Skip to main content
sharethis

จากตอนที่ 1 ประชาไทและอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์อิสระ สัมภาษณ์พิเศษ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ ศาสตราจารย์และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเห็นต่อคดีล้มล้างการปกครองจากการแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่สร้างอำนาจศาลมหาศาล “ตัดวงจรอื่นโฉบเข้ามาเอาอันนี้ไปตัดสินคดี” ทั้งที่ผู้ร้องเคยร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ กกต.ไม่รับ รวมทั้งตุลาการอย่างน้อย 4 คน เห็นว่าเสนอแก้ มาตรา 112 ต่อสภาไม่ผิดมาตรา 49 แต่กลับไม่มีการแยกโหวตประเด็นนี้ จึงออกมาเป็นคำวินิจฉัยกลาง 9:0 ไปแล้วนั้น

ตอนที่ 2 นี้ วรเจตน์ ตั้งข้อสังเกตว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอาจชวนให้สงสัยว่าแท้จริงแล้วเราอยู่ในระบอบอะไร? โดยพิจารณาตามหลักการตีความทางกฎหมาย รวมถึงเจาะลึกการที่ศาลพยายามเชื่อมโยงกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้ากับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และชี้ว่าควรตีความมาตรา 6 อย่างไร

ว่าด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ตามคำวินิจฉัยศาล รธน.

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังมีผลต่อความหมายของตัว ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ วรเจตน์ กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้นั้นไม่ได้อธิบายความหมายของตัวระบอบนี้เลย แค่บอกว่ามีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ หนึ่ง เป็น “ประชาธิปไตย” ในรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สอง คือ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” บอกรูปแบบของรัฐว่าเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ บอกเพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้นศาลโยงไปถึงสถานะของพระมหากษัตริย์โยงถึงสถานะที่เคารพสักการะและละเมิดมิได้ ตาม มาตรา 6 แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรคือลักษณะของตัวระบอบนี้

คนที่พยายามอธิบายลักษณะตัวระบบเนี้ยพบในคําวินิจฉัยส่วนตน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พยายามอธิบาย แต่คําอธิบายไม่ให้ความกระจ่าง คําอธิบายบอกว่ามีองค์ประกอบก็คือหนึ่งเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อํานาจด้วยการเป็นของประชาชน แล้วก็มีความคุ้มกันพระมหากษัตริย์

คำอธิบายตัวระบอบดังกล่าวตามคำวินิจฉัยกลางและวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น วรเจตน์ มองว่า ยังไม่ทําให้เห็นได้ว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลนั้นไปล้มล้างตัวระบบนี้อย่างไร แต่ว่าถ้าอ่านทั้งหมดเหมือนกับศาลจะมองว่าระบอบนี้ สถานะของพระมหากษัตริย์เป็นสถานะซึ่งจะไปลดทอนไม่ได้

“ประชาธิปไตย” จะหดแคบลง แต่ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จะขยายขึ้น

ศาลไม่ได้บอกว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ คืออะไร แต่ศาลเน้นถึง “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งอันมันจะสอดคล้องหรือมันรับกับคดีลานพญานาค (ที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถูกฟ้องร้องและตัดสินว่าการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง) ที่ตนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้าว่า “ประชาธิปไตย” จะหดแคบลง แต่ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จะขยายขึ้นมาก

สิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มมาตั้งแต่ 4-5 ปีมานี้ ขณะที่ก่อนหน้าคดีล้มล้างการปกครองเป็นคดีที่กันพรรคการเมือง เช่น พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยที่จะไปแก้รัฐธรรมนูญในเชิงกลไกสถาบันการเมืองเพราะว่าพรรคเหล่านี้ไม่ได้แตะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีล้มล้างสมัยนั้นก็จะเป็นความประหลาดเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้ประเด็นมันจะขยับไปเรื่องสถาบัน ศาลพูดถึงเรื่องของสถานะของพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนในเชิงคําอธิบาย

ศาลโยง รธน.มาตรา 6 กับ มาตรา 112 ไม่เคลียร์

ศาลพยายามจะอ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 6 มาตราที่บอกว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”  อันนี้มันเป็นสถานะ แต่สถานะนี้ไปเกี่ยวพันกับ มาตรา 112 อย่างไร ศาลเชื่อม 2 อันนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งไม่มีคําอธิบายว่ามันเชื่อมกันอย่างไร  ไม่ได้เคลียร์บทบัญญัติมาตรา 6 หมายความว่าอย่างไร และมาตรานี้ใช้ถ้อยคําไม่เหมือนกับมาตราอื่นๆ เพราะใช้คําว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ขณะที่มาตราอื่นๆ เมื่อพูดถึงเรื่องพระมหากษัตริย์จะพูดถึงในทางที่เป็นตําแหน่งคือ “พระมหากษัตริย์ทรงดํารงจอมทัพไทย” “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” หมดเลย มีเพียงมาตรา 6 ที่ใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์”

สำหรับการใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ในบทบัญญัตินี้ วรเจตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แต่มีฉบับเดียวที่เขียนว่า “พระมหากษัตริย์” น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2515 หลังจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง ซึ่งอันนั้นเขียนไม่ค่อยถูก แต่ที่เขียนว่า “องค์พระมหากษัตริย์” นั้นถูกตามรูปรอยที่มีตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 แล้วก็ทุกฉบับ

มาตรา 4 รัฐธรรมนูญ 2515

นัยของคำว่า “องค์พระมหาษัตริย์” ที่นำเข้ามา

“องค์พระมหาษัตริย์” มีนัยอย่างไร อันแรกคือมุ่งหมายถึงตัวองค์พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นที่ครองราชย์ ไม่ได้มุ่งหมายถึงตัวตำแหน่งพระมหากษัตริย์ คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” นี่ หมายถึงจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆไม่ได้ อันนี้มันเป็นสถานะพระมหากษัตริย์ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญที่เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ในโลกเป็นเรื่องปกติ ที่เขาไม่ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ไม่ให้กล่าวหาพระมหากษัตริย์ ดังนั้นคำว่า “องค์พระมหาษัตริย์”  จึงเป็นคำเฉพาะ ใช้ต้องแต่รัฐธรรมนูญสยาม 10 ธ.ค. 2475 แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “The person of the king.”

ที่ใช้คำว่า “องค์พระมหาษัตริย์” เพราะเป็นธรรมเนียมการเขียนรัฐธรรมนูญที่สืบทอดมาจากรัฐธรรมนูญในยุโรปเพราะเขาถือพระมหากษัตริย์ในยุโรปคือตัวแทนของพระเจ้าบนพื้นพิภพได้รับความชอบธรรมหรืออาณัติในการปกครองมาจากพระเจ้าตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์จึงศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคำว่า “สักการะ” เป็นคำที่แปลเป็นไทย คำเดิมคือคำว่า “Sacred” ที่แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” คำนี้เป็นคำที่อยู่ในรัฐธรรมนูญยุโรป และญี่ปุ่นในรัฐธรรมนูญเมจิเอามาเขียนโดยบังเอิญการเขียนในญี่ปุ่นไปรับกับธรรมเนียมของญี่ปุ่นที่พระมหากษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์จึงเข้ากัน แต่เป็นการเขียนรัฐูรรมนูญในยุคสมัยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ยังมันไม่ใช่ของประชาชน จึงตกทอดสืบมาว่าตัวประมุขของพระมหากษัตริย์เมื่ออยู่ในสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ ใครจะไปฟ้องไม่ได้ มันเป็นความคุ้มกันไม่ให้ใครฟ้องและเขียนต่อเนื่องกันมา รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนคือรัฐธรรมนูญโปแลนด์ ปี 1789 ตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ถัดมาคือรัฐธรรมนูญต่างๆในยุโรปในช่วงตอนต้นของศตวรรษที่ 19 รัฐธรรมนูญของเยอรมนีที่เป็นแว่นแคว้นต่างๆ ที่ยังไม่รวมประเทศก็เขียนเช่นกัน โดยญี่ปุ่นก็ไปเอามาในสมัยรัฐธรรมนูญเมจิ

ตอนที่ของไทยเอามาช่วงที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คนที่นำมายกเหตุผลว่า คนญี่ปุ่น คนเยอรมันนับถือพระจักรพรรดิ ของไทยจึงเอามาด้วย เพราะฉะนั้นบทบัญญัติมาตรานี้มันเอามาจากต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่เกิดขึ้นจากธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยเมื่อนำมาแล้วจึงแปลแล้วเปลี่ยนคำว่า ‘สถานะอันศักดิ์สิทธิ์’ เป็น ‘ที่เคารพสักการะ’ ที่รับกับสถานะภาพพระมหากษัตริย์ที่มีมาแต่เดิม

นอร์เวย์ เพิ่งเลิกไป

“แต่เราต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ตัวอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นของปวงชน การตีความมาตรานี้ต้องตีความให้รับกัน” วรเจตน์กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องตีความว่าการที่พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะนั้นเท่ากับพระองค์จะได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกฟ้อง ซึ่งธรรมเนียมของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์นี่ฟ้องไม่ได้ เวลาต่อมาสถานะอันนี้มันค่อยๆ เลือนไปเพราะว่าปัจจุบัน คำว่าอยู่ในสถานะอันศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นที่เคารพสักการะ บางประเทศเลิกไปแล้ว ล่าสุดที่เลิกไปคือนอร์เวย์  ซึ่งมองว่าพระมหากษัตริย์ไม่เหลือที่เป็นนักบุญหรือรับอาณัติมาจากพระเจ้าอีกต่อไปแล้ว อำนาจเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นเขาจะตัดส่วนที่บอกว่าเป็นที่เคารพสักการะหรือศักดิ์สิทธิ์ทิ้ง เหลือแต่ฟ้องร้องไม่ได้แทน

“ที่ฟ้องร้องไม่ได้เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทำการเอง การกระทำมันมีคนลงนามรับสนอง ตามหลัก The king can do no wrong พระองค์ไม่ได้ทำอะไรเอง” วรเจตน์ กล่าว และอธิบายด้วยว่า การกระทำของกษัตริย์นั้นทำไปตามที่มีคนเสนอมา ตามแบบพิธี เมื่อไม่ได้ทำอะไรเองก็จะต้องไม่ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ และนี่คือความเข้าใจที่มีมาแต่แรก จนพัฒนาไปตามตัวระบอบการปกครอง ไม่ได้สถิตนิ่งอยู่เหมือนเดิม ที่หยิบประเด็นนี้มาเนื่องจากมีตุลาการท่านหนึ่ง ในคำวินิจฉัยที่ไปค้นมาว่าประเทศไหนที่เขียนลักษณะเหมือนรัฐธรรมนูญไทยบ้าง โดยระบุว่ามี 5-6 ประเทศในยุโรป เพื่อจะบอกว่าไม่ได้มีเขียนประเทศไทยเดียว แต่ตุลาการท่านดังกล่าวไม่ได้ลงไปดูในเชิงลึกว่าความหมายมันคืออะไร อีกทั้งมีการอ้างกรณีประเทศนอร์เวย์ ซึ่งตุลาการท่านดังกล่าวไม่ได้อ้างข้อมูลที่อัพเดท เนื่องจากนอร์เวย์แก้เรื่องนี้ไปเมื่อประมาณปี 2018 

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเขียนสั้นๆ  2-3 บรรทัด ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ” และขยายส่วนนี้ไปเชื่อมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาสถานะที่เคารพสักการะที่ให้ไว้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เลยไปถึงสถาบัน ซึ่งตนรู้สึกว่าการขยายไปอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คุ้มครองพระราชินี พระรัชทายาท กับผู้สำเร็จราชการนั้นเลยออกไปอีก 3 ตำแหน่ง มันเป็นการอนุโลมเท่านั้น เพราะตำแหน่งที่ต้องคุ้มครองคือประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ ซึ่งตนเห็นว่าเกียรติยศของประมุขของรัฐต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ตำแหน่งอื่นนั้นอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น โดยที่เขียนเอาไว้เป็นการเขียนที่ทำให้เห็นว่าตำแหน่งอื่นๆ นั้น สัมพันธ์ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้พระราชินี รัชทายาท อยู่ในฐานะที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ มันมีนัยยะต่างกันอยู่ และหากดูจากตัวรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดกับการตีความการใช้ตัวบทในรัฐธรรมนูญ หากอนุโลมต้องระวังว่าตัวบทเพราะใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ไม่ได้ใช้ไปถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่ฟ้องไม่ได้ และองค์พระมหากษัตริย์ก็คือองค์ที่ครองตำแหน่งในตอนนั้น 

แต่ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

สมัยรัฐธรรมนูเมจิมันมีคำอธิบายในทางตำราว่า การที่รัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ เท่ากับใครจะมาหมิ่นพระเกียรติพระจักรพรรดิไม่ได้เลย มีคำอธิบายแบบนี้อยู่ เป็ยญี่ปุ่นก่อนสงความโลก ก่อนแพ้สงคราม ซึ่งสถานะของพระจักรพรรดิสูงส่งมาก รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของจักรพรรดิ จึงรับกันพอดี แต่ของเราอำนาจอธิปไตยมันไม่ได้มีที่ไหนเขียนเลยว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ หลักฐานในรัฐธรรมนูญยืนยันอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยหรือเป็นของปวงชนชาวไทย แต่หากจะตีความแบบญี่ปุ่นก็ควรต้องเขียนแบบรัฐธรรมนูญเมจิ ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ กลับไปเป็นเหมือนกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบซึ่งเป็นเหมือนปรมิตตาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งรองรับอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นตัวอักษร

ปรมิตตาญาสิทธิย์ หรือ Limited Monarchy ก็คือ พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจอยู่มาก แล้วก็อำนาจของรัฐยังเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ของเราอำนาจรัฐประกาศแล้วว่าเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ การใช้ก็หมายถึงพระองค์ก็ใช้ผ่านองค์กรของรัฐด้วย แล้วก็มีความเสนอ คือพระองค์ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจโดยพระองค์เอง พระองค์ไม่ได้ออกฎหมายเอง ตัดสินคดีเอง หรือบริหารเอง 

“ตัวลักษณะของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นแกนอันหนึ่งที่เราใช้กันอยู่ในบ้านเรา คือศาลให้น้ำหนักอันนี้ไม่บาลานซ์กัน ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อันนี้คือปัญหา แล้วขยายไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ พอไปแบบนี้ศาลก็เลยบอกว่าสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ล่วงละเมิดมิได้ไปด้วย (มาตรา) 112 ก็มีขึ้นเพื่อไม่ให้ใครล่วงละเมิด เพราะฉะนั้นคุณก็กำหนดโทษ การไปเปลี่ยนแปลงโทษอันนี้ก็เท่ากับคุณไปลดทอนสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์” วรเจตน์ วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยกเรื่องลดทอนสถานะซึ่งอยู่ในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคน 

โทษมาตรา 112 สูงสุด 15 ปี รุนแรงเกินกว่าเหตุมาก

สำหรับปัญหาของมาตรา 112 นั้น วรเจตน์ มองว่า ประเด็นหนึ่งที่รู้สึกว่า คนที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นปกติธรรมดาทั่วไป น่าจะต้องรู้ใช่ไหมว่าโทษจำคุก 15 ปี มันรุนแรงเกินกว่าเหตุมาก ไม่มีที่ไหนในโลกที่โทษแรง ขนาดประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่เท่านี้เลย ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ไม่เท่านี้ โทษสูงสุดของประเทศไทยน่าจะสูงที่สุดในโลกตอนนี้ แต่มีตุลาการอ้างว่าประเทศอื่นก็มีกฎหมายนี้ ซึ่งคือตนไม่ได้บอกว่าประเทศอื่นไม่มี ประเทศอื่นก็มีบางที่ก็ใช้บางที่ก็ไม่ใช้  แต่ส่วนใหญ่มันไม่ได้ใช้แล้วหรือถ้าใช้ก็จะเป็นโทษปรับ ไม่ได้ขนาดที่เป็นอยู่ในไทยที่นับรายกรรม จำคุก 50 ปี ซึ่งอย่างไรก็ไม่ได้สัดส่วนหากจะพูดกันถึงตัวระบอบ

วรเจตน์ กล่าวด้วยว่าการเปลี่ยนระบอบหรือรูปของรัฐนั้นทำไม่ได้เปลี่ยนเนื่องจากมีรัฐธรรมนูญกำกับอยู่ เราต้องมีรัฐที่เป็นราชอาณาจักรตาม ideology ของตัวระบอบ และมีประชาธิปไตยกำกับอยู่ด้วย ดังนั้นต้องดู 2 อันให้มันบาลานซ์กัน

ในความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการระบุว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการทำร้ายจิตใจปวงชนชาวไทย จึงเป็นการใช้วิธีการซ่อนเร้นผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ  ซึ่งเป็นการใช้คำที่ดูกล่าวหาและดูเหมือนกับรุนแรงไปนิดนึงในความเห็นตน

ศาลชี้ย้ายหมวดคือการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงของชาติ

สำหรับกรณีที่เสนอให้ มาตรา 112 ย้ายออกจากหมวดความมั่นคงนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ได้ที่สามารถไฟฟ้องร้องได้ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับที่คณะนิติราษฎรเคยเสนอเมื่อกว่า10 ปีก่อน ส่วนข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)  ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธานนั้น เสนอให้กลับไปใช้โทษเดิม และการแจ้งความดำเนินคดีให้มีผู้แทนพระองค์รับมอบอำนาจ  

สำหรับการย้ายหมวดความผิดของคดีมาตรา 112 ในคดีพรรคก้าวไกลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น วรเจตน์ กล่าวว่า ศาลบอกว่าไม่ได้และใช้คำค่อนข้างแรง บอกว่าการย้ายหมวดมันเท่ากับเป็นการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของชาติออกจากกัน ประมาณนั้นมีเป้าหมายแบบนั้น

ประเด็นนี้วรเจตน์ ยังย้อนกลับไปตอนปี 55 ที่คณะนิติราษฎรเคยเสนอเรื่องย้ายออกจากหมวดควมมั่นคงเหมือนกันนั้นว่าในตอนนั้น ตนเห็นว่ามาตรานี้เมื่ออยู่ในความมั่นคงเป็นปัญหาเพราะศาลจะไม่ให้ประกันตัว โดยศาลจะบอกว่าโทษสูงและเป็นเรื่องความมั่นคง สิทธิของผู้ต้องหาก็จะไม่ได้ ซึ่งเขาควรมีโอกาสได้ต่อสู้ในประเด็นของคดีแบบนี้ 

ส่วนเรื่องเหตุยกเว้นความผิดนั้น ศาลก็บอกว่าไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนอ้างว่าสุจริตเอาไปสู้คดีในศาล

“ก็ถ้าเขาไม่สุจริตมันก็ผิดหรือเปล่า มันก็พิสูจน์กันในศาลหรือเปล่า ว่าเขาสุจริตไม่สุจริต อำนาจในการตีความก็อยู่กับผู้พิพากษาไหม แล้วทำไมจะทำไม่ได้” วรเจตน์ ตั้งคำถามกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว

ทุกอย่างเป็นสภาวะยกเว้น

อธึกกิต เสริมด้วยว่าในคำวินิจฉัย อย่างของ อุดม รัฐอมฤตที่ว่าหากปล่อยให้มีการติชมโดยสุจริต มีการพิสูจน์ความจริงหรือว่าแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอะไรต่างๆ ประเทศเราก็จะเกิดลักษณะแบบที่จะมีคนที่จงรักภักดี เสนอความคิดเห็นอะไรต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อปกป้องสถาบันและรักสถาบัน แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่มันก็จะมีคนที่ต้องการจะล้มล้างหรืออะไรต่างๆ แสดงความเห็น และก็จะเกิดปัญหา เพราะว่าโลกโซเชียล แต่ตนกลับเห็นว่าสิ่งที่อุดมอธิบายนี้กลับเหมือนสภาพในอังกฤษในยุโรป คำถามคือแล้วเราเป็นอย่างนั้นไม่ได้หรือ แสดงว่าเราตีกรอบแล้วหรือว่าเราไม่สามารถเป็นเหมือนอังกฤษหรือยุโรป   

หากมองจะคำวินิจส่วนตนของศาลนั้น วรเจตน์ ประเมินว่า วิธีการที่ตุลาการมองเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะทุกอย่างเป็นสภาวะยกเว้นหมดเลย

“เวลามีคนพูดถึงสภาวะยกเว้น เราก็พูดถึงเรื่องอำนาจของรัฐที่ไม่ได้ไปตามกฎหมาย ยกเว้นกฎหมาย แต่จริงๆ ยกเว้นจริงๆ ตอนนี้ในความเห็นผม มันคือการยกเว้นสถานะ เรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หลุดออกไปเลย ทั้งๆ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ เราเขียนรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องก็เป็นการFormulate เป็นตัวบทมาตรารัฐธรรมนูญ แล้วถ้าเป็นไปตามหลัก the king can do no wrong มันก็ไม่มีปัญหา เพราะคนที่ทำคือบุคคลที่เสนอ ถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็ทำไปตามแบบพิธี แบบที่เป็นประมุขของรัฐ” วรเจตน์กล่าว และว่า ถ้าไม่เป็นแบบนั้น โดยมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 60 บ่งชี้แบบนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ตนเห็นว่าศาลก็ควรจะต้องเขียนลงไปด้วย

ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวระบอบมันเปลี่ยนไปหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้ เราเรียกกันว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบอบนี้ชื่อไม่ค่อยตรงกับสถาวะที่เป็นอยู่ เราอาจจะเรียกก็ได้ เหมือนกับบุคคลหนึ่งตั้งชื่อตัวเองว่า “นายยุติธรรม” แต่ตัวเองไม่มีความยุติธรรมอะไรเลย ระบอบมันก็คล้ายๆ กัน ถ้าจำเป็นต้องเรียกก็เรียกได้ แต่ถ้าดูจากเนื้อหาก็มันมีปัญหาเรื่องความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ไม่ได้ถึงขนาดม่มีเลย แต่ว่ามันคือเป็นผลพวงจาก 2475 ที่มันช่วงชิงความหมายของตัวระบอบนี้อยู่ เพียงแต่ว่าตัวแสดงในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวแสดงสำคัญในการเชพความหมายของระบอบนี้ แล้วศาลรัฐธรรมนูญไปเน้นส่วนที่เป็นอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คืออาจจะต้องตั้งชื่อระบอบ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นตัวตั้ง และ “ประชาธิปไตย” เป็นส่วนประกอบ ถ้าเกิดเอาตามคำวินิจฉัย ผมรู้สึกว่าถ้าจะพูดให้มันแมตช์มันจะตรงกว่าหรือไม่

“ผมถึงเรียกระบอบนี้ว่าระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้ ในความหมายที่คือ มันอาจจะตั้งได้ก็ได้ ถ้าเกิดคุณตั้งได้ เอาจริงๆ ถ้าจะตั้งชื่อคุณมีความเสี่ยงในทางกฎหมายอยู่ คำว่าไม่ตั้งไม่ได้นี่หมายถึงว่าคุณตั้งให้มันตรงๆ คุณมีความเสี่ยงในทางกฎหมายเวลาคุณจะเรียกชื่อตัวระบอบ เราก็อยู่ในระบอบซึ่งมันก็คือมีความไม่ชัดเจนอยู่ จริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่าก็ชัดเจนแล้วนะตอนนี้ หมายความว่าก็ชัดเจนแล้วว่าทัศนะของศาลที่มีต่อระบอบนี้เน้นไปที่ตัวสถานะพระมหากษัตริย์ เป็นการให้ความหมายของศาลรัฐธรรมนูญผ่านการตีความในคดีต่างๆ เราก็จะได้ความชัดเจนมากขึ้นว่าอะไร ทำให้เราเห็นเนื้อแท้ของตัวระบอบนี้มากขั้น สว่างมากขั้นไปเรื่อยๆ ว่าระบอบนี้มันคืออะไร” วรเจตน์ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net