Skip to main content
sharethis

งานวิจัยจุฬาฯ ชี้ แรงงานอาชีวะไทยฝีมือโดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศ

11 ก.พ. 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับแนวนโยบายในการยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทย โดยเฉพาะการเสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก ซึ่งจากผลการวิจัยเกี่ยวกับแรงงานอาชีวศึกษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าแรงงานอาชีวะไทยมีฝีมือโดดเด่น หากได้รับการฝึกฝนพัฒนาอย่างจริงจัง จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทย ซึ่งระบุว่า แรงงานอาชีวะไทยมีเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับและต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง นอกจากนี้ แรงงานอาชีวะไทยยังมีความแตกต่างจากแรงงานอาชีวะประเทศอื่น โดยแรงงานอาชีวะไทยมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ เป็นมิตร กินอยู่ง่าย และมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งทำให้นายจ้างเกิดความประทับใจ อย่างไรก็ดี หากนักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนโดยการเพิ่มทักษะความรู้เฉพาะทาง รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้นักเรียนและแรงงานอาชีวะไทยมีความโดดเด่นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่านายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาไทยต่อภาคอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้สั่งการเดินหน้านโยบายยกระดับระบบอาชีวศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล เสริมทักษะขั้นสูงและเฉพาะทาง รวมถึงทักษะที่มีแนวโน้มจำเป็นในอนาคต เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ พร้อมแสวงหาความร่วมมือด้านอาชีวศึกษากับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักเรียนและบุคลากร และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน รวมถึงแก้ปัญหาความขัดแย้ง ส่งเสริมภาพลักษณ์อาชีวศึกษาไทยในเชิงบวก เพื่อสนับสนุนให้มีการเรียนสายอาชีพมากขึ้น แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะมีฝีมือจากอาชีวศึกษาในหลายอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

“นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนและแรงงานด้านอาชีวศึกษา โดยเชื่อว่านักเรียนและแรงงานอาชีวะมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีศักยภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยรัฐบาลเดินหน้าเสริมจุดแข็งแก่ระบบอาชีวศึกษาไทย ทั้งการ Upskill และ Reskill ส่งเสริมการพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็น ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข็งขันของแรงงานไทยในระดับโลก” นายชัย กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 11/2/2567

เตือนยื่นต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 เห็นชอบให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 แล้ว อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2567 หรือวันที่ 13 ก.พ. 2568 ตามแต่ละกรณีนั้น สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 13 ก.พ. 2567 หากประสงค์จะทำงานต่อไปถึง 13 กุมภาพันธ์ 68 สามารถทำได้ โดยต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th พร้อมเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ (บต. 50 อ. 5) และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ ฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 900 บาท ภายในวันที่ 13 ก.พ. 2567

หลังจากดำเนินการครบถ้วนแล้ว ให้ยื่นหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ (Visa) ไม่น้อยกว่าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และหลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน หรือการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข แล้วแต่กรณี ต่อกรมการจัดหางาน

กรมการจัดหางาน ยืนยันว่าไม่มีการขยายระยะเวลา หากต้องการให้แรงงานทำงานต่อไปถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 ให้เร่งดำเนินการยื่นเอกสารต่ออายุใบอนุญาตภายในกำหนด มิฉะนั้นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานจะเป็นอันสิ้นสุดแรงงานต่างด้าวต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางและหากประสงค์จะกลับเข้ามาทำงาน ในประเทศไทย ต้องดำเนินการตามกระบวนการนำเข้า MOU

ทั้งนี้ หากติดปัญหาไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองได้ สามารถติดต่อขอรับบริการจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ในท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของคนต่างด้าว หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 10/2/2567

"เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน" ยื่นหนังสือถึง "อสส." ให้ยุติการดำเนินคดีการเมือง ม.112-ม.116

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด วันที่ 9 ก.พ. กลุ่มเครือข่ายเเรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ประมาณ 20 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง มาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

จากนั้นได้อ่านเเถลงการณ์เป็นเนื้อหาในหนังสือความว่า เรียน อัยการสูงสุด จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ "เยาวชนปลดแอก" เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดีในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย

263 คน ในจำนวน 288 คดี

2. ข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 147 คน

ในจำนวน 45 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 664 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 197 คน ในจำนวน 215 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาลอย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาลอย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 494 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 774 คดีที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงานของพนักงานอัยการเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลเพื่อรณรงค์สิทธิแรงงานสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เห็นว่าการดำเนินคดีกว่า 774 คดีซึ่งยังไม่ถึงที่สุดนั้น

ท่านในฐานะพนักงานอัยการมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีและการรักษาความเป็นธรรม ทั้งนี้เนื่องจาก

1. คดีการเมืองกว่า 774 คดีนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลเผด็จการ และเกิดจากมูลเหตุความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง

การแสดงออกทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่คดีที่เกิดจากความตั้งใจเป็นอาชญากร ต้องการก่อเหตุร้ายหรือความไม่ปลอดภัยขึ้นในสังคม ในขณะที่ปัจจุบันพรรคแกนนำรัฐบาลได้เปลี่ยนผ่านเป็นพรรคของประชาชน คดีความทางการเมืองซึ่งเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้น จึงสมควรได้รับการแก้ไขผ่านกระบวนการยุติธรรม

2. คดี 428 คดี จาก 774 คดีนั้นเกิดขึ้นเป็นคดีผ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์โรคระบาดที่แพร่หลาย มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก การได้รับวัคซีนล่าช้า การควบคุมโรคโดยการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการทำมาหากิน เศรษฐกิจและสังคมของประชาชน ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมจำนวนมาก เพราะการชุมนุมเป็นเพียงไม่กี่หนทางที่จะสื่อสารต่อผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง และเนื่องจากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ณ ขณะนั้นและทำให้ถูกดำเนินคดี และถูกสลายการชุมนุม หากสังคมอยู่ในภาวะปกติ คดีดังกล่าวย่อมไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดได้ผ่อนคลายลงกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติแล้ว แต่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองกลับต้องแบกรับภาระทางคดีต่อไป ทำให้ต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการต่อสู้คดี เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาลยุติธรรมที่ต้องเสียเวลาดำเนินคดีนับร้อยคดีโดยไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

3. การดำเนินคดีทางการเมืองนั้นละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19 และข้อ 21 และ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และส่งผลต่อประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคม สังคมไทยจะพัฒนาได้ก็ด้วยการเคารพความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย มิใช่การใช้อำนาจดำเนินคดีต่อประชาชน

4. การดำเนินคดีต่อเยาวชนกว่า 286 คน ที่แสดงออกทางการเมืองนั้นไม่เป็นผลดีต่อเยาวชนและสังคมโดยรวม เพราะเด็กนั้นย่อมมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วม สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิที่จะได้รับการปกป้อง

คุ้มครอง การดำเนินคดีต่อเยาวชนเพียงเพราะการแสดงออกทางการเมืองนั้นยังขัดต่อหลักการประโยชน์สูงสุดของเด็กและละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

5. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเห็นว่าพนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในการใช้อำนาจตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกว่า 63 คดี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในเชิงบวกให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนจึงขอให้ท่านพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา คดีซึ่งเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง 774 คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากการดำเนินคดีทางการเมืองต่อไปนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553

ทั้งนี้ นอกจากการไม่ดำเนินคดีทางการเมืองจะทำให้หน่วยงานรัฐมีเวลาดูแลประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ยังมีบทบาทช่วยให้คลี่คลายความขัดแย้งในทางการเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน การคืนความปกติให้แก่ประชาชนนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริงด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ลงชื่อเเถลงการณ์โดย ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

โดยมีตัวเเทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมารับหนังสือเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/2/2567

รมว.แรงงานหารือทูตซาอุฯ เตรียมขยายตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทักษะฝีมือ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายอับดุลเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี (H.E. Mr. Abdulrahman Abdulaziz Alsuhaibanni) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะฝีมือ โดยมีนายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับท่านอับดุลเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย นับตั้งแต่ไทยและซาอุดีอาระเบียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ตนมีความยินดีที่ได้เห็นโอกาสเกิดขึ้นมากมายสำหรับนักลงทุนทั้งไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยยังน้อยที่ทำงานอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 218 คน และขอให้สถานทูตช่วยประสานรัฐบาลในการดูแล อำนวยความสะดวก สิทธิและสวัสดิการ ความปลอดภัย สำหรับแรงงานทุกกลุ่มที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานทั้งที่อยู่ในซาอุดีอาระเบียตอนนี้และในอนาคต เพื่อดูแล คุ้มครองแรงงานอย่างใกล้ชิด มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

"จากการหารือในวันนี้ กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบียมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานไทยที่มีค่าจ้างสูงตามทักษะฝีมือ รวมถึงการฝึกอบรม ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนและประสานงานให้อย่างเต็มที่" นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้านนายอับดุลเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยเป็นอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าพบและหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามความตกลงด้านแรงงาน แรงงานไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในด้านทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ อย่างภาคบริการสายการบิน ช่างฝีมือ พ่อครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้และการเกษตร และยินดีสนับสนุนช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจการด้านแรงงานเช่นกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 8/2/2567

แรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าสวีเดน-ฟินแลนด์ร้องหยุดค้ามนุษย์

กลุ่มผู้ใช้แรงงานคนไทยที่ไปเก็บเบอร์รี่ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ปักหมุดจัดกิจกรรมที่หน้าสถานทูตสวีเดน ถนนสุขุมวิท ยื่นข้อเรียกร้องโดยปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง

สะท้อนข้อเรียกร้องให้หยุดระบอบค้ามนุษย์แรงงานไทยไปเก็บเบอรี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์โดยทันที จนกว่าคนงานที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการชดเชย และจนกว่าจะมีการเจรจากรอบกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองผลประโยชน์ให้คนงานอย่างเต็มที่ ถือเป็น 1 ใน 5 ข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าว

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีการรวมกลุ่มเครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่ามากกว่า 50 คน นำป้ายซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง โดยสาระสำคัญที่ถูกเขียนในป้ายคือการเปิดเผยรูปแบบของขบวนการค้ามนุษย์ และข้อกล่าวหาว่ามีบริษัทจัดหางานทำหน้าที่เป็นนายหน้า มีผลประโยชน์ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ

หนึ่งในแรงงานเก็บเบอร์รี่ในสวีเดน เล่าว่า บริษัทนายหน้าใช้ประโยชน์จากการที่รัฐให้โควตาประชาชนไปทำงานเก็บเบอร์ที่สวีเดนและฟินแลนด์ โดยอ้างว่าจะได้รับเงินแสนภายใน 2 เดือน แต่ในความเป็นจริงแรงงานต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ติดหนี้สิน และเมื่อไปถึงกลับได้รับการดูแลไม่เป็นไปตามที่สัญญา เช่น บังคับซื้อขายเบอร์รี่กับกลุ่มนายหน้าที่จัดหาไว้ให้ ซึ่งถูกกดราคา และแรงงานไม่สามารถขายผลเบอร์รี่ให้พ่อค้ารายอื่นได้

กลุ่มผู้ใช้แรงงานเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์และสวีเดน ยังเรียกร้องให้ทางการสวีเดนและฟินแลนด์สร้างความมั่นใจว่าจะมีมาตรการเร่งรัดสอบสวนดำเนินคดีกับทุกคน และทุกฝ่ายที่ร่วมกันก่ออาชญากรรมค้ามนุษย์ ทั้งในประเทศไทย สวีเดนและฟินแลนด์ เพื่อคืนความยุติธรรมและชดเชยให้คนงานที่เสียหาย และเพื่อดำเนินคดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ นอกจากนี้จะต้องช่วยเหลือทางกฎหมายและทางการเงินแก่แรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย ที่คดีการค้ามนุษย์ของพวกเขาอยู่ระหว่างการสอบสวนโดยทางการ

สำหรับกิจกรรมของแรงงานกลุ่มนี้ เดินไปยังสำนักงานคณะตัวแทนสหภาพยุโรป และสถานทูตฟินแลนด์ ถนนวิทยุ ลุมพีนี เพื่อยื่นจดหมายข้อเรียกร้อง จากนั้นจะเดินไปยังอาคารสหประชาชาติ ที่ถนนราชดำเนินนอก และเดินไปทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือและเจรจาหาทางเยียวยาผู้เสียหายและหยุดปัญหาค้ามนุษย์กับ รมว.ยุติธรรม, รมว.แรงงาน และ รมว.พัฒนาสัง มั่นคงของมนุษย์ โดยจะค้างคืนบริเวณทำเนียบฯ เพื่อปราศรัยปัญหาการค้ามนุษของย์แรงงานไทยไปเก็บเบอร์ปาที่สวีเดนและฟินแลนด์

ที่มา: Thai PBS, 7/2/2567

คาดอีก 5 ปี ไทยเข้าสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด ภาคธุรกิจยังขาดแผนรับมือ

ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ ไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร โดยมีการคาดการณ์ว่า ราวปี 2572 ไทยจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ (Aged society) ไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society) โดยการเปลี่ยนผ่านของไทยใช้เวลาเพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ ไทยอาจยังไม่ได้มีความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยเทียบเท่าประเทศเหล่านี้

สาเหตุการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดของไทยเป็นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก

1) นโยบายคุมกำเนิด และค่านิยมที่คนต้องการมีบุตรน้อยลง ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยลดลงต่อเนื่อง และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

2) จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนคนเสียชีวิต ส่งผลให้ฐานประชากรสูงวัยเพิ่มมากกว่าฐานประชากรโดยรวม

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มยิ่งเผชิญความท้าทายจากการขาดแคลนกำลังแรงงาน โดยอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า คาดว่าสัดส่วนกำลังแรงงานของไทย (อายุ 15-59 ปี) ต่อประชากรทั้งหมดจะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียงราว 50% ในปี 2593

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโครงสร้างตลาดแรงงานไทยพบว่าประกอบไปด้วย แรงงานทักษะต่ำ 82% (แรงงานภาคเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงาน) แรงงานทักษะปานกลางราว 16.5% (แรงงานในภาคบริการ พนักงานขายสินค้า) และแรงงานทักษะสูงราว 1.5% (วิศวกร แพทย์ อาจารย์ วิชาชีพต่างๆ)

ความท้าทายด้านปริมาณจากการขาดแคลนกำลังแรงงานคงกระทบกับการจัดหาแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจบริการต่างๆ อาจรับมือการขาดแคลนแรงงานด้วยการพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจากประเทศในกลุ่ม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สะท้อนจากจำนวนแรงงานจากทั้ง 3 ประเทศที่อยู่ในไทยเติบโตจากปี 2556 ที่ราว 1.0 ล้านคน ไปเป็น 2.3 ล้านคนในปี 2566 หรือโตเฉลี่ยต่อปีราว 8%

ตลาดแรงงานไทยยังมีความท้าทายด้านคุณภาพจากแรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะไม่ตรงความต้องการของตลาด (Skills gap) รวมถึงจำนวนแรงงานทักษะสูงยังมีไม่เพียงพอ และยังมีสัดส่วนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าอีกหลายประเทศ ส่งผลให้บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจไฮเทคต่างๆ ต้องมีการนำเข้าแรงงานกลุ่มนี้ สอดคล้องกับจำนวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทักษะสูงเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2556-2566) ที่ยังขยายตัวเฉลี่ยต่อปีราว 3% และคาดว่าความต้องการจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกตามการเร่งผลักดันอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพใหม่

การดึงดูดแรงงานข้ามชาติทักษะสูงคงขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถจูงใจการลงทุนต่างประเทศและมีนโยบายสนับสนุนการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติในไทยที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้เพียงใด เช่น สิงคโปร์มีการให้สิทธิการเป็นพลเมืองแก่แรงงานทักษะสูง และส่วนลด/ผลประโยชน์ด้านภาษีให้ต่างชาติมาลงทุนได้ จีนมีภาษีอัตราพิเศษให้แรงงานทักษะสูง และโครงการดึงดูด Talent จากทั่วโลก เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขาดแคลนแรงงานจะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงข้างหน้า และจะกระทบต่อธุรกิจที่มีสัดส่วนการใช้แรงงานต่อจำนวนกำลังแรงงานทั้งหมดสูง โดยเฉพาะในภาคเกษตร (31%) และภาคบริการต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร (9%) และธุรกิจก่อสร้าง (6%) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากการเป็นสังคมสูงวัยคงทำให้ธุรกิจเหล่านี้อาจต้องหันไปพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนที่มากขึ้น ขณะที่ บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง (17%) และธุรกิจการผลิต (16%) ที่สามารถแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีได้อาจต้องพิจารณาถึงโอกาสในการนำหุ่นยนต์/นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภาพ/ทักษะแรงงานไทยให้เท่าทันเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 6/2/2567

ค่าจ้างแรงงานไทยแย่ลง แม้คนไทยเรียนสูงขึ้น

ศูนย์วิจัย SCB EIC ระบุว่าภาพรวมตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤตโควิด สามารถรองรับการโยกย้ายแรงงานภายในสาขาการผลิตต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตได้ดี แรงงานที่ได้รับผลกระทบต้องออกจากงานสามารถหางานใหม่ได้ อัตราการว่างงานของไทยช่วงโควิดจึงไม่ได้สูงมากและลดลงเร็ว โดยอัตราการว่างงานของไทยสูงขึ้นเกือบเท่าตัวช่วงโควิด มีค่าเฉลี่ยราว 1.9% ในปี 2021 ก่อนลดลงมาแตะระดับก่อนโควิดหรือ 1% ได้ตั้งแต่ต้นปี 2023 ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่อัตราการว่างงานสูงเกิน 10% ในช่วงโควิด หากดูอัตราการว่างงานแฝง1 ก็ปรับลดลงมาต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว เหลือเพียง 0.5% ในช่วงปี 2023 จากที่เคยสูงสุด 1.5% ในปี 2021 สำหรับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ก็เพิ่มขึ้นมาใกล้ระดับก่อนโควิดที่ 11.6 ล้านคน จากระดับต่ำสุด 11.1 ล้านคนในช่วงปี 2021

อย่างไรก็ตาม หากลอง X-ray ตลาดแรงงานไทยให้ลึกลงไป จะพบความอ่อนแอเชิงโครงสร้างซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทยที่มีอยู่เดิม แต่วิกฤตโควิดยังมาฝากแผลเป็นเพิ่มไว้อีก ทำให้ประสิทธิภาพการจัดสรรแรงงานไทยลดลง เห็นได้จากโครงสร้างการจ้างงาน คุณภาพแรงงาน และค่าจ้างแรงงานไทยที่ไม่ค่อยดีนัก ในอย่างน้อย 3 มิติ ดังนี้

1) โครงสร้างการจ้างแรงงานไทยมีสัดส่วนใหญ่ขึ้นในสาขาการผลิตที่มูลค่าเพิ่มไม่สูง แรงงานไทยอยู่นอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งและมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในช่วงโควิดแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบต้องออกจากงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรม โรงแรมและร้านอาหาร ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานภาคเกษตร (สัดส่วนเพิ่มจาก 31.4% ของผู้มีงานทำในปี 2019 เป็น 31.9% ในปี 2021 และลดเหลือ 30% ในปี 2023 ตามเทรนด์ปกติที่สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรจะทยอยลดลง) น่าสังเกตว่าแม้โควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่สัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังลดลงต่อ (ลดจาก 16.3% ของผู้มีงานทำในปี 2019 เหลือไม่ถึง 16% ในปี 2023) แรงงานไทยหันไปทำงานในธุรกิจบริการอื่น ๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น ร้านอาหาร บริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ ขายส่งขายปลีก ขนส่ง ส่วนหนึ่งเป็นการทำงานนอกระบบไม่มีกลไกระบบประกันสังคมคุ้มครอง

2) ผลิตภาพแรงงานไทยฟื้นตัวช้า เมื่อวัดจากมูลค่าผลผลิตต่อหน่วยแรงงาน และยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง -4.8% โดยเฉพาะแรงงานนอกภาคเกษตร สะท้อนว่าคุณภาพแรงงานไทยยังไม่กลับไปเช่นเดิมและต้องใช้เวลา เพราะผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตแค่ราว 1% ในปี 2023 เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่โตเฉลี่ยปีละ 4% สาเหตุหลักเพราะแรงงานไทยในภาพรวมยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้มากเช่นเดิม วิกฤตโควิดได้สร้างแผลเป็นต่อค่าจ้างและผลิตภาพแรงงานที่ส่งผลระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานที่ย้ายสาขาการผลิตไม่สามารถปรับทักษะใหม่ให้กลับไปทำงานเดิมได้ หรือแรงงานบางส่วนได้งานใหม่แต่กลับใช้ทักษะต่ำลง

3) ค่าจ้างแรงงานไทยแย่ลง แม้คนไทยเรียนสูงขึ้น ดัชนีค่าจ้างแรงงานไทยมีทิศทางลดลงเฉลี่ย -1% ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนโควิด แล้วยิ่งลดลงแรงขึ้นเป็นเฉลี่ย -2.5% ต่อปีตั้งแต่เกิดโควิด สะท้อนว่าแรงงานไทยโดยรวมเรียนสูงขึ้นแต่ได้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อคนต่ำลง โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานในภาคบริการที่มีมูลค่าผลผลิตต่อคนไม่สูงนัก ขณะที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นในกลุ่มธุรกิจบริการที่มูลค่าผลผลิตต่อคนสูง เช่น การเงินและประกัน สาธารณูปโภค ศิลปะบันเทิงและนันทนาการ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานไม่มาก และเน้นทำงานกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์

ที่มา: SCB EIC, 5/2/2567

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net