Skip to main content
sharethis

งานวิจัยพบการแปลงวรรณกรรมเป็นดิจิทัล สามารถเพิ่มยอดขายหนังสือเล่มถึง 8% เพราะการเข้าถึงทางออนไลน์ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการหนังสือเล่มของผู้อ่าน ยิ่งไปกว่านั้น ยอดขายหนังสือเล่มที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมยังเพิ่มขึ้นมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลดีต่อร้านหนังสือขนาดเล็กทั่วโลก


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

แม้อุปกรณ์อ่านอีบุ๊กสมัยใหม่จะมีความสามารถในการบรรจุนวนิยายนับพันเล่มไว้ในอุ้งมือเดียว แต่ก็ไม่มีอะไรเทียบเท่ากับการได้สัมผัสและลูบไล้หนังสือเล่มจริงขณะพลิกหน้าอย่างตื่นเต้น ในขณะที่สำนักพิมพ์หลายแห่งกังวลเกี่ยวกับการแปลงวรรณกรรมเป็นดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ชี้ว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเผยแพร่งานวรรณกรรมทางดิจิทัลอาจส่งผลดีต่อร้านหนังสือขนาดเล็กทั่วโลก

ทีมวิจัยพบว่าการแปลงงานวรรณกรรมเป็นดิจิทัลสามารถช่วยเพิ่มยอดขายหนังสือเล่มได้ถึง 8% เนื่องจากการเข้าถึงทางออนไลน์ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการหนังสือเล่มของผู้อ่าน ยิ่งไปกว่านั้น ยอดขายของหนังสือเล่มที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมยังเพิ่มขึ้นมากขึ้นด้วย และยังส่งผลบวกไปยังผลงานที่ไม่ได้ผ่านการแปลงเป็นดิจิทัลของนักเขียนคนเดียวกันอีกด้วย

เมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว โครงการ Google Books ได้แปลงวรรณกรรมมากกว่า 25 ล้านเล่มเป็นดิจิทัลและเผยแพร่ฟรี ในเวลานั้น บรรดาสำนักพิมพ์ต่างโกรธแค้นและฟ้องร้องตามกฎหมาย โดยอ้างว่าการเผยแพร่ดิจิทัลฟรีนั้นบั่นทอนตลาดหนังสือเล่ม

แต่งานวิจัยที่ดำเนินการโดยอิมเค รีมเมอร์ส (Imke Reimers) อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์และการจัดการ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และคณะ ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการแปลงงานวรรณกรรมเป็นดิจิทัลขนาดใหญ่ของ Google นี้ต่อยอดขายหนังสือจริง

“คำถามหลักจากฝ่ายสำนักพิมพ์เสมอคือไม่พอใจที่ผู้คนนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์ของพวกเขาไปเผยแพร่ฟรี” รีมเมอร์ส ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่ที่คอร์เนลล์ หลังจากเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทอร์น (Northeastern University) เป็นเวลานาน 9 ปี กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “สำหรับเรา มันไม่ชัดเจนว่าการแปลงเป็นดิจิทัลควรจะส่งผลเสียต่อยอดขาย” เธอกล่าวต่อ “เพราะมันสามารถนำไปสู่การรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการแปลงเป็นดิจิทัลบางประเภทมากขึ้น”

โครงการ Google Books เริ่มต้นในปี 2005 และได้แปลงผลงานนับล้านเป็นดิจิทัล ไม่เพียงแค่นั้น ยังใช้เทคโนโลยีการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) เพื่อให้ค้นหาเนื้อหาภายในได้ ผู้ใช้สามารถค้นหางานพิมพ์จำนวนมหาศาลและค้นพบหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือธีมเฉพาะได้

"สมมติว่าคุณค้นหาคำว่า 'สังเคราะห์แสง' บน Google" รีมเมอร์ส กล่าวเสริม "คุณอาจพบข้อความตัดตอนมาจากหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วคุณอาจต้องการซื้อมัน เพราะคุณเห็นมันบนหน้าเว็บและตัดสินใจว่าหนังสือเล่มนั้นมีประโยชน์"


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

ในการศึกษา นักวิจัยเลือกโฟกัสผลงานดิจิทัลเฉพาะส่วนของโปรเจค Google Books นั่นคือ ผลงานจากห้องสมุด Widener ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งเป็นแหล่งชิ้นงานสำคัญในช่วงเริ่มต้นของโครงการ 

สำหรับเหตุผลในการเลือกคือ กระบวนการแปลงเป็นดิจิทัลของห้องสมุด Widener ได้รวมเฉพาะผลงานหมดลิขสิทธิ์ที่ตีพิมพ์ก่อนปี 1923 และเผยแพร่ให้ผู้บริโภคทั้งเล่ม นอกจากนั้น ลำดับการดิจิทัลของหนังสือจากห้องสมุด Widener ถูกสุ่มเลือกตามที่ตั้งชั้นวาง ไม่ใช่ตามหัวเรื่อง 

"สิ่งนี้ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบสองช่วงเวลา - ยอดขายก่อนและหลังการแปลงเป็นดิจิทัล" รีมเมอร์ส อธิบาย

นักวิจัยประเมินหนังสือที่สแกนระหว่างปี 2005-2009 ทั้งหมด 37,743 เล่ม พวกเขาวิเคราะห์ยอดขายใน 2 ปีก่อนกับ 2 ปีหลังการแปลงเป็นดิจิทัล ผลลัพธ์แสดงความแตกต่างของยอดขายอย่างชัดเจน ระหว่างหนังสือที่แปลงเป็นดิจิทัลและไม่ได้แปลงเป็นดิจิทัล โดยพบว่าหนังสือที่แปลงเป็นดิจิทัลประมาณ 40% มียอดขายเพิ่มขึ้น เทียบกับหนังสือเล่มที่ไม่ได้แปลงเป็นดิจิทัล เล่มที่มียอดขายเพิ่มขึ้นนั้นมีไม่ถึง 20% เท่านั้น

“ทีแรกเราไม่ได้คาดหวังว่ายอดขายจะเพิ่มมากขนาดนี้” รีมเมอร์ส  กล่าว “เราคาดหวังว่ามันจะเป็นผลดีต่อการใช้งาน เพราะถ้าหนังสือหาได้ง่ายในโลกออนไลน์ ผู้คนจะค้นพบและใช้งานมันมากขึ้น แต่ผลดีต่อยอดขายเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดการณ์”

รีมเมอร์ส กล่าวเสริมว่า “นี่คือผลกระทบเชิงบวกจากการค้นพบ” ซึ่งยังส่งผลถึงหนังสือที่ไม่ได้แปลงเป็นดิจิทัลของนักเขียนคนเดียวกัน เมื่อผู้อ่านค้นหางานที่ดิจิทัล ดูเหมือนจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น

"แม้ยอดขายไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล" รีมเมอร์ส กล่าว "แต่ก็ยังเป็นข่าวดีสำหรับสำนักพิมพ์"

แต่สำหรับคนรักหนังสือเล่มอย่างจริงจังนั้น รีมเมอร์ส ยอมรับว่าหลายคนชื่นชอบหนังสือจริง มากกว่าเวอร์ชันดิจิทัล ซึ่งอาจส่งผลเช่นกัน

"เวลาฉันคุยกับผู้คนเกี่ยวกับงานวิจัยของฉันเกี่ยวกับหนังสือ" รีมเมอร์ส กล่าว "บางครั้งพวกเขาก็พูดว่า 'ฉันชอบสัมผัสหนังสือจริง'"

งานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสาร Economic Policy


ที่มา:
Book stores rejoice: Digitizing literature can spur greater demand for paper copies (John Anderer, StudyFinds, 28 January 2024)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net