Skip to main content
sharethis

ก่อการลูกชาย “สหายภูชนะ” ผู้ลี้ภัยทางการเมือง เข้ายื่นหนังสือต่อกมธ.กฎหมาย ขอให้สอบข้อเท็จจริงกรณีการอุ้มฆ่าบิดาทิ้งน้ำโขงเมื่อปี 2561 หลังผ่านมา 6 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า แม้มี พ.ร.บ.อุ้มหาย 2566 บังคับใช้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ก่อการเคยเดินทางไปร้องทุกข์ต่อศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ หลัง พ.ร.บ.อุ้มหายประกาศใช้มาแล้ว แต่เรื่องยังเงียบ

 

13 มี.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน ก่อการ บุปผาวัลย์ บุตรชายของชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ขอให้สอบข้อเท็จจริงและค้นหาพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายชัชชาญ ที่ประเทศลาว เมื่อปี 2561 ใจความหนังสือได้ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินงานใน 2 ประเด็นหลัก คือ

1. ขอให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสืบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์การลักพาตัวของชัชชาญและการสืบสวน สอบสวน เพื่อค้นหามูลเหตุ ของการลักพาตัว และพยานหลักฐาน จากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการขัดแย้งทางการเมือง การละเลยในการติดตามและความล้มเหลวในการเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีการแจ้งให้ญาติและครอบครัวของชัชชาญทราบถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2. ขอให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เกิดในสมัยของ คสช.และรัฐบาลนายประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวของชัชชาญ และการสั่งการเข้าออกชายแดนไทย - ลาว และขอให้มีการดำเนินการเพื่อความยุติธรรมแก่ชัชชาญและครอบครัวรวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวและชดใช้เยียวยาต่อไป

ภาพจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ถูกบังคับให้สูญหาย ไปพร้อมกับนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์ จนกระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2561 เวลาเช้า มีคนพบศพชัชชาญถูกฆ่าและกระทำอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ลอยแม่น้ำโขง มาขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครพนม จนกระทั่งปัจจุบันการดำเนินการสืบสวนสอบสวนยังไม่คืบหน้า และไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด

หลังจาก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 บังคับใช้ ก่อการได้เดินทางมาร้องทุกข์กับศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 เป็นครั้งแรก โดยในเบื้องต้นพนักงานอัยการผู้รับเรื่องร้องทุกข์แจ้งว่า หลังจากนี้อาจมีการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ให้ไว้ เพื่อพิจารณาว่ากรณีเข้าองค์ประกอบที่จะใช้กลไกคุ้มครองและเยียวยาตาม พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย หรือไม่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้า

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ และทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือวันนี้กับก่อการฯ พรเพ็ญย้ำถึงการบังคับบุคลลให้สูญหายที่เกิดขึ้นในไทยที่มีอยู่หลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา “เราได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายมาหลายกรณี รวมทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ตอนนี้มีคดีที่คิดว่าสําคัญก็คือคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งปรากฏว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งปัจจุบันมีรายงานว่ามีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ลี้ภัยไปตั้งแต่สมัยรัฐประหารปี2557 ที่ถูกบังคับให้สูญหายไปกว่า 9 กรณี กรณีล่าสุดก็คือการบังคับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ให้สูญหาย ส่วนกรณีของสหายภูชนะที่ได้มายื่นเรื่องในวันนี้ปรากฏพบว่าเป็นเป็นศพลอยน้ำมาที่แม่น้ำโขง”

พรเพ็ญกล่าวต่อไปว่าแม้ว่าจะได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายหลายกรณี แต่กลับยังไม่มีกรณีใดเป็นคดีภายใต้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 กฎหมายฉบับใหม่ แม้แต่คดีเดียว “กระบวนการยุติธรรมยังมีความล่าช้าอยู่ นับตั้งแต่ที่เรามีพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ยังไม่มีการนําคดีบังคับให้บุคคลสูญหายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือริเริ่มคดีเลยแม้แต่คดีเดียว”

นอกจากนี้พรเพ็ญได้กล่าวทิ้งท้าย โดยฝากความหวังให้กมธ.ยุติธรรมฯ ช่วยดำเนินการสอบข้อเท็จจริง ค้นหาความจริงให้ประชาชน “คดีเหล่านี้มีความยากลําบากมากในการดำเนินการ จึงอยากขอให้ทางกมธ.ยุติธรรมฯ ช่วยประชาชนค้นหาความจริงเพราะการกระทําให้บุคคลสูญหายลักษณะนี้มีสิ่งที่น่าเชื่อได้ว่าอาจจะเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนชาวบ้านเราไม่สามารถจะเอื้อมมือไปขอพยานหลักฐานหรือหรือนําคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมได้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวน จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯช่วยประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง”

พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ มารดาของบุตรทั้งห้าคนของพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่หายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวเมื่อปี 2557 ได้เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือกับก่อการในวันนี้และได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนต่อกฎหมายและความยุติธรรมในฐานะที่ต้องเป็นผู้เสียหายเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบิลลี่ถูกอุ้มหายว่า “ตนเชื่อว่าความยุติธรรมมีอยู่ แต่รู้สึกว่าปัญหาคือกฎหมายยังมีช่องโหว่ใหคนกระทำความผิดอยู่ด้วย อยากฝากถึงคนที่ร่างกฎหมายถ้าเป็นไปได้อยากปรับให้กฎหมายไม่ต้องมีช่องโหว่อีก”

ส.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว เลขานุการกมธ.ยุติธรรมฯ เป็นหนึ่งในตัวแทนมารับหนังสือดังกล่าว ส.ส ชลธิชา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “ประเด็นในเรื่องของกรณีอุ้มหายของนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารตั้งแต่ปี2557เป็นต้นมา มีจํานวนกว่า 9 คนแล้วที่ถูกบังคับให้สูญหาย” ส.ส. ชลธิชา กล่าวต่อไปถึงกรณีชัชชาญฯ ว่า “กรณีสหายภูชนะ ในช่วงที่ผ่านมาทางรัฐสภา ได้ติดตามเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว รัฐสภาในชุดที่ 25 ก็มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ติดตามความคืบหน้าของคดี แต่แม้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาแล้วสองปีคดีดังกล่าวยังคงไม่มีความคืบหน้า วันนี้กมธ.ยุติธรรมฯยินดีอย่างมากที่จะรับเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนที่มายื่นในวันนี้ ” ส.ส.ชลธิชา ยืนยันว่าหลังจากรับเรื่องในวันนี้ กมธ.ยุติธรรมฯ  จะบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะกรรมธิการฯ ต่อไป

โดยวันนี้ ส.ส. กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานกมธ. ยุติธรรมฯ ได้มารับหนังสือจากก่อการด้วยตนเอง ส.ส. กมลศักดิ์ กล่าวว่า “ในนามประธานกมธ.ยุติธรรมฯ กรณีที่ลูกชายชัชชาญ บุปผาวัลย์ ผู้เสียหายยื่นเข้ามา กมธ.ยุติธรรมฯ จะรับเรื่องไปพิจารณาต่อและเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามความคืบหน้า”

“ตอนนี้เรามีพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายแล้ว ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการฯ เคยเรียกกรณีคดีลุงเปี๊ยกมาสอบถาม แต่พบว่าเจ้าพนักงานยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยังไม่เข้าใจถึงหน้าที่ของตนตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ กมธ.จึงได้ทำหนังสือเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรม ให้รีบทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่โดยด่วน และจากการประชุมครั้งล่าสุดทราบว่ากระทรวงยุติธรรมก็ได้เรียกประชุมด่วนชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่เป็นนโยบายทั่วประเทศ” ส.ส. กมลศักดิ์ กล่าวถึงบทบาทของกมธ.ยุติธรรมที่ผ่านมาซึ่งได้ร่วมผลักดันการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงท้ายส.ส. กมลศักดิ์ ย้ำว่ากรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ รวมไปถึงกรณีที่เกิดการบังคับให้สูญหายขึ้นก่อนกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ด้วย “พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย เป็นกฎหมายใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นกรณีการบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นหลังจากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายก่อนกฎหมายฉบับนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริง หาคนที่กระทำผิดได้”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชวนจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการตรวจสอบการกระทำที่ละเมิด คุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในกรณีดังกล่าว และนำผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษ เพื่อยุติการกระทำที่ทารุณ โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมผิดจากมนุษย์เช่นนี้ให้ได้รับโทษอย่างเต็มอัตรา และร่วมกันกดดันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีการผลักดันกลไกคุ้มครองและเยียวยาญาติผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายได้อย่างเป็นจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net