Skip to main content
sharethis

งานศึกษาชี้ทัศนคติต่อการทำงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ 'เจเนอเรชั่น' แต่เป็นเพราะทุกวันนี้แต่ละคนไม่ว่าจะอายุเท่าใดมีมุมมองต่อเรื่องงานแตกต่างไปจากเมื่อหลายปีก่อน


ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

"คนรุ่นมิลเลนเนียลไม่อยากทำงาน พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับขนมปังปิ้ง อะโวคาโด และลาเต้มากเกินไป" นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายอคติที่คนทำงานอายุเกิน 50 ปี มักพูดถึงคนรุ่นหลังพวกเขา ส่วนคนที่ถูกวิจารณ์ก็มักจะตอบกลับด้วยเสียงเบื่อหน่ายว่า "โอเค บูมเมอร์" พร้อมกลอกตาและพูดจาเย้ยหยันเกี่ยวกับค่านิยมการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากเกินไปของคนที่เกิดระหว่างกลางทศวรรษ 1950 ถึงกลางทศวรรษ 1960 

มายาคติที่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ทุ่มเทในการทำงานเท่ากับคนรุ่นเก่า ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างเจเนอเรชั่น 'เบบี้บูมเมอร์' (Baby Boomer) และ 'มิลเลนเนียล' (Millennial หรือ Generation Y) เท่านั้น ระหว่างพวกเขายังมี 'เจน X' (Generation X) ซึ่งเกิดระหว่างปี 1965 ถึง 1980 และ 'เจน Z' (Generation Z) ที่เกิดระหว่างปลายทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2010

สำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ มีหนังสือและคู่มือวางขายเต็มชั้นวาง ทุกเล่มมุ่งอธิบายว่าอะไรที่ทำให้คนแต่ละเจเนอเรชั่นมีพฤติกรรมเฉพาะตัว มาร์ติน ชโรเดอร์ (Martin Schröder) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยซาร์ลันด์ (Saarland University) ก็ถูกถามเช่นกันว่าเขาต้องการเขียนหนังสือในหมวดที่ได้รับความนิยมนี้หรือไม่ 

"สำนักพิมพ์เสนอสัญญาหนังสือที่ให้ผลกำไรกับผม ถ้าผมสามารถแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลแตกต่างจากคนรุ่นเก่าได้" เขาอธิบาย 

ดังนั้น เขาจึงเริ่มวิเคราะห์ชุดข้อมูลหลายแสนชุดที่ครอบคลุมช่วงเวลากว่า 4 ทศวรรษ เนื้อหาที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายและหัวข้อนี้มักถูกหยิบยกมาพูดคุยอยู่เสมอ แต่เขากลับพบผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ

"ผมไม่สามารถหาอะไรมายืนยันได้ว่าทัศนคติต่อการทำงานและอาชีพนั้นเกี่ยวข้องกับปีที่คน ๆ นั้นเกิดได้จริง ๆ " ชโรเดอร์ กล่าว


ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

ภาพลักษณ์ของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ทำงานสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง นั่งอยู่บนชายหาดในบาหลี เขียนโค้ด "เว็บไซต์" หรือ "ทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับสื่อ" ก็เป็นเพียงมายาคติเท่านั้น และยังมีมายาคติเกี่ยวกับเบบี้บูมเมอร์ที่ใกล้จะหมดไฟในวัยเกือบ 60 ปี ที่ว่าพวกเขาทำให้ประเทศ (และพวกเขา) ร่ำรวย จากการทำงานหนักสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมงเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในขณะที่ชีวิตครอบครัวกลับล่มสลาย

'ผลกระทบด้านอายุ' และ 'ผลกระทบด้านช่วงเวลา'

"แน่นอน เช่นเดียวกับมายาคติทุกอย่าง มันมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่เมื่อคุณพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่นจริง ๆ แล้วไม่ได้มีอะไรมากนัก สิ่งที่สำคัญกลับกลายเป็นว่า ผู้คนอยู่ในช่วงชีวิตใดเมื่อถูกถามเกี่ยวกับทัศนคติในการทำงาน" ชโรเดอร์ กล่าว ซึ่งหากพิจารณา 'ผลกระทบด้านอายุ' (age effects) และ 'ผลกระทบด้านช่วงเวลา' (period effects) แล้ว ชโรเดอร์ชี้ว่าเราควรมองข้าม 'ผลกระทบของเจเนอเรชั่น' (generational effect) ไปได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น ชายอายุ 60 ปี ที่บ่นเกี่ยวกับลูกศิษย์ฝึกงานอายุ 15 ปี ที่ไม่ค่อยสนใจที่จะทำกะกลางคืนหรือทำงานวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อหารายได้และก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้นนั้น "ปรากฏว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของคนต่างเจเนอเรชั่นจริง ๆ สิ่งที่เราพบคือ ทุกคนคิดและทำตัวแตกต่างไปจากเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว" ชโรเดอร์ กล่าว 

"ไม่ใช่สังกัดของเจเนอเรชั่นที่อธิบายการคิดของเรา แต่เป็นเพราะว่าเราอยู่ในช่วงชีวิตใดเมื่อถูกถามถึงทัศนคติต่อการทำงาน วันนี้พวกเราแต่ละคนมองโลกแตกต่างไปจากเมื่อหลายปีก่อน ทั้งคนอายุ 15 ปี และ 60 ปี หากคุณถามคนหลายรุ่นในเวลาเดียวกันว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทำงาน คุณจะพบว่าคำตอบของพวกเขาเหมือนกันโดยพื้นฐาน พูดอีกนัยหนึ่ง งานในปัจจุบันไม่ได้สำคัญกับเราเหมือนเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว ไม่ว่าเราจะอายุ 15 ปี หรือ 50 ปี ก็ตาม" ชโรเดอร์ กล่าว 

ข้อสรุปของชโรเดอร์มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน เขาใช้ข้อมูลจากบุคคลเกือบ 600,000 คน จาก Integrated Values Survey ซึ่งสำรวจบุคคลใน 113 ประเทศ ระหว่างปี 1981-2022 เกี่ยวกับทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับการทำงานและอาชีพ นอกเหนือจากการตรวจสอบแรงจูงใจในการทำงานแล้ว ชโรเดอร์ ยังขุดค้นข้อมูลมหาศาลนี้เพื่อให้เข้าใจความสำคัญเชิงอัตวิสัยอื่น ๆ เช่น เวลาว่าง ชั่วโมงทำงาน โอกาสในการแสดงความคิดริเริ่ม วันหยุดยาว ความรู้สึกประสบความสำเร็จ งานที่รับผิดชอบ งานที่น่าสนใจ งานที่เหมาะสมกับความสามารถ การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี และการมีโอกาสพบปะกับคนที่น่าพอใจในการทำงาน ผลลัพธ์สำคัญคือ "เจเนอเรชั่นที่ผู้ตอบแบบสอบถามสังกัดแทบไม่มีผลต่อคำตอบที่ให้"

อะไรที่ทำให้มายาคติเรื่องเจเนอเรชั่นกับการทำงานยังคงมีอยู่

ชโรเดอร์ ยกเหตุผล 3 ประการที่ทำให้มายาคติเรื่องเจเนอเรชั่นกับการทำงานยังคงมีอยู่ 

"ประการที่ 1 มายาคติที่ว่าคนหนุ่มสาวมักไม่ค่อยเต็มใจทำงานมากกว่าคนวัยกลางคนเสมอ แต่ข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกเราทุกคน ไม่ว่าอายุหรือเจเนอเรชั่น จะมองว่าการทำงานแลกกับเงินมีความสำคัญน้อยกว่าในอดีต" 

"ด้วยความสับสนระหว่างผลกระทบของอายุและช่วงเวลา กับผลกระทบของเจเนอเรชั่น มายาคติที่ว่าคนหนุ่มสาวไม่ค่อยเต็มใจทำงานจึงไม่มีอยู่จริง" ชโรเดอร์ กล่าว

"ประการที่ 2 ที่เรามัก (อยากจะ) เชื่อเรื่องช่องว่างระหว่างวัยให้ดูเหมือนเป็น ‘ลัทธิเจเนอเรชั่น’ ชโรเดอร์มองว่ามันเป็นลัทธิใหม่ที่เสนอวิธีอธิบายโลกแบบง่ายเกินไป สมองของเราชอบจัดประเภทผู้คน เพราะมันทำให้เรามองเห็นกลุ่มสังคมของเราดีกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีเกี่ยวกับตัวเอง แต่การคิดแบบ ‘ลัทธิ’ นั้นอันตราย และมักผิดครรลองครองธรรม เหมือนกับการเหยียดเพศและเหยียดสีผิว ถ้าเราไม่ระวัง ก็จะใช้การด่วนสรุปที่ไร้หลักฐาน " ชโรเดอร์ อธิบาย "ดูเหมือนว่าแรงกระตุ้นที่แทบจะต้านทานไม่ได้ในการจัดหมวดหมู่ และถ้าเราไม่ระวัง นำไปสู่การเหมารวมและเลือกปฏิบัติ เช่น สีผิวหรือเพศ ก็ยังใช้ได้กับคุณสมบัติประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ปีเกิด (เจเนอเรชั่น)"

"เหตุผลที่ 3 ที่เรามักจะคิดว่ามีผลกระทบระหว่างเจเนอเรชั่น ในขณะที่จริง ๆ แล้วไม่มีเลย ก็เพราะว่าสำหรับบางคน ข้ออ้างนี้เป็นพื้นฐานในการหาเลี้ยงชีพของพวกเขา" ชโรเดอร์ กล่าว "พูดกันตรง ๆ คือ 'นักวิจัยหนุ่มสาว' และ 'กูรูด้านเจเนอเรชั่น' ได้เพิกเฉยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดแย้งกับรูปแบบธุรกิจของพวกเขา เพราะรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับการขายการให้คำปรึกษา โค้ชชิ่ง หนังสือ และซีรีย์บรรยายที่ 'ปรับตามรุ่น' ต่อไป ทั้งหมดนี้ให้คำแนะนำและแนวทางเกี่ยวกับสิ่งที่ท้ายที่สุดแล้วเป็นเพียงมายาคติที่แอบอ้างว่าเป็นข้อเท็จจริง" ชโรเดอร์ กล่าว

แต่นั่นไม่ใช่ความเสี่ยงที่ศาสตราจารย์ชโรเดอร์ต้องเผชิญ "ใครก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าการแยกแยะระหว่างเจเนอเรชั่นไม่สมเหตุสมผล ย่อมจะไม่ได้ประโยชน์ทางการเงินจากสิ่งนั้น แน่นอน มันเป็นการค้นพบที่ต้องลงลึกกับข้อมูล มักจะทำโดยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย'" ชโรเดอร์ กล่าวมุกตลกพร้อมยิ้ม

งานวิจัยนี้ตีมพิมพ์ในวารสาร Journal of Business and Psychology

 

ที่มา:
From Baby Boomers to Gen Alpha – Is it time to stop talking about generations? (EurekAlert, 29 January 2024)
Boomers Aren’t Harder Workers Than Millennials? Myths About Generational Work Ethic Debunked (StudyFinds, 30 January 2024)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net