Skip to main content
sharethis

ตัวแทนประธานศาลฎีกา รับหนังสือจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังทางการเมือง ยึดหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ศาลต้องเป็นอิสระ

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมได้เดินทางไปยังสำนักประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังทางการเมือง เพื่อขอให้ประธานศาลฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไข การถอนประกันตัว นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกขังก่อนและระหว่างการพิจารณาคดี โดยวันนี้พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และประกายดาว พฤกษาเกษมสุข รองผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือดังกล่าวกับหัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกา ตัวแทนประธานศาลฎีกา ซึ่งได้ออกมารับหนังสือ

หนังสือฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับความห่วงกังวลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งละเมิดต่อหลักการที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่ากระทำความผิด ซึ่งการขังดังกล่าวขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย เหตุผลโดยสรุปมีใจความดังนี้

เหตุผลประการแรกคือ การดำเนินคดีไม่เป็นธรรม ผู้ต้องหา/จำเลยซึ่งเป็นแกนนำกิจกรรมทางสังคมการเมืองหลายคนถูกกล่าวหาและดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลเนื่องจากความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพอันสัมบูรณ์ (Absolute Rights) และการแสดงออกโดยสันติ การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมการเมืองเหล่านี้จึงไม่เป็นธรรม

ประการที่สอง ศาลจะต้องเป็นอิสระและมืออาชีพในการใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรม จดหมายฉบับดังกล่าวเรียกร้องให้ศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการทำหน้าที่และใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเข้มงวด ต่อการกล่าวหาและการดำเนินคดีนักกิจกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อไม่ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าศาลเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม (Judicial Harassment)

ประการที่สาม การใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกปฏิบัติเป็นพิเศษ จากกระบวนการยุติธรรมอันถือเป็นการเลือกปฏิบัติ จากการที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ยึดถือและปฏิบัติตาม บทบัญญัติมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญไทยอย่างแท้จริง บทบัญญัติดังกล่าวว่าด้วยเรื่อง การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด การควบคุมหรือคุมขังกระทำได้เท่าที่จำเป็น และคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการพิจารณา ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง

ประการที่สี่ ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกขังหรือถูกถอนประกันทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขากลับแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต่อสู้เพื่อยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมือง

ประการสุดท้าย การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่บางคนในกระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าพนักงาน และในชั้นศาล ที่ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ได้มีการร้องเรียนแต่หลายกรณีไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าตุลาการจะอำนวยความเป็นธรรมและเป็นเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ให้กัยประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึงร่วมติดตามและให้กำลังใจผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคนที่กำลังถูกคุมขังให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวกลับคืนและได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net