Skip to main content
sharethis

เลขาฯ ป.ป.ช.แจง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ยังไม่มีความเห็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ไม่รู้ว่าเอกสารที่ชี้ว่าโครงการขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญพร้อมระบุถึงข้อเสนอปรับแก้โครงการนั้นเป็นของใคร “จุลพันธ์” ชี้ยังไม่มีความเห็นจาก ป.ป.ช.ถึงรัฐบาลทำให้ต้องเลื่อนประชุมวันนี้ แต่ สว.สมชายบอกเห็นข้อเสนอของ ป.ป.ช.แล้ว

16 ม.ค.2567 สำนักข่าวหลายแห่งมีการรายงานถึงกรณีมีเอกสารที่อ้างว่าเป็นรายงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้รายงานดังกล่าวปรากฏหลังจากมีการเลื่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตครั้งที่ 1/2567 ที่จะมีขึ้นในวันนี้เวลา 15.30 น.โดยภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ข่าวถึงเหตุที่เลื่อนประชุมว่าเนื่องจากได้รับหนังสือจากกฤษฎีกาและจะมีข้อเสนอของ ป.ป.ช.ด้วย

หลังมีการรายงานดังกล่าวมีสำนักข่าวหลายแห่งรวมถึงข่าวสดออนไลน์มีการรายงานคำชี้แจงของ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงเอกสารที่มีการเผยแพร่นั้นไม่ใช่ความเห็นของป.ป.ช. และตนก็ไม่ทราบว่ามาจากหน่วยงานใดหรือเป็นความเห็นเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่หรือไม่ แต่หากเป็นความเห็นของ ป.ป.ช.จะต้องผ่านมติของกรรมการเท่านั้น แต่ตอนนี้คณะกรรมการยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และต้องรอกรรมการแต่ละคนส่งความเห็นสรุปกลับมาก่อนมีมติและส่งความเห็นให้รัฐบาล

ทั้งนี้วอยซ์ออนไลน์รายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเวลา 11.15 น. โดยจุลพันธ์กล่าวถึงเรื่องเอกสารดังกล่าวเช่นกันว่า ยังไม่ถึงรัฐบาลและน่าจะยังอยู่ระหว่างทางและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเลื่อนการะประชุมของคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในวันนี้ด้วยเพราะต้องรับฟังอย่างรอบด้าน จึงรอเอกสารเข้ามาให้พร้อมและนำมาดูให้ละเอียด เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาทั้งคำตอบของกฤษฎีกาและความเห็นของ ป.ป.ช.เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องได้ถูกต้องจะได้เดินหน้าโคงการต่อไป

เอกสารที่มีการเผยแพร่มีเนื้อหาอย่างไร

ทั้งนี้สื่อในเครือของเนชั่นทั้ง “เนชั่น” และ “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานถึงรายละเอียดเอกสารโดยมีการแนบภาพหน้าเอกสารดังกล่าวประกอบการรายงาน โดยในเอกสารดังกล่าวมีส่วนที่กล่าวถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่อโครงการดังกล่าวด้วย โดยในรายงานข่าวระบุว่าเอกสารทั้งหมดมี 177 หน้า

ในส่วนของประเด็นปัญหาตามเอกสารระบุว่าไว้เช่น ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายเนื่องจากเงื่อนไขการแจกเงินตามที่มีการแถลงนโยบายหลังตั้งรัฐบาลแล้วไม่เหมือนกับตอนหาเสียง กล่าวคือในตอนหาเสียงระบุว่าจะมีการแจกเงินให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยแสดงแหล่งที่มาจาก กกต.ว่ามาจาก 4 แหล่ง โดยการบริหารงบประมาณ ไม่ได้มาจากการกู้เงินแต่อย่างใด ซึ่ง กกต.ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวโดยนำเงินจากงบประมาณ สามารถกระทำได้

ทั้งนี้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเงื่อนไขเปลี่ยนเป็นให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปที่รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยคาดว่ามีผู้ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน แหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไป โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท อ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ และนอกจากเงื่อนไขที่ต่างกันแล้วนโยบายเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจน ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ชี้ให้เห็นว่าเป็นการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อมไม่ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ในมาตรา 73 และหรือมาตรา 136

ในเอกสารที่ปรากฏในรายงานของเนชั่นเผยแพร่ยังระบุถึงข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการ ด้วยแต่ในภาพปรากฏเพียงข้อเสนอแนะบางส่วนคือมีส่วนที่ชี้ปัญหาและข้อเสนอข้อที่ 1-3 แต่มีการรายงานข้อที่ 4-8 เพิ่มเติมในรายงานของฐานเศรษฐกิจ โดยในส่วนข้อ 1-3 มีเนื้อหาข้อเสนอแนะตรงกัน โดยข้อเสนอแนะทั้ง 8 ข้อมีดังนี้

  1. ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลที่มิได้เป็นคนจน หรือมิใช่กลุ่มเปราะบางที่แท้จริง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนหรือวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้โครงการสามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง
  2. ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สำหรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีความแตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาประกอบการพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
  3. จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง และตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตของธนาคารโลกและ IMF ปรากฏว่าอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ประการใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่นการบริโภคภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
  4. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) โดยโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ ต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
  5. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 5 6) รวมถึงกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
  6. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ
    อาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
  7. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
  8. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม พร้อมระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า

สว.สมชายบอกเห็นเอกสารแล้ว

มติชนออนไลน์รายงานถึงการให้สัมภาษณ์ของสมชาย แสวงการ  ส.ว.​ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภา ที่ระบุว่าเห็นรายละเอียดดังกล่าวแล้วโดยเอกสารดังกล่าวมี 177 หน้าโดยเป็นข้อเสนอแนะ 58 หน้า ที่เหลือเป็นภาคผนวก

สมชายระบุว่าความเห็นดังกล่าวมีความสำคัญหากรัฐบาลเดินหน้าโครงการจนเกิดความเสี่ยงหรือทำผิดกฎหมายเอกสารในภาคผนวกก็ใช้เป็นเอกสารหลักฐานในศาลได้และการเตือนของ ป.ป.ช.ก็คล้ายกับคำวินิจฉัยในโครงการจำนำข้าว รัฐบาลควรรับไปพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบและพิจารณาควบคู่กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตอบคำถามในประเด็นของโครงการ

สมชายยังกล่าวถึงความเห็นของเขาว่ารัฐบาลควรจะเลิกโครงการดังกล่าว แต่หากมุ่งมั่นจะให้ควรพิจารณาปรับรายละเอียด เช่นพุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 1.5 แสนล้านบาท ส่วน 3.5 แสนล้านบาทให้นำมาใช้กับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลที่เน้นการจ้างงานเพิ่มทักษาการทำงานของประชาชน แต่เขาก็ยังเห็นว่าเสียเวลา 4 เดือนกับโครงการที่ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์แทนที่จะได้เห็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net