Skip to main content
sharethis
  • ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ ชี้การเสนอแก้กฎหมายไม่ใช่การที่สิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการใช้สถานะของ สส. ที่รัฐธรรมนูญให้เอาไว้และมีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว ย้ำศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะตัดวงจรอื่นโฉบเข้ามาตัดสินคดี
  • พบอย่างน้อย 4 ตลก. ในคำวินิจฉัยส่วนตัวเห็นว่าแก้กฎหมายไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นกระบวนการนิติบัญญัติ แม้จะมีความเห้นไม่ตรงกันของ ตลก. กลับไม่พบการตั้งประเด็นโหวต
  • วิเคราะห์คำว่า ‘อัยการไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน’ ตามมาตรา 49 และพิจารณาอะไรคือวัตถุแห่งคดีนี้
  • ทำความเข้าใจหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักการ สส. มี ‘Free Mandate’ ปมปัญหา ม.112 ทั้งที่มาและการเลือกตั้งปี 66 

วิดีโอสัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตอนที่ 1

หลังจากเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัว ของแต่ละตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกสร ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองฯ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง  โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าวนั้น ลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้งมุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายเป็นเหตุให้ชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง นําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด จึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกมาตราดังกล่าวอีก ทั้งไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายดังกล่าว ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 นั้น

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (ซ้าย) อธึกกิต แสวงสุข (ขวา)

ประชาไทและ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์อิสระ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ ศาสตราจารย์และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเห็นต่อคดีดังกล่าว โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่สร้างอำนาจศาลมหาศาล “ตัดวงจรอื่นโฉบเข้ามาเอาอันนี้ไปตัดสินคดี” ทั้งที่ผู้ร้องเคยร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ กกต.ไม่รับ รวมทั้งตุลาการอย่างน้อย 4 คน เห็นว่าเสนอแก้ มาตรา 112 ต่อสภาไม่ผิดมาตรา 49 แต่กลับไม่มีการแยกโหวตประเด็นนี้ จึงออกมาเป็นคำวินิจฉัยกลาง 9:0 โดยในส่วนนี้จะอยู่ในตอนแรก

ส่วนตอนที่ 2 เป็นเรื่อง “เราอยู่ในระบอบอะไร” ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าระบอบนี้คืออะไร และขณะนี้เราอยู่ในระบอบอะไรผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลเชื่อม มาตรา 112 กับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ประเด็น ‘เคารพสักการะ’ ควรตีความอย่างไร ตอนสุดท้าย ว่าด้วยผลแห่งคดี “ยุบหรือไม่ยุบ อยู่ในมือ เลือกได้” กับความสำเร็จที่ปักธงระบอบนี้ได้แล้ว

ปัญหาของ มาตรา 49 กับคําวินิจฉัยที่ 18/22 ปี 55 ปฐมบทศาลชิงอํานาจเข้ามารับเรื่องโดยตรง

เริ่มต้นที่ประเด็นใครเป็นผู้มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งประเด็นคดีนี้เมื่อไปไล่เลียงตั้งแต่ต้นที่ ธีรยุทธ ผู้ร้องยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนแล้ว ขณะที่ทางอัยการสูงสุดยังไม่ทันวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับทําหนังสือถามและสรุปเองนั้น วรเจตน์ กล่าวว่า เวลาที่จะมีการยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น โดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้ประชาชนทั่วไปยื่นเรื่องได้เพราะคดีมันจะเยอะมาก แล้วก็มันจะสร้างอํานาจศาลขึ้นมามหาศาลเพราะศาลรถพิคอัพเลือกคดีขึ้นมาดําเนินการได้หรือจะเตะคดีออกเลยก็ได้

สำหรับการยื่นเรื่องประเด็นการล้มล้างการปกครอง หรือ การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจโดยวิถีทางไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น กระบวนการก็สามารถยื่นเรื่องอัยการ จากนั้นอัยการเป็นคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตัวบทนี้ในเรื่องธรรมนูญ 2550 อยู่ที่มาตรา 68 คล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่เป็นคดีพรรคก้าวไกล แต่ตอนรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น มีคดีเกิดมาจากพรรคการเมืองต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับและเสนอร่างเข้าสู่สภา ปรากฏว่า สว. ในขณะนั้นไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอาศัยช่องทางตามมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ 2550 ร้องว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับดังกล่าวเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ตอนที่มีการร้องนั้นอัยการเขารับเรื่องแล้วก็ไม่ส่งต่อให้ ทำให้พวกนี้ที่ไปร้องก็ไปร้องเองและทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตีความในครั้งแรกในคําวินิจฉัยที่ 18-22 ปี 2555 ที่ศาลได้ช่วงชิงอํานาจเข้ามาว่าถ้าไปยื่นอัยการแล้วอัยการไม่ส่งมาก็ยื่นต่อศาลได้เลย ซึ่งตอนนั้นตนวิจารณ์ศาลไปว่าเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา 68 เพราะตัวบทมันไม่สื่อแบบนั้น 

การตีความให้คนร้องยื่นต่อศาลได้โดยตรงเพื่อให้ศาลได้มีอํานาจเข้ามาดูคดีนั้นเป็นการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญขยายอํานาจตัวศาลเอง แม้ศาลรัฐธรรมนูญตอนนั้นจะยกคำร้องคดีดังกล่าว แต่เขาก็รับคดี เป็นการฉวยเอาอํานาจเข้ามารับคดี แล้วก็บอกว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทําประชามติ แต่ถ้าเกิดเป็นการเหมาะสมก็คือแก้เป็นรายมาตราได้ อันนั้นศาลเขียนอำนาจเข้ามาคล้ายกึ่งๆ แนะนำ 

มีอันหนึ่งที่พยายามแก้ให้ สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดในปี 56 แล้วมีคนไปยื่นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองอีก ศาลรัฐธรรมนูญคราวนี้ก็เอาประเด็นเรื่องกระบวนการเสียบบัตรแทนกัน กระบวนการว่าถ้าเกิดให้ สว. มาจากการเลือกตั้งหมดจะทําให้เป็นสภาผัวเมียเท่ากับไม่เป็นประชาธิปไตยมาตัดสิน คือ เราบอกว่าการให้ สว. มาจากการเลือกตั้งในโลกนี้ก็ต้องถือเป็นประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับบอกไม่เป็น แล้วก็บอกว่าทําไม่ได้ คดีนี้ถึงขนาดต้องมาสั่งให้สภาหยุดการลงมติในวาระ 3 ด้วย

“เมื่อมีการรัฐประหารปี 57 คราวนี้คนเขียนรัฐธรรมนูญปี 60 ไปเขียนซัพพอร์ตศาลรัฐธรรมนูญ เอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่ศาลวางหลักเอาไว้มาอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นมาตรา 49 ไปเขียนชัดเจนว่าตอนนี้ถ้ายื่นอัยการแล้วอัยการไม่สั่งหรือไม่ดําเนินการใน 15 วัน ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้” วรเจตน์ กล่าว

ความหมายของคำว่า ‘อัยการไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน’ ในมาตรา 49

มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 60 บัญญัติไว้ว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”

วรเจตน์ ยกตัวบทรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหา พร้อมกล่าวต่อว่า มันมีปัญหาเรื่องการตีความ คือ ธีรยุทธ ที่ไปยื่นว่าพรรคก้าวไกลมีการกระทําที่เป็นการล้มล้างฯ โดยเขาไปยื่นอัยการสูงสุดก่อน ซึ่งเราไม่ทราบหรอกว่าอัยการสูงสุดกําลังทําอะไรหรือไม่ทําอะไร รู้แต่ว่าอัยการสูงสุดยังไม่มีคําสั่งและเวลา 15 วันผ่านไป ธีรยุทธ จึงไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญก็ทําหนังสือถามที่อัยการ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญสรุปว่า อัยการไม่ได้ดําเนินการภายใน 15 วัน ศาลจึงมีอํานาจเข้ามาตัดสิน แต่ว่าเท่าที่อ่านคําวินิจฉัยไม่เห็นว่ามีข้อเท็จจริงปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ได้ดําเนินการตามที่ร้องขออย่างไร

ลองนึกภาพความจริงว่าหากเป็นอัยการสูงสุด มีคนมายื่นคําร้องว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทําการในการล้มล้างการปกครอง แล้วอยู่ๆ จะรับคําร้องนั้นเป็นบุรุษไปรษณีย์ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเลยมันไม่ได้ ต้องหาข้อเท็จจริงก่อน เว้นแต่บอกว่าเรื่องที่ร้องมานี้มันไร้สาระไม่มีมูลก็ไม่รับคําร้องชัดเจนจากนั้นก็ไปไปศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้ารับไปแล้วและอยู่ในระหว่างการดําเนินการหาข้อเท็จจริงอยู่ 15 วัน มันไม่เสร็จอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าอัยการรับเรื่องแล้วและอยู่ในกระบวนการของการดําเนินการจะตีความว่าไม่ได้ดําเนินการหรอ ถ้าอย่างนั้นรัฐธรรมนูญก็ต้องเขียนเอาไว้เลยว่า เมื่อพ้น 15 วัน แล้วอัยการไม่มีคําสั่ง ก็ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญแอคทีฟเลย เพราะว่าเมื่อพ้น 15 วัน ธีรยุทธ ก็ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อร้องปุ๊บศาลก็ถามอัยการเลย แต่ในคำวินิจฉัยศาลไม่ปรากฎว่าตอนศาลถามอัยการแล้วอัยการตอบกลับมาว่าอย่างไร 

“เวลาจะร้องบอกว่าคนล้มล้างการปกครองนี่ พอเหรอ 15 วัน ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นทําไมรัฐธรรมนูญไม่เขียนล่ะว่า “หรืออัยการไม่มีการส่งคําร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการยื่นคําร้อง” ถ้าอย่างนี้จะชัด หมายถึง มีคนมาร้องแล้ว 15 วัน คุณต้องตัดสินใจว่าคุณจะส่งหรือไม่ส่ง ถ้าคุณบอกว่าโอเคคุณไม่ส่ง 15 วัน เขาก็มีสิทธิ์ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องเขียนให้มันชัดเจนแบบนั้น” วรเจตน์ กล่าว

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

หากร้องตรงเลยอํานาจศาลจะกว้าง โดยเฉพาะการสอบสวนเอง  

ต่อคำถามที่ว่าการที่ข้ามขั้นอัยการไปมีผลอย่างไรต่อคดีหรือไม่นั้น วรเจตน์ ยืนยันว่ามี พร้อมอธิบายว่า การส่งไปยังศาลโดยง่ายแทนที่มันจะมีการผ่านองค์กรของรัฐมาเบื้องต้นก่อนในการหาข้อมูลข้อเท็จจริง ศาลก็ต้องเข้ามาหาข้อเท็จจริงต่างๆ เอง

“ที่บอกอัยการไม่ส่งแล้วให้ผู้ร้องยื่นนั้นโดยหลักมันไม่ถูก หลักคิดตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 คือเรื่องใหญ่แบบนี้ องค์กรของรัฐก็ต้องเห็นว่ามันมีมูลว่าคนกลุ่มนี้จะกระทําการล้มล้างการปกครอง ศาลที่อยู่ทีหลังถึงเข้ามา” วรเจตน์กล่าว

เมื่อถามย้ำว่ากระบวนการแบบนี้มันทําให้อํานาจศาลกว้างขึ้นโดยเฉพาะที่ไปสอบสวนเองหรือไม่นั้น วรเจตน์ ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น และว่า เมื่อเวลาผ่านไป 15 วัน เรื่องนี้ศาลแอคทีฟเลย คือถามเลยว่าตกลงพ้น 15 วันไปแล้วอัยการทําอะไรไหม น่าเสียดายว่าศาลไม่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏในคําวินิจฉัยว่าอัยการสูงสุดไม่ได้ดําเนินตามคําร้องอย่างไร ทั้งที่เขาอาจจะกําลังดําเนินการอยู่ อาจจะกําลังสอบอยู่ ซึ่งข้อเท็จจริงก็มีด้วยในคําวินิจฉัยว่า เมื่อศาลคำร้องเองแล้วศาลขอข้อมูลอัยการก็ส่งข้อมูลไปที่บอกว่า สส. 44 คน ยื่นแก้กฎหมายมีระบุชื่อว่ามีใครบ้าง แปลว่าอัยการก็กําลังดําเนินการอยู่ แต่เขายังไม่ได้มีความเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องล้มล้างและจะต้องส่งศาลหรือไม่

กกต. เคยไม่รับคำร้องข้อหา ‘ปฏิปักษ์’ มาแล้ว

วรเจตน์ กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ปรากฏในคําวินิจฉัย คือ ก่อนที่ธีรยุทธจะมายื่นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยไปยื่นที่ กกต. ก่อน ว่าพรรคก้าวไกลการกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตามมาตรา 92 วรรค 1 (2) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่เรื่องนี้กกต. ไม่รับคําร้อง แปลว่า กกต. เห็นว่าไม่มีมูลเลยที่พรรคดําเนินการรณรงค์หรือดําเนินการจะเสนอกฏหมายนี้ 

และการยื่นครั้งแรกยื่นข้อหากระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ซึ่งมันเบากว่าล้มล้างต่อการปกครองฯ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคําวินิจฉัยคดีพรรคยุบพรรคไทยรักษาชาติ ว่า กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ฯ นั้นไม่ต้องถึงขั้นล้มล้างเป็นการกระทําที่มีลักษณะเซาะกร่อนอะไรประมาณนี้ ก็ตรงเลยและพอแล้วที่อาจจะเข้าข้อหายุบพรรคได้ ขณะที่ข้อหาล้มล้างฯนั้นหนักกว่าโดยตัวบทในมาตรา 49

สำหรับเหตุยุบพรรคการเมืองมี 2 เหตุ คือ 1. จากกระทําการล้มล้างฯ  2. เหตุที่อาจเป็นปฏิปักษ์ฯ แปลว่าตอนที่ธีรยุทธไปร้อง กกต. ก็คงเห็นใช่ไหมว่านี่มันไม่ถึงขั้นล้มล้างฯ ถึงไปร้องว่าอาจเป็นปฏิปักษ์ฯ เพราะว่ามันเบากว่า ซึ่งตอนนั้น กกต.ไม่รับคําร้อง แต่กระบวนการเมื่อไม่รับคำร้องก็ไม่ได้เปิดช่องให้ผู้ร้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อ จึงมาใช้ช่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งคํามันหนักกว่า และเราจะเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านในคําวินิจฉัยส่วนตนเขาลังเลมากๆ เลยว่านี่มันถึงขั้นล้มล้างหรอ

ต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้เห็นว่าเป็นขบวนการ

“ความประหลาดในทางกฎหมายมันเริ่มตั้งแต่ตอนเรื่องคดีเลย มันแปลว่าเราก็ไปกันแบบอยู่กันไปแบบงงๆ มันไม่เคลียร์ไม่ชัดมั่วๆ กันไป แล้วก็ตีความไป แต่ว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็คือศาลเข้าไปมีบทบาทในการรับคดี” วรเจตน์ กล่าว

ต่อกรณีที่เกิดขึ้นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อรับคดีแล้วก็ไปเรียกพยานเองหมด เช่น หน่วยงานข่าวกรองหรืออะไรต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น นั้น วรเจตน์ กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยส่วนตนนี่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งทําตารางกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างการทําผิดมาตรา 112 กับผู้ถูกร้อง เอาชื่อ สส. มาเรียงว่าคนนี้ถูกกล่าวหาว่าทําผิด มาตรา 112 คนนี้ไปประกันตัว บางคนโดนคดีศาลยังไม่ติดสินเลยว่าผิด พยามจะมองว่านี่มันสัมพันธ์กัน คือมองว่าเป็นกลุ่มก้อนอันเดียวกัน พยายามจับเอาทุกอันมาต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้เห็นว่านี่เป็นขบวนการที่จะล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลมองว่ามันคือการลดทอนสถานะของพระมหากษัตริย์

ความต่างของวัตถุแห่งคดี

วรเจตน์ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้อะไรคือวัตถุของคดี ประเด็นที่เอาจิ๊กซอว์มาต่อกัน เมื่อเราคิดทางกฏหมายมันต้องคิดให้มันเป็นขั้นเป็นตอนไป เริ่มก่อนว่าเรื่องนี้คนร้องเป็นผู้มีสิทธิ์ร้องหรือไม่ มันผ่านขั้นตอนก่อนการยื่นคําร้องที่มันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ตีความรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร และประเด็นปัญหาว่าอะไรคือวัตถุแห่งคดี ตัววัตถุแห่งคดีมันคือการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ทีนี้มันต้องมีการกระทํา มันคือการกระทําที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ปรากฏในคดีนี้ภาพมันเบลอทั้งคดีเพราะว่าถ้าเราไปอ่านคําวินิจฉัยส่วนตน รวมทั้งดูจากผลของคดีตอนที่ศาลสั่งห้ามอะไร ไม่ห้ามอะไรบ้างนั้น เหมือนกับมีอยู่ 2 ก้อน ก้อนแรก คือ พรรคก้าวไกลเสนอแก้มาตรา 112  กับ อีกก้อนหนึ่ง คือ การทําอื่นๆ เช่น การกําหนดเป็นนโยบายพรรค การรณรงค์ รวมทั้งการที่ สส. ของพรรคหรือผู้สมัคร สส. พรรคไปประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดี และเรื่องติดสติ๊กเกอร์ยกเลิกมาตรา 112 ของพิธานั้นในคำวินิจฉัยส่วนตนมีเกือบทุกคน  ศาลเอามาดูเป็นประเด็นเลยว่านี่คือเจตนาจะยกเลิก มาตรา 112 เพื่อเอาไปซับพอร์ตว่านี่มันลดทอนสถานะของสถาบัน

ประเด็นคือวัตถุคดีมันเหมือนมี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นการที่ สส. 44 คน ของพรรคก้าวไกลเขาเสนอแก้ มาตรา 112 กับอีกส่วนหนึ่งคือการกระทําอื่น ซึ่ง 2 อันนี้ความประหลาดคือมันไม่ชัดว่าศาลเอาประเด็นไหนหรือมันเกี่ยวกันอย่างไร เพราะว่า 2 อันนี้มันมีความต่างกันอยู่ ตกลงการเสนอแก้กฎหมายเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองไหม หรือการที่ผู้สมัคร สส. หรือ สส. ไปประกันตัวมันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองหรือเปล่า ซึ่งศาลไม่ได้แยกแต่เอาทุกอย่างมามัดรวมกันในคําวินิจฉัยมันจึงเบลอ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

4 ตุลาการเห็นว่าเป็นกระบวนการนิติบัญญัติ และเมื่อเห็นไม่ตรงกันแต่กลับไม่ตั้งประเด็นโหวต

ถ้าไปอ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวจะพบว่าตุลาการบางคนเห็นว่าการเสนอแก้มาตรา 112 ทําได้ มันไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการกระทําในกระบวนการนิติบัญญัติซึ่งมันเป็นอํานาจหน้าที่สามารถทําได้ อย่างน้อย 4 คน มี อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ท่านวรวิทย์ กังศศิเทียม อาจารย์จิรนิติ หะวานนท์และอีกท่านไม่แน่ใจ ขณะมีตุลาการคนหนึ่งบอกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ไม่ได้ยกเว้นเรื่องการเสนอกฎหมายเอาไว้ โดยระบุแบบครอบจักรวาลว่า ‘การกระทํา’ ซึ่งลอจิกอันนี้มันไม่น่าจะถูก ส่วนการเสนอกฎหมายที่เป็นการใช้สิทธิภาพเสรีภาพที่ใกล้ที่สุดพอจะเป็นไปได้ก็คือกรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย

อย่างไรก็ตามในทางกลับกันตุลาการอีกส่วนก็เห็นไม่ตรงกัน ซึ่ง วรเจตน์ มองว่า ความจริงเรื่องนี้มันควรต้องโหวต ให้เห็นว่าเสียงในประเด็นนี้มันเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นเราก็จะงงว่าตกลงเป็นเสียงข้างมากจริงหรือเปล่า

ข้ออ้างโฉบคดีนี้เข้าไปตัดสิน

วรเจตน์ กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยหลักๆ 1-2 คนที่เขียนชัดเลย ว่าหากเป็นเรื่องที่จะเว้นไว้รัฐธรรมนูญต้องเขียนเว้นว่าไม่ให้ไปตรวจสอบเรื่องการเสนอร่างกฎหมาย แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเว้นก็แปลว่าการเสนอร่างกฎหมายนี่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ตามมาตรา 49 ที่ศาลจะต้องมาคุมหรือเข้ามาตรวจสอบได้

ในอนาคตสมมุติว่ามีใครเสนอร่างกฏหมายอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเกี่ยวพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ยังไม่ทันต้องลอยเข้าไปผ่านกระบวนการในสภาเลย หากมีคนมาร้อง แม้อัยการยังไม่ทันจะดูเลยว่าตกลงว่ามันมีมูลพอหรือไม่มีมูลพอ 15 วัน โดยยังไม่ทันได้สั่งอะไร ศาลก็จะเข้ามาได้เลย แล้วบอกว่านี่คุณทําไม่ได้ให้เลิกเป็นการล้างการปกครอง นี้คือผลที่จะเกิดขึ้น คือประเมินว่ามันคงไม่ใช่กฎหมายทุกฉบับที่ศาลโฉบเข้ามาจับคดีไปตัดสิน แต่ถ้าดูจากคดีนี้เราจะเห็นแนวโน้มว่าคดีต่อไปร่างกฎหมายใดก็ตามที่เกี่ยวพันกับสถานะพระมหากษัตริย์อันนี้มันจะกลายเป็นแนวที่เขาจะอ้างต่อไป

“ปกติเวลาศาลตัดสินเขาจะอ้างแนวเดิมด้วยนะ เขาจะเอาคําวินิจฉัยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญคําวินิจฉัยเรื่องยุบพรรคไทยรักษาชาติ คดีลานพญานาค (ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม) มาอ้างซ้อนๆ กันเพื่อจัสทิไฟว่าข้าพเจ้าคดีก่อนหรือตุลาการรุ่นก่อนเคยตัดสินแบบนี้เอาไว้แล้ว ไม่ได้แหวกแนวอะไรไปนะเอาตามนี้ แต่ความจริงมันไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ตอนนั้นมันก็เลยต่อเนื่องมาเป็นตอนนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็ทําให้อํานาจศาลก็จะเยอะมากในการเข้ามาดูตัวร่างพระราชบัญญัติที่อาจจะเกี่ยวพันพระมหากษัตริย์ เท่ากับว่าเราจะไม่เปิดทางให้เรื่องนี้สามารถพูดได้โดยหลักเกณฑ์ในทางประชาธิปไตยในรัฐสภาเลย ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง” วรเจตน์ กล่าว

ปมผู้ถูกร้อง และ สส.ที่มี ‘Free Mandate’

ต่อกรณีที่จะเอาผิด 44 สส. เข้าชื่อเสนอกฎหมายแก้ มาตรา 112 นั้น จะสามารถอ้างความเห็นส่วนตัวของ 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มองว่าเป็นอำนานหน้าที่ของ สส. ตามกระบวนการนิติบัญญัติได้หรือไม่นั้น วรเจตน์ กล่าวว่า ความเห็นของตุลาการส่วนตัวไม่มีผลทางกฎหมาย ตัวที่มีผลทางกฎหมายคือคําวินิจฉัยของศาล ซึ่งเขียนชัดว่า การเสนอร่างกฏหมายมันเป็นการให้สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งผิดและเป็นการล้มล้าง โดยมันจะมีปัญหาต่อไปเรื่องยุบพรรคกับตัดสิทธิ์ 44 สส. กับคําวินิจฉัยนี้

เขาร้องตัว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์กับตัวพรรค ไม่ได้ร้องตัว สส. แต่ละคน แต่ศาลก็พยายามบอกว่า สส. ทั้ง 44 คน ก็เป็น สส.พรรคนี้ ก็คือพยายามมองทั้งหมดเพื่อบอกว่าเป็นการทําของพรรค อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็น สส.ของพรรค แต่เขามีความเป็นปัจเจกของเขาอยู่ คือพรรคการเมืองไม่ได้สั่ง สส.ได้ในทุกเรื่อง สส. นี่มันมี Free Mandate (หลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน)อยู่ พรรคเวลามีมติ สส. ควรจะทําตามมันเป็นเรื่องวินัยของพรรค แต่ในบางกรณี สส. ก็จะแหกมติพรรคก็ได้ โหวตบางอันก็ไม่เอาตามมติพรรค พรรคก็ทําได้แต่ว่าวันหน้าไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่อย่างนั้นถ้าเป็นเรื่องวินัยก็ขับออกจากพรรค แต่ขับออกจากพรรคเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยใช้กันด้วยเพราะว่าถ้าขับออกเขาไปหาพรรคอื่น พรรคอื่นก็ยิ่งอยากได้เข้าไปใหญ่

“เพราะฉะนั้นการที่พรรคจะคุม สส. มันไม่ได้ถึงขนาด 100% เพราะว่ามันต้องให้ สส. เขามี Mandate ของเขาที่เขาได้มาจากประชาชนเป็นตัวของเขาเองอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง มันต้องบาลานซ์ระหว่างสิทธิของเขาที่เป็นปัจเจกบุคคลกับวินัยของพรรคการเมือง มันไม่ใช่พรรคแบบนาซีหรือพรรคเผด็จการที่ สส. ต้องเอาตามพรรคทุกอย่าง แล้วก็การเสนอแก้นี่มันเป็นเรื่องที่ สส. เขาลงชื่อแต่ละคน แล้วไม่ใช่ทุกคนก็จะลงชื่อ ลงอยู่ 44 คน” วรเจตน์ กล่าว

ข้อกล่าวหาผู้ร้องโดยภาพรวมมันค่อนข้างอ่อน เป็นลักษณะ กึ่งๆ ชง

ข้อกล่าวหาผู้ร้องโดยภาพรวมมันค่อนข้างอ่อน ค่อนข้างวีค คือเที่ยวนี้ผู้ร้องเหมือนกับกึ่งๆ ชง ตัวคําร้องไม่ได้มีอะไรเท่าไหร่ คําร้องคือเสนอกฎหมาย แล้วผู้ร้องใช้คำว่าการกระทําต่อเนื่องก็คือรณรงค์กระทําต่อเนื่องเท่านี้เอง แต่ว่า “อื่นๆ” ก็เป็นการตัดข่าวมาบ้าง อะไรมาบ้าง ส่วนคำวินิจฉัยที่บอกว่ามีข่าวว่าไปยืนหยุดขังที่โน้นที่นี่นิดหน่อยคือศาลไปขอจากหน่วยงานความมั่นคงหน่วยงานตํารวจต่างๆ นี่ เอาเข้ามาประมวลเอง

ต่อประเด็นที่ สส. ไปประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 แล้วศาลก็ให้ประกันด้วย แต่กลับเป็นเหตุในคำวินิจฉัยคดีนี้นั้น วรเจตน์ กล่าวว่ามันดูย้อนแย้ง คือศาลไปมองเหมือนกับว่าอันนี้มีทัศนะในเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่นี้จะไปแยกอย่างไรว่ามีทัศนะเชิงลบหรือไม่เชิงลบคือคนบางคนเขาไม่ได้อาจจะมีทัศนคติเชิงลบอะไร เขาแค่รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นหลักเหตุผลทางกฎหมาย

ความพยายามฉายว่าเป็น ‘ขบวนการใหญ่’

ศาลก็พยายามจะมองว่านี่มันเป็นเหมือนกับเป็นขบวนการใหญ่มีการรับลูกกันส่งต่อกัน ความจริงนี่ไม่ใช่เลย คนที่เขาเป็นนายประกันบางทีเขาแค่เห็นใจว่าคนที่ถูกฟ้องคดีมันไม่มีเงิน มันไม่ใช่เป็นการมีขบวนการใหญ่ ที่มันมีใครเป็นเหมือนกับผู้บัญชาการ พรรคก้าวไกลเหมือนไม่ได้เป็นผู้บัญชาการวางตรงนั้นหมด อย่างดีเขาก็พูดความเห็นเขา เขาเห็นด้วยเขาก็มาทํา มันเหมือนกรณีตอนที่นิติราษฎร์ทําหรือว่าตอนที่ตนพูดหอประชุมเล็กประเด็นมาตรา 112 มีคนมาฟังก็มีคนคิดว่าตนนี่เกณฑ์คนเลยมาฟัง ทั้งที่มันอาจจะมีคนอื่นที่เขาเห็นด้วยเขาอาจจะเกณฑ์มา แต่ตนก็ไม่รู้ไม่เกี่ยวกับตน 

ตนก็ไม่บอกว่าเห็นด้วยกับการกระทําการเคลื่อนไหวทุกเรื่องด้วยซ้ำ บางอันวิธีการเรื่องก็ไม่ได้เห็นด้วยอะไรเลย แต่ว่าโอเคพอยท์ใหญ่มันเป็นความเห็นคล้ายกันเพราะมันมองในเชิงของตัวโครงสร้างกฏหมายเชิงระบอบว่ามันควรจะเป็นอย่างไรถึงจะสมเหตุสมผล ทีนี้ศาลไปมองอีกแบบมองว่าเป็นขบวนการอะไรทั้งหมด เอาทุกอย่างมามาผูกกันทีนี้พอมันพอมันพอมันไม่ได้มีแบบนั้นจริงๆ แล้วมันก็เลยดูวีคดูอ่อน

“มันไม่ได้เหมือนกันหมด กลุ่มที่เคลื่อนไหวมันก็มีทะเลาะกันประเด็นคนนี้จะเอาแบบแปลนแบบนี้ คนนี้จะเอาแบบนั้น บางคนบอกเลิกไปเลย บางคนบอกแก้ บางคนบอกแก้แค่นี้ก็พอ บางคนบอกแก้อีกแบบหนึ่งประมาณนี้ คือมันมีความหลากหลายอยู่เพียงแต่ว่าพอยท์หลักเขาเห็นปัญหาเหมือนกันเท่านั้น” วรเจตน์ กล่าว

ตลก. รู้สึกมันกระทบกระเทือนกับสถาบันฯ แม้คนที่เบาที่สุดแม้มองไม่ถึงขนาดล้มล้างก็ยังสั่งให้หยุดการกระทำ

วรเจตน์ กล่าวว่า ประเด็นอันหนึ่งที่ทุกคนเหมือนกันหมด คือ เขารู้สึกอันนี้มันคือกระทบกระเทือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในใจของทั้งหมดมองแบบนี้ ก็เลยสั่งให้หยุด เขามองกันลักษณะแบบนี้

“แม้กระทั่งท่านที่เบาที่สุดเลยนี่ใน 9 ท่าน สุดท้ายก็ต้องยังสั่งให้หยุดเหมือนกัน แม้ว่าท่านจะมองว่ามันไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าล้มล้างได้” วรเจตน์ กล่าวถึงคำวินิจฉันส่วนตนของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“มันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพหรือไม่ ซึ่งความเห็นผมว่าส่วนที่มันเป็นการเสนอแก้กฎหมายมันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่การที่สิทธิเสรีภาพมันเป็นเรื่องของการที่เขาใช้ สถานะของ สส. ที่รัฐธรรมนูญให้เอาไว้เสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งทําได้ กระบวนการตรวจสอบมีกระบวนการตรวจสอบอันอื่นอยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะตัดวงจรอื่นโฉบเข้ามาใช้อันนี้ตัดสินคดีไปในลักษณะที่เป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครองได้ในทัศนะของผม แต่ว่าถ้าเป็นกรณีเรื่องของการกระทําอื่นที่จะเข้าลักษณะนี้หรือไม่ อันนี้ก็จะเป็นปัญหาเรื่องว่ามันเป็นถือว่าเป็นการกระทำของพรรคไหม ผมมองว่าเป็นการกระทําของ สส. ในแต่ละคน” วรเจตน์ กล่าว พร้อมย้ำว่า ความจริงอันที่เป็นเรื่องของพรรคมันมีอันเดียวคือเรื่องกําหนดเป็นนโยบายพรรครณรงค์หาเสียง ซึ่ง กกต. ก็ไม่ได้บอกว่ามันผิดอะไร

คำวินิจฉัยของ กกต.ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การวินิจฉัยได้เลย

คดีพรรคไทยรักษาชาติกรณีทูลกระหม่อมอุบลรัตน์เป็นแคนดิเดทนายกฯ นั้น กกต.ก็รับสมัคร แล้วตอนหลังแคนดิเดตก็ถอนแล้ว ยังยุบพรรคเลย 

“คล้ายๆ กับว่าการวินิจฉัย กกต. มันไม่สามารถสร้างความมั่นใจความมั่นคงแน่นอนให้กับผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การวินิจฉัยนั้นได้เลย” วรเจตน์ กล่าว และย้ำว่าการที่ กกต. บอกว่าไม่เป็นอะไร ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เจอคดีแบบนั้น

ม.112 ไม่ใช่พ้อยท์หลักช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

สำหรับเรื่องการรณรงค์แก้มาตรา 112 กับการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น วรเจตน์ กล่าวว่า มันมีบริบทหลายอย่างที่มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่มาตรา 112 โดยตรง หมายถึงว่าบริบทที่พรรคก้าวไกลเขาสู้ในสนามเลือกตั้ง เขาไม่ได้ชูมาตรา 112 เป็นพ้อยท์หลักด้วยซ้ํา เขาไปชูประเด็นเรื่องไม่สืบทอดอํานาจ อัดกับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 

“ถามว่า มาตรา 112 มันเป็นประเด็นที่มันเป็นประเด็นหลักไหม ผมว่าไม่ ผมว่าคนรู้สึกว่า หนึ่ง อยากจะลองเปลี่ยนดู พรรคก้าวไกลนี่สดใหม่ แล้วก็ดูเป็นแบบกลุ่มคนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ สอง ก็คือว่ามีความแน่วแน่ในการที่จะไม่สืบทอดอํานาจ ..ดังนั้นมาตรา 112 มันจึงไม่ใช่เป็นพ้อยท์หลัก แต่ว่าคนที่เลือกพรรคก้าวไกลจํานวนหนึ่ง ผมว่าหลายคนก็อาจจะไม่อยากให้ยุ่งกับมาตรา 112 ไม่ใช่ 14.4 ล้านต้องการแบบนั้น” วรเจตน์ กล่าว

เมื่อย้อนย้ำช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 66 นั้นประเด็นมาตรา 112 นั้นพรรคก้าวไกลเหมือนกับว่าไม่ได้อยากหาเสียงประเด็นนี้ด้วย แต่พอมันขึ้นเวทีดีเบตถูกถามประเด็นนี้ขึ้นมานั้น วรเจตน์ ยืนยันว่า ใช่คือด้านหนึ่งนี่คือคิดว่ากลุ่มเยาวชนที่เขาเคลื่อนไหวมันมีประเด็นเรื่องสถาบันเป็นประเด็นนําในหมู่ของนักกิจกรรมในช่วงหลัง แล้วก็ไปกดไปบีบด้วย พรรคก้าวไกลต้องแสดงออกเพราะโอเคเป็นพรรคที่ทําเรื่องนี้

ถ้าเมื่อ 10 ปีก่อน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายจารีตขยับเองเรื่อง 112 เสียเอง ก็ไม่ถึงขั้นนี้

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

รู้สึกว่ามันน่าเสียดาย สมัย 10 กว่าปีก่อนที่ตนมูฟเรื่องมาตรา 112 นี่ เราลองนึกดูตอนนั้นถ้าเกิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายจารีตขยับเอง ทําเสียเอง ใช้จังหวะนั้น ที่ขนาดคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ยังบอกว่ากลับไปใช้โทษเก่าได้ไหม ที่โทษไม่เกิน 7 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ แล้วก็ให้ผู้แทนพระองค์เป็นคนรับอํานาจไปฟ้อง คืออาจจะไม่ถึงขั้นข้อเสนอนิติราษฎร์ความเข้มข้นมันไม่เท่ากัน แต่เขาก็ยังเสมอ ความจริงตอนนั้นถ้าฝ่ายจารีตรับประเด็นแบบนี้ที่มีการส่งสัญญาณไปแล้วในระดับหนึ่งว่ามีคนเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ มันควรจะต้องปรับ เรื่องไม่ถึงขั้นนี้ มันจะมีการปฏิรูปโดยตัวเขาเองไปเรียบร้อยแล้ว แล้วมันจะทําให้ภาพมันดีขึ้นไม่ต้องมาใช้อํานาจกดอะไรแบบนี้ อันนี้คือความน่าเสียดาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นตนที่ถูกชก 12 ปี ที่แล้วที่ลานคณะนิติศาสตร์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีเอามาเผาหุ่นผม เผารูปตน ส่งคนมาชก ว่าตนว่าเนรคุณทุนมูลนิธิอานันทมหิดล 

“คือเขาไม่ได้คิดในอีกมุมหนึ่งว่าถ้าจับอันนี้ไป แล้วไปปรับเองตั้งแต่แรก เรื่องมันไม่ถึงขั้นนี้ ตอนนี้ก็ต้องกดอย่างเดียว ก็ต้องใช้วิธีนี้ ผ่านอะไรพวกนี้ออกมา” วรเจตน์ กล่าว

ที่มาของมาตรา 112 จากรัฐประหารปี 19

สำหรับปัญหามาตรา 112 นั้น วรเจตน์ มองว่า มันควรจะปรับ มาตรา 112 มันก็มีรากมาจากรัฐประหารปี 19 ในส่วนของโทษ 3 ปีถึง 15 ปี มันมาจากการยึดอํานาจในปี 19 ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนก็พูดหลายรอบแล้ว ศาลไม่เอ่ยเรื่องที่มาของตัวบทอันนี้เลยว่ามันเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร มันดูเลยดูมันก็เลยดูประหลาด

เรื่องเอากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี่โทษเบากว่านี้ตั้งเยอะ โทษ 3 ปี ในตอนนั้น พอหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมันก็มีช่วงหนึ่งมีบทบัญญัติเดิมเข้ามาเข้าใจว่าว่าเป็นช่วงที่คณะราษฎรยังมีอำนาจอยู่ก็ทำกฎหมายว่า วิจารณ์ภายใต้ความมุ่งหมายในทางรัฐธรรมนูญก็ไม่ผิด ประมาณนั้น แต่บทบัญญัตินี้ตอนหลังถูกเลิกไป แต่โทษมันก็ไม่ได้สูงแบบนี้ และความผิดพวกนี้บางทีมันผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในยุคสมัยหนึ่งในช่วงนั้นตอนคณะราษฎรเรืองอำนาจมีความผิดฐานประทุษร้ายนายกรัฐมนตรี  ประทุษร้ายนายกนี่เป็นความผิดเลยนะ สมัยจอมพล ป. นี่ ตอนหลังก็เลิกไป มันดูไม่สมเหตุสมผลหรือเปล่า แต่มันมีมันก็เลิกไป ทีนี้ตัวกฎหมายนี้ตอนที่เขาทํามาเป็นประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ตั้งแต่ 2500 เรือยมาถึงปัจจุบันตอนแรกเขาเอาโทษก็คือไม่มีโทษขั้นต่ำ โทษสูงสุดจําคุกไม่เกิน 7 ปี แล้วก็ 6 ตุลา (2519) มาแก้ ซึ่งแก้กฎหมายตระกูลหมิ่น ทั้งหมิ่นพระมหากษัตริย์, ประมุขต่างประเทศ, ผู้พิพากษามาเป็นชุดเจ้าพนักงานมาตอนนั้น มันเป็นกระแสที่ตอนนั้นขวากําลังขึ้นมาก หลังจาก 6 ตุลา (2519) มันล้อมปราบสําเร็จนักศึกษาก็เข้าป่าไปประมาณนี้ด้วยก็เลยแก้เยอะ แก้โทษแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net