอกจากการตีความตามตัวอักษรเพื่อค้นหาเจตนารมณ์แล้ว ยังต้องคํานึงถึงคุณธรรมทางกฎหมาย ที่ถือเป็นประโยชน์หรือคุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองซ่อนอยู่ภายใต้บทบัญญัติที่ผู้ตีความต้องค้นหา เพื่อใช้ประกอบการตีความด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวยังเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากการวางเพลิงเพื่อเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดที่เป็นการก่ออันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน เพราะธรรมชาติของไฟเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และยังยากที่จะควบคุมความเสียหายให้เกิดแค่กับตัวทรัพย์ที่ผู้กระทํามุ่งหมายกระทําและอาจลุกลามอย่างรวดเร็วและไม่มีขอบเขตจํากัดจนไม่อาจประเมินได้ว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้อื่นและประชาชนด้วย และกฎหมายยังมีการกำหนดโทษตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิดด้วยราคาของทรัพย์ที่ถูกเผานั้นด้วยถ้ามีราคาน้อยและไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นในมาตรา 223 คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับโดยให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ

ศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่าที่ยกมาตรา 217 กับข้อหาทำลายทรัพย์ฯ ตามมาตรา 358 ที่เป็นการกระทำที่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งสองมาตราจึงมีคุณธรรมทางกฎหมายมุ่งคุ้มครองแตกต่างกันจึงแยกมาตรา 217 ออกจากความผิดตามมาตรา 358

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 จึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีบทบัญญัติที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนกับผลกระทบจากการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้วเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34

กรมราชทัณฑ์แจ้งความ 3 ผู้ต้องสงสัย เอาผิด ม.112 ปมเผาพระบรมฉายาลักษณ์ เรือนจำกลางคลองเปรม

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งอยู่เหนือป้ายเรือนจำกลางคลองเปรมบริเวณปากทางเข้าเรือนจำติดถนนงามวงศ์วานถูกวางเพลิงช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 ก.พ.2564 เวลาประมาณ 3.00 น.

ทั้งนี้คดีนี้เดิมที่ไชยอมรเคยประกาศยอมรับว่าตนเป็นผู้ลงมือก่อเหตุเองแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 3 มี.ค.2564 หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตอน 1.00 น. ของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น มาตรา 217 และนำข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา รัชดาฯ และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว

ส่วนธนพัฒน์ กาเพ็ง ที่ขณะเกิดเหตุมีอายุ 18 ปี 9 วัน ถูกตำรวจสน.ประชาชื่นออกหมายเรียกรับข้อกล่าวหาตามมา ต่อมาในวันที่ 11 มี.ค.2564 ธนพัฒน์เดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายและทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันกับไชยอมร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net