Skip to main content
sharethis

'พอช.-รฟท.' พร้อมด้วยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ตั้งเวทีสร้างความเข้าชุมชนกลุ่มเป้าหมายในโครงการแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ชาวชุมชนสามัคคี เชียงใหม่ และชุมชนบ้านปิน แพร่ ในฐานะผู้เช่าที่ดิน รฟท. ร่วมรับฟังการชี้แจง ระบุยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดในการขอเช่าที่ดินการรถไฟฯ นัดถกอีกครั้ง ก่อนปิดรับรายชื่อเข้าร่วมโครงการภายในเดือนพฤษภานี้ 

16 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น. ที่ศาลาชุมชนรถไฟสามัคคี ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมายในโครงการแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยมีชาวชุมชนสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และชาวชุมชนบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กว่า 100 ราย ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดิน รฟท. เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงในครั้งนี้

เจตนา วุฒิญาณ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท. มีโครงการที่จะพัฒนาระบบรางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศไทยและในอนาคต การพัฒนาระบบรางทั้งประเทศส่งผลกระทบต่อชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่กว่า 35 จังหวัดทั่วประเทศที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้ พอช.ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ให้มีการอุดหนุนงบประมาณการพัฒนาสาธารณูปโภค 160,000 บาทต่อครัวเรือน โดยเห็นชอบในหลักการของแผนงานและงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดบมีระยะเวลาดำเนินโครงการ  5 ปี ไปจนถึงปี 2570 โดยมีวงเงิน 7718.94 ล้านบาท เพื่อให้การพัฒนาระบบรางเป็นไปตามแผนงานที่ตั้งไว้  

เจตนา กล่าวต่อว่า เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง เพื่อเป็นพื้นที่จอดรถไฟ พื้นที่ซ่อมบำรุงรถไฟ และการหารายได้เพื่อมาชดเชยการลงทุนกับโครงการพัฒนาระบบรางที่รัฐบาลเป็นผู้อนุญาตให้รถไฟดำเนินการ โดยรัฐบาลเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้ให้กับ รฟท. และให้ รฟท. เป็นผู้กู้เงินและชำระดอกเบี้ยเอง ดังนั้นการพัฒนาระบบรางจำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์เพื่อหาเงินมาชำระหนี้จำนวนกว่าสองแสนล้านบาทและคาดว่าหากสามารถทำระบบรางสำเร็จจะมีหนี้เพิ่มขึ้นกว่าสี่แสนล้านบาท ดังนั้น รฟท. จึงไม่สามารถให้ประชาชนใช้พื้นที่ทั้งหมดได้ตามความกว้างของพื้นที่ได้ จำเป็นที่จะต้องมีการแบ่งปันกัน จึงเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการทำตามหลักเกณฑ์โดยมีข้อกำหนดบอกว่าให้ พอช. เป็นผู้เช่าที่ดินเท่านั้น

“และจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและสร้างใหม่โดยจะจัดรูปแบบแปลงพื้นที่เช่าให้เป็นระเบียบ ไม่ใช้พื้นที่กระจัดกระจายตามลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่อยู่อาศัยเดิม สำหรับพี่น้องที่ต้องการเช่าที่ดินตรงกับการรถไฟโดยนั้นสามารถทำได้แต่จะมีการเก็บค่าเช่าที่สูงขึ้นและไม่ได้ระยะยาว เช่าได้ทีละปีไม่เกิน 3 ปี สร้างบ้านเสร็จใน 3 ปีอาจจะถูกไล่รื้อและไม่มีความมั่นคง ฉะนั้นผู้ที่ต้องการเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ผ่าน พอช. จะต้องมีการส่งรายชื่อ ภายในวันที่ 1 พ.ค.2567 และขอย้ำว่าหลังจากนี้เมื่อไม่มีการขอเช่าแน่นอนว่าเราจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎระเบียบ โดยจะดำเนินคดีหลังจากนั้นจะมีการแจ้งหมายบังคับรื้อถอนและเรียกค่าใช้ย้อนหลังตั้งแต่ท่านอาศัยอยู่ในวันแรกจนถึงวันพิพากษา การรถไฟฯ ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวกับทุกพื้นที่ที่มีการบุกรุกและไม่ขอเช่าที่ดิน” ผู้อำนวยการศูนย์จัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน รฟท. กล่าว

ขณะที่ ณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ หัวหน้าโครงการฯ สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ผู้ประสานงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง (พทร.) กล่าวว่า การขอเช่าที่ดินจำเป็นต้องมีการรื้อถอนที่อยู่อาศัยเดิมเพื่อสร้างบ้านมั่นคง เพื่อให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และจัดการใช้ที่ดินรถไฟให้เหมาะสมและจัดแปลงที่ดินชุมชนตามจำนวนครัวเรือน 50 ตร.ม. รวมพื้นที่ส่วนกลาง 30% โดยมีระยะเวลาการขอเช่า 30 ปี และอัตราค่าเช่า 9-25 บาท ต่อ ตร.ม ต่อปี ปรับเพิ่ม 5% ทุก 5 ปี 

“ชาวบ้านในชุมชนจะต้องเร่งส่งรายชื่อชุมชนพร้อมชื่อ เลขที่บัตรประชาชน ของหัวหน้าครัวเรือนที่จะขอเช่า เสนอ รฟท.ภายใน 1 ปี จนถึงวันที่ 18 พ.ค. 2567 โดย พอช. จะขอเช่าที่ดินฯ พร้อมส่งผังการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อ รฟท. ภายในปี 2571 หากพ้นกำหนด ปี 2571 ชุมชน เครือข่ายชุมชนฯ และ พอช. จะไม่สามารถขอเช่าที่ดินการรถไฟฯ ได้อีกในทุกกรณี” ณัฐนิชากล่าว

ด้าน คำเตย ธรรมจักร ตัวแทนชาวชุมชนบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อายุ 49 ปี กล่าวว่า ตนเช่าที่ดินของการรถไฟฯ เป็นอาศัยอยู่ในมาตั้งแต่เกิด และบ้านที่อยู่อาศัยก็อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เราจ่ายค่าเช่าผ่านนายสถานีเป็นรายปี ปีละ 1,500 บาท ตั้งแต่มีข่าวว่าจะมีโครงการพัฒนาของการรถไฟฯ ในระยะหลังนายสถานีก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บเงินค่าเช่าแล้ว ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบันก็ผุพังไปเยอะมากแต่ตนไม่กล้าที่จะปรับปรุงต่อเติมที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพราะมีความกังวลว่าจะถูกไล่รื้อที่ดินหลังมีโครงการพัฒนาเข้ามา

“ก่อนหน้านี้เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่ตกหล่น จึงได้เข้ามาสอบถามและชี้แจงเกี่ยวกับโครงการบ้านมั่นคง พี่และคนในชุมชนบางส่วนก็มีความสนใจ จึงได้มาร่วมเวทีรับฟังในวันนี้เพื่อเอาข้อมูลข่าวสารกลับไปชี้แจงให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนให้เข้าใจร่วมกัน แต่ทั้งนี้ก็มีความคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชุมชนของเราเพื่อชี้แจงให้คนในหมู่บ้านที่เช่าที่การรถไฟฯ ได้มีความเข้าใจและมีความชัดเจนยิ่งขึ้นและมีคาดหวังว่าคนในชุมชนจะมีโอกาสขอเช่าที่ดินในระยะยาวได้และหากมีการขยับขยายขอให้ไม่ไกลจากที่ดินเดิมมากนักเพราะเรามีความคุ้นเคยกับที่อยู่เดิมมาตั้งแต่เกิด” คำเตยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากตัวแทนของการรถไฟฯ และพอช.ชี้แจงที่ไปที่มาของโครงการดังกล่าว ได้แลกเปลี่ยนประเด็นสถานการณ์ผลกระทบรวมถึงข้อสงสัยของชุมชน ส่วนประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บางครัวเรือนต้องการขอเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในระยะยาว หลายครัวเรือนไม่ต้องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและต้องการขอเช่าที่อยู่อาศัยเดิมผ่านการรถไฟโดยตรง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปของชุมชนที่แน่ชัดในการขอเช่าที่ดินการรถไฟฯ ทั้งนี้ทางพอช.ร่วมกับการรถไฟฯ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะมีการนัดหมายคนในชุมชนและการลงพื้นที่สำรวจชุมชนและชี้แจงให้กับประชาชนริมรางรถไฟภาคเหนือใหม่อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการปิดรับรายชื่อคนเข้าร่วมโครงการภายในเดือนพฤษภาคมนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net