Skip to main content
sharethis

ศาลตัดสินคดีมาตรา 112 'ลลิตา มีสุข' จำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพ รอการลงโทษ 2 ปี จากกรณีถูกกล่าวหาโพสต์คลิป TikTok วิจารณ์การจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล พาดพิงสถาบันกษัตริย์

 

29 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.เป็นต้นมา ห้องบัลลังก์ 601 ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลลิตา มีสุข ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3)

ศาลอาญากรุงเทพใต้

ลลิตา ถูกแจ้งความเมื่อปี 2564 จากกรณีโพสต์คลิปวิดีโอสั้นในแอปฯ TikTok วิจารณ์นโยบายการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล และในช่องคอมเมนต์ เธอโพสต์คลิปตอบผู้มาแสดงความคิดเห็น โดยมีคลิปหนึ่งพูดคำว่า "พระมหากรุณาธิคุณ" เป็นเหตุให้ อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความเอาผิด ม.112 ที่ สน.นางเลิ้ง 

ต่อมา 18 พ.ค. 2565 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลลิตา มีสุข ในคดีดังกล่าว โดย ณัฐพล กิตติตระกูล พนักงานอัยการ บรรยายพฤติการณ์ว่า คลิปสั้น TikTok ของลลิตา พูดถึงงบประมาณที่นำมาแจกประชาชน และงบประชาสัมพันธ์ของกษัตริย์นั้นมาจากประชาชนไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณของรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์ และการกดขี่ประชาชนให้จน แล้วนำเงินมาแจก ให้ประชาชนรู้สึกเป็นบุญคุณจะได้ทำให้ง่ายต่อการปกครอง ทั้งๆ ที่ประชาชนควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากเงินภาษีของตัวเอง โดยอัยการระบุว่า ช่วงหนึ่งของคลิป จำเลยได้ทำปากพูดคำว่า "พระมหา" โดยไม่ออกเสียง ก่อนตามด้วยด้วยการกล่าวคำว่า "กรุณาธิคุณ"

อัยการระบุว่า การโพสต์คลิปของลลิตา ย่อมทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่ากษัตริย์รัชกาลที่ 10 นำเงินภาษีของประชาชนไปแจกประชาชนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับตัวพระองค์เอง เป็นเงินจำนวนปีละหมื่น ๆ ล้านบาท รวมทั้งกดขี่ให้ประชาชนยากจน แล้วนำเงินไปแจก เพื่อให้ประชาชนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ปกครองได้โดยง่าย อันเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ด้วยข้อความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียชื่อเสียง และเป็นการนำความผิดด้านความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมฯ 

ลลิตา มีนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ก่อนที่เธอรับสารภาพ และมีคำพิพากษาในวันนี้ (29 ม.ค.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ ตัดสินว่าลลิตา มีความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) โดยยึดเอาบทลงโทษที่หนักที่สุดคือมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากรับสารภาพ

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านข้อความในจดหมายขอพระราชทานอภัยโทษไปทางสำนักพระราชวัง รวมถึงเห็นว่าลลิตา ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม และลบแอปพลิเคชัน TikTok ที่ใช้โพสต์คลิปวิดีโอตามฟ้องแล้ว ศาลจึงเห็นว่าควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวอีกครั้งโดยให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี และได้ย้ำทิ้งท้ายว่าห้ามกระทำความผิดซ้ำอีก

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ลลิตา หลังฟังคำพิพากษา โดยเธอระบุว่า เธอดีใจ และก็โล่งใจ เพราะว่าเธอสามารถวางแผนชีวิตต่อไปได้แล้วว่าจะเอายังไงต่อไป

ลลิตา มีสุข

ลลิตา มองว่า บางคนอาจคิดว่า การรับสารภาพคือการยอมแพ้ แต่สำหรับเธอ การรับสารภาพเพื่อให้ได้รับการบรรเทาโทษคือ "การบริหารความเสี่ยง" เพื่อให้สามารถวางแผนชีวิตต่อไปได้ เพราะตอนนี้ครอบครัว แม่ป่วยเป็นมะเร็ง และกำลังจะทำคีโมครั้งสุดท้ายในเดือนหน้า เธอไม่ทราบว่าถ้าติดคุกตอนนี้อาจทำให้กำลังใจของแม่เธอแย่ลงหรือไม่ พ่ออาจจะเครียดมากขึ้น และใครจะเป็นคนหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ถ้าเธอต้องเข้าเรือนจำ 

นอกจากนี้ ลลิตา ระบุด้วยว่า ตอนนี้ภาคประชาชนกำลังรณรงค์เรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เธอวางแผนว่า เธออยากจะเป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้ด้วย 

ปัญหาเรื่องมาตรา 112

ลลิตา มองว่า ปัญหาเรื่องการใช้มาตรา 112 มีทั้งเรื่องตัวบท และการบังคับใช้ สำหรับเรื่องตัวบทกฎหมาย มีการรวมโทษหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้โทษมีความรุนแรง ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าเราเปิดพจนากุกรมดูคำว่า "หมิ่นประมาท" และ "อาฆาตมาดร้าย" มันไม่ใกล้เคียงเลย ในมุมมองของเรา เราเลยรู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่คำเดียวกัน หรือรวมกันได้

ลลิตา กล่าวเสริมว่า ในด้านการบังคับใช้ มันถูกใช้ง่ายจนเกินไป มันเปิดช่องโหว่ให้ใครก็ตามที่ไม่ชอบหน้ากัน หรือมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน สามารถใช้กฎหมายมาตรานี้กลั่นแกล้งกัน เพราะประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา เราจะแจ้งความใครก่อนก็ได้ พอแจ้งความแล้ว ต่อให้ผิดหรือไม่ผิด ภาระการพิสูจน์ก็เป็นหน้าที่ของจำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหา บางคดีที่ยกฟ้องไปแล้วสู้คดีกันมานาน 3-4 ปี กลายเป็นว่าผู้ถูกกล่าวหาเสียเวลาและโอกาส และไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย เพราะฉะนั้น ถ้ายังแก้ไขตัวบทกฎหมายไม่ได้ ก็อยากให้แก้ไขเรื่องการใช้งาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net