Skip to main content
sharethis
  • เครือข่ายสหภาพแรงงาน 95 องค์กร รวมตัวที่รัฐสภา ชวน สส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล โหวตหนุนวาระ 1 รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล ชี้กฎหมายเดิมล้าสมัยใช้มาตั้งแต่ปี'41 ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มองใช้กลไกสภาฯ หาทางออกร่วมกัน ยกระดับการจ้างงานที่มั่นคงให้คนทำงาน
  • สส.กัลยพัชร อัพเดท เลื่อนอภิปราย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล เป็น 6 มี.ค. 2567 พร้อมประกบร่าง ครม. 

 

28 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (28 ก.พ.) ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสหภาพแรงงานหลากหลายพื้นที่ 95 องค์กร แสดงพลังสนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล ที่เข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 หรือขั้นตอนรับหลักการที่สภาผู้แทนราษฎร โดยมี เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรคก้าวไกลคนอื่นๆ เป็นผู้รับมอบหนังสือ 

ก่อนมอบหนังสือ เครือข่ายสหภาพแรงงาน ได้มีการอ่านแถลงการณ์ เพื่อแสดงเจตจำนงค์ มีรายละเอียดดังนี้

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์เครือข่ายสหภาพแรงงาน สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

กฎหมายแรงงานไม่เพียงแต่มีบทบาทเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างงานเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ว่าเมื่อจบจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยในแต่ละวันแล้ว เรา-ในฐานะแรงงานที่สร้างชาติ-สมควรได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม

แต่ตลอดระยะเวลาที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบัน สิ่งที่พวกเราผู้ใช้แรงงาน พบเจอในแต่ละวัน คือ ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม สวัสดิการทำงานที่ไม่เป็นธรรม สัญญาจ้างที่เอาเปรียบ ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน ทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว นอกจากนี้ กฎหมายแรงงานปัจจุบันยังตามไม่ทันสภาพการจ้างงานที่หลากหลาย ทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานจำนวนมากประกอบอาชีพ ไรเดอร์ส่งอาหาร แม่บ้านแพลตฟอร์ม หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งสังคมยกย่องให้เป็น “อาชีพแห่งอนาคต” แต่กลับมองไม่เห็นอนาคตที่มั่นคงเลยภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับปัจจุบัน

กฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับประกันสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม ปกป้องสิทธิ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกสาขาอาชีพ วันนี้ตัวแทน สส. แรงงาน พรรคก้าวไกล จะมีวาระนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เข้าสู่สภาฯ เพื่อเปลี่ยนชีวิตคนทำงาน โดยมีเนื้อหาดังนี้

  1. เปลี่ยนนิยาม "ลูกจ้าง" ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึง อาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
  2. ในสถานที่ทำงานที่มีทั้งการจ้างงานรายวัน และรายเดือน ผู้จ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ การจ้างงานรายเดือน หมายถึง 30 วัน
  3. กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายปี โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ หรือ GDP 
  4. ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์: หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา (OT) และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน
  5. ลาพักผ่อนประจำปี: 10 วันต่อปี สะสมได้
  6. ลาไปดูแล: มีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปีละไม่เกิน 15 วัน
  7. พื้นที่ปั๊มนมในที่ทำงาน: ต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน 
  8. ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ ทั้งจากความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง

เครือข่าย… สหภาพแรงงาน จึงขอประกาศเจตนารมณ์สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล และขอเรียกร้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ให้รับหลักการและเห็นด้วยต่อ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเราคนทำงานทุกคน 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เครื่องมือการันตี สร้างความมั่นคงการจ้างงาน

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า เหตุผลที่แรงงานสนับสนุน ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่เดิม แม้จะมีการปรับแก้ไขในปี 2541 หลายๆ ช่วง แต่สาระสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่มีการเสนอ คือการเปลี่ยนนิยามของคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ที่มันครอบคลุมไปถึงคนทำงานแพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์ ซึ่งกฎหมายตัวนี้เดิมไม่ครอบคลุมถึงเขา 

"มันเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่า เราไม่มองแค่ว่ายุคพวกเราที่ใช้กฎหมายตอนนี้ แต่พูดถึงคนทำงานรุ่นใหม่ๆ รุ่นลูกหลานเรา หรือรุ่นที่เพิ่งเรียนจบ และกำลังเข้าสู่การทำงาน มันต้องอยู่กับกฎหมายคุ้มครองนี้ เพราะว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานมันเป็นหลักประกันขั้นต่ำว่า นายจ้างต้องจ้างงานไม่ต่ำกว่ากฎหมายฉบับนี้ อันนี้เป็นเครื่องการันตี ถ้ากฎหมายฉบับนี้มันเข้มแข็ง อย่างเช่น มันมีการจ้างงานที่เป็นธรรมมากขึ้น หรือมีสวัสดิการที่เป็นธรรมมากขึ้น การจ้างงานมันก็จะมั่นคง มันจะพูดถึงอาชีพของคนทำงานใหม่ๆ ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน มันจะมีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น" ธนพร กล่าว 

ธนพร วิจันทร์

ธนพร ระบุว่า เวลาเราพูดถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มันเป็นเครื่องมือการันตีมาตรฐานขั้นต่ำ แต่ถ้าเราต้องการเรียกร้องให้สวัสดิการ หรือสิทธิแรงงานดียิ่งขึ้น ต้องพูดถึงกฎหมายอีกตัว คือ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ถ้าบริษัทมีกำไร เราก็ใช้กฎหมายในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองค่าจ้างหรือสวัสดิการ ถ้าฐานของกฎหมายคุ้มครองแรงงานมันเข้มแข็ง หรือว่าดูแลได้ทุกคน มันสามารถที่จะทำให้เขาไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ นายจ้างจะอ้างเสมอว่าขาดทุน จ่ายไม่ได้  แต่ถ้ากฎหมายคุ้มครองแรงงานการันตีไว้แล้วว่า ต้องทำแบบนี้ การขึ้นค่าจ้างต้องยกระดับทุกปีอัตโนมัติ และค่าตอบแทนต้องเหมาะสมกับการพัฒนาฝีมือของพวกเขา และอื่นๆ 

สมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ กล่าวเสริมว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล บังคับให้นายจ้างมีการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปีต่อปี ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นข้อดีอย่างมาก เพราะว่าสหภาพแรงงาน หรือแรงงานปัจจุบัน การรวมตัวเรียกร้องให้ค่าจ้างขึ้นปีต่อปี มันเป็นไปได้ยาก เพราะลูกจ้างไม่มีอำนาจในการต่อรอง แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้เป็นการการันตีว่าจะมีการปรับค่าจ้าง

ชวน สส.ทุกพรรครับหลักการ

การยกระดับด้านสิทธิแรงงานต่อไป ธนพร เสนอว่า ต้องมีการพัฒนากฎหมายยกระดับการรวมตัวต่อรองของแรงงาน และเธอมองว่า ในพื้นที่โรงงานควรมีเสรีภาพ และประชาธิปไตยในที่ทำงาน คนทำงานควรได้มีพื้นที่แสดงออกถึงปัญหา และความต้องการภายในพื้นที่ทำงาน ไม่ใช่บริษัทต่างๆ จะใช้วิธีกดเอาเปรียบแรงงาน จนวันหนึ่งแรงงานทนไม่ไหว ประท้วงหยุดงาน ซึ่งวิธีแบบนี้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย เพราะฉะนั้น การใช้วิธีแบบนี้มันจะดีกับทั้ง 2 ฝ่ายด้วย ลูกจ้าง และนายจ้าง เปิดพื้นที่ในการให้แรงงานได้แสดงความคิดเห็นด้วย

ธนพร กล่าวถึง สส.ทุกพรรคการเมืองว่าอยากให้มีการรับหลักการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะว่ากฎหมายเดิมใช้มานานตั้งแต่ปี 2541 จนถึงตอนนี้ปี 2567 ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข และอยากให้กลไกพื้นที่ของรัฐสภาในการถกเถียงหาทางออกร่วมกันว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ควรมีหน้าตา หรือลักษณะอย่างไร

"อย่ามองว่าเราเรียกร้องเกินไป และคว่ำกฎหมายของเรา เราอยากจะให้รับหลักการว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานมันควรแก้ไขตั้งแต่ปี 2541 ตอนนี้เป็นปี'67 แล้ว มันควรได้รับการแก้ไข และอาจจะใช้พื้นที่นี้ในการถกเถียงกัน กลไกสภาฯ เพราะว่ากลไกสภาฯ อาจจะมีตัวแทนนายจ้างที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ลองมาแลกเปลี่ยนกันดู มันจะมีทางออกอย่างไร เราคิดว่าการได้มีพื้นที่พูดคุยมันจะมีทางออก" ธนพร ทิ้งท้าย

กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.ก้าวไกล โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย วันนี้ (28 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.19 น. พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล เลื่อนไปอภิปรายพุธหน้า (6 มี.ค.) ร่วมกับร่างของ ครม.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net