Skip to main content
sharethis

'การทำข่าวไม่ใช่อาชญากรรม' : ชี้แจงกรณีนักข่าวประชาไทถูกจับกุมคดี 'เป็นผู้สนับสนุน' ทำลายโบราณสถาน

จากกรณีตำรวจจับกุม 2 นักข่าวและช่างภาพ หนึ่งในนั้นคือ ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วยข้อหา 'เป็นผู้สนับสนุน' ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถานฯ จากเหตุไปทำและรายงานข่าวศิลปินอิสระพ่นสีข้อความทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ "อนาคิสต์" บนกำแพงวัดพระแก้ว 28 มี.ค.2566 โดยหมายจับออกไว้ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2566 และไม่มีหมายเรียกก่อนนั้น ทั้งนี้ระหว่างจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทยังถูกพันธนาการด้วยเคเบิลไทร์ และสองยังถูกควบคุมตัวโดยการไปยังพื้นที่ห่างไกลจาก สน.พระราชวัง คือทั้ง สน.ฉลองกรุงและ สน.ทุ่งสองห้อง จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และประชาไทตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น

กองบรรณาธิการข่าวประชาไทจึงขอชี้แจงดังนี้

1. กระบวนการทำข่าวและรายงานข่าวของ ณัฐพล เมฆโสภณ ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติแห่งวิชาชีพ ในประมวลจริยธรรม 'ประชาไท'
2. หมายข่าวดังกล่าวทั้งในวันที่ 27 มี.ค.2566 ที่ผู้นัดหมายยกเลิกกิจกรรม และวันที่ 28 มี.ค.2566 ที่เกิดเหตุจนเป็นประเด็นนั้น ณัฐพล เมฆโสภณ ได้รับการอนุมัติจากบรรณาธิการให้ไปติดตามและรายงานข่าวตามหมายข่าว
3. สถานะและสภาพการจ้างงานของ ณัฐพล เมฆโสภณ ยังเป็นนักข่าวประจำกองบรรณาธิการฯเหมือนเดิมทุกประการ
4. กองบรรณาธิการฯ จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีกับ ณัฐพล เมฆโสภณ ตลอดกระบวนการ
5. กองบรรณาธิการฯ จะดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ณัฐพล เมฆโสภณ ในทุกช่องทางที่มีและทำได้ รวมทั้งช่องทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องการทำงานและชื่อเสียงของ ณัฐพล เมฆโสภณ 

มีข้อโต้แย้งว่าสื่อก็ทำผิดได้ และโดยกระบวนการปกติสื่อต้องถูกตรวจสอบได้ แน่นอนเราเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าสื่อผิดและพลาดได้ อีกทั้งเรายังส่งเสริมให้ประชาชนเท่าทันสื่อ แต่การออกหมายจับค้างไว้ถึง 9 เดือน ก่อนจับกุม และไม่มีหมายเรียกก่อนนั้น เรามองว่าไม่ใช่กระบวนการตรวจสอบปกติ รวมถึงหากปล่อยให้การตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ก็ยังจะกระทบต่อกระบวนการทำงานข่าวโดยเฉพาะนักข่าว ช่างภาพ หรือผู้ปฏิบัติงานข่าวภาคสนามอย่างยิ่ง

ไม่เพียงแต่ 2 นักข่าวและช่างภาพที่ถูกละเมิดเสรีภาพของสื่อ หากแต่ช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินคดีในลักษณะการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuits Against Public Participation -SLAPP) ต่อสื่อมวลชนทั้งสื่อมวลชนอาชีพที่มีสังกัด สื่อมวลชนอิสระ รวมทั้งสื่อพลเมืองหรือประชาชนผู้ใช้สิทธิในการสื่อสาร โดยเฉพาะส่วนหลังที่อยู่ในสถานะเปราะบางมักถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกายในหลายครั้ง 

จึงขอเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อ กลไกปกป้องคุ้มครองสิทธิฯ สื่อมวลชนหรือประชาชนเอง ติดตามสถานการณ์และไม่ปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานหรือความปกติใหม่ที่มาจำกัดเสรีภาพสื่อและสิทธิในการสื่อสารของประชาชน เพราะไม่เพียงคนทำงานสื่อจะกระทบ ประชาชนที่เป็นผู้รับสารหรืออยากลุกขึ้นมาสื่อสารก็จะกระทบไปด้วย

“เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน”
กองบรรณาธิการข่าวประชาไท
21 ก.พ. 2567
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net