Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' มองพรรคก้าวไกล ลบนโยบายแก้มาตรา 112 ทั้งที่ศาลไม่ได้สั่ง กำลังสร้างบรรยากาศความกลัวในสังคม ถ้าเขาจะยุบ ให้ถอยตอนนี้เขาก็ยุบอยู่ดี เสนออยากให้ช่วยประคับประคองเสรีภาพ และยันในหลักการต่อไป 

 

2 ก.พ. 2567 ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และอดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ออกมาให้ความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ต่อกรณีที่พรรคก้าวไกลลบนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรค ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การใช้นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หาเสียงของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายใช้สิทธิล้มล้างการปกครอง และถูกสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว

 

 

ต่อมา เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้พิจารณายุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล

ปิยบุตร ถามท่าทีของพรรคก้าวไกล ทำไมมาถอยเอาตอนนี้ โดยประเด็นแรก ปิยบุตร ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความเห็นให้พรรคก้าวไกลต้องเอาลบนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ และต่อให้เอาออกตอนนี้ ก็ไม่น่าจะทันแล้ว เพราะว่าศาลมีคำวินิจฉัยไปแล้ว 

ปิยบุตร กล่าวถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าศาลฯ มีคำสั่งดังนี้ หนึ่ง สั่งการให้พรรคก้าวไกลและพิธา เลิกแสดงความเห็น เพื่อให้มีการยกเลิก 112 สอง ไม่ให้มีการแก้ไข 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำนี้น่าจะอนุมานจากคำวินิจฉัยนี้ได้ว่า ห้ามแก้ใน 3 ประเด็นที่ศาลบอกว่าเป็นการล้มล้างฯ ได้แก่ ห้ามย้ายหมวด ห้ามกำหนดเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ ห้ามกำหนดให้ยอมความได้ และห้ามกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

"ตรงไหนที่ศาลสั่งให้เอานโยบายออกจากเว็บ" 

"ตกลงพรรคก้าวไกลจะร่วมสร้างบรรยากาศความกลัวให้กับสังคมในเรื่องนี้ด้วยหรือ" ปิยบุตร ระบุบนโพสต์เฟซบุ๊ก

ปิยบุตร มองว่า ตอนนี้เราต้องหาทางประคับประคองเสรีภาพ และยืนหยัดบทหลักการให้ได้ แต่กลับช่วยกันขีดวงเสรีภาพให้มันหดแคบลง

"ผมคิดว่าต้องหาจุดสมดุลประคับประคองไปให้ได้ ไม่ควรออกอาการกลัวลนลานขนาดนี้ มิเช่นนั้น ถ้าจะทำ ก็แถลงสาธารณะไปเลยว่าต้องทำ เพราะกลัวโดนยุบพรรค โดนจริยธรรม ขอให้เข้าใจด้วย

ปิยบุตร มองด้วยว่า ถ้าพรรคก้าวไกลจะถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 น่าจะถอยไปตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล และมองด้วยว่า ต่อให้มีการถอยเรื่องนโยบายแก้ไขมาตรา 112 จริง ถ้าฝั่งผู้มีอำนาจจะยุบ เขาก็จะยุบอยู่ดี

"ส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าเขาจะยุบ จะตัด ต่อให้ลบออกหมด เขาก็ยุบได้ และเมื่อไรที่กลับมาทำเรื่องพรรค์นี้อีกเมื่อไร ก็โดนอยู่ดี เว้นแต่จะประกาศให้พวกเขารู้ว่าพร้อมจะเป็นเด็กดีของระบอบแล้ว" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุ

ทั้งนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ปิยบุตร โพสต์โซเชียลมีเดีย ได้ทำข้อเสนอเพิ่มต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วย

1. แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รวมถึงการใช้อำนาจของรัฐสภาและการเสนอร่างกฎหมาย 

2. แก้รัฐธรรมนูญ กำหนด ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซง สกัดขัดขวาง กระบวนการนิติบัญญัติ เว้นแต่กรณีการตรวจสอบว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายหลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบและยังไม่ทูลเกล้าฯ

3. แก้รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบและจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

4. แก้ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

5. แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนองค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

6. แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้องค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน

7. หากอ่านจากคำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่า ศาลไม่ได้บังคับสั่งห้ามแก้ไข 112 โดยเด็ดขาด ยังคงเสนอแก้ไขมาตรา 112 และประเด็นอื่นๆ ได้ เช่น การลดโทษจำคุก การยกเลิกโทษขั้นต่ำ 3 ปี แยกฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมื่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายออกจากกัน กำหนดให้นายกรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการพิเศษ ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษคดี 112 และอื่นๆ 

ทั้งนี้ กรณีการลบนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์พรรคก้าวไกล สืบเนื่องจาก 'ข่าวสด' รายงานวานนี้ (1 ก.พ.) บนเว็บไซต์ https://election66.moveforwardparty.org ที่มีข้อมูล “เลือกตั้ง 66” ของพรรคก้าวไกล 3 ส่วน ได้แก่ 1.ข้อมูล สส.เขตทุกคนทั่วประเทศ 2.ข้อมูล สส.บัญชีรายชื่อทุกคน และ 3.ข้อมูลนโยบายพรรคกว่า 300 นโยบาย

นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเคยปรากฏอยู่ในลิงก์ https://election66.moveforwardparty.org/policy/detail/policy_21 ได้หายไป และไม่ปรากฏข้อความอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเว็บไซต์นี้ด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาดว่าเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า "พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายดังกล่าว ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นนโยบาย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 และปัจจุบันยังปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ของพรรค ผู้ถูกร้องที่ 2

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใด เสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

แต่ตามเว็บไซต์ของผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำนองเดียวกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ … พ.ศ. แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มี.ค 64 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร"

'ชัยธวัช' ตอบลบนโยบายผ่านเว็บตามคำแนะนำฝ่าย กม. แต่ สส.ยังแสดงความเห็น ม.112 ได้เหมือนเดิม

วานนี้ (1 ก.พ.) ที่อาคารรัฐสภา The Reporters รายงานว่า ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วม สส.พรรคก้าวไกล ต่อกรณีที่เว็บไซต์พรรค ลบนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ออก 

ชัยธวัช กล่าวว่า เนื่องจากฝ่ายกฎหมายเห็นว่าเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบขึ้นมาอยู่ในคำวินิจฉัยด้วยว่า การที่ยังมีนโยบายเรื่องนี้อยู่ในเว็บไซต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่บทสรุปว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งความจริงเราไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นสาระสำคัญ 

ส่วนที่ สส.หรือสมาชิกพรรคยังมีความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ม.112 ในสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ชัยธวัช กล่าวว่า คำวินิจฉัยไม่ได้บอกว่า สส.จะเสนอแก้ไขปรับปรุง ม.112 ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น สส.พรรคไหน ซึ่งตนได้ย้ำในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) แล้วว่า ม.112 ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้นการที่สมาชิกพรรคบางส่วนยังมีความเห็นว่าควรแก้ไขมาตรานี้ ก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องดูว่าอะไรคือการเสนอกฎหมายโดยชอบตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

สื่อถามว่าการประชุมในวันนี้เป็นการระดมความเห็นของ สส.หรือทีมกฎหมายของพรรคมีแนวทางปฏิบัติมาก่อนแล้ว ชัยธวัช กล่าวว่า ยังหรอก เพราะเมื่อวานเราฟังคำวินิจฉัยกัน แล้วยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันจริงๆ เพราะต้องรีบเตรียมการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในวันนี้ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันในช่วงสุดสัปดาห์จึงถือโอกาสพูดคุยกันในวันนี้ เชื่อว่า สส.คงมีความเห็น และข้อเสนอให้ได้แลกเปลี่ยนกัน

ส่วนที่มีอดีต สส.พรรคก้าวไกล อาทิ สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา กัญจน์พงศ์ สุทธนามณี เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะเป็นหนึ่งใน 44 รายชื่อ ที่ยื่นแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2564 หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจ แต่คิดว่าน่าจะมาประชุมคณะกรรมาธิการ ไม่ใช่วาระที่จะคุยกับกลุ่ม สส. 44 คนตนยังไม่แน่ใจ 

สำหรับข้อกังวลหากถูกร้องจริยธรรม ซึ่งอาจมีโทษถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องจริยธรรมเป็นคนละเรื่องกับเรื่องถูกร้องยุบพรรค เป็นคนละกระบวนการ และน่าจะใช้เวลามากกว่า ไม่ได้บอกว่าหากเป็นคดีจริยธรรม แล้วถูกตัดสินว่าผิด จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับศาล ซึ่งส่วนนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคก็ได้เตรียมต่อสู้ไว้อยู่แล้ว เรายังคงต้องรอดูคำวินิจฉัยตัวเต็ม เพราะยังมีรายละเอียดทางกฎหมายอยู่

"ไม่ว่าจะโดนร้องเรื่องอะไร ตอนนี้สิ่งที่เรารอ คือ รอดูคำวินิจฉัยตัวเต็ม เพราะจะมีความสำคัญในทางข้อกฎหมาย" หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

ส่วนที่มีนักวิชาการให้ความเห็นว่าพรรคก้าวไกลควรยื่นให้องค์กรระหว่างประเทศตรวจสอบคำวินิจฉัยที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน เพราะกลไกที่จะสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการในประเทศไทยมีข้อจำกัดอยู่ ยกตัวอย่าง ว่าถ้าเราอยู่ในสหภาพยุโรปแล้วมีคำวินิจฉัยเช่นนี้จะไม่สามารถบังคับใช้ได้แน่นอน เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ไม่สามารถห้ามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างแน่นอน แต่ว่านี่เป็นประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net