Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มนุษย์เป็นสัตว์ที่พูดถึง "ความรัก" มากที่สุด ทุกศาสนาพูดถึงความรัก, ปรัชญา, วรรณกรรมและศิลปะต่างๆ ก็พูดถึงคุณค่าของความรัก และโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับความรัก แต่อีกด้านหนึ่งในสายธารประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบันมนุษย์ก็ขัดแย้งกัน ทำร้ายกัน เข่นฆ่ากัน กระทั่งทำสงครามกันเพราะความรัก ตั้งแต่ความรักฉันชู้สาว ความรักชาติ ศาสนา กษัตริย์ ความรักพระเจ้า รักธรรมะ ฯลฯ

ไม่ว่าความรักจะเป็นสิ่งสร้างขึ้นโดยวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ, เป็นผลผลิตของอารยธรรมมนุษยชาติ, เป็นอารมณ์ความรู้สึกตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เป็นไปตามกลไกทางชีววิทยา หรือเป็นอะไรก็ตาม ที่แน่ๆ คือความรักเป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ และรู้สึกได้ชัดแจ้งเมื่อเรามีความรัก แต่ถ้าถามว่า “ความรักคืออะไร” ก็มักจะตามมาด้วยคำอธิบายมากมายหลายแง่มุม เหมือนคำอธิบายว่าศาสนาคืออะไร ปรัชญาคืออะไร และสิ่งพวกนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต และสังคมมนุษย์อย่างไร

แต่ความจริงหนึ่งที่เรารับรู้ได้อย่างชัดแจ้งคือ “ความรักเป็นเรื่องของความสัมพันธ์” ระหว่างตัวเรากับสิ่งอื่น, สัตว์อื่น, คนอื่น ฯลฯ เช่น ผมรักรถที่เพิ่งถอยออกมาใหม่ๆ เพราะมีความรู้สึกชอบมันมาก เฝ้ามองมัน คอยปัดฝุ่น และแทบจะนอนกับมัน ผมรักแมวเพราะผูกพันกับมัน ชอบแววตาที่มันมองผม รู้สึกดีเวลาที่มันมาคลอเคลีย ผมรักใครบางคนเพราะผมมีความสัมพันธ์บางอย่างกับเขาจนทำให้รู้สึกผูกพัน ยิ่งเรามีความสัมพันธ์ในแบบนั้นๆ ลึกซึ้งมากเพียงใด ความผูกพันและปรารถนาดีต่อกันยิ่งลึกซึ้งแนบแน่นมากเพียงนั้น 

เรานึกไม่ออกเลยว่า ความรักที่ปราศจากความสัมพันธ์และความผูกพันเกิดขึ้นได้อย่างไร ลองนึกภาพเด็กคนหนึ่งถูกพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่แรกเกิด แต่โชคดีที่ได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ วันหนึ่งเมื่อยายุ 20 ปี เขาได้พบพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เขาจะรู้สึกรักเหมือนรักผู้ที่เลี้ยงดูตนเองมาได้ไหม ก็ไม่น่าจะรู้สึกเช่นนั้นได้ ยกเว้นว่าจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ฉันพ่อแม่ลูก จนทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันขึ้นมาได้ แต่ช่วงเวลาที่ขาดความสัมพันธ์ไป 20 ปี ก็คือ “ความว่างเปล่า” หรืออาจเป็น “บาดแผล” ที่ยากจะลบเลือน ในแง่นี้การไม่ถูกรักจากบางคนที่เราคาดหวัง ก็กลายเป็นปมปัญหาสำคัญในชีวิตคนเราได้

แต่เวลาที่ศาสนาและปรัชญาต่างๆ พูดถึง “ความรักสากล” เช่น ความรักสรรพสัตว์ ความรักมนุษยชาติ หมายความว่าอย่างไร ความรักเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น ผมจะรักคนที่ผมไม่รู้จักอีกทั้งยังขับรถปาดหน้าผมได้งั้นหรือ มิพักต้องพูดถึงว่าผมจะสามารถมี “ความรักและให้อภัยแก่ศัตรู” ได้หรือไม่ ฯลฯ

ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีเรื่องราวของบางคนที่เปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตร (หรือเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรู) นั่นก็เป็นเพราะ “ความสัมพันธ์” เปลี่ยนไป จากความสัมพันธ์แบบศัตรูกลายเป็นความสัมพันธ์แบบมิตร สิ่งที่เรียกว่า “ความรักสากล” ก็น่าจะอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์บางอย่าง ไม่ใช่ “ความรักบริสุทธิ์” ที่เป็น “อิสระ” จากเงื่อนไขของความสมัพันธ์ใดๆ ที่มีอยู่อย่างเป็นภววิสัยรอให้เราค้นพบ ตรงกันข้าม ความรักสากลอาจเป็นความรักที่เกิดจากความเข้าใจความสัมพันธ์อันซับซ้อนของมนุษย์ จนกระทั่งมองเห็นความจริงว่า แม้มนุษย์จะแตกต่างกันมากเพียงใด แต่ก็มีภาวะบางอย่างที่เรียกว่า “ความเป็นมนุษย์” (human being) ที่เชื่อมโยงความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างตัวเรากับทุกคน  

เช่น ในแง่ปัจเจกบุคคล เราแต่ละคนมีอัตลักษณ์แตกต่างกันมาก ตั้งแต่อุปนิสัย รสนิยม เพศ วัย ผิวพรรณ ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ สถานภาพ บทบาทหน้าที่ และอื่นๆ แต่ความแตกต่างเหล่านั้นเป็นเพียง “เปลือกผิว” เท่านั้นเองหรือไม่ หากเทียบกับธรรมชาติของ “ความเป็นมนุษย์” ที่เรามีร่วมกัน เช่น เรามีเสียงหัวเราะเหมือนกัน ร้องไห้มีหยดน้ำตาเหมือนกัน มีอารมณ์ความรู้สึกรัก ปรารถนา อิจฉา โกรธ เกลียด มีด้านที่เข้มแข็งและเปราะบางคล้ายๆ กัน เราเกลียดความเจ็บปวด และปรารถนาความสุขเหมือนกัน เราต้องการเสรีภาพ ความเป็นธรรม และไม่ยอมรับที่ใครๆ จะมาดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นคนของเราเช่นกัน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก ความคิด เหตุผล และอื่นๆ ข้ามภาษา วัฒนธรรม และกำแพงความแตกต่างใดๆ ได้  

มีบางมุมมอง เช่น มุมมองแบบพุทธปรัชญามองว่า มนุษย์เราแม้จะแตกต่างกัน แต่ทุกคนมี “พุทธภาวะ” หรือ “ความเป็นพุทธะ” ภายในตัวเองเหมือนกัน ความเป็นพุทธะคือธรรมชาติที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน ความรักสรรพสัตว์ หรือความรักมนุษยชาติจึงเป็นไปได้ เพราะความรักเช่นนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ผูกพันเรากับคนอื่นๆ และสรรพชีวิตเข้าด้วยกัน 

จากความคิดพื้นฐานข้างบน บางคนมองว่า การปฏิบัติธรรมคือการฝึกจิตเพื่อค้นพบความเป็นพุทธะ จากมุมมองนี้ความเป็นพุทธะคือ “เป้าหมาย” การปฏิบัติธรรมคือการเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น แต่บางคนมองว่า ในเมื่อเรามีธรรมชาติความเป็นพุทธะภายในตัวเองอยู่แล้ว ความเป็นพุทธะจึงไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องบรรลุถึง สิ่งที่เราควรทำคือ “ใช้ความเป็นพุทธะของเราที่มีอยู่แล้วสัมพันธ์กับตัวเอง และกับคนอื่นๆ ชีวิตอื่นๆ สิ่งอื่นๆ สรรพสัตว์ หรือมนุษยชาติ” แต่จะเป็นไปได้อย่างไร

ผมคิดว่ามีมุมองทางปรัชญาที่คล้ายกันนี้ที่ชี้แนะให้เราใช้ธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์รองรับความสัมพันธ์กับตัวเองและทุกคน เช่น ปรัชญาสายคานท์ (Kantianism) มองว่าธรรมชาติพื้นฐานของเราทุกคนคือ “ความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง” ดังนั้น การใช้ชีวิตของเราเอง, ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นๆ ทุกคน รวมทั้งการสร้างหลักการและกฎทางศีลธรรมและทางสังคมการเมือง ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ดังกล่าว การใช้อำนาจเผด็จการรูปแบบใดๆ ที่ละเมิดความมีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ผิด

ปรัชญาสายคานท์ไม่ได้เรียกร้องให้เรารักกัน แต่เรียกร้องให้เราเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองของกันและกัน เราจะคิดต่างกัน ไม่รักกัน หรือโกรธ เกลียดกันก็ได้ แต่สังคมมนุษย์จะมีสันติภาพได้ ถ้าหากมวลมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนหลักการและกติกาที่เคารพความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน และนั่นคือ “ความเป็นธรรม” (fairness) ความรักรูปแบบใดๆ จะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อเป็นความรักที่เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ในทางกลับกัน ความรักใดๆ ก็อาจเป็นอันตรายได้ หากเป็นความรักที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์หรือความรักที่นำไปสู่การละเมิดเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่น

ดังนั้น ในมุมมองปรัชญาสายคานท์ ความรักคืออาการป่วยอย่างหนึ่ง หากเป็นความรักที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ เช่น ความรักพระเจ้า ธรรมะ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ แล้วปกป้องสิ่งที่เรารัก ด้วยการใช้ความรุนแรงและกฎหมายอยุติธรรมต่อคนที่คิดต่าง

กลับมาที่มุมมองแบบพุทธปรัชญา เมื่อเราใช้ “ความเป็นพุทธะ” อันเป็นธรรมชาติที่มี “อิสรภาพ” โดยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ของเราไปสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ก็คือการที่เราใช้อิสรภาพทางปัญญาและกรุณาในความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และ/หรือมนุษยชาติ 

ปัญญาคือความเข้าใจตามเป็นจริงว่า ในความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนมีความเป็นพุทธะเป็นอิสรภาพพื้นฐาน และเข้าใจตามเป็นจริงด้วยว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์เราต่างก็มีอารมณ์ความรู้สึกสุข ทุกข์ สมหวังผิดหวัง เห็นแก่คนอื่น และเห็นแก่ตัว มีความเข้มแข็งและเปราะบาง ฯลฯ ปัญญาที่เข้าใจความจริงเช่นนี้ จะทำให้เรามีจิตใจกรุณา คือมีความเห็นอกเห็นใจและเกื้อกูลกันและกัน ส่วนเมตตาคือความรัก ความปรารถนาดี หรือความเป็นมิตรระหว่างกัน 

บทสนทนาในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งบอกว่า “เราควรจะเป็นมิตรมากกว่าที่จะเป็นศัตรูกัน เพราะทุกคนต่างก็ดิ้นรน” ความเข้าใจเช่นนี้ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากคำสอนศาสนา, ศาสดาผู้สูงส่ง หรือปรัชญาที่ลึกซึ้งใดๆ แต่อาจมาจากจิตใจของคนธรรมดาทั่วๆ ไปที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจไม่ได้ถูกบันทึกในคัมภีร์ หรือวรรณกรรม    

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรสรุปว่าความรักคือ “คำตอบ” มากไปกว่า “คำถาม” บางทีเราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับความรักมากขึ้นว่าคืออะไร ถูกสร้างขึ้นอย่างไร และเพื่อใคร หรือความรักนั้นๆ สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ของเราอย่างไร พ่อ แม่ ครูอาจารย์อ้างได้อย่างสมเหตุสมผลด้วยหรือว่าต้องเผด็จการกับลูกและลูกศิษย์เพราะรักพวกเขา ชนชั้นปกครองอ้างโง่ๆ ได้อย่างไรว่า “รักประชาชนทุกคนเหมือนลูก” ในเมื่อเขาทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการของตนเอง

อีกคำถามหนึ่งที่เราถามซ้ำๆ มานานคือทำไมผู้คนในสังคมเรามองไม่เห็น “ช้างในห้อง” หรือ “แสร้ง” มองไม่เห็น? ยิ่งกว่านั้น ศาสนจักรและบรรดานักบวชยังประกอบพิธีกรรมบูชาและปิดทองช้างในห้องให้กลายเป็น “ช้างศักดิ์สิทธิ์” ที่ประชาชนต้องกราบกรานขอพึ่งบารมี และให้ประชาชนรักและภักดีต่ออำนาจที่อยู่เหนือเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง  

ที่น่าเศร้าคือ ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ถูกสร้างขึ้นหรือปลูกฝังกันมาอย่างไรจึงทำให้สังคมเราตกอยู่ในอาการป่วยมายาวนาน ด้วยการใช้ความรุนแรงและกฎหมายอยุติธรรมปกป้องสิ่งที่เรารัก หรือด้วยความรักและการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำไมเรามองไม่เห็นและไม่เคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของนักโทษคดี 112 และคดีอื่นๆ ทางการเมือง ทำไมการนิรโทษกรรมพวกทำรัฐประหารที่อ้างปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์จึงทำได้ง่ายดายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การนิรโทษกรรมประชาชนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยกลับยากเย็นแสนเข็ญ 

นั่นเป็นเพราะความรักชาติ รักศาสนา รักกษัตริย์ที่สังคมเราโหมประโคมทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ไม่ใช่ “ความรักที่สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน” ใช่หรือไม่ มันจึงไม่ใช่ความรักที่เคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน และไม่ใช่ความรักที่เคารพความเป็นพุทธะอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ของเรา เพราะปัญญาและกรุณาที่มาจากความเป็นพุทธะของเราใม่อนุญาตให้เราใช้ความรุนแรงและกฎหมายที่อยุติธรรมต่อคนคิดต่างแน่ๆ  

บางคนอาจไม่เห็นด้วยที่ผมนำพุทธปรัชญากับปรัชญาสายคานท์มาเปรียบเทียบกัน เพราะทั้งสองแนวคิดต่างกันมาก แต่ผมกลับคิดเหมือนนักปรัชญาอย่างจอห์น รอลส์, ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ เป็นต้น ที่มองว่าความคิดทางศาสนาและปรัชญาต่างๆ ในโลกนี้ เช่น เทวนิยม, อเทวนิยม, อไญยนิยม, สุญนิยม, สากลนิยม, สัมพัทธนิยม, สมัยใหม่นิยม, หลังสมัยใหม่นิยม, ปรัชญาคานท์, ประโยชน์นิยม, พุทธปรัชญา, ศาสนาอื่นๆ กระทั่งความเชื่อชนเผ่าต่างๆ แม้จะต่างกันมากในรายละเอียด แต่มีสาระสำคัญที่ “เหลื่อมซ้อน” (overlap) กันอยู่ สังคมมนุษย์ขัดแย้งกันเพราะแทนที่เราจะมองหาแง่มุมที่เหลื่อมซ้อนหรือสอดคล้องไปกันได้ (compatible) แต่กลับเน้นด้านที่แตกต่างมาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งและความรุนแรง 

ความคิดของประชาชนฝ่ายที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์กับฝ่ายที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ย่อมมีแง่มุมที่เหลื่อมซ้อนกันหรือสอดคล้องไปกันได้ โดยเฉพาะในแง่สำคัญที่สุดคือ ทุกฝ่ายต่างก็มี “ความเป็นมนุษย์” เหมือนกัน ปัญหาคือทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรักในสิ่งที่ต่างกันนั้นเป็นความรักที่สัมพันธ์เชื่อมโยงหรือเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองของเราทุกคน 

พูดอย่างถึงที่สุด ในเมื่อความรักไม่ได้เป็นอิสระจากความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์เป็นสิ่งกำหนดความหมายและคุณค่าของความรัก ดังนั้น ความรักแบบใดๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง หรือไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นพุทธะที่ใช้ปัญญาและกรุณาเชื่อมโยงให้เราเกื้อกูลกันและกัน ความรักนั้นๆ ก็คืออาการป่วยที่กลับมาทำร้ายตัวเราเอง และทำร้ายกันและกัน ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net