Skip to main content
sharethis

ไฟใต้ ทะลุทุกความขัดแย้งในไทย นานที่สุดแต่ยังสูญเสียได้อีก แม้มีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข เผย 20 ปีความรุนแรงใน 4 ช่วงเวลา กับความแปรปรวนที่ท้าทายในช่วงท้าย จากปัญหาความยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เปิดลักษณะเด่น 10 ประการอันมีผลต่อสันติภาพในห้วง 2 ทศวรรษ และลักษณะเด่น 5 ประการของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

ในบทความวิจัยพิเศษ “สองทศวรรษแห่งความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี; มุมมองเหตุการณ์ ประเด็นความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน” ผู้เขียนได้เปิดลักษณะเด่น 10 ประการอันมีผลต่อสันติภาพในห้วง 2 ทศวรรษ และ ลักษณะเด่น 5 ประการของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

เป็นบทความที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่อย่างเข้มข้นมานาน 

คือ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้/สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยบทความชิ้นนี้ได้สรุปและวิเคราะห์ปัญหาที่สำคัญในรอบ 20 ปี มีเนื้อหารวมถึงกระบวนการสันติภาพ และประเด็นความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ก่อนจะถอดออกมาเป็นลักษณะเด่นดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับกระบวนการพูดคุยและการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในพื้นที่

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ (https://cscd.psu.ac.th/th/node/561)

หากนับสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 จนถึงธันวาคม 2566 เป็นเวลา 20 ปีเต็มแล้ว ถือว่าได้ว่า เป็นความขัดแย้งที่กินเวลายาวนานที่สุดในประเทศไทย ยาวนานกว่าสงครามประชาชนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับรัฐบาลไทย ซึ่งใช้เวลาถึง 18 ปี (ปี 2508-2526) กว่าจะสิ้นสุดลง

“แต่เหตุการณ์ชายแดนใต้ยังถือว่าไม่ยุติลง แม้จะมีความริเริ่มกระบวนการสันติภาพแล้วก็ตาม”

เหตุการณ์ไฟใต้ในห้วง 20 ปี 4 ช่วงเวลา

ผู้เขียนได้แบ่งพัฒนาการของเหตุการณ์ไฟใต้ในห้วง 20 ปีที่สูงถึง 22,296 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,547 คน และบาดเจ็บอีก 14,028 คน ออกเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน

ช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2547-2550

แค่ปี 2547 เพียงปีเดียว มีความรุนแรงมากถึง 1,472 ครั้ง ซึ่งมากกว่าจำนวนเหตุการณ์ในช่วง 10 ปีก่อนนั้นเสียอีก (ปี 2536-2546) ที่มีเหตุการณ์รวมกัน 748 ครั้ง โดยในช่วงแรกนี้มีเหตุการณ์ 6,685 ครั้ง

เหตุรุนแรงมีความเข้มข้นและต่อเนื่อง และมีแบบแผนกระจายทั่วพื้นที่อย่างเป็นระบบ แต่ในตอนแรกคนยังไม่ยอมรับว่า ฝ่ายก่อเหตุได้พัฒนาขบวนการต่อสู้ขึ้นมาอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายร่วมกันบางอย่าง  แต่ความรุนแรงที่สูงมากนั้น แสดงให้เห็นว่ามีองค์กรนำในการจัดการ ซึ่งองค์กรนี้ก็จะกลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการสร้างสันติภาพในอีก 10 ปีต่อมา

ช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2551-2555

ความรุนแรงเริ่มลดลงในระดับหนึ่ง เกิดจากยุทธวิธีของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายทหารที่เร่งบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548) โดยระดมกำลังปิดล้อมพื้นที่ตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้เพื่อจับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบ

มีการเพิ่มกำลังทหารและกองกำลังอื่น ๆ ถึง 60,000-70,000 คน โดยเฉพาะนโยบาย “หนึ่งกองทัพภาค คุมพื้นที่หนึ่งจังหวัด” มีการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานอีก 30 กองร้อย เพิ่มกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนอีกประมาณ 2,000 คน สร้างกองกำลังประชาชน โดยเพิ่มอัตราผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบจากเดิมหมู่บ้านละ 1 คน เป็นหมู่บ้านละ 5 คน และฝ่ายตำรวจก็ขยายกำลังพลและจัดตั้ง ‘ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้(ศชต.)’

ผลก็คือ เกิดการทำลายโครงสร้างขบวนการก่อความไม่สงบ มีคนถูกจับโดยเฉพาะจากฝ่ายทหารตั้งแต่ปี 2547 ถึงมิถุนายน 2552 มากกว่า 3,000 ราย

ถึงกระนั้น จำนวนการตายบาดเจ็บกลับไม่ได้ลดลงตามจำนวนการก่อเหตุ คล้ายกับว่าการโจมตีแต่ละครั้งทำให้เกิดการตายและบาดเจ็บมากขึ้น เป็น“ความรุนแรงเชิงคุณภาพ” และสถานการณ์กำลังจะเป็น “ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง” เกิดปฏิบัติการสำคัญหลายครั้งในปี 2555 ก่อนการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเปิดเผยในปี 2556

ช่วงที่ 3 ระหว่างปี 2556-2563

ความรุนแรงและการสูญเสียลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยมีสมมุติฐานคือการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional-BRN) มีนัยสำคัญในการลดความรุนแรงนับจากนั้น

ตั้งแต่ปี 2556-2562 มีการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ (BRN และ/หรือ MARA Patani) รวมประมาณ 25 ครั้งที่ประเทศมาเลเซีย

ในปี 2563 เริ่มการแพร่ระบาดของโควิด 19 BRN ประกาศยุติความรุนแรงฝ่ายเดียว เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้หน่วยงานสาธารณสุขได้ปฏิบัติงาน

ช่วงที่4 ระหว่างปี 2564-2566

ความรุนแรงลดลง แต่มีความแปรปรวนไม่แน่นอน ปฏิบัติการ “บังคับใช้กฎหมาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินต่อไป ทำให้เกิดการปิดล้อมตรวจค้นและปฏิบัติการทางยุทธวิธีหลายจุด มีการวิสามัญฆาตกรรมหลายกรณี จากนั้นระดับความรุนแรงจึงสูงขึ้นทุกเดือนในปี 2564 จากนั้นในช่วง 2-3 ปีหลัง มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ สูงขึ้นในระดับหนึ่ง

ความแปรปรวนที่ท้าทาย

ผลจากปฏิบัติการหลายครั้ง ทำให้ค่าความแปรปรวน (variations) ของเหตุการณ์รายเดือนสูงขึ้นอย่างชัดเจนในระหว่างปี 2564-2566 (ดูภาพที่ 7)

หมายความว่า หากมองในระยะยาวตลอด 20 ปี (2547-2566) ระดับความรุนแรงจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ แต่ต้องระวังค่าความแปรปรวนระยะสั้นใน 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) ด้วยว่า จะแก้ปัญหาได้ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และกระบวนการทางการเมืองอื่น ๆ ได้อย่างไร? จะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันหรือไม่?

เพราะจะมีผลในการเปลี่ยนสถานการณ์ได้ ถ้าค่าความแปรปรวนยังมีความต่อเนื่อง และสิ่งที่ควรระวังคือ ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ต่อการกระทำของรัฐ เช่น ประเด็นความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ตัวแปรสำคัญที่น่าจะมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ก็คือ ความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพ ปัญหาความยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่โดยฝ่ายรัฐ

สันติภาพ/สันติสุข ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ความคาดหวังถึงสันติภาพจะมีความหมายอย่างไร? และมีแนวทางใดที่จะทำให้สันติภาพกลายเป็นเป้าหมายที่บรรลุผลได้มากขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอน

นักวิชาการสันติภาพ Johan Galtung ได้นำแนวคิดเรื่องสันติภาพมาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สันติภาพเชิงลบ และ สันติภาพเชิงบวก

ทั้ง 2 ประเภท สามารถอธิบายได้ง่ายที่สุดว่า สันติภาพเชิงลบ คือการไม่มีความรุนแรงทางตรง ทางกายภาพ การดำเนินการเพื่อให้บรรลุสันติภาพเชิงลบ คือการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายแค่ป้องกันหรือหยุดความรุนแรงทางกายภาพไม่ให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การไม่มีความรุนแรงทางตรงไม่ได้หมายความว่าสังคมจะสงบสุขเสมอไป

สันติภาพเชิงบวก มีนัยการพิจารณาถึงความยุติธรรมของสังคมและการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ในรูปแบบของการกำจัดเงื่อนไขความขัดแย้งในระดับโครงสร้าง

ในจังหวัดชายแดนใต้ความรุนแรงที่เกิดจากระดับโครงสร้าง หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กลับยังผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดระยะเวลา 20 ปี สถานการณ์เป็นอย่างไร (อ่านคำอธิบายได้ในเนื้อหาฉบับเต็ม)

ลักษณะเด่น 10 ประการอันมีผลต่อสันติภาพในห้วงสองทศวรรษ

บนความแปรผันของสถานการณ์ความขัดแย้งในรอบ 2 ทศวรรษของชายแดนใต้/ปาตานี ได้เกิดคุณลักษณะเด่นที่ก่อให้เกิดสันติภาพและแนวทางการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีอันพอจะสรุปได้ 10 ประเด็น คือ

1. ความรุนแรง/ความไม่สงบในพื้นที่มีระดับลดลง อันเป็นผลจากการพูดคุยสันติภาพฯในปี 2556 อาจจะประกอบกับอิทธิพลของตัวแปรอื่น ๆ ด้วย แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ชัดว่า เหตุไม่สงบลดลงอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2556

2. หลังจากปี 2556 เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพ มีการก่อตัวของกลไกทางสถาบัน ระบบการทำงาน บุคลากร ระเบียบกฎหมายและคำสั่งของฝ่ายบริหารที่ชัดเจนมาก สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี กลายเป็นสภาวะในทางสถาบันทางการเมืองที่มีตัวตนชัดเจน แม้จะเปราะบาง

พื้นที่กลางที่ปลอดภัย

3. ทั้งก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ ได้เกิดการสร้าง ”พื้นที่กลาง” ที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องปัญหาความขัดแย้งและสันติภาพจากคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายในพื้นที่ที่มีภูมิหลังที่แตกต่างและหลากหลาย จนกลายเป็นกระบวนการทางสังคมและการเมือง อาจเป็นสนามทางสังคมที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในระยะยาว

4. ในพื้นที่กลางดังกล่าวได้เกิดพัฒนาการที่ตามมาคือ พื้นที่กลางทั้งทางราชการ รัฐ ภาคประชาสังคมและพื้นที่กลางของนักวิชาการ

ในด้านหนึ่ง ภาครัฐสร้างได้คณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ขึ้น รวมทั้งพื้นที่กลางสันติภาพขนาดเล็กของ ศอ.บต. และยังมีพื้นที่ของภาควิชาการร่วมกับประชาชน เช่น Insider Peace builder Platform-IPP

ในอีกด้านหนึ่ง เกิดการพูดคุยโดยตรงอย่างไม่เปิดเผยระหว่างขบวนการผู้เห็นต่างฯกับกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่

สภาพดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สันติภาพเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งฝ่ายรัฐ คนพุทธและมุสลิม และผู้เห็นต่างจากรัฐ นี่คือการเกิดภาวะการแข่งขันกันเอง (contestation) ของพื้นที่และบทสนทนาสันติภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และคู่ขัดแย้ง

มีการเปิดสนามการพูดคุยกันเองของฝ่ายต่างๆ เช่น ในเดือนตุลาคม 2565 มาราปาตานี จัดประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 4 ณ รัฐตรังกานู มาเลเซีย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสเชิญตัวแทนองค์กรประชาสังคมและวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติภาพในพื้นที่ปาตานีเข้าร่วมงานด้วย

ส่วนทางฝ่าย BRN ก็มีการนัดพบปะกับภาคประชาสังคม ทั้งคนมลายูและคนไทยพุทธ หลายครั้งในดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน มิติใหม่คือทุกฝ่ายได้มีโอกาสคุยกันแทนที่จะก่อความรุนแรงอย่างเดียว

พัฒนาการขององค์ความรู้

5. การมี “พื้นที่กลาง” ส่งผลให้เกิด พัฒนาการ “องค์ความรู้และทักษะในการจัดการในพื้นที่กลาง“ อย่างมีความน่าเชื่อถือด้วยทักษะการจัดกระบวนการกลุ่ม การบริหารจัดการพลวัตในการประชุม การพัฒนาวิธีสนทนากลุ่ม วิทยากรกระบวนการที่สร้างสรรค์ศักยภาพและทักษะในการสร้างเครือข่ายสังคมที่ประสานงานกัน หรือสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ข้ามกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน

ภาคประชาสังคมปีกความคิดที่ต่างกันหันมาคุยกัน เครือข่ายของคนมลายูมุสลิมร่วมมือกับคนไทยพุทธ พัฒนาการดังกล่าวคือการขับเคลื่อนสันติภาพด้วยความรู้

การพัฒนากลุ่มประชาสังคม

6. เกิดการพัฒนากลุ่มประชาสังคม และร่วมกันพัฒนากระบวนการทางสังคมและการเรียนรู้เพื่อสันติภาพ มีการการถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น กระบวนการในวง IPP วง สล.3 วงสภาประชาสังคมฯ วงสมัชชาประชาสังคมฯ (CAP) เดอะปาตานี บุหงารายา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เครือข่ายผู้หญิง ฯลฯ

บังเกิดผลกระทบต่อความรู้สันติภาพในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม และทำให้เกิดการสร้างบทสนทนาและแลกเปลี่ยนในความรู้วิชาการสันติภาพในด้านลึกและซับซ้อน ความรับรู้เรื่องสันติภาพของผู้นำภาคประชาสังคมหลายฝ่ายมีการยกระดับมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

7. พัฒนาการบทบาทและสถานภาพขององค์กรฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้สถานะขบวนการ BRN, PULO หรือ MARA Patani ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

มีการกล่าวถึงชื่อฝ่ายขบวนการฯ มากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เช่น การรายงานในสื่อสารมวลชน การพูดในสื่อสาธารณะและการสนทนาของประชาชนในพื้นที่ ในกลุ่มคนต่าง ๆ ในเวทีสาธารณะ รายงานข่าว และรายงานการวิจัยทางวิชาการ

ทั้งนี้ ขัดกับแนวทางของฝ่ายความมั่นคงก่อนหน้านี้โดยเฉพาะผู้นำกองทัพที่ต้องการไม่ให้กล่าวถึง BRN ในสาธารณะเลย แต่ในทุกวันนี้คำว่า BRN เป็นคำที่คนจำนวนมากรู้จักและกล่าวถึงอย่างเปิดเผย

ศักยภาพบุคลากรที่สร้างสันติภาพ

8. ความรู้และกระบวนการสันติภาพทำให้เกิด “พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่สร้างสันติภาพ” ผู้นำภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่รู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ โดยผ่านงานวิชาการ การฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพจากสถาบันวิชาการที่มาจากทั้งในและต่างประเทศ

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งก็คือ การพัฒนาบุคลากร/ทีมผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานเลขานุการคณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขของรัฐในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งฝ่ายผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ เช่น BRN, PULO ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับการฝึกอบรมพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในเรื่องสันติภาพ และฝึกอบรมการเคารพสิทธิมนุษยชนจากองค์กรระหว่างประเทศด้วย

9. การเปิดพื้นที่ให้กับองค์กร ผู้ชำนาญการและสถาบันในต่างประเทศให้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการสันติภาพปาตานี

ในช่วงระหว่างความรุนแรงสูงในปี 2547-2555 บทบาทของต่างประเทศในการเข้ามาติดตามปัญหาความขัดแย้งมีมากขึ้นตามระดับของเหตุการณ์ เช่น ในช่วงแรกมีนักข่าวต่างประเทศและนักวิชาการต่างประเทศ เข้ามามากมาย ทำให้ในระยะต่อมา เจ้าหน้าที่การทูต บุคลากรและองค์กรต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในพื้นที่กับประชาชนและสถาบันวิชาการมากขึ้นในเรื่องการสร้างสันติภาพ/การพูดคุยสันติภาพ

ทั้งนี้ ในระยะแรก รัฐบาลไทยปฏิเสธและปิดกั้นด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ต้องการยกระดับความขัดแย้งให้เป็นสากล แต่ท่าทีการยอมรับบทบาทตัวแสดงบทบาทจากต่างประเทศของรัฐก็ได้มีการปรับตัวอยู่ด้วย แม้ว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร จนกระทั่งในที่สุด ในปี 2562 มีกระบวนการความริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative) โดยองค์กรระหว่างประเทศ ผลก็คือมีการพิจารณาให้มีผู้สังเกตการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้าร่วมในโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯ ในฐานะผู้สังเกตการณ์

มิติในทางบวกของการขยายพื้นที่ทางการเมือง

10. มิติในทางบวกของการขยายพื้นที่ทางการเมือง

ในปี 2566 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาผู้แทนราษฎร โดยผ่านญัตติที่เสนอโดยทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

คณะกรรมาธิการวิสามัญมีอนุกรรมาธิการอันมีองค์ประกอบมาจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เป็นการเพิ่มบทบาทการกำกับดูแลของรัฐสภา (Parliamentary Oversight) ต่อกระบวนการสันติภาพอย่างมีนัยสำคัญ

ลักษณะเด่น 5 ประการของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

ในด้านความก้าวหน้าทางด้านสิทธิมนุษยชนอันจะมีผลต่อสันติภาพ ในห้วงสองทศวรรษ มีลักษณะเด่น 5 ประการ คือ

1. มีการประกาศยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ และทดแทนด้วยการนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้มากขึ้น

2. รัฐบาลมีการการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ส่งผลให้มีกลไกการติดตาม ตรวจสอบการกระทำทรมานและอุ้มหายมากขึ้นโดยเฉพาะหน่วยงานอัยการ

3. หน่วยงานด้านความมั่นคงมีการอบรมและนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

4. การนำคนผิดมาลงโทษกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่มีคำพิพากษาจากศาลทหารลงโทษทหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และกรณียิงชาวบ้านที่เขาตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่อัยการจังหวัดนราธิวาสได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหาร 2 คน ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

5. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งได้มีความพยายามในการตรวจสอบและทำงานเชิงป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การละเมิดสิทธิจะกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ

            แต่ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ และการแก้ปัญหาในอนาคต คือ

1. การบังคับเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ที่เป็นทั้งการเลือกปฏิบัติและวิธีการคุกคามประชาชนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยเฉพาะเด็กและสตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

2. การวิสามัญฆาตกรรมที่มีจำนวนมากขึ้นในปี 2563-2565 ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังกลุ่มเยาวชนและผู้คน ดังจะเห็นได้จากการแสดงออกถึงการให้ความเคารพและยกย่องผู้เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม

3. การควบคุมการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกจากการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ หน่วยงานความมั่นคงดำเนินการฟ้องร้องประชาชน นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่นในกรณีการชุมนุมที่อำเภอสายบุรีและกรณีพ่อบ้านใจกล้า จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อสันติภาพ

เมื่อพิจารณาประเภทของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปัจจัยที่ส่งผลให้ความรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรังก็คือรัฐพยายามที่จะขจัดความรุนแรงโดยละเลยปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม และรวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนจึงขาดไม่ได้ที่จะต้องสร้างความร่วมมือในการจัดการแก้ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แทนที่จะเน้นความรุนแรงทางตรงอย่างเดียว และควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างสันติภาพเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อเป็นการหนุนเสริมให้สังคมมีสงบสุขความยุติธรรมและปราศจากความรุนแรงอย่างแท้จริง

20 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น แต่เรายังมีความหวังต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net